ลำดับตอนที่ #3
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #3 : ปี 2 : ร่างกายปกติมันเป็นยังไงกันนะ
ก่อนอื่นก็ขอออกตัวไว้ก่อนว่า ตัวพี่เองก็เพิ่งกำลังจะขึ้นปี 2 ยังไม่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการเรียนในปีสูงๆ นัก อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่จะบอกเล่าต่อไปนี้ ได้มาจากการฟังคำบอกเล่าของรุ่นพี่ และเรียบเรียงจากบทความที่มีอยู่ก่อนแล้วนะครับ เอาไว้ถ้าได้ข้อมูลอะไรใหม่ๆ ก็จะมาแก้ไข เพิ่มเติมให้อีกที แต่เชื่อว่าไม่น่าจะแตกต่างจากนี้มากนัก
การเรียนในปี 2 นี้ เราก็จะได้เข้ากรุงกันสักที โดยจะมาเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ซึ่งก็อยู่ติดกับโรงพยาบาลรามาธิบดีนั่นแหละ ก็จะเรียนกลุ่มวิชา preclinic จะได้เริ่มเรียนอะไรที่มันเป็นการแพทย์แล้ว preclinic นี่จะเรียนในชั้นปี 2 และ 3 โดยปี 2 นี่ ก็จะเรียนเกี่ยวกับสภาพร่างกายที่มันปกติก่อน พอปี 3 ก็จะเรียนสภาพร่างกายที่ไม่ปกติ ไว้ค่อยว่ากันอีกที~
วิชาแรก biochemistry ชีวเคมี ก็เรียนเกี่ยวกับการก่อเกิดปฏิกิริยาเคมีของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ก็จะได้รู้จัก DNA, กรดอะมิโน, โปรตีน ฯลฯ ไปถึงระดับโครงสร้าง พันธะเคมี ได้รู้จักปฏิกิริยาต่างๆ อย่างเช่นกว่าที่เรากินอาหารเข้าไปแล้วเนี่ยมันจะต้องผ่านปฏิกิริยาอะไร อย่างไรบ้าง กว่าจะได้พลังงานออกมา ก็จะมี glycolysis หรือ kreb's cycle ให้เรียนอย่างละเอียดขึ้นกว่าเดิมมากๆ แล้วมันก็จะอัดๆ เพราะเราก็จะเรียนวิชานี้แค่เดือนสองเดือนเท่านั้นเอง
วิชาต่อไป pharmacology เภสัชวิทยา ชื่อก็บอกแล้วว่าเรียนเกี่ยวกับยา นอกจากเราจะต้องมานั่งท่องชื่อยากันแล้วเรายังต้องทำความเข้าใจกลไกการออกฤทธิ์ของยา เทคนิคการใช้ ภาวะแทรกซ้อน ความแตกต่างระหว่างยาในกลุ่มเดียวกัน ยาตัวไหนเป็นพิษต่ออวัยวะอะไรหรือเปล่า คนท้องกินจะเป็นอะไรมั้ย และยังมีคำนวณอยู่บ้าง เราเรียนวิชานี้บางส่วนตอนปี 2 แล้วที่เหลือก็ไปเรียนเอาในปี 3 ต่อ
physiology สรีรวิทยา ก็จะได้เรียนเกี่ยวกับการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย อย่างระบบไหลเวียนเลือด การทำงานของหัวใจ ฯลฯ เพื่อให้เข้าใจรูปแบบและการเปลี่ยนแปลงของระบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกาย เป็นพื้นฐานที่สำคัญมากในการเรียนต่อไปในชั้น clinic เพราะคนเราเมื่อเกิดโรค ร่างกายก็จะเปลี่ยนแปลง แพทย์ก็จะใช้ความรู้ในการสังเกตและปรับสภาพร่างกายให้กลับสู่สภาวะปกติ ซึ่งเราจะได้เรียนจากวิชานี้ แล้วก็จะมีคำนวณมาจ๊ะเอ๋เราด้วย บางทีอย่างสูตรฟิสิกส์ V = IR ก็แปลงเป็นสูตรในเรื่องการลำเลียงเลือด โดยรวมแล้วก็...ยากมาก - -''
embryology เรียนเกี่ยวกับการสร้าง การก่อกำเนิดของอวัยวะต่างๆ ตั้งแต่คนยังเป็นตัวอ่อนตัวเล็กๆ อยู่ในท้องแม่ ต้องรู้ว่าพอสเปิร์มไปเจอกับไข่แล้วเนี่ย มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง หัวใจนี่มันพัฒนามาจากเนื้อเยื่อส่วนไหน วันที่เท่าไหร่ โตยังไง เราก็จะได้เห็นว่ากว่าจะโตมาเป็นคนได้เนี่ย มันพร้อมจะเกิดการผิดพลาดได้ทุกเวลา (อันนี้เราก็ต้องเรียนด้วย) วิชานี้จะทำให้แพทย์มีความเข้าใจกลไกในการเกิดโรคต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นด้วย
anatomy กายวิภาคศาสตร์ ก็จะมี gross anatomy มหกายวิภาคศาสตร์ เราก็จะเรียนส่วนที่มันใหญ่ๆ ที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ก็จะได้เรียนเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ เส้นประสาท เส้นเลือด เส้นน้ำเหลือง ฯลฯ จะเน้นในเรื่องตำแหน่งการวางอวัยวะ อย่างสมมติว่า แขน เราก็ต้องรู้ว่ามีกล้ามเนื้อตรงไหนยังไงบ้าง มีเส้นเลือด เส้นประสาทชื่ออะไรมาเลี้ยง แล้วแตกมาจากเส้นไหน drain ของน้ำเหลืองแถวนั้นมันเป็นยังไง แล้วก็จะได้ทำ lab คือศึกษาจากอาจารย์ใหญ่ที่อุทิศร่างกายมาให้นักศึกษาแพทย์ได้ศึกษา เราก็จะต้องศึกษาให้สมกับที่ท่านเสียสละร่างกายให้ จะได้รู้ว่า ที่เรียนจากอาจารย์ อ่านจากหนังสือมานั้น ของจริงมันเป็นอย่างไร อยู่ตรงไหน ต้องพยายามกันอย่างที่สุดเพื่อให้ภาพของโครงกระดูก เนื้อหนังมังสาของอาจารย์ใหญ่ติดตาเราให้ได้ เพื่อจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อไปในอนาคต เมื่อเรามีมหภายวิภาคศาสตร์แล้ว ก็จะต้องเรียน micro anatomy จุลกายวิภาคศาสตร์ (หรือบางที่ก็เรียก histology) ก็จะศึกษาอะไรที่มันต้องส่องกล้องจุลทรรศน์ลงไปถึงจะมองเห็น ก็จะศึกษาเกี่ยวกับพื้นฐานของเซลล์ องค์ประกอบภายในเซลล์ต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นเนื้อเยื่อ เป็นอวัยวะ เป็นร่างกาย นอกจากนี้ก็ยังมี neuroanatomy ประสาทกายวิภาคศาสตร์ ซึ่งว่ากันว่าเป็นพระเอกของการศึกษาในปีสอง เราจะได้เรียนระบบประสาทของมนุษย์ที่ว่ากันว่าซับซ้อนที่สุดในบรรดาสัตว์โลก เราก็ต้องจดจำแนวทางการส่งกระแสประสาทของสมองและไขสันหลัง การทำงานของระบบประสาทเพื่อควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ วิชานี้มีความซับซ้อนมาก เราต้องใช้ความถึกอย่างมากในการเรียน (จริงๆ มันก็ต้องใช้ความถึกทุกๆ วิชานั่นแหละนะ) ก็ต้องพัฒนาฝีมือการจดจำเพื่อให้ลุล่วงไปได้
สุดท้ายก็ endocrinology เรียนเกี่ยวกับพวกต่อมไร้ท่อทั้งหมด พวก thyroid gland, pituitary gland, ฯลฯ ว่ามันสร้างฮอร์โมนอะไรมาบาง สร้างยังไง สร้างทำไม ใครกระตุ้น ใครยับยั้ง แล้วฮอร์โมนพวกนี้มันไปทำอะไรที่ไหนยังไงบ้าง
สิ่งที่คณะแพทย์ของมหิดลเรียนไม่เหมือนกับที่อื่นเขาก็คือวิธีการเรียน ที่นี่จะเอาเนื้อหามายำรวมๆ กัน แล้วก็เรียนเป็น block คือ สมมติว่าเรียนเรื่องตับอยู่ เราก็เรียนหมดเลย ตั้งแต่ development ของตับ (embryology) ลักษณะของตับ การทำงานของตับ (physiology) ยาที่ออกฤทธิ์เกี่ยวข้อง (pharmacology) ซึ่งก็จะเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ บูรณาการความรู้ในแต่ละวิชาเข้าด้วยกัน ซึ่งจะเป็นสิ่งที่วิเศษมากหากผู้เรียนทำได้ T-T
นอกจากเนื้อหาที่เรียนเป็นทฤษฎีแล้ว ก็มีการฝึกให้เอาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาประยุกต์ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ lab, PBL, และ conference
lab ก็ไม่ต่างจากที่เคยเป็นมานัก ที่ได้ทำก็เช่น หา DNA จากเลือดไก่ (biochemistry) ทรมานสัตว์โดยเอากระแสไฟฟ้าเสียบขากบ แล้วดูการส่งสัญญาณประสาท หรือทรมานเพื่อนโดยให้หายใจใส่ถังที่เอาตัวดูดซับ carbon dioxide ออก เพื่อดูประสิทธิภาพของปอด (physiology) ส่องกล้องดูเซลล์ (histology) ส่องกล้องดูการเจริญเติบโตของ embryo ในระยะต่างๆ (embryology) การผ่าอาจารย์ใหญ่ (gross anatomy) ส่องดูส่วนต่างๆ ของสมอง (neuroanatomy)
PBL คือ Problem Base Learning ก็จะจับนักศึกษามาเป็นกลุ่ม กลุ่มละสิบกว่าคน แล้วก็จะมี case ตัวอย่างมาให้ว่าคนไข้อาการประมาณนี้นะ ให้เรามานั่งคิดว่าคนไข้เป็นโรคนั้นโรคนี้หรือเปล่า น่าจะเกิดจากอะไร แล้วก็จะมีข้อมูลมาให้เรื่อยๆ โดยมีอาจารย์ประจำกลุ่มคอยดูแล แนะให้บ้าง บางทีเริ่มคิดเลยเถิดก็คอยปรามให้บ้าง แล้วเราก็จะแบ่งหัวข้อกันไปศึกษาในเรื่องที่ไม่แน่ใจ แล้วอาทิตย์หน้าก็ผลัดกันนำเสนอ แล้วก็ช่วยกันสรุป มีคนบอกว่าเหมือนเล่นเป็นหมอ แต่รุมรักษาคนไข้ทีละสิบคน ใช้เวลาวินิจฉัย 1 อาทิตย์ อะไรประมาณนั้น ก็จะฝึกให้เราได้ใช้ความคิด พัฒนาวิธีคิดด้วย ส่วน conference ซึ่งก็จะเป็นกลุ่มที่ใหญ่กว่าหน่อย ประมาณยี่สิบคน จะมีอาจารย์มากำหนดหัวข้อให้ว่าจะศึกษาเรื่องอะไร แล้วก็แบ่งกันไปศึกษา ไป present แล้วอาจารย์ก็จะคอยเพิ่มเติม (หรือไม่ก็ยิงคำถามเอาให้คน present ตายคาชั้นเรียนไปเลย)
เวลาเรียนในปี 2 ก็จะเริ่มเข้าสู่โลกของหมอไปอีกนิด มีเนื้อหาที่หนักขึ้นมา ยากขึ้นมา แต่ก็อย่าไปกลัวให้มันเกิดเหตุนักนะครับ อะไรที่เรายังไม่ได้เรียน มันก็ยากทั้งนั้นแหละ น้องๆ อาจจำได้ว่าตอนเด็กๆ เจอ 35 x 42 เข้าไปก็ชักตายแล้ว ตอนนี้กลายเป็นเรื่องหมูๆ น้องๆ กำลังเห็นว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นเรื่องยาก แต่พอผ่านมาแล้วมองย้อนกลับไป ก็จะเห็นว่ามันก็เป็นเนื้อหาที่เหมาะสมกับวัยดีแล้ว ถ้าเราได้พยายามก็จะผ่านพ้นมาได้ด้วยดีเอง
เจอกันอีกทีในปี 3 ครับ~
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น