คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #2 : โลกแห่งความเห็นแก่ตัว
โลกแห่งความเห็นแก่ตัว
ปัจจุบันนี้บรรดาพ่อแม่ ผู้ปกครองมักให้คำแนะนำ ตักเตือนกับลูกๆ วัย 5 – 6 ขวบของพวกเขา ขณะไปส่งที่โรงเรียน โดยการใช้คำพูดที่แสดงออกถึงความกังวลใจต่อลูกๆ ของพวกเขา ในลักษณะที่ว่า “พวกเขาจะต้องได้รับสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต และอย่าให้ใครมาเอาเปรียบได้”
“คำตักเตือน” ที่แลดูเหมือนว่าเป็นความห่วงใย แท้จริงแล้วมันมีบางอย่างที่ไม่ถูกต้องแฝงไว้อยู่ในนั้น และหากเราลองพิจารณาจาก “รูปแบบการตักเตือน” ของบรรดาพ่อแม่ข้างต้น เราจะพบว่า ไม่มีเลยแม้แต่ คำเดียว ที่แสดงให้เห็นถึงการปลูกฝังลูกๆ ในเรื่องของ “การแบ่งปัน”
เปรียบเหมือนกับการแสดงที่ถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับครอบครัวในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งมีความขัดแย้งกับ “ประวัติศาสตร์” และ “หลักการศาสนา” ของพวกเขาที่เน้นย้ำในเรื่องของ “ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่” และ “ความมีน้ำใจ” มันกลายเป็นเรื่องน่าเศร้า ที่คนในสังคมปัจจุบันนั้นถูกล้างสมอง โดยการที่พวกเขาละเลยเรื่องราวของการแบ่งปัน (เพิ่มเติม ผู้แปล) แต่กลับให้ความสนใจเพียงแค่เรื่องของ “ตัวเอง” และ “คนในครอบครัวของตัวเอง” เท่านั้น
หากเราลองตามไปดูบรรยากาศในห้องเรียนที่โรงเรียนของลูกๆ เราจะพบว่าการเรียนการสอนภายในห้องนั้นขาดซึ่งการอบรม และการแสดงออกในเรื่องของ “การแบ่งปัน” ครูอาจารย์ไม่ได้ให้การสนับสนุนหรือส่งเสริมให้นักเรียน รู้จักการแบ่งปันระหว่างเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ซึ่งไม่มีแม้แต่การแบ่งปันดินสอสีกับเพื่อนในห้อง หรือแม้แต่การกล่าวตักเตือนของครูอาจารย์ เมื่อเห็นว่าเด็กบางคนมีพฤติกรรมที่แบ่งพรรคแบ่งพวก
ภายในห้องเรียนนั้นดูราวกับว่าเด็กๆ นั้นถูกปกครองภายใต้กฎระเบียบที่ว่า “ใครมาก่อนได้ก่อน”
นักจิตวิทยาเด็กท่านหนึ่งในรายการโชว์ของประเทศอียิปต์ได้นำเสนอเกี่ยวกับปัญหาสังคม โดยเน้นย้ำในเรื่องของ “ความเห็นแก่ตัว” ว่าเป็นสาเหตุหลักของปัญหาที่สังคมปัจจุบันกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งเห็นได้จากการที่คนในชุมชนส่วนใหญ่ไม่ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในการที่จะทำให้การดำรงชีวิตของพวกเขานั้นดีขึ้น พวกเขาไม่ยอมเสียสละเพื่อกันและกัน อีกทั้งพวกเขาก็ไม่ให้ความสนใจเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของเพื่อนบ้าน
นักจิตวิทยาท่านนั้นได้เสนอความคิดเห็นว่า หากเพียงแค่เรามี “ความคิดที่จะร่วมแบ่งปัน” มันย่อมสามารถช่วยทำให้ “สังคมมนุษย์” นั้นมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว เราไม่สามารถที่จะดำเนินชีวิตโดยปราศจากเพื่อนมนุษย์ได้ เราไม่สามารถที่จะอาศัยอยู่บนโลกใบนี้เพียงลำพังได้
“การพึ่งพาอาศัยกัน” ถือเป็นคำจำกัดความที่ชัดเจนเกี่ยวกับคุณสมบัติเฉพาะของมนุษย์แต่ละคน และเมื่อเราลองใคร่ครวญเกี่ยวกับ “ความจำเป็นของการอยู่ร่วมกันกับผู้คน” ท้ายที่สุดแล้ว เราจะพบว่า เรากำลังทำให้การดำเนินชีวิตของเรานั้นง่ายขึ้น
“การไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว” ไม่ใช่แนวคิดใหม่สำหรับสังคมมุสลิม เมื่อเรามองดูประชาชาติมุสลิมทั่วโลก เราก็มักจะได้เห็นตัวอย่างของกลุ่มคนที่มีความห่วงใยและมีความเอื้ออาทรต่อพี่น้องของเขา พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่มีให้กันและกัน อีกทั้งพวกเขายังเอาใจใส่ต่อทุกข์สุขของบรรดาพี่น้องของเขาอีกด้วย
ศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม) กล่าวว่า “ไม่มีใครในหมู่พวกท่านที่มีความศรัทธาอย่างแท้จริง เว้นเสียแต่ว่า เขาปรารถนาต่อพี่น้องของเขา ดังเช่นที่เขาปรารถนาต่อตัวเขาเอง” (มุสลิม)
และอัลลอฮฺทรงตรัสไว้ใน ซูเราะฮฺ อะลิ อิมรอน
“พวกเจ้าจะไม่ได้มาซึ่งคุณค่า (แห่งความศรัทธา) (อันสูงสุด) จนกว่าพวกเจ้าจะใช้จ่าย (ไปกับการบริจาค) จากสิ่งที่พวกเจ้ารัก” (ซูเราะฮฺ อะลิอิมรอน 92)
ถ้อยคำเหล่านี้เป็นบทพิสูจน์ว่า “ความเห็นแก่ตัว” นั้นไม่เป็นที่ยอมรับใน “อิสลาม” ถ้อยคำเหล่านี้มิได้ถูกประทานลงมาเพียงเพื่อเป็นการตักเตือนมุสลิมให้รู้จักแบ่งบันสิ่งที่ตัวเองมีให้กับผู้อื่นเท่านั้น หากแต่ยังสนับสนุนให้มุสลิมรู้จักการ “ให้” ในสิ่งที่ดีที่สุดจากสิ่งที่พวกเขารักต่อผู้อื่นอีกด้วย
อัลลอฮฺมิได้ทรงสั่งใช้ให้บ่าวของพระองค์ทำการบริจาคในสิ่งที่เป็น “ส่วนเกิน” หรือ “ส่วนที่เหลือ” จากชีวิตของพวกเขา และด้วยพระปรีชาสามารถและพระเมตตาของพระองค์ พระองค์จึงทรงบัญชาให้บรรดาบ่าวของพระองค์นั้นแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารักมากที่สุดแก่พี่น้องของเขา
มีหลายรายงานจากการดำเนินชีวิตของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่เป็นตัวอย่างให้เราเห็นว่า ท่านและบรรดาเศาะฮาบะฮฺได้นำพระบัญชาของอัลลอฮฺมาปฏิบัติกันอย่างจริงจังเพียงใด และพวกท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่ปราศจากซึ่ง “ความเห็นแก่ตัว” โดยสมบูรณ์
และมีตัวอย่างเรื่องราวที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง ที่เกิดขึ้นภายหลังการทำฮิจเราะฮฺ เมื่อศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ขอให้ชาวอันศอรฺ (มุสลิมจากเมืองมะดีนะฮฺ) รับชาวมูฮาญิรีนท่านหนึ่ง (มุสลิมจากมักกะฮฺที่ย้ายมาอยู่ที่มะดีนะฮฺ) ให้เป็นพี่น้องของพวกเขา
มีเรื่องราวดีงามมากมายที่ปรากฏอยู่เพื่อเป็นแบบอย่างแก่เรา หนึ่งในนั้นคือเรื่องราวของชาวอันศอรฺ ที่พวกเขาได้จัดสรรทรัพย์สินทั้งหมดที่มี และทำการบริจาคทรัพย์สินจำนวนครึ่งหนึ่งให้กับพี่น้องมูฮาญิรีน
และยังมีเรื่องราวของเศาะฮาบะฮฺท่านหนึ่งที่ได้เชิญพี่น้องมุสลิมคนหนึ่งไปที่บ้านของเขา ระหว่างเดินทางกลับบ้าน เศาะฮาบะฮฺท่านนั้นได้ถามภรรยาของเขาว่า เธอมีอาหารเพียงพอภายในบ้านหรือไม่ ด้วยเพราะว่าครอบครัวของท่านนั้นยากจน นางตอบว่า “อาหารที่เรามีอยู่นั้นไม่เพียงพอ อีกทั้งอาหารที่มีนั้นก็เพียงพอสำหรับคนเพียงหนึ่งคนเท่านั้น” ท่านจึงบอกกับนางว่า “ไม่เป็นไร” และขอให้นางนั้นเตรียมอาหารค่ำเอาไว้ และจากนั้นให้นำลูกๆ เข้านอนเสีย เพื่อที่ว่าเมื่อแขกมาถึง เขาจะได้ไม่เห็นว่าเจ้าบ้านนั้นไม่ได้ทานอาหารร่วมกับเขา (ด้วยเพราะความมืดบดบัง)
จากนั้น อัลลอฮฺประทานอายะฮฺเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้ลงมา ใน ซูเราะฮฺ อัลหัซรฺ
“และบรรดาผู้ที่ได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นครมะดีนะฮฺ (ชาวอันศอร) และบรรดาผู้ตั้งมั่นในศรัทธาก่อนหน้าการอพยพ (ชาวมุฮาญิรีน) พวกเขา (ชาวอันศอร) รักใคร่ผู้ที่อพยพมายังพวกเขาและไม่พบความต้องการหรือความอิจฉาอยู่ในทรวงอก ของพวกเขาในสิ่งที่ได้ถูกประทานมาให้ (กับผู้อพยพ) อีกทั้งพวกเขาได้ให้สิทธิผู้อื่นก่อนตัวของพวกเขาเอง ถึงแม้ว่าพวกเขาก็มีความต้องการอยู่มากก็ตาม และผู้ใดปกป้องการตระหนี่ที่อยู่ในตัวของเขา ชนเหล่านั้นคือผู้ประสบความสำเร็จ” (ซูเราะฮฺ อัลหัซรฺ 9)
ขณะนั้น เศาะฮาบะฮฺท่านนั้นแทบไม่มีอะไรเหลือเลย อีกทั้งสิ่งที่ท่านมีเหลืออยู่ ท่านก็มอบให้กับพี่น้องของท่านไปจนหมด และไม่ได้เหลือสิ่งใดไว้ให้แก่ตัวท่าน ภรรยาของท่าน หรือลูกของท่านเลย ดูสิว่าแม้แต่ “ผู้ที่ยากจนที่สุด ยังเรียนรู้ที่จะแบ่งปัน”
เรื่องราวต่างๆ นี้เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก และทุกๆ ครั้งที่ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) ได้ยินเรื่องราวเหล่านี้ ความรักของข้าพเจ้าที่มีต่อบรรดาเศาะฮาบะฮฺก็เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น การกระทำของพวกท่านเหล่านั้นออกมาจากหัวใจอย่างแท้จริง พวกเราบางคนอาจจะกล่าวว่า “ก็พวกท่านเป็นเศาะฮาบะฮฺนี่นา พวกท่านเหล่านั้นย่อมดีกว่าคนธรรมดาอย่างเราอยู่แล้ว” อีกทั้งยังอาจจะให้เหตุผลว่า “พวกเราไม่สามารถไปทัดเทียมกับบรรดาเศาะฮาบะฮฺได้ ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหนก็ตาม”
จึงไม่เป็นเรื่องที่น่าแปลกว่า เหตุใด “บรรดาเศาะฮาบะฮฺจึงมีความโดดเด่นมากกว่าพวกเรา” หากแต่แท้จริงแล้ว อัลฮัมดุลิลละฮฺ ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีคนที่ดีหลงเหลืออยู่มากพอสมควร
ครั้งหนึ่ง รายการหนึ่งทางช่องดาวเทียมของอียิปต์ได้นำเสนอเรื่องราวของ “ชายคนหนึ่งที่กำลังได้รับความเจ็บป่วยด้วยโรคทางสมอง” และจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดครั้งนี้มีค่าใช้จ่ายประมาณ 230,000 ดอลล่าห์สหรัฐ จึงได้มีการขอรับบริจาคผ่านทางรายการ ซึ่งบรรดาผู้บริจาคนั้นได้ให้การบริจาคในจำนวนที่แตกต่างกันไป บางคนก็บริจาค 100,000 ดอลล่าห์ และบางคนก็บริจาค 50 ดอลล่าห์
ขณะที่การขอรับบริจาคดำเนินไป ได้มีชายคนหนึ่ง ชื่อว่า มุหัมมัด ชารีฟ โทรเข้ามาในรายการ เพื่อขออภัยที่เขาบริจาคเงินเป็นจำนวนที่น้อยมาก ซึ่งเป็นจำนวนเพียงแค่ 15 อียิปต์ปอนด์ (หรือประมาณ 100 บาทไทย) ชารีฟได้อธิบายเหตุผลโดยปราศจากความละอายว่า ครอบครัวของเขานั้นมีเงินเหลืออยู่เพียงแค่ 30 อียิปต์ปอนด์ (210 บาท) ในขณะนั้น และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำเขาไม่สามารถบริจาคได้มากกว่านี้ – ผู้จัดรายการจึงได้กล่าวคำขอบคุณต่อเขาในการบริจาคครั้งนี้
หลังจาก ที่ชารีฟได้วางสายไป ก็มีคนโทรเข้ามาในรายการและขอทำการบริจาคเงินจำนวน 500 อียิปต์ปอนด์ให้กับ “ชายที่ป่วย” และบริจาคอีก 100 อียิปต์ปอนด์ให้กับชารีฟ และคนที่โทรเข้ามาหลังจากนั้น ก็บริจาคเงินให้กับผู้ป่วยพร้อมทั้งชารีฟด้วยเช่นกัน
และหลังจากนั้นไม่นานนัก “มุหัมมัด ชารีฟ” ก็กลายเป็นแขกรับเชิญในรายการดังกล่าว เขาได้เล่าเรื่องราวของเขากับพิธีกรว่า “ตัวเขา” มาจากครอบครัวที่ยากจน ขณะเดียวกันแม่ของเขาก็กำลังป่วยด้วยโรคหัวใจ ลุงของเขาเพิ่งเสียชีวิตไปได้ไม่นาน อีกทั้งลูกพี่ลูกน้องวัย 15 ปีของเขาก็เพิ่งเสียชีวิตไปด้วยอุบัติเหตุทางมอเตอร์ไซค์เมื่อสัปดาห์ก่อน หน้านั้น
วันหนึ่ง ชารีฟและพ่อของเขาได้ดูรายการทางโทรทัศน์ซึ่งกำลังขอรับบริจาคเพื่อการผ่า ตัดของชายผู้หนึ่งที่มีอาการเจ็บป่วยจากโรคทางสมอง และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาต้องเดินเข้าไปปลุกแม่ที่กำลังนอนอยู่ในห้องถัดไป และถามเธอว่า “แม่ครับ ตอนนี้เรามีเงินเหลืออยู่เท่าไหร่ครับ”
เธอบอกเขาว่า “ตอนนี้เรามีเงินอยู่ 28 ปอนด์น่ะ ลูก แต่เรายังไม่ได้จ่ายค่าไฟเลยนะ” เธอบอกให้เขาทราบเพราะคิดว่าลูกชายคงต้องการเงินเพื่อไปทำอะไรบางอย่าง
ชารีฟจึงได้เล่าเรื่องราวของ “ชายที่ป่วยทางสมอง” และความจำเป็นที่เขาต้องได้รับการผ่าตัดให้แม่ของเขาฟัง และถามความเห็นเธอว่า พวกเขาจะสามารถบริจาคเงินครึ่งหนึ่งจากจำนวนเงินที่มีอยู่ได้หรือไม่
แม่ของเขาตอบว่า “ได้สิ ลูก” “มีเพียงแค่คนป่วยเท่านั้นที่เข้าใจถึงความเจ็บปวดของคนป่วยด้วยกัน”
และนี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราว –
ขณะที่ชารีฟกำลังออกรายการอยู่นั้น พิธีกรถามเขาว่า เขามีงานทำหรือไม่ ชารีฟตอบว่า ตัวเขาเคยทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ หากแต่ว่าตอนนี้เขากำลังตกงานอยู่
จากนั้นพิธีกรจึงบอกกับเขาว่า ทางรายการนั้นได้ตัดสินใจที่จะรับเขาเข้าทำงานในตำแหน่ง “ผู้ช่วยผู้กำกับ”
เมื่อชารีฟได้ยินดังนั้น มันทำให้เขาพูดไม่ออก เขาได้แต่กล่าวคำขอบคุณอย่างมากมายต่อพิธีกร และกล่าวว่า สิ่งที่เขาได้รับนั้นมันมากเกินกว่าที่คนอย่างเขาควรจะได้รับ
“คนอีกหลายๆ ล้านคนคงจะทำเหมือนอย่างที่ผมได้ทำไป” ชารีฟกล่าว (ด้วยเพราะว่า เขาได้ทำการบริจาคเพียงน้อยนิด หากแต่สิ่งที่เขาได้รับจากอัลลอฮฺมีค่ามากเกินกว่านั้น)
และนี่เป็นตัวอย่างของ “การไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว” ซึ่งไม่ใช่เรื่องราวของเศาะฮาบะฮฺ หากแต่มันเป็นเรื่องจริงของชายคนหนึ่งที่เกิดขึ้นในปี 2551
ชายผู้นั้นได้แบ่งปันสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เขามี และอัลลอฮฺทรงประทานแก่เขาซึ่งรางวัลตอบแทนที่มากกว่าถึง 10 เท่า ซึ่งมันมากกว่าสิ่งที่เขาได้ทำการบริจาคไปให้กับชายผู้ที่ป่วยทางสมองท่านนั้นเสียอีก — พระองค์ทรงประทานเงินแก่เขา อีกทั้งยังทรงประทานงานให้แก่เขา
“การให้ความช่วยเหลือผู้อื่นและการให้ความใส่ใจต่อผู้อื่น” นั้น เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประสงค์ อินชาอัลลอฮฺ ขอให้พวกเราช่วยทำให้อุมมะฮฺนี้กลับคืนสู่สถานะที่พวกเขาควรจะอยู่เพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮู วะตะอาลา
แหล่งที่มา บทความ In a selfness World
http://www.islamation.com/2008/08/in-a-selfness-world/
แปล بنت الاٍسلام
ความคิดเห็น