คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #1 : การรวบรวมอัลกุรอาน
การรวบรวมอัลกุรอาน
ขั้นตอนที่ 1: การรวบรวมอัลกุรอาน ในสมัยท่านนบี
ขณะที่ท่านนบี อยู่ที่นครมักกะห์ ไม่ปรากฏถึงการให้ความสนใจในการบันทึก อัลกุรอาน เว้นแต่บางสายรายงานที่อ่อนแต่สามารถรับฟังได้ ดังเช่นรายงานที่บอกถึงการเข้ารับอิสลามของท่านอุมัร บิน ค็อตต็อบ โดยที่ท่านอุมัรได้พบอายะฮ์อัลกุรอานในช่วงแรกของซูเราะห์ฏอฮา อยู่กับน้องสาวของท่านและสามีของนาง ซึ่งท่านอุมัรได้อ่านอัลกุรอานจากแผ่นบันทึกดังกล่าว หลังจากที่น้องสาวท่านได้ใช้ให้ชำระล้างร่างกายก่อนที่จะสัมผัสแผ่นบันทึกอายะฮ์อัลกุรอาน
เมื่อท่านนบี อพยพมายังนครมะดีนะห์ ท่านนบี ได้เริ่มจัดระเบียบสังคมอิสลาม และสิ่งหนึ่งที่จำเป็นจะต้องกระทำก็คือการจดบันทึกอัลกุรอาน ดังนั้นท่านนบี ได้ให้ศอฮาบะฮ์ที่มีหน้าที่จดบันทึก บันทึกอายะฮ์อัลกุรอานที่ถูกประทานที่นครมักกะฮ์ และเมื่อมีการประทานอัลกุรอานลงมาที่นครมะดีนะฮ์ก็ให้มีการจดบันทึกไว้เช่นกัน และหนี่งในบรรดาผู้ที่มีหน้าที่จดบันทึกวะฮีย์ คือ ท่านเซด บิน ษาบิต อัลอันศอรีย์
ท่านเซดได้บอกถึงสื่อต่างๆของการบันทึกในสมัยของท่านนบี จากฮะดีษที่มีการบันทึกโดยท่านอิหม่าม บุคอรีย์ ซึ่งมีความว่า
³ (فتتبعت القرآن أجمعه من العسب والرقاع واللخاف)
“ฉันได้ติดตามอัลกุรอาน และฉันได้รวบรวมอัลกุรอานจาก ก้านอินทผลัม, ส่วนของพื้นดิน และแผ่นหิน”
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ได้บ่งชี้ให้เห็นว่า อัลกุรอานนั้นมิได้ถูกรวบรวมไว้ในฉบับเดียวกัน หากแต่กระจัดกระจายกันอยู่ตามแผ่นบันทึกต่างๆ ดังที่ท่านเซด บิน ษาบิต ได้กล่าวไว้ข้างต้น
สาเหตุของการรวบรวม อัลกุรอาน ในสมัยท่านนบี
การรวบรวม อัลกุรอาน ในสมัยท่านนบี สามารถตีความได้สองความหมาย ความหมายแรก หมายถึง การท่องจำ และอีกความหมายหนึ่ง คือ การบันทึก ซึ่งการบันทึกนี้ไม่ได้หมายถึงการบันทึกเป็นเล่มๆ ดังเช่น อัลกุรอานซึ่งเราได้เห็นในปัจจุบัน หากแต่เป็นการบันทึกลงบนแผ่นจารึกต่างๆ ได้แก่ กระดูก แผ่นไม้ แผ่นหิน หนังสัตว์ ก้านอินทผลัม และอื่นๆ
สาเหตุของการรวบรวม อัลกุรอานในยุคสมัยนั้นก็เพื่อที่จะเพิ่มความแม่นยำให้กับผู้ที่ท่องจำ อัลกุรอาน เพราะมันคือการบันทึกทั้งในหัวอก และ การบันทึกลงในแผ่นจารึก
ส่วนวิธีการรวบรวม อัลกุรอานในสมัยท่านนบี คือ การบันทึกอายาตต่างๆ ไว้ตามแผ่นจารึก เช่น ก้านอินทผลัม, กระดูก, แผ่นหิน, และอื่นๆ โดยเรียงตามลำดับซูเราะห์แต่ไม่มีการบันทึกไว้ในที่เดียวกัน
ทำไมจึงไม่มีการรวบรวม อัลกุรอาน เป็นเล่มเดียวที่สมบูรณ์ในสมัยท่านนบี ?
เป็นความประสงค์ของพระองค์อัลลอฮ์ ที่ทำให้ท่านนบี สิ้นชีวิตก่อนที่จะมีการรวบรวม อัลกุรอานไว้ในที่เดียวกัน จากการค้นคว้าเกี่ยวกับสาเหตุต่างๆ ทำให้เกิดความเข้าใจดังต่อไปนี้
1. เนื่องจากว่าในสมัยนั้น คราใดก็ตามที่เกิดปัญหาขึ้น บรรดาศอฮาบะฮ์จะไปหาท่านนบี และท่านเป็นผู้ที่จดจำอัลกุรอาน ในขณะเดียวกันวะฮีย์ก็ยังถูกประทานลงมาอย่างต่อเนื่อง จึงไม่สามารถที่จะรวบรวมอัลกุรอาน ทั้งหมดไว้
2. ในสมัยนั้นความต้องการที่จะรวบรวม อัลกุรอาน ยังไม่เกิดขึ้น ด้วยหลักฐานที่ว่า หากท่านนบี มีความประสงค์ที่จะปฏิบัติสิ่งใด ท่านจะกำหนดสิ่งนั้นแก่บรรดาศอฮาบะฮ์ แต่หากว่าเราได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงต่างๆ จะทำให้เราทราบได้ว่า ผู้คนส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่อ่านไม่ออกและเขียนไม่เป็น และส่วนใหญ่ของพวกเขาจะเน้นการท่องจำมากกว่าการบันทึก นั่นคือเหตุผลว่าทำไมพระองค์อัลลอฮ์ จึงกำหนดให้การท่องจำเป็นที่ง่ายดายสำหรับพวกเขา
3. การประทานวะฮีย์ในสมัยนั้นได้ประทานบางส่วนก่อนอีกบางส่วน และมีการยกเลิกบางส่วนที่เคยประทานลงมาก่อนหน้า และหากว่า อัลกุรอาน ได้ถูกบันทึกไว้เป็นเล่มเดียวก่อนที่จะมีการยกเลิกหรือเพิ่มเติม ก็จะเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข
4. ท่านรอซูล ยังคงมีความหวั่นเกรงว่าจะมีการปะปนกันระหว่าง อัลกุรอาน และ อัลฮะดีษ
ดังกล่าวนี้เองทำให้ไม่มีการบันทึกหรือการรวบรวม อัลกุรอานเป็นเล่มเดียวในสมัยท่านนบี แต่สำหรับการบันทึกตามสถานที่ต่างๆ นั้น เป็นการเพิ่มความแม่นยำสำหรับผู้ท่องจำเท่านั้น
ขั้นตอนที่ 2: การรวบรวม อัลกุรอาน ในสมัยท่านอบูบักร
หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมรภูมิริดดะฮ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามยะมามะฮ์ ซึ่งทำให้อิสลามสูญเสียนักรบผู้ท่องจำอัลกุรอานเป็นจำนวนมาก เป็นสาเหตุสำคัญซึ่งผลักดันให้มีความคิดริเริ่มที่จะรวบรวม อัลกุรอาน
ท่านอุมัรได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการรวบรวม อัลกุรอาน แก่ท่านอบูบักร โดยได้กล่าวกับท่านว่า
" แท้จริงการฆ่าฟันกันได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในสงครามยะมามะฮ์ และฉันกลัวเหลือเกินที่จะต้องสูญเสียผู้ท่องจำ อัล-กุรอานเป็นจำนวนมากในครั้งนี้ และจะทำให้ อัลกุรอาน สูญสลายไปด้วย นอกเสียจากว่าท่านทั้งหลายต้องรวบรวม อัลกุรอาน "
และท่านอบูบักรได้กล่าวตอบว่า : " ฉันจะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งท่านรอซูลไม่เคยกระทำมันได้อย่างไร? "
ท่านอุมัรกล่าวต่ออีกว่า : " ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่ามันเป็นสิ่งที่ดี "
และท่านอุมัรยังคงคะยั้นคะยอท่านอบูบักรเกี่ยวกับการรวบรวม อัลกุรอาน จนกระทั่งอัลลอฮ์ได้เปิดหัวใจให้กับเขา
ใครคือผู้ที่รวบรวม อัล-กุรอาน ในสมัยท่าน อบูบักร
หลังจากการปรึกษาหารือระหว่างท่านอบูบักร และท่าน อุมัร เป็นอันเสร็จสิ้น ทั้งสองก็ได้ตัดสินใจให้ ท่าน เซด บิน ษาบิต เป็นผู้รวบรวม อัลกุรอาน
قال أبوبكر : (( إنك رجل شاب عاقل، ولانتهمك، كنت تكتب الوحي لرسول الله، فتتبع القرآن فاجمعه))صحيح البخاري، باب: جمع القرآن، ج4، ص1720
ท่านอบูบักร กล่าวว่า : " แท้จริงท่าน (เซด บิน ษาบิต) เป็นชายหนุ่มผู้มีสติปัญญาอันหลักแหลม , และเราจะไม่มีความสงสัยใดๆ ในตัวท่าน , ท่านเคยบันทึกวะฮีย์ (โองการแห่งอัลลอฮ์) ให้กับท่านรอซูล, และท่านเคยติดตาม อัลกุรอาน ดังนั้นท่านจงรวบรวมอัลกุรอานเถิด"
จากคำพูดของท่านอบูบักร ได้บ่งบอกถึงคุณลักษณะต่างๆ ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ ตลอดจนสติปัญญา ของท่านเซด บิน ษาบิต
ท่านเป็นผู้ที่มีคุณลักษณะอันเพียบพร้อม ดังนี้:
- ความเป็นชายหนุ่มของท่านซึ่งเป็นผลให้ท่านเป็นผู้ที่มีความกระฉับกระเฉงในการปฏิบัติซึ่งภารกิจหนึ่งภารกิจใด
- ความมีสติปัญญาอันหลักแหลมของท่าน ซึ่งจะสามารถแบ่งแยกระหว่างความถูกต้องในการเลือกปฏิบัติ
- ความรู้และความสามารถของท่านที่เคยเป็นผู้บันทึกวะฮีย์ให้กับท่านรอซูล บ่งบอกให้รู้ว่าท่านมีความเข้าใจเกี่ยวกับ อัลกุรอาน และท่านยังท่องจำ อัลกุรอานได้ทั้งหมดอีกด้วย
แต่ในขณะเดียวกัน ท่าน เซด บิน ษาบิต กลับรู้สึกถึงภาระอันหนักหน่วง ซึ่งท่านต้องแบกรับเอาไว้ โดยท่านได้กล่าวกับท่าน อบูบักร ว่า
فوالله لو كلّفني نقل جبل من الجبال ما كان أثقل عليّ ممّا أمرني به من جمع القرآن)) صحيح البخاري: رقم 4986، 4989
" ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ถ้าหากว่าท่านมอบหมายให้ฉันเคลื่อนย้ายภูเขาลูกหนึ่งจากภูเขาต่างๆ มันยังไม่หนักสำหรับฉันไปกว่าการใช้ให้ฉันรวบรวม อัลกุรอาน"
และท่านยังได้กล่าวต่ออีกว่า :
((كيف تفعلان شيئا لم يفعله رسول الله ))
" ท่านทั้งสอง (อบูบักร และ อุมัร) จะปฏิบัติสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งท่านศาสดา
ไม่เคยปฏิบัติมันได้อย่างไร?"
ต่อมาท่านอบูบักรได้กล่าวกับท่าน เซด บิน ษาบิต ว่า "ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ แท้จริงมันคือสิ่งที่ดี"
หลังจากนั้นท่านเซดบิน ษาบิตก็ได้รวบรวม อัลกุรอานจากแผ่นจารึกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กระดูก แผ่นหิน ก้านอินทผลัม และอื่นๆ จนกระทั่งได้พบว่า มีสองอายะห์ซึ่งเป็นอายะห์สุดท้ายของซูเราะห์อัตเตาบะห์ อยู่กับท่าน คุซัยมะห์ อัล-อันซอรี แต่อีกสายรายงานหนึ่งบอกว่าอยู่กับ ท่าน คุซัยมะห์ บิน ษาบิต อายะห์ดังกล่าวนั้นคือ
قال تعالى: { لَقَدْ جَاءَكُمْ رَسُولٌ مِنْ أَنْفُسِكُمْ عَزِيزٌ عَلَيْهِ مَا عَنِتُّمْ حَرِيصٌ عَلَيْكُمْ...} سورة التوبة: 128
" แท้จริงมีรอซูล คนหนึ่งจากพวกท่านเองได้มายังพวกท่านแล้ว เป็นที่ลำบากใจแก่เขาในสิ่งที่พวกท่านได้รับความทุกข์ยาก เป็นผู้ห่วงใยในพวกท่าน"
วิธีการรวบรวม อัลกุรอาน สมัยท่าน อบูบักร
หลังจากการปรึกษาหารือกันระหว่างท่านอบูบักร และท่านอุมัร เกี่ยวกับการรวบรวม อัลกุรอานเป็นอันเสร็จสิ้น ได้มีการตกลงกันว่า ผู้ที่ได้รับมอบหมายในการรวบรวม อัลกุรอาน คือ ท่าน เซด บิน ษาบิต และได้มีการวางเงื่อนไขสำหรับการรวบรวม อัลกุรอาน ดังนี้
• อายะห์กุรอานต่างๆ ที่นำมา จะต้องได้ยิน ได้ฟัง มาจากท่านรอซูล เท่านั้น
• สำหรับสิ่งที่บันทึกมาจากแผ่นจารึก ไม่ว่าจะเป็น ก้านอินทผลัม – กระดูก – แผ่นหิน หรือ อื่นๆ จะต้องนำมาพร้อมกับพยาน 2 คน
• จะต้องเป็นการท่องจำของบรรดาศอฮาบะห์เท่านั้น และการท่องจำโดยปราศจากการบันทึกก็ไม่ถือเป็นการเพียงพอ เพราะเกรงว่าจะมีการผิดพลาด หรือ สับสน
ดังกล่าวนี้เองทำให้เราทราบได้ว่า ท่านเซด บิน ษาบิต ไม่ได้บันทึก อัลกุรอานขึ้นมาจากตัวของท่านเอง และไม่ได้ยกเลิกอายะห์หนึ่งอายะห์ใดโดยพละการ หากแต่หน้าที่ของท่านคือ การรวบรวมอายาตต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขที่ได้มีการกำหนดไว้ และหน้าที่ของท่านคือการจัดระเบียบ เรียบเรียงลำดับ ก่อน-หลัง ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ได้ท่องจำ และ บันทึกมาจากบรรดาศอฮาบะห์
และยังมีอีกข้อเท็จจริงหนึ่งซึ่งจะต้องตระหนักคือ อัลกุรอาน ได้ถูกบันทึกทั้งหมดในสมัยท่านรอซูล แต่การบันทึกต่างๆ เหล่านั้น ได้กระจัดกระจายอยู่ตามแผ่นจารึกต่างๆ และไม่ได้มีการรวบรวมไว้ด้วยกันอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้
หลังจากเสร็จสิ้นจากการรวบรวม อัลกุรอาน ก็ได้เก็บรักษาไว้กับท่านอบูบักร และหลังจากที่ท่านได้สิ้นชีวิต ท่านอุมัรคือผู้ที่ทำหน้าที่นี้ ภายหลังจากการสิ้นชีวิตของท่านอุมัร ก็ตกอยู่ภายใต้การดูแลของ ท่านหญิง ฮัฟเซาะห์ บุตรี ของท่านอุมัร
ขั้นตอนที่ 3: การรวบรวมอัลกุรอาน ในสมัยท่านอุษมาน
ในสมัยท่านอุษมานนับว่าเป็นสมัยที่สองที่ได้มีการรวบรวมอัลกุรอานไว้ในเล่มเดียว แต่ทว่าการรวบรวมอัลกุรอานในสมัยท่านอุษมาน แตกต่างจากการรวบรวมในสมัยท่านอบูบักร ทั้ง สาเหตุ วิธีการ และขั้นตอน การรวบรวมอัลกุรอานในสมัยท่านอุษมานเกิดขึ้นด้วยเหตุผลต่างๆ คือ
ท่านได้เล็งเห็นถึงอันตราย และความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชาติอิสลามเกี่ยวกับการอ่าน อัลกุรอาน อันเป็นเหตุสืบเนื่องมาจากการประทานลงมาของ อัลกุรอาน ด้วย 7 สำเนียงภาษา
قال رسول الله : ((إنّ هذا القرآن أنزل على سبعة أحرف فاقرؤا ما تيسّر منه))
ดั่งที่ท่านรอซูล กล่าวว่า "แท้จริง อัลกุรอาน ได้ถูกประทานลงมา 7 สำเนียงภาษาด้วยกัน ท่านทั้งหลายจงอ่านสิ่งที่จะทำให้เกิดความง่ายดายจาก อัลกุรอานนั้น"
โดย อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาครั้งแรกด้วยสำเนียงภาษาของเผ่ากุเรช และเพื่อให้เกิดความง่ายดายแก่ประชาชาติ อัลกุรอานจึงถูกประทานลงมาด้วย 7 สำเนียงภาษา ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อความสะดวกง่ายดายในการศึกษาและการท่องจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนชรา ผู้อาวุโส เด็กๆ และผู้ที่อ่านไม่ออกและเขียนไม่เป็น ในขณะที่มุสลิมได้กระจัดกระจายกันออกไปทุกๆ เผ่าพ้อง ก็ได้อ่าน อัลกุรอ่านตามสำเนียงที่ได้ถูกประทานลงมายังพวกเขา
แท้จริงแล้วภาษาอาหรับหากบันทึกโดยปราศจาก (จุด) ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกถึงความแตกต่างระหว่างตัวอักษรต่างๆเช่น (ب ت ث ن) ( ج ح خ) (د ذ) (ر ز) (س ش) (ص ض) ( ط ظ) ( ع غ) ف ق) หากว่าไม่ใช่เจ้าของภาษาแล้วก็จะไม่สามารถที่จะแยกแยะคำแต่ละคำได้เลย นอกจากเจ้าของภาษาที่คุ้นเคยกับภาษาอาหรับเป็นอย่างดี ในขณะที่ช่วงเวลานั้นมีผู้เข้ารับอิสลามที่ไม่ใช่ชาวอาหรับเยอะแยะมากมาย พวกเขาไม่สามารถที่จะแบ่งแยกความแตกต่างของคำแต่ละคำได้ จากตรงนี้นี่เองคือต้นกำเนิดของความขัดแย้ง
เมื่อข่าวการขัดแย้งได้แพร่สะพัดออกไป ท่านฮุซัยฟะฮ์ บิน อัลยะมาน ได้มาพบท่านอุษมาน ณ เมืองมะดีนะฮ์ ซึ่งก่อนหน้านั้นท่านฮุซัยฟะฮ์ได้อยู่ระหว่างการทำสงครามพิชิตอาร์เมเนียและอาร์เซอร์ไบจัน และท่านได้พูดคุยกับท่านอุษมานถึงความขัดแย้งของชาวชาม และชาวอิรักในการอ่านอัลกุรอาน เนื่องจากเกรงว่าประชาชาติอิสลามจะขัดแย้งกันในการอ่านอัลกุรอาน เสมือนกับการขัดแย้งของชาวยิวและคริสเตียน
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นสามารถสรุปได้จาก 3 เหตุการณ์ ดังนี้
- ความขัดแย้งระหว่างครูบาอาจารย์ที่เกิดขึ้นในมัสยิด
- ความขัดแย้งระหว่างผู้อ่าน อัล-กุรอาน( القراء) ในเมืองที่อาศัยอยู่ร่วมกัน
- ความขัดแย้งระหว่างผู้คนในแคว้นเดียวกัน และ แคว้นอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม จากคำแนะนำของท่านฮุซัยฟะฮ์ และผู้อาวุโสท่านอื่น ทำให้ท่านอุษมานและพวกเขาเหล่านั้นเห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องมีการรวบรวม อัลกุรอาน ทั้งหมดไว้ในการอ่านเดียวกัน และจะไม่มีกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดที่ต่างออกไปจากการอ่านนี้
เพื่อเป็นการบรรลุถึงเป้าหมาย ท่านอุษมานได้ส่งสารไปยังท่านหญิงฮัฟเซาะห์ ให้เผาอัลกุรอานที่เหลือทั้งหมดทิ้ง ส่วนคัมภีร์ที่ถูกยกเลิกในสมัยนั้นยังมีจำนวนที่ไม่แน่นอน บ้างก็ว่ามีทั้งหมด 4 เล่ม, บ้างก็ว่า 5 เล่ม, บ้างก็ว่า 7 เล่ม ถูกเก็บรักษาไว้ที่มะดีนะห์ 1 เล่ม ส่วนที่เหลือได้ถูกส่งไปยังมักกะห์, เยเมน, บะฮ์เรน, บัศเราะห์, กูฟะห์ และชาม ซึ่งหมายความว่า 3 เล่มถูกแจกในคาบสมุทรอาหรับ ส่วนที่เหลืออยู่นอกคาบสมุทรอาหรับ
สาเหตุการรวบรวม อัลกุรอาน ในสมัยท่านอุษมาน
สาเหตุการรวบรวม อัลกุรอานในสมัยท่านอบูบักร เพราะเกรงว่า อัลกุรอาน จะสูญสลายไปพร้อมกับการชะฮีดผู้ท่องจำ อัลกุรอานในสงคราม ส่วนการรวบรวม อัลกุรอานในสมัยท่านอุษมาน เพราะเกรงว่าจะมีการขัดแย้งกันเกี่ยวกับการอ่านของผู้ที่อาศัยอยู่ในแคว้นต่างๆ ขณะที่ทุกๆ แคว้นมีการอ่านที่แตกต่างกันไปจากแคว้นอื่นๆ และต่างก็ยึดถือว่าแนวการอ่านของตนถูกต้องและดีที่สุด ดังกล่าวนั่นเอง ทำให้เกิดการกล่าวหากันเกี่ยวกับความผิดพลาดของอีกบางส่วน
มีรายงานจากอิหม่ามบุคอรีย์และมุสลิมว่า
ท่านอุมัร บิน ค็อตตอบ กล่าวว่า : ฉันได้ยินฮิชาม บิน ฮะกีม ขณะที่กำลังอ่านซูเราะห์ อัล-ฟุรกอนในสมัยท่านนบี และฉันเองก็ได้สดับฟังการอ่านของเขา ขณะที่เขากำลังอ่านซูเราะห์นั้นกับการอ่านที่แตกต่างไป และท่านรอซูล ไม่เคยอ่านมัน, และฉันก็เกือบที่จะกระโจนใส่ตัวเขาในเวลาละหมาด, แต่ฉันก็ยังคงรอจนกระทั่งเขาให้สลาม หลังจากนั้นฉันได้ฟาดเขากับเสื้อคลุมของฉัน
และได้กล่าวกับเขาว่า: ใครอ่านซูเราะห์นี้ให้ท่านฟัง ?
เขาตอบว่า : ท่านรอซูล เป็นผู้อ่านให้ฉันฟัง
ฉันได้กล่าวต่ออีกว่า : ท่านพูดโกหก! ขอสาบานต่ออัลลอฮ์แท้จริงท่านรอซูล เคยอ่านซูเราะห์นี้ให้ฉันฟังซึ่งเป็นการอ่านที่ต่างกับการอ่านของท่าน และฉันได้นำเขาไปยังท่านรอซูล
และได้กล่าวกับท่านว่า : โอ้รอซูลของอัลลอฮ์ แท้จริงฉันได้ฟังเขาอ่านซูเราะห์ อัล-ฟุรกอนกับการอ่านที่ท่านไม่เคยอ่านให้ฉันฟัง ขณะที่ท่านก็เคยอ่านซูเราะห์นี้ให้ฉันฟังแล้ว
ท่านรอซูล กล่าวว่า : โอ้อุมัร นำเขามา, ฮิชามเอ๋ย จงอ่านซิ! แล้วท่านฮิชามก็ได้อ่านการอ่านซึ่งเขาเคยฟังมันมา
ท่านรอซู้ล กล่าวว่า : เช่นนี้แหละที่ได้ถูกประทานลงมา
หลังจากนั้นท่านรอซูล กล่าวว่า : " แท้จริง อัล-กุรอานถูกประทานลงมา 7 สำเนียงภาษาด้วยกัน ท่านทั้งหลายจงอ่านสิ่งที่ง่ายดายจาก อัล-กุรอานนั้น"
ใครคือผู้ที่รวบรวม อัล-กุรอานในสมัยท่านอุษมาน
หลังจากที่มีข้อเสนอให้ทุกๆ แคว้นอ่าน อัลกุรอานในสำเนียงภาษาเดียวกัน เพราะเกรงว่าหากวันนี้เกิดความขัดแย้ง ต่อไปข้างหน้าคนรุ่นหลังจะยิ่งขัดแย้งกันหนักกว่านี้
ที่ประชุมเห็นด้วยกับท่านอุษมาน ท่านจึงส่งคนไปยังท่านหญิงฮัฟเซาะห์ เพื่อขอนำแผ่นบันทึกที่รวบรวมไว้มาคัดลอกใหม่ โดยบางส่วนของบรรดาศอฮาบะฮ์ ได้แก่ เซด บิน ษาบิต, อับดุลลอฮ์ บิน ซุเบร, ซะอีด บิน อาซ, อับดุลเราะห์มาน บิน ฮาริษ, โดยท่านอุษมานแนะนำว่า หากมีการขัดแย้งกันเกี่ยวกับการอ่าน ก็ให้ถือสำเนียงภาษาของเผ่ากุเรชเป็นเกณฑ์ เพราะ อัลกุรอานถูกประทานมาด้วยภาษาของพวกเขา
วิธีการรวบรวม อัล-กุรอานในสมัยท่านอุษมาน
หลังจากคำแนะนำของท่านอุษมานว่า หากมีการขัดแย้งกันเกี่ยวกับการอ่าน ก็ให้ถือสำเนียงภาษาของเผ่ากุเรชเป็นเกณฑ์ เพราะ อัลกุรอาน ถูกประทานมาด้วยภาษาของพวกเขา เมื่อเสร็จภารกิจการคัดลอกจากแผ่นบันทึกต่างๆที่ท่านอบูบักรเคยรวบรวมไว้แล้ว ท่านคอลีฟะฮ์ก็ได้จัดส่ง อัลกุรอานที่เขียนขึ้นใหม่ไปยังทุกเขตแคว้น และมีคำสั่งให้เผาฉบับอื่น ๆ ที่มีการบันทึกไว้ทั้งหมด ให้ยึดถือเฉพาะที่เป็นสำเนียงของเผ่ากุเรชเท่านั้น
หลังจากที่ได้คัดลอกใหม่แล้ว อัลกุรอานก็ได้ถูกจัดส่งไปยังทุกหัวเมือง และได้เผาอัลกุรอานฉบับอื่น ๆ ที่ขัดแย้งเสียทั้งหมด ด้วยการกระทำดังกล่าวนี้เอง อัลกุรอานจึงได้รับการปกป้องไว้สำหรับบรรดามุสลิมมาจนถึงปัจจุบันและตราบจนถึงวันสิ้นโลก
แนวทางการรวบรวม อัลกุรอานของท่านอุษมาน
ท่านอุษมานได้วางกฎเกณท์ต่างๆในการรวบรวม อัลกุรอานไว้ ดังนี้
1- พิจารณาถึงฉบับสำเนาต่างๆ ซึ่ง ท่านเซด บิน ษาบิต เคยรวบรวมไว้ในสมัยท่านอบูบักร โดยยึดถือเป็นดั่งรากฐานในการยกเลิกคัมภีร์ที่เหลือ
2- ขณะที่เกิดการขัดแย้งให้ยึดเอาการอ่านของชาวกุเรช
3- อายาตต่างๆ ที่ถูกเก็บรักษาไว้จะต้องเป็นอายะห์ที่ตรงกับมุสฮัฟ (คัมภีร์) ของท่านอบูบักร
4- จะไม่บันทึกสิ่งใดนอกจากจะมั่นใจว่าสิ่งนั้นยังไม่ถูกยกเลิก
5- จะไม่บันทึกสิ่งใดเว้นแต่จะต้องนำเสนอสิ่งนั้นแก่บรรดาศอฮาบะฮ์
6- คำๆ ใดที่ไม่ขัดแย้งกันด้านการอ่านจะมีการบันทึก ส่วนคำใดก็ตามที่แตกต่างกันจากการอ่านแต่สามารถบันทึกได้ ก็จะเก็บบันทึก เช่น ความแตกต่างของ (จุด) ที่อยู่บนพยัญชนะภาษาอาหรับ เช่น คำว่า (ننشزها) จากอายะห์ที่ว่า وانظر إلى العظام كيف ننشزها} } อายะห์ดังกล่าวสามารถอ่านด้วยกับ الزاي เช่นเดียวกับที่สามารถอ่านด้วยกับ الراء
7- คำที่แตกต่างกันทางด้านการอ่าน และไม่สามารถนำมารวมกันด้วยการบันทึกแบบเดียวกันได้ ก็จะมีการบันทึกหนึ่งที่อนุญาตให้อ่านแบบหนึ่ง และอนุญาตให้อ่านอีกแบบเช่นกัน
قال تعالى: {تجري من تحتها الأنهار} ، قال تعالى: {تجري تحتها الأنهار}
ด้วยการเพิ่ม (من ) แต่สามารถอ่านได้ทั้งสองลักษณะ
ที่มา www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=66&id=2530
http://www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=66&id=2533
http://www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=66&id=2535
ความคิดเห็น