เพลงยาว : ภาพสะท้อนความสัมพันธ์ของภาษาและวัฒนธรรม - เพลงยาว : ภาพสะท้อนความสัมพันธ์ของภาษาและวัฒนธรรม นิยาย เพลงยาว : ภาพสะท้อนความสัมพันธ์ของภาษาและวัฒนธรรม : Dek-D.com - Writer

    เพลงยาว : ภาพสะท้อนความสัมพันธ์ของภาษาและวัฒนธรรม

    บทความทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์เรื่องหนึ่งที่อยากให้อ่านกัน

    ผู้เข้าชมรวม

    10,673

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    8

    ผู้เข้าชมรวม


    10.67K

    ความคิดเห็น


    2

    คนติดตาม


    0
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  23 พ.ย. 49 / 20:25 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

      กระดาษน้อยแทนปากฝากมาถาม

      ว่าป่วยไข้เป็นอย่างไรใคร่รู้ความ                      หรือโฉมงามเคืองขัดหัถยา

      แต่ก่อนนี้เคยได้พบประสบพักตร์                    เคยถามทักเสสรวลชวรหรรษา

      ไฉนกลับห่างเหินไม่เมินมา                             หรือหวงหน้าหวงตัวกลัวหยิบยืม

      เหมือนกระต่ายหมายแขเที่ยวแลหลง             แสงเพ็ญส่งมาสักน้อยก็พลอยปลื้ม

      เคยสัญญาว่าอย่างไรไม่รู้ลืม                              ยิ่งดูดดื่มเสน่หานึกอาวรณ์

      ขวดน้อยใสน้ำใส่เหมือนใจพี่                           เมื่อได้ยลมารศรีดวงสมร

      อีกขวดขุ่นมองเห็นเป็นตะกอน                       เหมือนอกพี่เมื่อเจ้าจรไปลับตา

      เพียงสังเกตก็พอรู้อยู่ว่ารัก                                 อกจะหักเสียด้วยเสน่หา

      อันแพรเลี่ยนเตียนดอกขอบอกมา                    เหมือนอุราเรียมที่ว่างอ้างว้างเอย

      (สี่แผ่นดิน,127)

                      บทกลอนข้างต้นเป็นบทกลอนประเภทหนึ่งที่เรียกว่า เพลงยาว เพลงยาวเป็นการเขียนจดหมายประเภทหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากจดหมายโดยทั่วไป เพราะเป็นการเขียนด้วยร้อยกรอง คือการเขียนในรูปแบบของกลอน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการใช้ภาษาเพื่อสื่อความรู้สึกนึกคิดได้อย่างดี โดยเป็นลักษณะเฉพาะตัวประการหนึ่งของวัฒนธรรมไทย

       

      ความหมายและลักษณะของเพลงยาว

                      เพลงยาว ในสมัยสุโขทัยจะหมายรวมถึงคำประพันธ์ทุกประเภท ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนต้นมีความหมายแคบลงเหลือเพียงความหมายของกลอนจดหมายเหตุ และกลอนนิราศ ซึ่งต่างเป็นการบันทึกเรื่องราวที่ได้ประสบ โดยหลักฐานของเพลงยาวที่ปรากฏพบ และเก่าแก่ที่สุดคือ เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา และกลอนเพลงยาวสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก็ได้มีการนำความหมายของเพลงยาวมาใช้ในความหมายของ จดหมายรัก หรือจดหมายเพื่อแสดงความในใจของตนให้อีกฝ่ายได้ทราบ โดยกวีที่โดดเด่นเรื่องการแต่งกลอนเพลงยาวคือสุนทรภู่ และบุษบาท่าเรือจ้าง

                      ลักษณะของเพลงยาวจะคล้ายกับกลอนแปดมาก แต่มีลักษณะเด่นอยู่ 2 ประการคือ การขึ้นต้นบทด้วยวรรครับ และในบทสุดท้ายจะลงด้วยคำว่าเอย และนิยมใช้คำเป็นลงท้ายวรรคเพื่อให้เกิดความไพเราะ ส่วนฉันทลักษณ์ของกลอนเพลงยาวก็ใช้รูปแบบเดียวกันกับกลอนแปด

       

       

      วัฒนธรรมกับภาษา

                      วัฒนธรรมคือลักษณะที่เป็นแบบแผนในการดำรงชีวิตที่พึงปรารถนา ที่ถูกสร้างขึ้นมาและถ่ายทอดจากอดีตสู่ปัจจุบัน โดยผ่านเครื่องมือที่เป็นสัญลักษณ์หรือสิ่งประดิษฐ์ เช่น ภาษาและศิลปะ และมีลักษณะพิเศษแตกต่างออกไปในแต่ละสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ระบบคิด ระบบทางสังคม ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีการดำรงชีพ ศาสนาและความเชื่อ ตลอดจนประสบการณ์ร่วมและภาษา

                      ภาษาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น อาจอธิบายได้ว่า ภาษาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารกันภายในหมู่สังคม เพื่อให้เกิดความเข้าใจและรับรู้ตรงกัน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าภาษาเกิดมาพร้อมๆ กับวัฒนธรรม และมีการเจริญงอกงามพัฒนาการเรื่อยมาจนมีรูปแบบที่เฉพาะตัวในแต่ละประเทศ ในประเทศไทย ภาษาไทยก็มีประวัติการใช้มายาวนาน และมีรูปแบบที่เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร ที่เด่นมากเรื่องหนึ่งคือเรื่องของวรรณกรรม โดยเฉพาะเรื่องของร้อยกรอง เพราะร้อยกรองนั้นมีรูปแบบฉันทลักษณ์ ที่แน่นอนตายตัว เพราะเราให้ความสำคัญในเรื่องของการใช้ภาษามาก ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากเรื่องของคำราชาศัพท์ คำสุภาพ และคำพูดทั่วไป ซึ่งคำเหล่านี้จะถูกคัดสรรมาอย่างดีในการประพันธ์วรรณกรรมสักเรื่อง เพื่อที่จะสามารถสื่อความหมายได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

                      กลอนเพลงยาวนั้นก็เป็นอีกหนึ่งประเภทวรรณกรรมที่มีการคัดสรรใช้คำให้เหมาะสมเพื่อให้สื่อความหมายได้ชัดเจน และหากเราศึกษาลงไปในตัวเพลงยาวแล้ว จะพบว่านอกจากความหมายที่ต้องการสื่อออกมาแล้วนั้น เราสามารถพบลักษณะทางวัฒนธรรมได้จากเพลงยาวอีกด้วย ซึ่งเราสามารถแยกวิเคราะห์เป็นประเด็นได้ ดังต่อไปนี้

       

                      - เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ  ลักษณะของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่ปรากฏในกลอนเพลงยาวนั้น เป็นเครื่องชี้แสดงให้เห็นถึงลักษณะทางธรรมชาติและทัศนคติต่อธรรมชาติ

      ตัวอย่างบทประพันธ์

                      จะปิดกั้นควันไฟไว้ได้ฤา                   เมื่อปลายมือก็จะเพราะอยู่โหน่งเหน่ง

                      ฝนตกคางคกก็สบเพลง                      อึ่งอ่างก็จะเก่งขึ้นเต้นปลิว

      (สำนวนเก่า)

      การวิเคราะห์        จากบทกลอนที่ขีดเส้นใต้จะพบคำสำคัญคือ คางคก อึ่งอ่าง ฝน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของสัตว์สองชนิดนี้ ที่จะออกมาร้องหาคู่ ในช่วงฤดูฝน ซึ่งเราสามารถวิเคราะห์ได้ถึงสภาพแวดล้อมในสังคมที่มีสัตว์ประเภทนี้อาศัยอยู่

       

       

                      - เกี่ยวกับระบบคิด  ระบบคิดที่ปรากฏมักเป็นเรื่องของค่านิยม การมองผู้หญิงที่เปรียบกับสิ่งสวยงามในธรรมชาติ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความคิดและจินตนาการของกวี

      ตัวอย่างบทประพันธ์

                      ดวงพักตร์งามวิลาศเมื่อผาดผิน                        หมดมลทินไร้ไฝฝ้าราคีหมอง

                      นาสาดั่งแสงขอหล่อจำลอง                               เนตรน้องดั่งนิลจักเจียระไน

      (สำนวนเก่า)

      การวิเคราะห์        จากบทกลอนจะเห็นได้ว่าระบบคิดเรื่องการมองผู้หญิงของกวีซึ่งเป็นตัวแทนของคนในสังคม จะมีค่านิยมในการเลือกผู้หญิงว่าอย่างไรจึงสวย ว่าต้องมีหน้าใส จมูกงุ้ม หรือมีตาที่เป็นประกาย โดยได้นำไปสัมพันธ์กับลักษณะใกล้ตัวที่เห็นได้ชัดเช่น ขอสับช้าง หรือนิล ซึ่งเป็นของที่พบได้ง่ายในสมัยก่อน

       

                      -  เกี่ยวกับระบบทางสังคม  ลักษณะที่ปรากฏ จะสะท้อนให้เห็นถึงหน้าที่ของบุคคลในสังคมในระบบต่างๆ เช่น ระบบชนชั้น ระบบอาวุโส เป็นต้น

      ตัวอย่างบทประพันธ์

                      ด้วยเป็นเชื้อขัติยามหาศักดิ์                ว่าจงรักที่อาลัยให้ขนาง

                      เหมือนเมฆากับพื้นสุธาทาง             สุดจะอ้างเอื้อมหมายประมาณไกล

      (สำนวนเก่า)

      การวิเคราะห์        จากบทกลอนข้างต้น แสดงให้เห็นว่าเป็นสังคมที่มีการแบ่งแยกชนชั้น ซึ่งจะพบว่าระบบทางสังคมมีอิทธิพลอย่างมากในสังคม แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน ตรงคำว่าเมฆากับพื้นสุธาทาง โดยเป็นการอุปมาถึงความห่างไกลและแตกต่างที่ชัดเจนที่สุด เพราะเมฆอยู่บนฟ้า กับถนนบนพื้นดินมีความห่างไกลกันมาก

       

                      -  เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี  ในเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณีนั้น ปรากฏให้เห็นอยู่มาก เพราะเรื่องวัฒนธรรมที่ใกล้ตัว และพบได้ในตลอดช่วงอายุของคน

      ตัวอย่างบทประพันธ์

                      เมื่อยามหนาวคราวน้องขึ้นพระบาท               ใจจะขาดเสียด้วยร้างภิรมย์ขวัญ

                      แสนละห้อยคอยหาร่ำจาบัลย์                            นับวันคอยวันถวิลเชย

      (เจ้าฟ้ากุ้ง,ธรรมาธิเบศร์)

      การวิเคราะห์        จะพบประเพณีอย่างหนึ่งคือ การไปมนัสการรอยพระพุทธบาทในช่วงเวลากฐิน ซึ่งเป็นประเพณีที่พระมหากษัตริย์ต้องปฏิบัติสืบต่อมา และธรรมเนียมอีกอย่างที่ปรากฏคือ การตามเสด็จของนางในด้วย

       

                      -  เกี่ยวกับวิถีการดำรงชีพ  มักจะแสดงถึงเรื่องราวธรรมดาสามัญที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เครื่องนุ่งห่ม อาชีพ ข้าวของเครื่องใช้ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป

      ตัวอย่างบทประพันธ์

                                                                                                      คิดถึงแพรเลี่ยนแล้วเสียดายเหลือ

                      เป็นฝีมือของหม่อมย้อมมะเกลือ                     ได้ห่มสนิทแนบเนื้อมานมนาน

                      เจ้าแล่งเพลาะเลาะให้เมื่อไปทัพ                      อุตส่าห์หอบหิ้วกลับมาถึงบ้าน

      (สำนวนเก่า)

      การวิเคราะห์        จากบทกลอนจะพบสิ่งของอย่างหนึ่งคือ ผ้าแพรเลี่ยนหรือผ้าซาติน ซึ่งมีกรรมวิธีการทำโดยการย้อมมะเกลือเพื่อให้ได้สีดำ และนำมาแล่งเพลาะ (การต่อผ้าสองชิ้นเข้าด้วยกัน) เพื่อทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อสะดวกแก่การใช้งาน  และน่าจะมีน้ำหนักเบาง่ายต่อการพกพา

       

                      -  เกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อ  อาจถือได้ว่าเป็นเรื่องที่มีการใช้ และสะท้อนออกมาได้มากที่สุดของเพลงยาว เพราะมักพูดถึงเรื่องของบุพเพสันนิวาส หรือบุญกรรม และเทพเทวดา

      ตัวอย่างบทประพันธ์

                      พี่หมายน้องดุจปองปาริชาติ์                              มณฑาไทเทวราชในสวนสวรรค์

                      หากนิเวศน์ศิวาลัยสิไกลกัน                              จะไฝ่ฝันเด็ดดอกฟ้าสุมามาลย์

      (สำนวนเก่า)

                      อย่าเสียแรงที่มุ่งบำรุงรัก                                    มาดสมัครหมายสมานพิศไสม

                      ได้เห็นหน้าแล้วจะลาชีวาไลย                          จะอวยโอษฐ์ให้อโหสิกรรมกัน

      (เจ้าฟ้ากุ้ง,ธรรมาธิเบศร์)

      การวิเคราะห์        จากบทกลอนทั้งสอง ในตัวอย่างแรกจะกล่าวถึงความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์ และเพทเจ้าที่เข้ามาพร้อมกับศาสนาฮินดูและวัฒนธรรมอินเดีย ที่มีอิทธิพลอย่างมากในสังคมไทย ส่วนในตัวอย่างที่สองจะพบเรื่องของบุญกรรม ที่เป็นอิทธิพลมาจากพระพุทธ ศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติ เป็นเรื่องที่คนไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

       

                      - เกี่ยวกับภาษาเก่า ภาษาที่ปรากฏในกลอนเพลงยาวนั้นค่อนข้างมาก เนื่องจากเพลงยาวเป็นลักษณะทางวรรณกรรมที่ปรากฏในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์เป็นส่วนมาก ภาษาที่ใช้จึงมักปรากฏเป็นภาษาเก่า ที่เขียนไว้ในสมุดไทย และปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลง หรือไม่ใช้คำศัพท์แล้ว

      ตัวอย่างบทประพันธ์

                      อันสาราบำราศบำรุงคิด                                      จาฤกไว้โดยสุจริตสาร

                      พยายามตามสัตย์ปัติญาณ                                  ภอแจ้งการที่กำม์ในกายเอย

      (เจ้าฟ้ากุ้ง,ธรรมาธิเบศร์)

      การวิเคราะห์        จากบทกลอน จะพบคำศัพท์ว่า จาฤก ภอ  กำม์อันเป็นภาษาเก่าที่เขียนไว้ในสมุดไทย ซึ่งเป็นผลงานเจ้าฟ้ากุ้ง ในสมัยอยุธยา ซึ่งเราจะสามารถพบการเขียนแบบนี้ได้ในสมัยโบราณเท่านั้น โดยปัจจุบันจาฤก              เขียนว่า                  จารึก

                                                                      ภอ                      เขียนว่า                  พอ

                                                                      กำม์                     เขียนว่า                  กรรม

       

      สารัตถะบท

                      จากตัวอย่างและการวิเคราะห์ที่ผ่านมา สามารถสรุปได้ว่าการใช้ภาษาในเพลงยาว นอกจากเพื่อสื่อความหมายแล้ว ยังสามารถสะท้อนวัฒนธรรมด้านต่างๆ ได้ โดยที่แฝงอยู่ในการเปรียบเทียบอุปมา จึงอาจกล่าวได้ว่าภาษาและวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น เพราะภาษาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างบุคคลในสังคม ตลอดจนใช้ถ่ายทอดวัฒนธรรม ภาษาที่ใช้แต่งคำประพันธ์จึงมีอิทธิพลจากวัฒนธรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการถ่ายทอดเพื่อให้เกิดภาพของความหมายที่ชัดเจน ภาษาและวัฒนธรรมจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่น โดยที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างสมบูรณ์

       

       

       

       

       

       

      เอกสารอ้างอิง

      นิตยา  กาญจนะวรรณ. วรรณกรรมอยุธยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์รามคำแหง. 2545

      นิตยา  บุญสิงห์. วัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พัฒนาศึกษา. 2544

      ประชุมเพลงยาว ฉบับหอสมุดแห่งชาติ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คลังวิทยา. 2507

      ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 .กรุงเทพฯ :

      นานมีบุ๊คพลับลิเคชั่นส์. 2544

      วันเนาว์  ยูเด็น. การศึกษาเรื่องกลอน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์. 2532

      ศิลปากร, กรม. วรรณกรรมอยุธยาตอนต้น เล่ม 2. กรุงเทพฯ . 2540

      อัญชลี  สิงห์น้อย. ภาษาและวัฒนธรรม. เอกสารประกอบการสอนรายวิชาภาษาและวัฒนธรรม

      http://www.sk.ac.th/club

      http://www.google.co.th

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×