คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #5 : J5 มาดูการเก็บขยะของญี่ปุ่นกัน
วัฒนธรรมการแยกขยะเมืองญี่ปุ่น
รายงานพิเศษ สุวรรณา เกรียงไกรเพชร มติชนรายสัปดาห์
วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1295
ในเมืองคนพลุกพล่านถนนยังสะอาด |
คนที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นมักออกปากชมว่าเมืองญี่ปุ่นสะอาด ไม่ว่าจะเป็นตามถนนหนทางสายใหญ่ ตรอกเล็กซอยน้อย ไปจนถึงบริเวณพื้นที่สาธารณะกว้างๆ อย่างเช่น สถานีรถไฟ ชุมทางรถเมล์ ที่มีผู้คนเดินสับสนขวักไขว่ จะหาตั๋วรถเมล์ รถไฟ หรือเศษกระดาษ เปลือกผลไม้ หล่นตามพื้นสักชิ้นก็ยาก ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเสียเลย เคยเห็นบ้างเหมือนกัน แต่ชั่วครู่เดียวก็จะมีคนมาเก็บกวาดเกลี้ยงเกลา
เมื่อเดินไปตามซอกเล็กซอยน้อยที่ลัดเลาะผ่านหน้าบ้านหลังบ้าน อย่างเช่นในเมืองเกียวโต ก็ยากที่จะเห็นถังขยะพูนล้น หรือถุงขยะวางรอคนเก็บแรมวันแรมคืน (หรือแรมเดือน-อย่างบ้านเรา)
เขาทำกันอย่างไร มีระบบระเบียบหรือกำหนดกฎเกณฑ์อะไร ถึงได้สามารถควบคุม "ขยะ" ไม่ให้เป็นสิ่งที่น่า "แขยง" จนถึงขั้น "ขยาด" อย่างที่เป็นอยู่ในบ้านเมืองเรา
เรื่องขยะที่จะเล่าต่อไปนี้ มาจากประสบการณ์และข้อสังเกตส่วนตัวของข้าพเจ้า ตลอดเวลาที่พำนักพักพิงอยู่ในจังหวัดโอซากา อำเภอมิโน เป็นเวลารวมทั้งสิ้น 6 ปี ในที่พักแห่งเดียวกันโดยตลอด แม้ช่วงเวลาจะไม่ต่อเนื่องกันก็ตาม
ขยะแยกประเภท
ถังขยะในญี่ปุ่นแบ่งย่อยหลายประเภท สร้างความงงงวยให้กับคนต่างชาติ |
ผู้ที่ไปพำนักอยู่ในญี่ปุ่นใหม่ๆ มักจะประสบปัญหาความละเอียดลออถี่ถ้วน (แบบญี่ปุ่น) ในเรื่องขยะ เริ่มตั้งแต่การแยกขยะ ซึ่งก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ คนญี่ปุ่นเองก็ใช่ว่าจะแยกขยะกันได้ง่ายๆ บางทีเมื่อไปไถ่ถามเพื่อนบ้านญี่ปุ่นว่า ของอย่างนั้นๆ ที่ต้องการจะทิ้ง ถือเป็นขยะอะไร จะต้องทิ้งวันไหน ทิ้งอย่างไร คนญี่ปุ่นก็ส่ายหน้าเหมือนกัน แต่ทุกคนก็พยายามจะทำหน้าที่รับผิดชอบขยะของตนอย่างเต็มที่
ก่อนที่จะทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล มูลฝอย หรืออะไรก็ตามที่ประสงค์จะทิ้ง นั้น ผู้ทิ้งจะต้องรู้จักลักษณะและธรรมชาติของขยะแต่ละชิ้น และจำแนกแยกแยะอย่างละเอียดถี่ถ้วน เริ่มตั้งแต่ประเภทใหญ่ๆ คือ
- ขยะเผาได้ (burnable garbage/ combustible)
- ขยะเผาไม่ได้ (unburnable garbage/incombustible)
ขยะเผาได้ คือ ขยะจากในครัว (ขยะเศษอาหาร) และขยะเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน ในชีวิตประจำวัน ขยะประเภทนี้นอกจากจะมีธรรมชาติเป็นวัสดุที่เผาไฟได้แล้ว ยังต้องมีขนาดไม่ใหญ่เกินไป คือ ต้องบรรจุลงได้ในถุงพลาสติกเนื้อหนา ขนาด 2 ลิตร หรือ 3 ลิตร ซึ่งเป็นถุงขยะมาตรฐานที่รัฐหรือเทศบาลญี่ปุ่นกำหนดใช้ทั่วประเทศ ถ้าเป็นขยะที่เผาได้แต่ขนาดใหญ่เกินจะบรรจุลงถุงมาตรฐานนี้ ก็จะถือเป็นขยะขนาดใหญ่ ต้องแยกออกไปต่างหาก หรือซื้อถุงขยะขนาดใหญ่ ประเภทถุงดำเนื้อหนา มาบรรจุให้เรียบร้อย
ป้ายเตือนการทิ้งขยะ |
ขยะเผาไม่ได้ ก็คือ พวกขวดแก้ว ภาชนะแก้ว กระป๋องเครื่องดื่ม กระป๋องเหล็กวิลาส (เช่นกระป๋องบรรจุอาหาร) ขวดพลาสติกทั้งชนิดบาง (pet bottle) และพลาสติกหนา เช่น ขวดบรรจุเครื่องสำอาง น้ำยาซักล้างซักฟอก โฟมและเม็ดพลาสติก ภาชนะที่ใช้บรรจุสารเคมี ยา กระป๋องฉีดแบบสเปรย์ ของใช้ที่ทำจากยาง เครื่องหนัง แผ่นซีดี แผ่นดิสเก็ต ม้วนเทปบันทึกภาพและเทปบันทึกเสียง ฯลฯ
ถ้าเป็นขยะที่มีส่วนประกอบทั้งที่เผาได้และเผาไม่ได้ ก็จะต้องถือเป็นขยะเผาไม่ได้ ขยะประเภทนี้ต้องจ่ายเงินซื้อถุงขยะที่มีข้อความระบุหน้าถุงชัดเจนว่า "ขยะเผาไม่ได้" (undurnable garbage) ซึ่งราคานับว่าไม่ถูกเลย
ขยะประเภทที่สาม คือ ขยะขนาดใหญ่ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องเรือน ที่นอนหมอนมุ้ง ไปจนถึงรถจักรยาน จักรเย็บผ้า ฯลฯ ขยะประเภทนี้ อาจมีทั้งที่เผาได้และเผาไม่ได้ แต่ที่ต้องแยกประเภทออกมาก็เพราะรถเก็บขยะบรรทุกไปไม่ได้ หรือเอาไปเผารวมกับขยะธรรมดาจากครัวเรือนไม่ได้
นอกจากขยะสามประเภทนี้แล้ว ก็ยังจำแนกออกเป็นขยะมีพิษหรือขยะอันตราย เช่น พวกภาชนะบรรจุสารเคมีที่เป็นพิษ ขยะติดเชื้อ (ขยะโรงพยาบาล) กระป๋องที่มีหัวฉีดแบบสเปรย์ ซึ่งอาจระเบิดได้ และขยะที่ถือเป็นวัตถุระเบิด เช่น ดอกไม้ไฟ แก๊สกระป๋อง รวมทั้งแบตเตอรี่ (dry cell) หลอดฟลูออเรสเซนต์ และขยะประเภทของมีคม เช่น มีด เศษแก้ว เศษวัสดุแหลมคมต่างๆ ฯลฯ
แต่ไม่ต้องตกใจไปมีภาษาอังกฤษกำกับไว้ก่อนจะทิ้ง |
ขยะอีกประเภทหนึ่งคือขยะที่นำไปหมุนเวียนใช้ในการผลิตใหม่ได้ (recycle) เช่น กระดาษชนิดต่างๆ ตั้งแต่หนังสือพิมพ์ หนังสือเล่ม นิตยสาร ไปจนถึงกล่องกระดาษ ลังกระดาษ กระดาษเคลือบมัน เช่นพวกกล่องนม กล่องน้ำผลไม้ และขวดพลาสติก ขวดเครื่องดื่ม กระป๋องเครื่องดื่มที่เป็นอะลูมิเนียมบาง (บีบได้) ขยะเหล่านี้ถือเป็นขยะรีไซเคิล แต่ในการทิ้งขยะประเภทนี้จะต้องแยกย่อยลงไปอีก ไม่ทิ้งรวมกัน และถือว่าเป็นความรับผิดชอบ (หรือเป็นผลประโยชน์) ของบริษัทผู้ผลิตที่ใช้วัสดุประเภทนี้
ขยะประเภทสุดท้ายคือ ขยะที่ต้องแจ้งหน่วยงานพิเศษของรัฐหรือเทศบาลให้มาเก็บ หรือนำไปส่งที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบ เช่น คอมพิวเตอร์และวัสดุอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องดนตรีขนาดใหญ่ รถจักรยานยนต์และมอเตอร์ไซค์ รวมทั้งรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ และซากสัตว์ ฯลฯ
การจำแนกขยะเหล่านี้ เกี่ยวเนื่องกับวิธีการบรรจุเพื่อนำไปทิ้ง ถุงหรือภาชนะที่ใช้บรรจุ วันเวลาและสถานที่ทิ้ง ตลอดจนรายละเอียดปลีกย่อยบางประการ เช่น การผูกป้ายสำหรับทิ้งขยะบางประเภท (ป้ายเหล่านี้ต้องซื้อจากซุปเปอร์มาร์เก็ต มีราคาต่างๆ ตามลักษณะและขนาดของขยะที่จะทิ้ง) ถ้าผู้ทิ้งขยะทำไม่ถูกวิธี หรือจำแนกประเภทไม่ถูกต้อง ทิ้งผิดวันเวลา ทิ้งผิดสถานที่ ฯลฯ ก็อาจเกิดปัญหา เช่น ถูกตักเตือนจากเทศบาลไปจนถึงขั้นถูกปรับ
หรืออาจเป็นการลงโทษทางสังคม เช่น เพื่อนบ้านติฉินนินทา ฟ้องเทศบาลหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ
เครดิตhttp://www.japankiku.com/tour/garbage_japan.html
ความคิดเห็น