ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เบื้องหลังเรื่องราวเหนือธรรมชาติ

    ลำดับตอนที่ #3 : หมอดูหรือหมอเดา? ตอนที่ 2: จิตวิทยา

    • อัปเดตล่าสุด 21 พ.ย. 51


    เราอยากจะคิดว่า การที่เราเชื่ออะไรบางอย่างอยู่นั้น มันเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลและมีหลักฐาน แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่เราอาจจะไม่รู้สึกตัว คืออิทธิพลของวิธีคิดของสมองเราที่บางทีทำให้ความเชื่อเราไม่สอดคล้องกับโลกแห่งความเป็นจริง

     

    ผมจะแนะนำปัจจัยทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อโดยคร่าว ๆ 2 เรื่องต่อไปนี้

     

    1.ไบแอสยืนยัน (Confirmation Bias)

     

    เริ่มต้นด้วยโจทย์ปัญหาละกัน

     

    สมมุติว่ามีการ์ดวางอยู่บนโต๊ะ 4 ใบ โดยการ์ดแต่ละใบจะมีตัวเลขอยู่หน้าหนึ่ง และตัวอักษรอยู่อีกหน้าหนึ่ง ตอนนี้คุณเห็นแค่ด้านบนของการ์ด 4 ใบนี้ ซึ่งได้แก่ 2, 3, A และ B

     

    ถ้าคุณต้องการทดสอบกฏที่ว่า “การ์ดทุกใบที่มีเลขคู่อยู่ด้านหนึ่ง จะมีสระ (A, E, I, O, U) อยู่อีกด้านหนึ่ง” คุณต้องพลิกดูการ์ดทั้งหมดกี่ใบ และใบไหนบ้าง?

     

    ให้เวลาคิดสักครู่

     

    ผมเดาว่าคนส่วนใหญ่คงตอบว่า เปิดดูการ์ดที่เขียนว่า 2 กับ A

     

    ซึ่งเป็นคำตอบที่ผิด

     

    คำตอบที่ถูกคือ เปิดดูการ์ดที่เขียนเลข 2 เพื่อดูว่าข้างหลังเป็นสระหรือไม่ และเปิดดูการ์ดที่เขียนตัว B เพื่อดูว่าอีกด้านเป็นเลขคู่หรือไม่ ถ้าหลังการ์ด B เป็นเลขคู่ กฏนี้ก็จะผิดทันที (ส่วนการ์ด A ไม่ต้องเปิดดูก็ได้ เพราะว่ามันไม่มีผล คือถึงแม้ข้างหลังจะเป็นเลขคี่ มันก็ไม่เกี่ยวกับกฏนี้) คนส่วนใหญ่จะมองข้ามการ์ด B ทั้ง ๆ ที่มันมีข้อมูลที่สำคัญพอ ๆ กันอยู่

     

    โจทย์นี้มาจากการทดลองทางจิตวิทยาอันหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึง “Confirmation Bias หรือ”ไบแอสยืนยัน”ในการคิดของมนุษย์ คำนี้แปลมาจากศัพท์เทคนิคทางจิตวิทยาเลยอาจจะรู้สึกเข้าใจยากเล็กน้อย แต่ที่จริงแล้วมันไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนเลย คำว่าไบแอสหมายถึงการเอนเอียงหรือมีแนวโน้มไปทางเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในที่นี้ไบแอสยืนยันก็หมายถึง “แน้วโน้มของคนในการมองหาหลักฐานที่ยืนยันหรือสนับสนุนความคิดตนเอง มากกว่าการหาหลักฐานขัดแย้ง”

     

    ในเรื่องการดูดวง ไบแอสนี้จะเข้ามามีผลอย่างมาก ในคำทำนายเรื่องราวหรือนิสัยต่าง ๆ  เช่น สมมุติว่ามีหมอดูทำนายนิสัยเราว่าเราเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นได้ง่าย เราก็จะพยายามนึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ยืนยันคำทำนายนี้ แต่ปัญหาก็คือ คนส่วนใหญ่ไม่มีใครเข้ากับคนทุกคนได้ร้อยเปอร์เซนต์ หรือเข้ากับคนไม่ได้เลยสักคนอยู่แล้ว ทุกคนก็ต้องเคยมีบางเวลาที่รู้สึกว่าสามารถเข้ากับคนอื่นได้ดี และบางเวลาที่รู้สึกอยากอยู่คนเดียว แล้วพอเราได้ฟังคำทำนายนี้เราก็จะมองหาแค่หลักฐานที่สนับสนุน(ซึ่งอย่างไรมันก็ต้องมีอยู่แล้ว) ผลลัพธ์เลยกลายเป็นว่าคำทำนายเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะแม่นยำ

     

    ในเรื่องราวหลาย ๆ อย่างนั้น ถ้าต้องการหาแต่หลักฐานยืนยัน อย่างไรมันก็ต้องพบบ้างไม่มากก็น้อย แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือหลักฐานขัดแย้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเรามักจะลืมนึกถึงไป

     

    2.ความสะดวกในการนึกถึง (Availability)

     

    ลองทำโจทย์อีกข้อละกัน

     

    คุณคิดว่าคำศัพท์ในข้อไหนมีจำนวนมากกว่ากัน?

    1. คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ขึ้นต้นด้วยตัว r (เช่น road)

    2. คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่มีตัว r เป็นตัวอักษรตัวที่สามในคำ (เช่น car)

     

    คนส่วนใหญ่(รวมถึงตัวผมเอง)จะคิดว่าคำที่มีตัว r ขึ้นต้นมีมากกว่า ซึ่งเป็นคำตอบที่ผิด

     

    นักจิตวิทยาซึ่งเป็นผู้ทำการทดลองที่ถามคำถามนี้ คือเดเนียล คาห์เนมัน (Daniel Kahneman) และ เอมอส ทเวอร์สกี (Amos Tversky) ได้เสนอคำอธิบายว่า เวลาคนพยายามจะนึกว่าคำกลุ่มไหนมีมากกว่ากันนั้น วิธีหนึ่งที่คนมักจะใช้คือการลองนึกคำที่ขึ้นต้นด้วยตัว r กับคำที่มีตัว r เป็นตัวที่สามขึ้นมาหลาย ๆ คำ แล้วถ้านึกคำกลุ่มไหนออกได้สะดวกกว่า ก็จะสรุปว่าคำกลุ่มนั้นมีมากกว่า

     

    ในกรณีนี้ วิธีดังกล่าวจะนำไปสู่ข้อสรุปที่ผิด เพราะว่าการที่เรานึกคำที่ขึ้นต้นด้วยตัว r ออกง่ายกว่า ไม่ได้แสดงว่ามันมีจำนวนมากกว่า แต่แค่แสดงว่าการนึกคำจากอักษรตัวแรกง่ายกว่าการนึกคำจากอักษรตัวที่สาม

     

    ในทำนองเดียวกัน บางทีการที่เรานึกบางเรื่องได้ง่ายกว่า ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย

     

    คาห์เนมันกับทเวอร์สกีเรียกวิธีคิดแบบนี้ว่า “The Availability Heuristic” ซึ่งผมแปลว่า “การคิดโดยอ้างอิงความสะดวกในการนึกถึง”

     

    ปัจจัยนี้จะเข้ามามีผลหลังจากที่คุณดูดวงเสร็จไป แล้วมานึกถึงผลการดูดวงภายหลัง สมมุติว่าหมอดูคนนั้นฝีมือตก เดาเรื่องถูกแค่ 1 ใน 10 แต่เมื่อเรามานึกในภายหลัง เราก็มักจะนึกออกแต่เรื่องที่เขาทาย (เดา) ถูกหนึ่งเรื่องนั้น ส่วนเรื่องที่ผิดอีกเก้าเรื่องก็คงจะไม่หลงเหลืออยู่ในความทรงจำแล้ว เราก็เลยคิดว่าหมอดูคนนั้นทายแม่น

     

    สรุปง่าย ๆ คือ คนเราจะนึกถึงความทรงจำที่ประทับใจได้มากกว่าความทรงจำที่ธรรมดา และจะพลอยนึกว่าความทรงจำที่ประทับใจนั้นเกิดขึ้นบ่อยกว่าความเป็นจริง

     

    ในบทความหน้าผมจะขยายความเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลที่หมอดูใช้ และวิธีการหักเหลี่ยมกลเหล่านั้น
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×