ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Extern เราจะข้ามผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน

    ลำดับตอนที่ #18 : -6 ทะเลาะด้วยอารมณ์หรือถกเถียงด้วยวิชาการ 6-

    • อัปเดตล่าสุด 15 ธ.ค. 52


    ตอนที่ 18

    -6 ทะเลาะด้วยอารมณ์หรือถกเถียงด้วยวิชาการ 6-


    ในช่วงการเรียนกุมารเวชศาสตร์ เวลาเช้าจะเป็นเวลาที่นักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน และอาจารย์เข้าห้องประชุมชั้นสองเพื่อทำการถกปัญหาเรื่องเคสผู้ป่วยที่รับ เข้ามารักษาในช่วงเวรของเย็นวาน
    แพทย์ประจำบ้านจะต้องเล่าเคสเด็กที่รับไว้รักษาเมื่อคืนนี้ทั้งเรื่อง ประวัติและการตรวจร่างกายที่พบ จากนั้นก็ถกว่ามีแนวคิดที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค ส่งตรวจพิเศษอื่นๆ และสุดท้ายคือรักษาอย่างไรไป

    วันนี้ก็เช่นเดียวกับทุกวัน หลังจากขึ้นไปดูคนไข้เสร็จในช่วงเช้า วศินและเพื่อนๆที่ผ่านwardเด็กก็มารวมกันที่ห้องประชุม

    "วันนี้เคสอะไรวะ" โกวิทกระซิบถามเพื่อนทั้งสองหลังจากนั่งลงที่โต๊ะทางด้านหลังห้องแล้ว
    " ได้ยินว่าเป็นเคสโรค Kawasaki " สุรศักดิ์ตอบกลับ
    โรคคาวาซากิเป็นโรคที่น่ากลัวโรคหนึ่ง มันเป็นโรคที่ไม่มีใครทราบสาเหตุที่แน่ชัด การวินิจฉัยโรคก็ทำได้ยากเนื่องจากอาการที่ไม่จำเพาะเจาะจง และมีผลแทรกซ้อนของโรคที่รุนแรงแม้ว่าจะได้รับการรักษาอย่างเต็มที่
    เด็กที่เป็นจะมาด้วยอาการไข้สูง อาจจะมีมือ หน้า ปากและตาแดง ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ซึ่งแยกได้ยากจากโรคติดเชื้ออื่นๆ และเมื่ออาการดำเนินไปได้ระยะหนึ่งก็จะเกิดผลแทรกซ้อนที่รุนแรงคือเส้นเลือด ใหญ่ที่ออกจากหัวใจโป่งพอง ก่อให้เกิดอันตรายหรือความพิการติดตัวเด็กไปได้ตลอดชีวิต

    "ผู้ป่วยเด็กชายไทย อายุ2ปี มาด้วยอาการไข้มา3วัน  ปากแดง มือแดง ผื่นแดงตามตัว  เจ็บคอเล็กน้อย ไอเล็กน้อยไม่มีเสมหะ .... "
    ผู้ที่นำเสนอประวัติวันนี้คือแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1 วศินไม่รู้จักพี่คนนี้แต่ว่าก็พอเคยเห็นหน้ากันมาก่อน ... พี่คนนี้เล่าประวัติผู้ป่วยตั้งแต่ประวัติจากที่บ้าน การตรวจร่างกายที่พบ ซึ่งจากนั้นอาจารย์จะถามความเห็นจากนักศึกษาแพทย์ทุกคนที่เข้าประชุมว่าเห็น อย่างไร

    " ไหน สุเมธา บอกมาซิว่าคิดถึงอะไร แล้วจะตรวจอะไรต่อ " อาจารย์กุลธิดาถามจากหน้าชั้น
    " ครับอาจารย์ " เพื่อนชั้นปีเดียวกับวศินเอ่ยรับก่อนจะตอบด้วยน้ำเสียงที่มั่นใจ
    "คนไข้มาด้วยอาการไข้มา 3 วัน ตรวจร่างกายแล้วไม่พบอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนบน มีอาการปากแดง มือแดง คลำได้ต่อมน้ำเหลืองโต ดังนั้นนึกถึง Kawasaki disease มากที่สุดครับ ผมจะขอเจาะเลือดตรวจ Liver function test C-reactive protein กับ ESR ครับ "

    " อืม แล้วเธอล่ะ นวล"
    "หนูเห็นด้วยกับสุเมธาค่ะอาจารย์ " นวลตอบอย่างมั่นใจ

    ที่จริงแทบทุกคนมั่นใจกันทั้งนั้น เพราะว่าก่อนที่จะเริ่มประชุมช่วงเช้า เจ้าของเคสตามแพทย์ประจำบ้านและนักศึกษาแพทย์ตามชั้นต่างๆไปดูเคสเรียบร้อย แล้วเพื่อให้ตรวจดูอาการของโรคซึ่งไม่ค่อยจะพบกันบ่อยโรคนี้ ... การวินิจฉัยและการรักษาเด็กคนนี้ก็มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจเด็ก ดูแลอยู่ เรียกได้ว่าทุกคนเห็นเฉลยตั้งแต่ยังไม่เข้าห้องกันเลยทีเดียว

    " แล้วเธอล่ะ สุรศักดิ์ " อาจารย์กุลธิดาถามอีกครั้ง
    " ผู้ป่วยเด็กมาด้วยอาการไข้สามวัน ตรวจไม่พบอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนบน ในขณะเดียวกันตรวจพบอาการผื่นแดงตามตัว ก็ต้องแยกก่อนครับว่าเกิดจากอะไร " สุรศักดิ์ตอบ
    " อาการที่เห็นอาจจะเป็นอาการกลุ่มที่เกิดจากแบคทีเรียได้เนื่องจากผู้ป่วยมี อาการไข้สูงลอยแม้ว่าจะได้ยาลดไข้แล้ว โรคที่ผมนึกถึงโรคแรกคือScarlet feverครับ ต่อมาก็คืออาการของการติดเชื้อไวรัสแบบไม่จำเพาะที่มีต่อมน้ำเหลืองโต ก็นึกถึงการติดเชื้อ Ebstein-Barr Virus และอาจจะต้องนึกถึงเรื่องไข้เลือดออกไว้ด้วย"
    " ส่วนอาการไข้ที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ในผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้มีอาการเรื้อรังมาก่อน ไม่ได้มีอาการปวดข้อหรือผื่นผิวหนังในประวัติที่ให้มา ก็ยังไม่ค่อยนึกถึงครับ ... ดังนั้นตอนนี้ผมขอรัดแขน Tourniquet test เพื่อแยกเรื่องไข้เลือดออก และตรวจเลือดCBCครับ "

    " จะบ้าหรือไง เคสนี้มัน Kawasaki ชัดๆเลยนะ อาจารย์กฤษณ์ก็วินิจฉัยแล้วว่าใช่แน่ๆ นายไปบอกอย่างนั้นได้ไง " วรรณเอาข้อศอกกระทุ้งสีข้างสุรศักดิ์เบาๆตอนที่เขานั่งลง ... เพราะสุรศักดิ์ไม่กล่าวถึงโรคที่ผู้ป่วยเป็นเลยทั้งที่อาจารย์ทางหัวใจได้ วินิจฉัยไว้แล้วแท้ๆ
    อาจารย์กุลธิดาเอามือแตะแว่นตากวาดมองไปรอบห้อง
    " อาจารย์แนะนำสั้นๆแล้วกันนะสำหรับคนที่กระโดดไปวินิจฉัยว่าเป็น Kawasaki ทันที ... ขอให้พวกเธอกลับไปอ่านหนังสือหัวข้อการวินิจฉัยผู้ป่วยที่มาด้วยเรื่องไข้ ให้ดีก่อน ทำตัวให้สมกับเป็นexternหน่อย "
    อาจารย์ไม่ได้พูดอะไรมากกว่านั้นอีก แล้วก็โบกมือให้พี่แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 3 ทำการอภิปรายเคสผุ้ป่วยต่อ
    การอภิปรายเคสของแพทย์ประจำบ้านปีที่3เริ่มอย่างเป็นขั้นตอน มีการกล่าวถึงการตรวจวินิจฉัยแยกโรคของผู้ป่วยที่มาด้วยไข้และผื่น ... ซึ่งเจ้าโรคkawasakiนี่ไปอยู่ในลำดับท้ายๆของโรคที่คิดถึง ส่วนอันดับแรกๆก็ไม่พ้นโรคติดเชื้ออย่างที่สุรศักดิ์ได้กล่าวไป

    ที่อาจารย์ว่าไว้นั้นก็ไม่ผิด เพราะว่าผู้ป่วยที่มาด้วยไข้และผื่นแเดง มีโอกาสเป็นโรคอื่นได้มากกว่าkawasakiไม่รู้กี่ร้อยกี่พันเท่า ... เวลาคนไข้มาด้วยเรื่องไข้ สิ่งที่แพทย์ต้องทำคือการซักประวัติตรวจร่างกายอย่างเป็นระบบระเบียบแบบแผน เพื่อให้สามารถแยกเอาโรคที่เป็นออกมาให้ได้
    การจับเอาอาการหลายๆอย่างที่เข้าได้มาแล้วฟันธงไปเลยว่าเป็นโรคอะไร ก็ไม่ต่างอะไรกับคนทั่วไปที่ไปอ่านหนังสือเรื่องโรคๆหนึ่ง จากนั้นก็จับเอาอาการนั้นอาการนี้มาบอกว่าตัวเองป่วยเป็นโรคนั้นโรคนี้ ... ซึ่งคนที่จะเป็นหมอไม่ควรทำแบบนั้น

    ....
    การอภิปรายเคสผ่านไปเรื่องๆ มีการเล่าถึงการตรวจเลือดและส่งตรวจอื่นๆ ... จากนั้นก็แยกโรคหลายๆโรคออกไปจนกระทั่งที่สุดก็เหลือโรค Kawasaki เป็นโรคที่สงสัยมากที่สุด มีการปรึกษาอาจารย์และก็เริ่มรักษาแบบโรคKawasaki
    " ในรายนี้เราให้ยาแอสไพรินในขนาดสูงครับ และก็ให้อิมูโนโกลบูลินไป วันนี้ตอนเช้าก็เจาะเลือดตรวจดูเรื่องการอักเสบและการตอบสนองอื่นๆ ไข้ก็ลดลงมา เช้านี้ยังมีไข้ต่ำๆอยู่ "
    ไม่มีใครพูดอะไรต่อ เพราะส่วนของขั้นตอนในการวินิจฉัยแยกโรคที่ไม่ใช่ออกไปก็ชัดเจน รายนี้ส่งตรวจหลายอย่างตัดโรคติดเชื้อที่รุนแรงออกไปแล้ว อาการที่เข้าได้กับkawasakiก็ครบถ้วน
    ทุกอย่างน่าจะจบแล้ว ทุกคนเริ่มเก็บของกันแล้วตอนที่มีเสียงดังมาจากแถวหน้าของห้องประชุม

    " ผมถามหน่อยนะหมอ แล้วถ้าให้อิมูโนโกลบูลินไปแล้ววันนี้มีไข้อีก หมอจะให้อีกไหม"  อาจารย์ไกรสร ... อาจารย์แผนกโรคติดเชื้อเด็กยกมือถามขึ้น

    สำหรับนักศึกษาแพทย์ในห้องนั้นยังทำหน้างงๆกันอยู่ แต่สำหรับแพทย์ในที่นั้นต่างคิดกันหนัก  ที่คิดหนักเพราะเจ้ายาอิมูโนโกลบูลินนี้ เข็มนึงราคาหลักแสนบาท และยังไม่มีใครรู้ว่าให้ไปซ้ำแล้วจะช่วยอะไรได้ไหม

    " เป็นผม ผมยังไม่ให้ " อาจารย์กฤษณ์ตอบ " ตอนนี้เท่าที่มีรายงานมา ยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนว่าการให้ IVIG ซ้ำเข็มที่สองจะช่วยได้ดีกว่าให้เข็มเดียว "
    " อาจารย์บอกว่าไม่มีรายงานชัดเจน แปลว่ามันมีแต่ไม่ชัดเจนใช่ไหม " อาจารย์ไกรสรถามกลับด้วยเสียงอันดัง
    " มีบางรายงานที่ดูเหมือนว่าการให้ซ้ำในคนที่ไข้ยังสูงหลังโดสแรกจะได้ประโยชน์ แต่มันไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ " อาจารย์กฤษณ์ตอบกลับด้วยเสียงที่ดังกว่า
    " แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติในงานวิจัยนี้ ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะไม่ได้ผลไม่ใช่เหรออาจารย์" อาจารย์หนุ่มแย้งอีก " มันอาจจะได้ผลแต่ว่าคนที่เป็นโรคนี้มีไม่มาก ตัวอย่างในงานวิจัยก็ไม่มาก มันก็เลยไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ... แต่จริงๆมันอาจจะได้ผลก็ได้ "

    นักศึกษาแพทย์เริ่มหันมองกันเลิ่กลั่ก เพราะอาจารย์ทั้งสองคนใช้เสียงที่ดังขึ้นเรื่อยๆและเริ่มดูเหมือนจะกลายเป็น ทะเลาะกันไปซะแล้ว ... ในขณะที่อาจารย์ผู้ใหญ่ท่านอื่นๆดูเหมือนจะไม่สนใจกับการโต้เถียงดังกล่าว ต่างลุกขึ้นและทยอยกันเดินออก ...
    เมื่ออาจารย์เริ่มเดินออก ทุกคนก็เริ่มเดินออกตามในขณะที่อาจารย์หนุ่มทั้งสองยังโต้เถียงข้ามโต๊ะกันอยู่ถึงการรักษาดังกล่าว

    ออกมาจากห้องแล้ว นักศึกษาแพทย์ปี 6 ที่ยืนตรงโต๊ะเซ็นชื่อจับกลุ่มคุยกันถึงเรื่องที่เกิดขึ้นทันที
    " ไม่แปลกหรอก " วรรณบอก " ใครๆก็ลือกันว่าอาจารย์ภาควิชานี้แบ่งแยกเป็นกลุ่มกัน ทะเลาะกันบ่อยออกจะตาย "
    " เราก็ได้ยินมาอย่างนั้น เห็นคนว่ากันว่าอาจารย์ไกรสรเป็นกลุ่มของหัวหน้าภาค ส่วนอาจารย์กฤษณ์น่ะไปอยู่กับกลุ่มรองหัวหน้าภาค สองคนนี้เลยทะเลาะกันบ่อยๆ " นวลเสริม

    " นี่เธอสองคนรู้จริงๆหรือไปฟังคนเค้าเล่ามา " โกวิทตัดบท " เราว่าอาจารย์เค้าก็แค่ถกกันเสียงดังนิดหน่อยแค่นั้นเอง "
    " เราว่าเธอน่าจะเปิดหูเปิดตาเปิดใจฟังที่คนอื่นเค้าพูดบ้างนะโกวิท " วรรณเถียงกลับ " เรื่องนี้ใครๆเค้าก็พูดกัน ... อาจารย์ทั้งสองคนก็จบมาจากคนละที่ไม่มีทางสนิทกันมาก่อนอยู่แล้ว  เธอเองก็น่าจะยอมรับนะว่าเจ้าการเถียงกันแบบเมื่อกี้มันไม่มีเหตุผลอื่นเลย นอกจากว่า คนเค้าทะเลาะกัน "

    วศินไม่อยากต่อล้อต่อเถียงอะไร ... ส่วนหนึ่งเพราะว่าเขาไม่อยากนินทาหรือแสดงความเห็นเรื่องครูบาอาจารย์ แต่อีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะว่าเขาไม่อยากไปแสดงความเห็นแย้งกับกลุ่ม 3 สาว
    ซึ่งอาจจะส่งผลให้เขา ซึ่ง ต้องอยู่wardร่วมกันกับพวกเธอเจอเขม่นจนร่วมงานกันลำบากขึ้นไปอีก
    แยกมาจากกลุ่มที่คุยกัน วศินล้วงกระเป๋าจะเอาปากกามาเซ็นชื่อ ... แล้วก็นึกได้ว่าเขาลืมหนังสือกับกล่องปากกาไว้ในห้องประชุม ... เขาเดินย้อนกลับเข้าไปอย่างตุ๊มๆต่อมๆ
    เปิดประตูเข้าไปอย่างไม่อยากให้ใครได้ยิน สิ่งที่วศินเห็นไม่ใช่อาจารย์สองคนที่กำลังยืนเถียงกันอยู่อย่างหน้าดำคร่ำเครียด
    หากแต่สิ่งที่เขาเห็นก็คือ อาจารย์สองคนนั่งคุยกันเบาๆสองคนที่โต๊ะ อาจารย์กฤษณ์กำลังอธิบายอะไรบางอย่างให้อาจารย์ไกรสรฟังโดยอาจารย์ไกรสรก็ นั่งฟังอย่างตั้งใจ

    วศินเดินไปเก็บกระเป๋าก่อนจะเดินลงมา จังหวะที่ผ่านอาจารย์ทั้งสองเขาเหลือบมองอย่างสงสัยว่าทำไมอาจารย์ทั้งสอง ถึงคุยกันดีๆต่างจากตอนแรกที่เห็นลิบลับ
    แล้วตาของวศินก็ไปสบตาอาจารย์ไกรสรพอดี
    "มีอะไรเหรอ Extern" อาจารย์ไกรสรถามทันทีที่เห็นว่าวศินมองอยู่

    "เปล่าครับอาจารย์ " วศินรีบตอบอย่างไม่รู้จะแก้ตัวอย่างไร ... เขาจะบอกได้ยังไงว่าเขาสงสัยว่าทำไมอาจารย์ถึงดีกันเร็วจัง

    "อ้อ เดี๋ยวคุณบอกเพื่อนๆด้วยแล้วกันว่าสัปดาห์หน้าผมจะนัดสอนเรื่องโรค Kawasaki " อาจารย์กฤษณ์บอกกับวศิน  " ตะกี้คุยกับอาจารย์ไกรสรแล้ว ผมว่าน่าจะมีจุดที่พวกคุณน่าจะต้องรู้เพิ่มอีกหลายเรื่อง "

    "อ้อ แล้วไม่ต้องตกใจ ที่ตะกี้ผมกับไกรสรคุยกันเสียงดังไปหน่อย " อาจารย์กฤษณ์กล่าวต่อ

    " ผมกับอาจารย์ไกรสรเป็นเพื่อนสนิทกันมาตั้งแต่มัธยม ... ตะกี้เลยลืมตัวคุยกันดังไปนิด "

     

    ...........
    วศินถือกระเป๋าเดินออกมาจากห้อง เพื่อนผู้หญิงยังคุยถกเถียงกันถึงความขัดแย้งของอาจารย์ทั้งสองกันไม่เสร็จ

    ชายหนุ่มตัดสินใจได้ว่าต่อจากนี้จะไม่เชื่อข่าวลืออีกแล้ว

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×