ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Extern เราจะข้ามผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน

    ลำดับตอนที่ #11 : -6 หน้าที่ของเรา ไม่ได้ดูแลแค่คนตาย 6-

    • อัปเดตล่าสุด 28 พ.ย. 52


    ตอนที่ 11 

    หน้าที่ของเรา ไม่ได้ดูแค่คนตาย

     

    เวลาเช้าของทุกวันแต่ละคนต้องไปเข้าฟัการประชุมสรุปของพี่แพทย์ประจำบ้านสาขานิติเวชหลังจากการไปทำงานจริงในแต่ละกรณี บางกรณีก็เงียบๆไม่มีอะไร แต่บางกรณีก็เป็นกรณีที่อยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์

    ดังนั้นทุกวันตอนเช้าวศินก็จะอ่านข่าวหน้าหนึ่งบนหนังสือพิมพ์หัวหนึ่ง(ที่ชอบเอาข่าวอาชญากรรมลงหน้าหนึ่งแบบไม่ค่อยเซนเซอร์ภาพ) บางข่าวก็จะได้มาเห็นมุมมองอีกด้านจากคนที่ชันสูตรศพ ... จากการอ่านข่าวแบบนี้ทำให้วศินพบว่าหลายครั้งหลายคราวข่าวในหนังสือพิมพ์ลงผิดไปจากแง่มุมที่ออกมาจากหมออย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

    สำหรับข่าววันนี้ก็เช่นเดิม หนังสือพิมพ์ลงข่าวนี้มาหลายวันแล้วเกี่ยวกับการพบศพชายคนนึงที่หายไปจากบ้านหลายปี มีคนไปพบโครงกระดูกและเสื้อผ้าเครื่องใช้ที่เหมือนกันกับคนที่หายไป ...

    ข่าวนี้ลงมาหลายวันแล้ว โดยวศินก็รู้ว่าโครงกระดูกที่ว่านั้นถูกส่งมาที่นี่เพื่อมาทำการตรวจDNA แต่ปัญหาที่ลงในหน้าหนังสือพิมพ์วันนี้คือมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าทางนี้ตรวจช้ามาก มีผู้ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า"การตรวจDNAนี้ทำเพียง24ชั่วโมงก็น่าจะเสร็จแล้ว ... การที่สถาบันบางแห่งเอาไปใช้เวลานานถึง3วันจึงเป็นการแสดงถึงศักยภาพของสถาบันแห่งนั้น"


    วศินอ่านข่าวนี้แล้วฉุนเล็กน้อยเพราะว่าสถาบันที่ว่าก็คือที่ที่เขาเรียนอยู่

    แต่นั่นสินะ

    ถ้าทำได้ใน24ชั่วโมง ทำไมที่นี่ถึงทำช้า

    ถ้าการทำนานถึงสามวันเป็นเรื่องปกติ 24ชั่วโมงทำไม่ได้ ... ก็น่าจะมีการตอบโต้อะไรบ้างไม่ใช่ให้เขาเล่นงานออกสื่อแบบนี้


    .... วศินได้แต่คิด จนกระทั่งเข้าคาบเช้า


    "กรณีนี้คือกรณีที่หลายคนน่าจะได้เห็นทางหนังสือพิมพ์แล้ว" พี่แพทย์ประจำบ้านชั้นปี3ชี้สไลด์ที่อยู่หน้าห้อง" กรณีนี้คือกรณีที่เราได้รับแจ้งจากตำรวจให้ไปตรวจกระดูกที่พบในบ่อน้ำร้าง สภาพกระดูกเป็นอย่างที่เห็นครับคือพบกระจายอยู่ที่ก้นบ่อ โดยทางมูลนิธินำขึ้นมาให้เราในสภาพดังต่อไปนี้"


    "จากการตรวจสอบโครงกระดูกที่เหลือและการตรวจสอบสารเคมีในกระดูก ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุการตายได้ครับว่าเกิดจากอะไร" ภาพเลื่อนไปที่อีกแผ่นหนึ่ง "แต่จากสภาพกระดูกที่ได้มา ทุกส่วนอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ไม่พบรอยแตกหักที่ผิดปกติ ซึ่งส่วนของสาเหตุการตายคงต้องดูกันอีกครั้งครับ"


    สไลด์ถัดไปคือภาพแผนที่DNA


    "รายนี้เราได้ทำการตรวจDNAแบบ16จุดโดยเป็นการทำร่วมกันของเรากับอีกสถาบันนึงครับ ผลที่ออกมาก็ตรงกับผู้ที่สูญหายไปจริง ดังนั้นทางเราก็ได้ติดต่อทางตำรวจและญาติเรื่องผลที่ได้แล้ว กำลังอยู่ในระหว่างการรอรับกลับครับ"


    เมื่อพี่แพทย์ประจำบ้านลงมา คนที่ขึ้นต่อก็เปลี่ยนเคสต่อไปโดยไม่มีใครพูดถึงข่าวที่พาดหัวเมื่อเช้านี้เลยสักคน


    "ทำไมที่เราทำช้าขนาดนี้นะ" วรรณวิจารณ์ "ที่เราอ่านมาการทำDNAก็ใช้เวลาแค่วันเดียวเอง"

    "ไม่แน่หรอกวรรณ เพราะว่าถ้าใช้แบบเก่าก็ทำกันทีตั้งสองสามวันเลยนะ "นวลแย้ง

    "แบบที่เอาวุ้นมาตั้งเหรอ" วรรณตอบ "เดี๋ยวนี้เค้าใช้ระบบแยกด้วยไฟฟ้ากันหมดแล้วนะนวล ไม่มีที่ไหนเค้าใช้วิธีโบราณแบบนั้นหรอก ... แต่ก็ไม่แน่นะ ไม่งั้นมันไม่ถึงสามวันแบบนี้หรอก"


    วศินเดินอยู่ในกลุ่มด้วยความอึดอัดใจ เพราะเขาไม่สบายใจเท่าไหร่ที่เห็นเพื่อนร่วมคณะพูดอะไรแบบนี้ออกมา แต่วศินก็เลือกที่จะไม่พูดอะไรนัก เพราะรู้ดีว่าวรรณเป็นแฟนหนังสือของแพทย์ท่านนึงที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับนิติเวช

    และเขาก็รู้จากหลายเรื่องที่ผ่านมาว่า การไปโต้เถียงหรือแตะต้องความคิดนี้ ไม่เป็นผลดีอะไรเลยนอกจากทำให้ทะเลาะกันเปล่าๆ


    "เดี๋ยวเราต้องไปชั้นไหน" โกวิทถามขึ้น ... ที่จริงทุกคนก็รู้ว่าต้องไปเรียนเรื่องการส่งตรวจชิ้นเนื้อทางนิติเวช ว่าแต่ว่ามันอยู่ชั้นไหนล่ะ

    "คุ้นๆว่าชั้นสองนะ" วศินเอ่ยขึ้น

    "จริงเหรอ เราไม่เคยเห็นเลย" นวลกล่าว "เราก็เดินขึ้นชั้นสามกันออกบ่อยต้องเดินผ่านชั้นสองประจำ ทำไมเราไม่เห็นเลยล่ะ"


    "เอาเหอะ ก็ดีกว่าเดินไปแบบไม่รู้ทิศทางแล้วกัน" ว่าแล้วโกวิทก็เดินแยกออกไป ... ซึ่งทุกคนก็เดินตามอย่างเลี่ยงไม่ได้

    มาถึงชั้นสองเมื่อเดินผ่านตู้กระจกที่ตั้งแสดงเรือโบราณไว้ ... ก็มีชื่อป้ายของภาควิชาพยาธิวิทยาตั้งเด่นอยู่


    "เออแฮะ อยู่ตรงนี้จริงๆ" โกวิทพูด "อยู่มาตั้งนานไม่เคยสังเกตเลย"


    เขาก็เป็นเช่นนี้ ... ไ่ม่ต่างอะไรกับเมื่อรู้จักกันใหม่ๆ ... โกวิทมีวิธีพูดให้กระทบความรู้สึกคนอื่นให้น้อยที่สุดเสมอ

    แล้วช่วงเช้าอันเชื่องช้าก็ค่อยๆผ่านไป ทุกคนได้เรียนเรื่องเกี่ยวกับการแช่สิ่งส่งตรวจ ซึ่งไม่เพียงจะมาจากห้องชันสูตรเท่านั้น หากแต่ยังมาจากชิ้นเนื้อที่่ถูกส่งมาจากภาควิชาอื่นๆเพื่อใช้ในการรักษา

    "ปกติชิ้นเนื้อพวกนี้เราจะเก็บไว้หลังจากทำเสร็จ เพราะว่าเราบอกไม่ได้ว่ากรณีไหนจะเป็นคดีหรือไม่่ในอนาคต" เจ้าหน้าที่กล่าว " เคยมีเหมือนกันที่บางคนผ่าไส้ติ่งไปสองสามปีแล้วกลับมาขอให้เรายืนยันว่าที่ตัดไปคือไส้ติ่งจริง และถามว่าไส้ติ่งที่ว่านั้นอักเสบจริงหรือเปล่า"


    ทั้งหมดค่อยๆเคลื่อนไปตามแถวของโต๊ะที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ เจ้าหน้าที่ก็ค่อยๆกล่าวถึงการตรวจแบบต่างๆที่ทุกคนเคยอ่านมาแล้วแต่อาจจะยังไม่เคยเห็นของจริง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องตรวจสารเคมี ระบบตรวจสารเสพติด เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ ฯลฯ


    "บางอย่างที่เราอยากให้หมอรู้ก็คือ ขั้นตอนบางชนิดไม่สามารถเร่งได้ ต้องใช้เวลา" เจ้าหน้าที่กล่าวขณะเดินผ่านโต๊ะทำสไลด์เนื้อเยื่อ "อย่างเช่นการส่งชิ้นเนื้อมาย้อม เราต้องใส่เนื้อเยื่อฝังลงไปในตัวกลาง โดยต้องรอให้ตัวกลางซึมซาบเข้าไปให้ทั่วเนื้อเยื่อ...ขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลา ซึ่งเราเร่งไม่ได้ไม่ว่าจะรีบแค่ไหน"

    "ดังนั้นการที่หมอรู้ เวลาสั่งทำอันนี้จะได้รู้ว่าต้องใช้เวลานาน ถ้าหมอตัดชิ้นเนื้อในห้องผ่าตัดก็จะไม่สามารถได้ผลทันที ... ดังนั้นหมอก็จะได้สั่งการทำชิ้นเนื้อแบบแช่แข็ง ซึ่งจะได้ผลเร็วกว่า แต่การอ่านผลก็จะไม่ชัดเจนเท่าวิธีย้อมปกติ"


    ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่พาขึ้นไปที่ห้องแลปชั้นบนต่อ ... ตามทางเดินที่ยาวทอดเข้าไปในตัวตึก มีแผ่นกระดาษหลายแผ่นที่ติดที่ผนังเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการตรวจดีเอ็นเอ

    "แผนกนี้จะทำเรื่องเกี่ยวกับการตรวจสอบDNA ... ซึ่งก็ทำตามหลักมาตรฐานสากลที่ใช้กัน"


    "ฮึ" มีเสียงมาจากลุ่มที่เดินตามหลังวศิน แต่เขาไม่ได้หันไปมองว่าใครกันที่ทำเสียงนั้นขึ้นมา


    "ระบบการตรวจDNAที่ใช้ในสมัยก่อน หลายคนคงจะเห็นว่ามีการทำด้วยมือเช่นอาจจะใช้เป็นระบบวุ้นเจล แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไป"เจ้าหน้าที่ชี้ให้ดูภาพที่ติดที่ผนัง"แต่ปัจจุบันเราก็เครื่องมืออัตโนมัติทำการตรวจลำดับ ... ที่นี่เราทำได้ถึง16ตำแหน่ง"


    "ใช้เวลาทำนานไหมคะ" วรรณถาม

    "อืม จริงๆแล้วถ้ามองอย่างเป็นขั้นตอนแล้วมันก็ไม่นานนะ " เจ้าหน้าที่สาวพูด "แต่จริงๆแล้วหมอต้องเข้าใจก่อนว่าขั้นตอนการตรวจสอบเหล่านี้มีความละเอียดอ่อน ทั้งในการทำและการแปลผล ซึ่งตรงส่วนนี้กินเวลามากกว่าการทำลายพิมพ์DNAเสียอีก"


    หญิงสาวเดินพานักศึกษาแพทย์ไปที่ทางเดินอีกด้านหนึ่งซึ่งมีรูปแบบลายพิมพ์ดีเอ็นเอติดอยู่ พร้อมกับมีคำบรรยายสั้นๆ

    "เคสนี้ปู่ย่าพาเด็กมาตรวจเพื่อต้องการรู้ว่าเด็กเป็นหลานแท้ๆของตัวเอหรือเปล่า พ่อเด็กก็ตายไปแล้ว .... ขั้นตอนจริงๆใช้เวลาไม่นาน แต่ก่อนจะทำเราก็คุยกับปู่ย่าและแม่เด็กก่อน" เสียงดังมาจากด้านหลัง


    "สวัสดีครับ/ค่ะอาจารย์"ทุกคนโค้งให้อาจารย์จงกลณีซึ่งยืนอยู่ด้านหลัง

    "งั้นหนูขอตัวลงไปทำงานข้างล่างต่อนะคะอาจารย์" เจ้าหน้าที่ยกมือไหว้ก่อนจะเดินออกไปที่ลิฟท์เพื่อลงไปชั้นสอง ... ที่จริงตามใบตารางเรียนหน้าที่ชั้นนี้คือหน้าที่สอนของอาจารย์จงกลณี แต่เมื่ออาจารย์ไม่ว่างเจ้าหน้าที่จึงต้องพามาดูก่อน ... เมื่อเจ้าหน้าที่เดินไปแล้วอาจารย์ก็หันมาสนใจที่ป้ายที่ปิดผนังต่อ

    "กรณีนี้ถ้าเราทำหน้าที่นักวิทยาศาสตร์อย่างเดียว เราก็แค่ทำลายพิมพ์DNAแล้วแปลผลให้ไป แต่ในฐานะแพทย์ สิ่งที่เราทำต้องมากกว่านั้น" อาจารย์กล่าว "ก่อนจะทำลายพิมพ์นี้ก็ได้มีการส่งปรึกษาจิตแพทย์ มีการพูดคุย จนเราได้ทราบว่าจริงๆแล้วปู่กับย่าเด้กไม่มีปัยหาอะไรเลยไม่ว่าเด้กจะเป็นหลานแท้ๆหรือไม่ เพราะได้เลี้ยงดูมาหลายปีแล้ว ... แต่ต้องการตรวจเพื่อผลประโยชน์ของเด็กในอนาคตเพราะว่าหากปู่กับย่าของเด็กเกิดตายไปจะได้ไม่เกิดการแย่งมรดกกัน .... เมื่อลองถามไปว่าหากผลออกมาแล้วไม่ใช่หลานแท้ๆจะทำอย่างไร ปู่กับย่าเค้าก็บอกว่าถ้าไม่ใช่ก็จะแบ่งสมบัติให้แม่เด็กไปก่อนเลยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา"


    "พ่อเด็กตายไปแล้ว ดังนั้นเราเลยใช้การทำลายพิมพ์DNAจากปู่และย่ามาเทียบ ซึ่งก็พบว่าเข้ากันได้ เด็กเป็นหลานแท้ๆ"



    ....

    รายนี้ คดีข่มขืนโดยมีผู้ต้องหาหลายคน มีผู้ต้องสงสัยรายนึงที่ผลลายพิมพ์DNAตรงกัน แต่หลักฐานและพยานชี้ไปว่าเขาไม่น่าจะทำ ... ดังนั้นเมื่อเรามาทำใหม่โดยเปลี่ยนจากการทำแค่ไม่กี่ตำแหน่ง มาทำเต็มที่ทั้ง16ตำแหน่ง ก็เลยปรากฎว่าDNAที่ได้ไม่ใช่ของชายคนนี้ " อาจารย์ชี้ให้ดูผลใบแรกและหลังเทียบกัน "ซึ่งตรงนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่คุณต้องไปดูให้เข้าใจว่าการตรวจเหล่านี้มีข้อจำกัดอะไรบ้าง ... การตรวจแบบใช้ตำแหน่งการตรวจน้อยเกินไปอาจจะทำให้แปลผลผิดได้ และอาจจะเอาคนเข้าคุกผิดคนได้ "


    จากนั้นอาจารย์พาเดินไปดูเครื่องตรวจสอบลายพิมพ์DNAอัตโนมัติ หลังจากดูเสร็จแล้วก็เตรียมจะเดินกลับลงมา

    "อาจารย์คะ หนูสงสัยเรื่องกรณีที่พบกระดูกแล้วภาควิชาเราเอามาทำค่ะ" วรรณถาม "ในเมื่อทางเราทำลำดับDNAได้เร็วอย่างที่เมื่อกี้เจ้าหน้าที่เค้าบอกมา แต่ทำไมเราต้องใช้เวลาตั้งสามวันเพื่อพิสูจน์กรณีนี้ล่ะคะ ... ถ้าเกิดงานเราเยอะเกินกำลังเราไม่ส่งไปให้ที่อื่นช่วยทำดีกว่าเหรอคะ"


    นักศึกษาแพทย์คนอื่นๆนิ่งเงียบกันหมด เพราะไม่มีใครคิดว่าวรรณจะกล้าถามอะไรแบบนี้


    "เป็นคำถามที่ดี" อาจารย์กล่าว "กรณีนี้ก็น่าสนใจนะ... และอาจารย์คิดว่าน่าจะเป็นกรณีที่พวกเธอควรจะศึกษาไว้"

    "กระดูกนี้พบในเขตความรับผิดชอบของโรงพยาบาลเรา ซึ่งตามหลักแล้วเราก็ต้องทำเอง ... แต่เนื่องจากเป็นกรณีที่เป็นข่าวใหญ่และคนให้ความสนใจ ก็เลยมีการแบ่งทำพร้อมๆกันสามแห่ง"

    "เราตรวจDNAของแม่ผู้ตายและญาติทางพ่อเพื่อให้ได้ผลตรวจDNAของพ่อและแม่ ... จากนั้นก็ทำการตรวจส่วนของกระดูก ... ในครั้งแรกตรวจออกมาผลออกมาแล้วว่าใช่ ตรงกัน ... "

    "แต่แม่ผู้ตายยังยอมรับไม่ได้ เธอเชื่อว่าที่ตรวจอาจจะตรวจผิด เพราะว่าเราไม่มีDNAของพ่อผู้ตายซึ่งก็ได้ตายไปแล้ว ... ดังนั้นเราเลยต้องทำซ้ำอีกครั้งโดยใช้ญาติทางพ่ออีกสองคน ครั้งนี้เราคุยกับแม่ผู้ตายอีกครั้งว่าถ้าผลออกมาตรงก็ไม่น่าจะเป็นอื่นได้แล้ว ... และเมื่อผลกลับมา ทั้งที่เราทำเองและส่งไปให้สถาบันอีกแห่งก็ออกมาตรงกันว่ากระดูกที่พบคือลูกชายของผู้หญิงคนนั้นจริง "


    "อ้าว แต่ในเมื่อผลออกมาตั้งแต่ต้นทำไมเราไม่ประกาศออกไปเลยล่ะคะ เพราะข่าวนี้มีคนสนใจเยอะ" วรรณแย้ง "แล้วการที่เราแถลงผลช้าในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นประกาศยืนยันออกมามันจะไม่ทำให้ดูว่าเราด้อยมาตรฐานเหรอคะ"


    "เพราะงานที่เราทำงานนี้ คือการรักษาไงล่ะ" อาจารย์ตอบ ... หลายคนทำหน้าฉงนเพราะว่านิติเวชจะไปรักษาใครได้

    "ถ้าดูตามเนื้องาน งานนี้เราแทบจะไม่สามารถหาได้เลยว่าคนตายตายจากอะไร ตายจากใคร ... ส่วนนี้คือส่วนที่ตำรวจจะต้องจัดการ" ...... " แต่เรากำลังจะรักษาแม่คนนึงที่เสียลูกชายไป5-6ปี ... เรากำลังจะตัดสินว่าลูกชายของเธอตายจริงแล้วแน่หรือไม่ ซึ่งความจริงแล้วตามหลักฐานเท่าที่พบก็พอจะบอกได้ว่านั่นคือลูกชายที่หายไป เพราะเสื้อผ้าเครื่องใช้และการตรวจสอบทั้งหลายก็ตรงกัน"

    "แต่แม่ทุกคนย่อมไม่อยากให้ลูกตาย ดังนั้นฟางเส้นสุดท้ายของเค้าก็คือการตรวจDNA ... "

    "การตรวจนี้ถ้าคุณตรวจไม่ละเอียดจับลำดับที่ 4-6 ตำแหน่ง ความแม่นยำของการตรวจก็อยู่ที่หนึ่งในล้าน ... แปลเป็นภาษาชาวบ้านคือมีโอกาสที่เอาคนไทย60ล้านคนมาตรวจแล้วอาจจะเจอคนที่มีลายพิมพ์ซ้ำกัน60คน .... ซึ่งอาจจะดูน้อยสำหรับเรา ... แต่สำหรับแม่คนนึง เขาอาจจะหวังไปตลอดชีวิตว่าคนที่ตายอาจจะเป็นหนึ่งใน60คนที่ว่า ... ส่วนลูกชายของเค้าอาจจะยังมีชีวิตอยู่ก็ได้"


    "ดังนั้นเราจึงทำแบบละเอียดที่สุด ส่งตรวจหลายแห่ง และไม่รีบร้อน .... แม่เค้าลูกหายไปแล้ว5ปี อาจารย์ว่ารอสามวันก็ไม่ต่างกันมาก หรอก" อาจารย์พูด "การที่เราประกาศผลช้าไปจะส่งผลต่อชื่อเสียงหรือไม่อันนี้อาจารย์ก็ตอบไม่ได้ แต่อาจารย์คิดว่าไม่คุ้มกันหากเราแย่งกันประกาศผลออกมาเพียงเพื่อโชว์ว่าเราทำได้เร็วแต่ผลที่่ได้นั้นไม่ได้ช่วยเหลือแม่ของเด็ก"


    "งั้นอาจารย์กำลังบอกว่าหมอผู้เชียวชาญท่านนั้นทำไม่ถูกใช่ไหมคะ" วรรณพูดด้วยน้ำเสียงที่เปลี่ยนไป...ราวกับไม่อยากให้ใครมาว่าไอคอนของเธอ "งั้นถ้าทางนั้นทำไม่ถูกทำไมทางภาควิชาไม่แถลงข่าวแย้งล่ะคะ"


    อาจารย์จงกลณีชะงักในท่าทีของลูกศิษย์ ...

    ท่านจ้องมองแววตาของลูกศิษย์ที่ยืนอยู่เบื้องหน้าเหมือนจะหยั่งลงไปในจิตใจของเด็กสาว


    "หน้าที่ของเราคือหมอ ... เรามีหน้าที่ของเราในการทำงานและรายงานแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นญาติผู้ตาย ตำรวจ อัยการ แต่เราไ่มีหน้าที่ออกสื่อ" อาจารย์กล่าวด้วยน้ำเสียงใสเย็น "หากมีความจำเป็นที่จะต้องแถลงอะไรออกไป นั่นก็คือหน้าที่ของระดับหัวหน้าภาควิชาที่ต้องไปพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงเพื่อการแถลงอย่างเป็นทางการ และต้องเป็นการแถลงที่ไม่ไปละเมิดคดีหรือสิทธิของผู้เกี่ยวข้องในคดี ..."


    "แต่อาจารย์ยังไม่ตอบเลยว่าตกลงที่ผู้เชียวชาญคนนั้นให้สัมภาษณ์ ถูกหรือผิด" วรรณไล่ซัก "ถ้าผิดเราก็ควรแก้ต่างสิคะ"

    อาจารย์ถอนหายใจเล็กน้อยก่อนจะตอบกลับไป


    " ทุกคนในที่นี้ลองนึกให้ดีๆตามอาจารย์แล้วกัน ..... มีใครเคยได้ยินคำสัมภาษณ์เต็มๆจากปากหมอท่านนั้นไหม "


    "แล้วเรารู้ได้ยังไงว่าหนังสือพิมพ์มันเขียนตรงกับที่สัมภาษณ์จริงๆ"

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×