ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    หลักเกณฑ์การส่งต้นฉบับให้กับสำนักพิมพ์

    ลำดับตอนที่ #2 : สำนักพิมพ์นานมีบุุ๊คส์

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.5K
      1
      10 ต.ค. 55


     

    การเสนอต้นฉบับงานเขียนให้สำนักพิมพ์

    เริ่มต้นเขียน
              ก่อนอื่น คุณควรมีต้นฉบับ  เมื่อเขียนเสร็จแล้ว ค่อยหาสำนักพิมพ์ก็ยังไม่สาย  ถ้าสำนักพิมพ์นี้ปฏิเสธ คุณก็ยังเอาไปส่งที่อื่นได้  งานที่คุณเขียนออกมาแล้ว ไม่มีทางสูญเปล่า  ดังนั้นอย่าลังเลที่จะเริ่มเขียน โปรดจำไว้ว่า สำนักพิมพ์ไม่สามารถตัดสินใจได้จากแค่โครงเรื่อง หรือเรื่องย่อของคุณ  ไม่ว่ายังไงก็ต้องขออ่านเรื่อง

    1.ในขั้นเริ่มต้น ควรเขียนทุกสิ่งที่คุณอยากเขียน ตามใจฝันของคุณ
    2.อย่าหยุดอยู่ที่เรื่องเดียว เขียนเรื่อยๆ เพื่อฝึกฝีมือ อย่ากังวลอยู่กับการได้ตีพิมพ์หรือไม่ได้
    3.ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียนให้ดี ให้เรื่องมีความสมจริง อย่าเขียนแบบนั่งเทียน หรืออาศัยแต่จินตนาการ
    4.ศึกษากลุ่มผู้อ่านของคุณ เขียนหนังสือให้เหมาะกับเขา อย่าให้มั่วจนไม่รู้ว่าใครจะอ่านกันแน่
           • เด็กเล็ก
           • เด็กโต
           • ผู้หญิง -------- แต่ละแนว
           • ผู้ชาย --------- แต่ละแนว
    5.ศึกษาตลาด
           • ดูว่าคนอื่นเขาเขียนกันยังไง
           • ดูว่าเรื่องในแนวของคุณมีคนเขียนเยอะหรือไม่
           • ดูว่าเรื่องในแนวของคุณมีคนอ่านเยอะหรือไม่
           • ดูว่ามีสำนักพิมพ์ไหนบ้างที่พิมพ์เรื่องแนวของคุณ
    6.นำข้อมูลมาพิจารณาว่าคุณจะแทรกเข้าไปในส่วนไหนในตลาดได้ นั่นหมายถึงว่า
           • เรื่องของคุณต้องมีจุดขาย  (สนุกมาก, มีเนื้อหาแปลก, จับประเด็นที่คนกำลังสนใจ, ตัวนักเขียนน่าสนใจ ฯลฯ)
           • เรื่องของคุณต้องมีความแตกต่างจากหนังสือแนวเดียวกัน
    7.เขียนเสร็จแล้ว ลองให้คนอื่นอ่านด้วย
           • พยายามหาคนที่เป็น Target Group ของหนังสือคุณ
           • หาคนอื่นที่ไม่ใช่ญาติ คนที่จะพูดกับคุณตรงๆ โดยไม่มีอคติ
           • ลองให้อ่านหลายๆ คน

    มองหา-ติดต่อสำนักพิมพ์
    1.ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสำนักพิมพ์ต่างๆ  ดูว่าต้นฉบับของคุณเหมาะกับสำนักพิมพ์ไหน  เลือกดูสำนักพิมพ์ที่เคยพิมพ์แนวนี้
           • ดูจากหนังสือในร้าน หรือในร้านหนังสือออนไลน์
           • ดูจากเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์โดยตรง
           • ติดต่อไปที่สำนักพิมพ์แบบสุ่มๆ เลย ถามเขาว่าสนใจหนังสือแนวของคุณหรือไม่
    2.เลือกสำนักพิมพ์ที่คิดว่าถูกจริตกับคุณ ที่จะทำงานร่วมกันได้ มีภาพลักษณ์ใกล้เคียงกัน มองเห็นภาพอนาคตร่วมกัน
    3.เมื่อเลือกสำนักพิมพ์ได้แล้ว หาวิธีติดต่อ เพื่อขอส่งต้นฉบับไปให้
           • ที่อยู่-เบอร์โทรของสำนักพิมพ์ มักจะมีอยู่ในหนังสือทุกเล่ม ให้ดูตรงส่วนที่เขียนว่า “ผู้จัดพิมพ์”
           • ค้นหาที่อยู่-เบอร์โทร-เว็บไซต์ ของสำนักพิมพ์จาก google
           • ในเว็บไซต์ของบางสำนักพิมพ์ จะมีบอกวิธีส่งต้นฉบับให้พิจารณา  ให้ทำตามนั้นได้เลย
           • เพื่อความมั่นใจ ควรถามสำนักพิมพ์ก่อน ว่าจะให้คุณส่งต้นฉบับไปด้วยวิธีใด และส่งถึงใคร
    4.การโทรหาสำนักพิมพ์
          • โทรไปขอพูดกับ “บรรณาธิการบริหาร” หรือ “บรรณาธิการผู้ดูแลหนังสือแนว...(แนวที่คุณเขียน)”  หรือ  “ฝ่ายพิจารณาต้นฉบับ”
          • ไม่จำเป็นต้องรู้ชื่อบรรณาธิการ  บางครั้งบ.ก.คนที่มีชื่ออยู่ในหนังสือ อาจเปลี่ยนไปทำหนังสือแนวอื่นแล้ว หรืออาจลาออกแล้วก็ได้  แต่ตำแหน่งของเขายังคงอยู่เสมอ
          • อย่า โทรไปฝ่ายบุคคลของบริษัท
          • อย่า เสนอเรื่องกับโอเปอเรเตอร์หรือคนที่รับโทรศัพท์โดยตรง เพราะเขาอาจไม่รู้เรื่อง แล้วก็จะคุยกันไม่รู้เรื่อง
            ทำให้คุณพลาดโอกาสในการได้คุยกับ บ.ก.
          • อย่า โทรไปตอนเที่ยง หรือก่อน 8.00 น. หรือหลัง 17.00 น. หรือเสาร์อาทิตย์
          • ไม่ควร โทรไปช่วงใกล้งานหนังสือ หรือระหว่างงานหนังสือ เพราะจะเป็นช่วงที่สำนักพิมพ์ยุ่งมาก
    5.ส่งอีเมลถึงสำนักพิมพ์
         • ส่วนใหญ่ email address ที่สำนักพิมพ์บอกไว้ มักจะเป็นของส่วนกลาง ดังนั้น คุณต้องระบุสิ่งต่อไปนี้ให้ชัดเจนในอีเมลของคุณ
           อีเมลนี้เป็นเรื่องอะไร (ส่งต้นฉบับเพื่อพิจารณา หรือ สอบถามเรื่องการส่งต้นฉบับเพื่อพิจารณา ก็ได้)
           ส่งถึงใคร (“บรรณาธิการบริหาร” หรือ “บรรณาธิการผู้ดูแลหนังสือแนว...(แนวที่คุณเขียน)”  หรือ  “ฝ่ายพิจารณาต้นฉบับ”)
           ผู้ส่งคือใคร (ลงชื่อ+เบอร์ติดต่อกลับเสมอ)
         • เขียนอีเมลให้ชัดเจน เข้าใจง่าย  สร้างความประทับใจแรกให้บ.ก.
         • บางสำนักพิมพ์จะรับต้นฉบับพิจารณาทางอีเมลเลย แต่บางสำนักพิมพ์จะไม่รับ ควรตรวจสอบให้ดีก่อน
    6.หากไม่สะดวกจะโทรหรือส่งอีเมลไป ก็ส่งต้นฉบับไปทางไปรษณีย์ได้เลย
        • จ่าหน้าซองถึง “บรรณาธิการบริหาร” หรือ “บรรณาธิการผู้ดูแลหนังสือแนว...(แนวที่คุณเขียน)”  หรือ  “ฝ่ายพิจารณาต้นฉบับ”  พร้อมวงเล็บระบุว่า “ส่งต้นฉบับเพื่อพิจารณา”
         • ควรมีจดหมายนำสั้นๆ ปะหน้าไปด้วย
    7.การเดินเข้าไปส่งต้นฉบับเองเลย สามารถทำได้ แต่หากคุณต้องการพบบ.ก.ด้วย ควรโทรนัดก่อน
    8.ต้นฉบับหนึ่งเรื่อง ควรส่งครั้งละสำนักพิมพ์ อย่าส่งหว่าน

    เตรียมต้นฉบับส่งสำนักพิมพ์
    1.ควรพิมพ์ต้นฉบับ อย่าเขียน และควรพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ เพราะเมื่อถึงที่สุดแล้ว สำนักพิมพ์ต้องใช้ไฟล์ในการทำงาน
    2.ควรทำเป็นต้นฉบับกระดาษเตรียมไว้เสมอ แม้ว่าบางสำนักพิมพ์จะรับพิจารณาต้นฉบับที่เป็นไฟล์ก็ตาม 
       และหากสำนักพิมพ์ไม่ขอ ก็ไม่ควรส่งไฟล์งานไปให้
    3.ทำสำเนาต้นฉบับไว้เสมอ  อย่าคิดจะขอต้นฉบับคืนจากสำนักพิมพ์
    4.พิมพ์ตัวอักษรขนาดใหญ่พอประมาณ เลือกฟอนต์ให้อ่านง่าย  อย่าพิมพ์ตัวหนังสือเล็กไปหรือใหญ่ไป
       เพราะจะทำให้สำนักพิมพ์คำนวณไม่ถูก ว่าต้นฉบับของคุณจะทำออกมาเป็นหนังสือได้กี่หน้า
    5.ไม่จำเป็นต้องจัดหน้าให้อลังการ  ควรเน้นให้อ่านง่ายสบายตา  แบ่งฉาก แบ่งย่อหน้าให้เห็นชัดเจน 
        อย่าเขียนหนังสือโดยไม่มีย่อหน้า
    6.หากมีความสามารถและทุนทรัพย์เพียงพอ คุณจะจัดทำต้นฉบับให้สวยงามเพียงใดก็ได้ตามสะดวก 
       แต่ความสวยงามของต้นฉบับ ไม่ใช่สิ่งที่สำนักพิมพ์ใช้พิจารณา
       • ไม่จำเป็นต้องทำรูปเล่มให้เหมือนหนังสือจริง แต่ควรเย็บเล่มเข้าปกให้เรียบร้อย
       • สำหรับนวนิยาย หรือวรรณกรรมเยาวชน ไม่จำเป็นต้องใส่ภาพประกอบ หรือออกแบบปกไปให้
         เพราะเวลาทำงานจริง สำนักพิมพ์จะดูแลเรื่องเหล่านี้เอง  (ยกเว้นคุณจะทำภาพประกอบได้สวยมาก ก็ใส่ไปให้สำนักพิมพ์ดูด้วย)
       • หากเป็นนิทานภาพ การ์ตูน หรือหนังสืออื่นที่คุณอยากให้มีรูปเล่มแบบพิเศษ ก็ให้ทำ mock up ไปด้วย (รูปเล่มเสมือนจริง)
    7.ควรแนบสิ่งเหล่านี้ไปกับต้นฉบับด้วย
      • ประวัติของคุณ  อย่าอายที่จะโฆษณาตัวเอง บอกถึงผลงานที่เคยทำ เคยเขียน โดยเฉพาะเรื่องที่เคยตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์
         อื่นมาแล้ว
      • บอกนามปากกา ชื่อจริง ที่อยู่ส่งเอกสาร เบอร์โทร เบอร์อีเมล
      • ข้อมูลคร่าวๆ ของต้นฉบับ บอกจุดเด่น จุดขาย กลุ่มผู้อ่าน แนวหนังสือ เรื่องย่อ ฯลฯ

    เกณฑ์การพิจารณาของนานมีบุ๊คส์
    1.รับพิจารณาต้นฉบับหนังสือหลากหลายแนว เช่น
       • นิทาน-หนังสือสำหรับเด็กปฐมวัย
       • วรรณกรรมเยาวชนทุกแนว
       • นวนิยายผู้ใหญ่ทุกแนว (นวนิยายรัก, นวนิยายชีวิต, นวนิยายสืบสวนสอบสวน, นวนิยายอิงประวัติศาสตร์)
       • รวมเรื่องสั้น
       • สารคดีสำหรับเยาวชนทุกแนว
       • สารคดีผู้ใหญ่ทุกแนว
    2.นิทาน การ์ตูน สามารถส่งแต่เนื้อเรื่อง สำนักพิมพ์จะจัดหาผู้วาดภาพประกอบให้เองหากตกลงทำจริง
    3.จำนวนหน้าของต้นฉบับ ไม่ใช่สิ่งที่สำนักพิมพ์ใช้พิจารณาเป็นหลัก  ผู้เขียนควรดูตามความเหมาะสม
       ว่าเนื้อหาของเรื่องควรยาวเท่าใด
    4.นวนิยาย-วรรณกรรมเยาวชน แบบไหนที่สำนักพิมพ์จะสนใจ
       • เรื่องที่อ่านสนุก วางไม่ลง น่าติดตามตลอดทั้งเล่ม
       • มีเนื้อหาแปลกใหม่ น่าสนใจ แตกต่างจากเล่มอื่นๆ ในท้องตลาด
       • ไม่ใช่เรื่องที่ลอกเลียน ดัดแปลง หรือมีเนื้อหาใกล้เคียงกับเรื่องของคนอื่นมาก
       • เจาะกลุ่มเป้าหมายชัดเจน มองเห็นได้ง่ายว่าจะขายให้ใครอ่าน
       • เขียนด้วยภาษาที่สละสลวย อ่านสบาย ไม่ติดขัด
       • เป็นงานเขียนที่มีคุณค่าทางวรรณกรรม  จรรโลงใจผู้อ่าน  ไม่ทำร้ายสังคม
       • เป็นเรื่องที่เห็นแนวโน้มว่าจะพัฒนา แก้ไข ปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นได้
    5.เรื่องที่จะไม่ผ่านการพิจารณา
       • เรื่องที่ลอกเลียน หรือดัดแปลง หรือแปลมา
       • เรื่องที่ไม่สนุก ไม่สมจริง
       • อ่านไม่รู้เรื่อง ภาษาไทยแย่มาก
       • เรื่องที่ไม่รู้จะให้ใครอ่าน มีเนื้อเรื่องและภาษาที่ไม่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย
       • มีเนื้อหาซ้ำซาก ไม่ต่างจากของคนอื่น มองไม่เห็นโอกาสที่จะโดนใจลูกค้า
       • เรื่องที่เฉพาะกลุ่มเกินไป เช่น มีแต่คนเขียนและครอบครัวเท่านั้นที่จะอ่านสนุก
       • เรื่องที่ล้าสมัยไปแล้ว หรือมีเนื้อหาล้าสมัยได้ง่าย
       • เรื่องที่สุดจะเยียวยา เกินความสามารถของบ.ก.จะช่วยเหลือได้
    6.ระยะเวลาในการพิจารณา:  ประมาณ 2-6 เดือน
    7.รับพิจารณาต้นฉบับทางไปรษณีย์เท่านั้น ไม่รับพิจารณาต้นฉบับทางอีเมล์ แฟกซ์ หรือสื่ออื่นๆ  โดยส่งต้นฉบับไปที่
                    ฝ่ายลิขสิทธิ์ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด
                    เลขที่ 11 ซอยสุขุมวิท 31 (สวัสดี) ถ.สุขุมวิท
                    แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110
                    วงเล็บมุมซองว่า ( ส่งผลงานให้พิจารณา)
    8.เมื่อพิจารณาเสร็จแล้ว จะแจ้งผลกลับทางโทรศัพท์  ดังนั้นโปรดระบุหมายเลขและชื่อผู้ติดต่อมาให้ชัดเจน
    9.สำนักพิมพ์จะไม่ส่งต้นฉบับคืนให้แก่นักเขียน ดังนั้น กรุณาส่งสำเนามาเสมอ

    เมื่อต้นฉบับผ่านการพิจารณาแล้ว สำนักพิมพ์จะเริ่มคุยเรื่องต่อไปนี้
    • ค่าลิขสิทธิ์  •สัญญาลิขสิทธิ์  •กำหนดออกหนังสือ  •รูปแบบหนังสือ  •การตรวจแก้ต้นฉบับ  •จัดทำรูปเล่ม  •ออกแบบปก •ตั้งชื่อ  •ขั้นตอนการทำหนังสือ  •แผนการตลาด  •การขาย  •การประชาสัมพันธ์  •กิจกรรมส่งเสริมการขาย

    ข้อแนะนำจาก บ.ก.
    - ตั้งใจทำงานเขียนของคุณให้ดีที่สุด นั่นคือหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของนักเขียน
    - นำเสนอตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อให้สำนักพิมพ์สนใจ
    - ต้องมีเรื่องให้สำนักพิมพ์อ่าน ไม่ใช่มีแค่ชื่อเรื่องหรือพล็อตเรื่อง  อย่ากลัวสำนักพิมพ์จะลอกไอเดียคุณ
    - ก่อนจะเริ่มเขียน หรือก่อนจะขายต้นฉบับได้ อย่ากังวลเรื่องต่อไปนี้
    o ความยาวของหนังสือ  (ไม่ต้องถามสำนักพิมพ์ว่าควรเขียนกี่หน้า เพราะคนที่ควรรู้เรื่องนี้ดีที่สุดคือนักเขียน)
    o รูปเล่ม รูปประกอบ หน้าปก
    o ค่าลิขสิทธิ์
    o การขายลิขสิทธิ์ไปต่างประเทศ
    o การเดินสาย book tour หรือทำสื่อประชาสัมพันธ์อื่นๆ
    - เปิดใจรับฟังความเห็นของคนอ่านและสำนักพิมพ์
    - นำคำแนะนำที่ได้รับไปปรับปรุงงานของตัวเอง
    - อย่ารอให้ต้นฉบับเรื่องแรกได้ตีพิมพ์ แล้วค่อยเขียนเรื่องที่สอง  เพราะคุณอาจไม่มีวันได้เขียนอีกเลย
    - อย่าเสียดายต้นฉบับ ถ้าบ.ก.บอกว่าต้องแก้ไขหรือรื้อทิ้ง ก็ควรจะทำ หรือเก็บเรื่องนี้ไปก่อน แล้วเขียนเรื่องใหม่แทน
    - ลองเปลี่ยนแนวเรื่องที่เขียน บางทีคุณอาจจะเขียนเรื่องแนวอื่นได้ดีกว่าแนวนี้  ฟังคำแนะนำจากคนอ่านประกอบการตัดสินใจ

    ของเค้าเยอะจริงๆ เพราะฉะนั้นตามนี้เลยจ้า
    ขอขอบคุณเครดิตจาก http://www.nanmeebooks.com/reader/news_inside.php?newsid=741


     





     
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×