คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #3 : วิธีการดำเนินเรื่อง
ว่าไปแล้ว การดำเนินเรื่องก็เป็นเทคนิคของแต่ละคนอ่ะนะ ว่าแต่ละคนจะใช้วิธีไหน
แต่จุดหลักสำคัญ มี 2 ประการคือ
1. ให้เกิดการน่าติดตาม
2.นำไปสู่จุดเหตุการณ์ของเรื่องที่เราต้องการ นั่นคือไคลแมกซ์
แต่ว่าไปแล้ว การเขียนเรื่องๆหนึ่ง ทำไมต้องนึกถึงจุดไคลแมกซ์ ทำไมต้องกำหนดจุดไคลแมกซ์ไว้ว่าจะให้อยู่บทไหน พอพูดกันถึงตรงนี้ ก็ทำให้เกิดข้อคิดว่า.. เราแบ่งตอนในการเขียนนิยายอย่างไร
เท่าที่ดู.. จุดประสงค์หรือเหตุผลในการแบ่งตอนของเราเวลาเขียน มักมี 4 ลักษณะ
1. แบ่งตามความยาว.. คือพอเขียนไปสักช่วงหนึ่ง จนรู้สึกว่ามันเยอะ ก็หยุดเพื่อขึ้นตอนใหม่.. ลักษณะนี้ มักเป็นสำหรับคนที่เขียนเรื่องไปเรื่อย ไม่ได้กำหนดพล็อตกะเกณฑ์ไว้อย่างตายตัว แค่มีพล็อตลอยๆอยู่ในใจ
2. แบ่งตามจังหวะเหตุการณ์ของท้องเรื่อง ตั้งใจให้จบลงตรงจุดที่น่าสนใจ... ลักษณะนี้ผู้เขียน มักมีพล็อตวางไว้ค่อนข้างชัดเจน.. บางคนก็วางกำหนดแต่ละบทไว้เลยว่าจะให้มีเหตุการณ์อะไรบ้าง.. การเขียนแบบนี้มักค่อนข้างกดดันคนเขียน เพราะต้องเขียนให้อยู่ในวงกำหนดที่ตนวางไว้ แต่มีข้อดีคือ.. แต่ละบทแต่ละตอน จะมีความน่าสนใจ
3. ใช้ทั้ง ข้อ 1 + 2 ผสมกัน คือวางพล็อตไว้แบบคร่าวๆ แล้วพอเขียนไปสักช่วง รู้สึกว่ามันเนื้อเรื่องมันยาวแล้ว จึงตัดบททิ้งท้ายโดยเลือกไว้สักจุดที่น่าสนใจ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความน่าติดตามตอนต่อไป ..
4. ไม่มีกำหนดกฏเกณฑ์.. ซึ่งก็มีหลายคนที่ใช้ในบอร์ดนิยายของเรา โดยเฉพาะนิยายแบบตอนสั้นๆ แค่ 1-2 ฉาก หรือ สิบกว่าบรรทัดก็จบบทแล้ว ( วิธีนี้ขออนุญาตให้ใช้ได้แค่การเขียนเรื่องแรกๆ ที่ทดลองเขียนนะคะ แต่อย่าใช้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่งั้นมันจะไม่เกิดการพัฒนาในการเขียน)
ในการเขียนนิยาย ในส่วนของการเดินเรื่องนั้น ว่าไปแล้วก็อาจแบ่งออกได้ตามจุดประสงค์หลัก 3 ชนิด
1. การเปิด... ได้แก่ การเปิดเรื่อง การเปิดเหตุการณ์ เปิดปม.. การเปิดตัวละคร... หัวใจหลักสำคัญในการเปิดก็อยู่ที่จุดประสงค์ของคนเขียนต่อตัวละคร หรือปมนั้นๆของเรื่อง นั่นคือ...
- เปิดให้น่าสนใจ.. คนอ่านพออ่านปั๊บก็บอกกับตนเอง.. ตัวละครตัวนี้คงสำคัญแน่ๆ.. ตรงนี้ต้องเป็นปมอะไรสักอย่างของเรื่องเป็นต้น
- เปิดให้ประทับใจ.. คือคนอ่านแล้วพอเจอตัวละครตัวนี้ ก็ปิ๊งขึ้นมา หรือสะดุดใจกับปมที่เราเปิดขึ้น
- เปิดให้ชวนติดตาม.. เมื่อเกิดความสนใจ คนอ่านก็จะคอยติดตาม ว่าตัวละครตัวนี้เป็นอย่างไร เหตุการณ์ตรงนี้จะดำเนินอย่างไร
- เปิดเพื่อเสริม.. คือ เปิดเพื่อให้เข้ามาเสริมคำอธิบาย หรือความเป็นเหตุเป็นผลของเนื้อเรื่อง
2. การปู... ได้แก่ ปูความเป็นมาของตัวละคร การขยายความถึงปมที่เราเปิดไว้ เช่น.. ตัวละครตัวหนึ่งโกรธแค้นตัวละครอีกตัว ตรงนี้จะเป็นการอธิบายเหตุผล สร้างฐานของเหตุการณ์ให้มันแน่นขึ้น ว่าทำไมถึงจึงเกิดปมนั้นขึ้นมาได้...
ในการปู... เราอาจจะมีการเปิดเหตุการณ์รอง หรือเปิดตัวละครที่อื่นเข้ามา เพื่อทำให้สิ่งที่เรานำเสนอ มันอ่านแล้วสมจริงสมจัง หนักแน่น..น่าเชื่อถือ ในนิยายแต่ละเรื่อง..มักมีเหตุการณ์การหลายเหตุการณ์ มีปมหลายปม ที่มาเกี่ยวพันกันเหมือนลูกโซ่ที่คล้องกัน ไปโยงไปสู่อีกจุดของเหตุการณ์ที่เป็นจุดหลักของเรื่อง
3. การปิด... เมื่อเราเปิดเราก็ต้องมีการปิด.. นั่นคือการสรุปของปม ของเหตุการณ์ หรือของตัวละครนั้นๆ การปิดในบางครั้ง ก็อาจเป็นการเปิดไปสู่อีกเรื่องราว อีกปม อีกเหตุการณ์ของในเรื่องนั้นๆก็ได้
สำหรับการปิด.. เราไม่จำเป็นต้องนำทุกอย่างไปปิดในตอนท้ายของเรื่อง แต่เราอาจจะทะยอยปิดเป็นช่วงๆ โดยใช้เทคนิค ปิดเหตุการณ์หนึ่ง เพื่อนำไปสู่การเปิดของอีกอย่าง.. การทำแบบนี้จะทำให้เรื่องดำเนินไปชวนน่าติดตาม กระตุ้นความสนใจของคนอ่านในแต่ละฉากแต่ละตอนที่เราเขียนขึ้น
ดังนั้นจึงอยากแนะนำ.. ให้เรานำเทคนิคการดำเนินเรื่อง โดยการใช้การ เปิด ปู และปิด.. ไปทุกบทที่เราเขียนขึ้น กล่าวคือ ให้เราวางพล็อตกว้างๆของเรื่องเอาไว้ จากนั้น ก็กำหนดพล็อตคร่าวๆของแต่ละบทเอาไว้เลย ว่าเราจะจบบทนั้นอย่างไร (โดยอาจไม่ต้อง กำหนดไว้ล่วงหน้าทุกบทก่อน แต่ปล่อยให้เป็นไปตามเหตุการณ์ เพื่อที่จะไม่กดดันเวลาเราเขียน และทำให้คนเขียนรู้สึกตื่นเต้น และสนุกไปกับการเขียน เพราะว่าคนเขียนเอง บางครั้งก็ไม่รู้ว่าตอนจบของเรื่องจะเป็นอย่างไร เพียงแต่เราวางไว้คร่าวๆ แล้วเป็นคนถือหางเสือของเรือ เพื่อให้มันทรงตัวลอยไม่ล่ม เพียงแต่การพายเรือ.. มันก็ขึ้นอยู่กับกระแสน้ำ ให้เรารู้แค่ว่า เราจะพาเรือไปจอดเทียบที่ท่าไหน ก็พอแล้ว )
และขออสรุปอีกนิดสุดท้ายนะคะว่า
การเปิดทุกอย่าง.. (ตัวละคร- ปม -เหตุการณ์ ฯลฯ) เราต้องเปิดอย่างมีจุดประสงค์ และตอบคำถามตัวเองได้ว่าเปิดทำไม ก่อนจะเปิดเราต้องคิดก่อนว่า จะเปิดตรงไหน เมื่อไหร่ อย่างไรด้วย ขณะเดียวกับก็ต้องเตรียมคิดไว้เสมอว่าา ..เราจะปิดอย่างไร กับสิ่งที่เราเปิดออกมาตรงนี้
ในการปู.. เราต้องปูอย่างมีเหตุผล แม้จะเป็นเรื่องแฟนตาซี ในความไม่จริง..ก็ต้องมีความจริงจัง..เพื่อให้คนอ่านเชื่อ.. และระหว่างที่ปูเหตุการณ์ เพื่อความมีเหตุผลและสมจริง หากยังไม่เพียงพอ ก็อาจจะต้องเปิดอย่างอื่นมารองรับ (และหาทางที่จะปิดเตรียมไว้ด้วย)
ในการปิด.. ต้องปิดอย่างมีคุณค่าและให้ประทับใจ.. และควรปิดแบบห่วงที่คล้องกันเป็นโซ่ นั่นคือ ปิดเรื่องหนึ่ง เพื่อเชื่อไปเปิดอีกเรื่องหนึ่ง.. หรือปิดเพื่อยุติตรงนั้นอย่างสิ้นเชิง.. เนื่องเพราะไม่อยากจะเอ่ยถึงต่ออีกแล้ว
ความคิดเห็น