ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ชีวิตในญี่ปุ่น

    ลำดับตอนที่ #1 : กว่าจะได้มาญี่ปุ่น

    • อัปเดตล่าสุด 30 พ.ย. 51


    ในปัจจุบันผมเรียนอยู่ในญี่ปุ่นด้วยทุนรัฐบาลญี่ปุ่น หรือที่รู้จักกันในนามทุนมองบุโช (แปลว่ากระทรวงศึกษาธิการ) ซึ่งทุนนี้จะมีให้เด็กมัธยมปลายสอบทุกปี ในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคม คือขึ้นม.6เปิดเทอมไปไม่นานก็สอบเลย

     

    ตอนผมอยู่ม.6 (คือเมื่อประมาณสี่ปีที่แล้ว) เพื่อน ๆ ทั้งห้องก็แห่กันไปสอบทุนนี้ โดยก็มีทั้งคนที่อยากไปญี่ปุ่นจริง ๆ (ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น) กับคนที่ไปสอบตามคนอื่นโดยไม่คิดอะไรมาก แต่ถึงแม้ตอนนั้นผมมีความตั้งใจอยากไปญี่ปุ่นจริง ๆ แต่ผมก็ไม่ได้เตรียมตัวมากมาย (เหตุผลหลักคือความขี้เกียจ) คือแค่ไปหาข้อสอบเก่ามาทำสองสามฉบับ

     

    วิชาที่สอบสำหรับสายวิทย์ก็มี อังกฤษ เลข ฟิสิกส์ เคมี ซึ่งข้อสอบทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด

     

    อังกฤษ เพื่อน ๆ ส่วนใหญ่จะบอกว่ายาก โดยเฉพาะส่วนจับ error ซึ่งจะให้ประโยคมายาวยืด แต่ผมคิดว่าถ้าเตรียมตัวทำโจทย์ไปเยอะ ๆ หรือมีประสบการณ์อ่านหนังสือภาษาอังกฤษ ก็จะไม่น่าห่วงสักเท่าไหร่

     

    เลข ข้อสอบสมัยผมจะมีสามข้อใหญ่ ข้อแรกจะมีข้อย่อยหลาย ๆ ข้อและจะไม่ยากมาก ประมาณระดับเอนท์ ข้อสองจะเป็นแคลคูลัส ข้อสามจะเป็นข้อพิเศษซึ่งเนื้อหาแตกต่างไปทุกปี ในปีแรกที่ผมไปสอบข้อที่สามนี้เป็นเรื่องทฤษฎีจำนวน ซึ่งผมไม่รู้เรื่องเลย ส่วนปีถัดไปเป็นโจทย์เวคเตอร์ที่ยุ่งยากพอสมควร (ผมจะอธิบายทีหลังว่าทำไมได้สอบสองรอบ)

     

    ฟิสิกส์ มีเนื้อหาเกินม.ปลายอยู่บ้าง แต่โดยรวมก็ไม่ยาก

     

    เคมี วิชาที่หินที่สุด เพราะข้อสอบเป็นตามมาตรฐานเด็กม.ปลายญี่ปุ่น ซึ่งเรียนเยอะกว่าเราในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องเคมีอินทรีย์

     

    ผมจำได้ว่าตอนออกจากห้องสอบข้อเขียนที่วิศวะจุฬา พอเดินลงมาข้างล่าง ก็เจอเด็กม.ปลายคนหนึ่งยืนดักรออยู่ คือเขาเป็นเด็กม.5 ที่อยากได้ทุนญี่ปุ่น เลยมารอถามแนวข้อสอบจากเด็กม.6 ที่สอบปีนี้ ผมรู้สึกชื่นชมความทุ่มเทของเขา และในขณะเดียวกันก็รู้สึกละอายตนเองที่ไม่ได้เตรียมตัวดีกว่านี้

     

    พอสอบข้อเขียนเสร็จ รอบต่อไปก็เป็นสอบสัมภาษณ์ ซึ่งทางโรงเรียนก็ให้รุ่นพี่ทุนญี่ปุ่นมาช่วยติวให้ ซึ่งตอนนั้นรุ่นพี่ก็บอกว่า ให้เตรียมคำตอบสำหรับคำถามใหญ่สองข้อที่ต้องโดนถามชัวร์ ๆ คือ ทำไมอยากไปเรียนญี่ปุ่น และ ทำไมอยากไปเรียนสาขาที่เราเลือก

     

    มีรุ่นน้องมาเล่าให้ผมฟังว่า ปีหลัง ๆ เขาเริ่มเพิ่มคำถามหลักไปอีกข้อหนึ่ง คือ ถ้าคุณได้ทุนนี้แล้วจะมาจริง ๆ หรือไม่? เพราะว่าปีที่ผ่านมามีคนได้ทุนนี้แล้วทิ้งเยอะมาก (ได้ทั้งหมด 16 คน แต่มาจริง ๆ 4คน)

     

    พอสอบสัมภาษณ์เสร็จไปสักพักก็จะประกาศคนที่สอบสัมภาษณ์ผ่าน แต่อย่าเผลอนึกไปนะว่าจะได้ไปร้อยเปอร์เซนต์ เพราะว่าสำนักงานในไทยต้องส่งรายชื่อและผลสอบของคนที่สอบผ่านไปให้ที่ญี่ปุ่นพิจารณาอีกรอบหนึ่ง ซึ่งผลรอบท้ายสุดจะออกประมาณปลายปีนั้น

     

    ผมก็เป็นคนหนึ่งที่สอบผ่านรอบสัมภาษณ์ แล้วระหว่างรอผลรอบสุดท้ายก็เผลอชะล่าใจนึกว่าจะไม่มีปัญหา แต่พอถึงวันประกาศผล ชื่อของผมก็ไม่อยู่ในรายชื่อผู้ได้รับทุน

     

    ปรากฎว่าทางฝั่งญี่ปุ่นเขาไม่ให้ทุนผม เมื่อผมไปถามเหตุผลจากเจ้าหน้าที่ที่สำนักข่าวสารญี่ปุ่น เขาก็บอกว่า ผมได้คะแนนข้อเขียนน้อยไปในวิชาเคมี ซึ่งเป็นหนึ่งในวิชาหลัก(เพราะผมเลือกไปเรียนวิศวะเคมี)

     

    ผมจำได้ว่าตอนนั้นผมร้องห่มร้องไห้อยู่สักพัก แต่มันก็ทำอะไรไม่ได้จริง ๆ สุดท้ายก็เลยกลับไปสอบเอนท์อีกรอบ แล้วก็ไปเข้าวิศวะที่จุฬา โดยมุ่งหวังที่จะสอบอีกครั้งในปีถัดไป

     

    พอจบม.6 เข้าไปเรียนในจุฬาได้ไม่นานก็ถึงเวลาสอบทุนญี่ปุ่นอีกรอบ (จำได้ว่าช่วงนั้นยังซ้อมฟันดาบเพื่อไปแข่งกีฬาเฟรชชี่อยู่พอดี) ซึ่งรอบสองนี้ก็ผ่านไปได้ด้วยดี เพราะรอบนี้อุตส่าห์อัดความรู้เคมีมาเป็นพิเศษจากค่ายเคมีโอลิมปิก

     

    ปีนั้นมีคนได้ทุนทั้งหมด 10 คน ไปญี่ปุ่นจริง 8 คน หนึ่งในนั้นเป็นเพื่อนจากวิศวะจุฬาที่มาสอบอีกรอบเหมือนกัน  ส่วนอีกคนหนึ่งก็เป็นน้องที่มารอถามข้อสอบปีที่แล้ว ซึ่งสอบได้ทุนปีนี้มาเป็นที่หนึ่งของสายศิลป์ เห็นได้ชัดว่าการเตรียมตัวที่ดีมีผลจริง ๆ

     

    ในวันออกเดินทางไปญี่ปุ่น พอขึ้นเครื่องบินของJAL ไป สักพักก็มีการประกาศอินเตอร์คอมเป็นภาษาญี่ปุ่นมาเป็นพรวด แน่นอนว่าไม่มีใครฟังออก ผมกับเพื่อน ๆ ก็มองหน้ากันแล้วก็ตั้งปณิธานกันว่า รอบหน้าที่นั่งเครื่องบินนี้กลับไทย ต้องฟังประกาศภาษาญี่ปุ่นออกให้ได้
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×