ลำดับตอนที่ #5
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #5 : ปัญหาวิกฤตการณ์ในคิวบา
การขยายตัวของคอมมิวนิสต์พร้อม ๆ กับความพยายามในการแข่งขันในทุก ๆ ด้านของสหภาพโซเวียตได้สร้างความหวาดระแวงให้กับสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการใด ๆ ของสหภาพโซเวียตเช่น การทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) การก่อตั้งคณะกรรมการความมั่นคงแห่งรัฐ(KGB: Komitet Gosudarstvennoy Bezopasnosti) เมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2497 (ค.ศ. 1954)
KGB เป็นหน่วยงานกลางดูแลการข่าว ความมั่นคงและตำรวจสันติบาลเทียบเท่ากับกับ ซีไอเอ เอฟบีไอ ตำรวจลับและอีกหลายหน่วยงานด้านความมั่นคงและรักษาความปลอดภัยของสหรัฐฯรวมกัน ต่อมาเมื่อเกิดการปฏิวัติในคิวบาโดย Fidel Castro ในปี พ.ศ. 2502 (ค.ศ. 1959) สหรัฐฯได้พยายามต่อต้านการปฏิวัติครั้งนี้ด้วยการจัดการฝึกให้ชาวคิวบาพลัดถิ่นทำการรบโดยมี CIA เป็นผู้ที่ทำการฝึกให้ จำนวน 1,511 นาย
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2504 (1961) กำลังพลคิวบาพลัดถิ่นภายใต้รหัส กองพลน้อยที่ 2506 (Brigade 2506)ทำการยกพลขึ้นบกที่เบย์ออฟพิกส์ (Bay of Pigs) มีการใช้เครื่องบิน B-26 ของสหรัฐ ฯ ทาสีและติดธงชาติเป็นกองทัพอากาศคิวบาเข้าโจมตีสนามบินต่าง ๆ เพื่อทำลายกำลังทางอากาศ ภายใต้รหัส “ปฏิบัติการพูมา (Operation Puma)” ก่อนที่จะทำการยกพลขึ้นบก 48 ชั่วโมงเพื่อทำการครองอากาศ (Air Superiority) ขณะยกพลขึ้นบก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาเมื่อกองพลน้อย 2506 ยกพลขึ้นบก ผลคือกองพลน้อย 2506 ถูกโจมตีด้วยปืนใหญ่ขนาดหนัก
นักบินสหรัฐฯตาย4นาย นักบินคิวบาพลัดถิ่นตาย 6นาย และชาวคิวบาพลัดถิ่นตาย 10นายในการปฏิบัติการทางอากาศ ทำให้ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคเนดี ไม่กล้าที่จะส่งกำลังทางอากาศเข้าไปช่วยเหลือเพิ่มเติม เพราะการปฏิบัติการครั้งนี้จะถูกเปิดเผยว่าสหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุน
ความสูญเสียที่เกิดขึ้นหลังจากการเหยียบฝั่งของกองพลน้อย 2506 นั้นสูญเสียกำลังพลไป 104 นาย ที่เหลือถูกจับเป็นเชลย 1,209 คน บางส่วนถูกประหารชีวิต บางส่วนจำคุก 30 ปี หลังจากเหตุการณ์ผ่านไป 20 เดือนได้มีการเจรจาระหว่างคิวบากับสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯยอมที่จะจ่ายเงินให้ 53 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการช่วยเหลือด้านอาหารและยาในคิวบา เพื่อแลกเปลี่ยนกับเชลยศึกจำนวน 1,113 นาย ส่วนความสูญเสียของทางฝั่งคิวบานั้น ไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการแต่มีความเชื่อกันว่า คิวบาสูญเสียกำลังพลไปหลายพันนาย
- ปัญหาวิกฤตการณ์ขีปนาวุธในคิวบา : หลังจากความล้มเหลวของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนกองพลน้อย 2506 เมื่อวันที่ 15-21 เมษายน พ.ศ. 2504 (1961) ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและคิวบาได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คิวบาหันไปพัฒนาความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตเพิ่มมากขึ้น อันนำมาสู่วิกฤตการณ์ขีปนาวุธในทะเลแคริบเบียน โดยเหตุการณ์สำคัญนี้ส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกกับคนทั้งโลกที่อาจหวาดกลัวกับการเผชิญกับสงครามนิวเคลียร์อย่างเต็มรูปแบบ
การเผชิญหน้าเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) หลังจากที่เครื่องบินจารกรรม U-2 ของสหรัฐฯ ได้ถ่ายภาพการก่อสร้างฐานส่งขีปนาวุธของสหภาพโซเวียตในคิวบา โดยการก่อสร้างครั้งนี้เป็นทำเพื่อตอบโต้สหรัฐที่ได้ติดตั้งขีปนาวุธพิสัย กลางจูปิเตอร์ (PGM-19 Jupiter ) ในตุรกี ในปี พ.ศ. 2504 (1961) จำนวน 15 ขีปนาวุธ
การติดตั้งครั้งนี้ได้หันทิศทางไปทางตะวันตกของสหภาพโซเวียต ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้ครอบคลุมถึงกรุงมอสโคว์ด้วย (ขีปนาวุธใช้ระยะแล่นเพียง 16 นาทีถึงกรุงมอสโคว์) ทั้งนี้เพราะคิวบาอยู่ห่างจากฝั่งสหรัฐฯเพียง 90 ไมล์ การติดตั้งขีปนาวุธ SS-4 MRBMs เริ่มขึ้นเมื่อกลางคืนวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) และทำการติดตั้งขีปนาวุธฐานที่ 2 เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) และสหภาพโซเวียตได้ทำการติดตั้งทั้งหมด 9 แห่ง เป็น SS-4s จำนวน 6 สถานีและ SS-5s จำนวน 3 สถานี
ความจริงแล้วก่อนที่สหภาพโซเวียตจะทำการติดตั้งฐานยิงขีปนาวุธนั้นมีรายงาน จาก John McCone ผู้อำนวยการ CIA ในปลายเดือน กรกฏาคม พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) ว่าอาจจะมีการเคลื่อนย้ายหัวรบนิวเคลียร์จากสหภาพโซเวียตไปยังคิวบา เพราะมีเรือขนาดใหญ่ของสหภาพโซเวียตจำนวนกว่าหกสิบลำมุ่งหน้ามายังเกาะคิวบา แต่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องระดับสูงของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council: NSC) อย่างเช่น นาย Dean Rusk รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Robert MacNamara รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ นาย Robert Kennedy รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นต้น ต่างไม่เชื่อว่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะมีการสร้างฐานทัพสหภาพโซเวียตในคิวบา
หลังจากภาพถ่ายทางอากาศที่เครื่องบินสอดแนม U-2 ได้ปรากฏออกมา ประธานาธิบดี John F. Kennedy ได้เรียกประชุมคณะกรรมการระดับสูงของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (The Executive Committee of the National Security Council: EXCOMM) แต่ลักษณะของภัยคุกคามจากการติดตั้งฐานยิงขีปนาวุธในคิวบา ไม่ได้มีแผนการทางทหารรองรับเพราะหลายฝ่ายไม่มีความเชื่อว่าจะมีการสร้างฐานทัพในคิวบา
ในที่สุดฝ่ายทหารได้เสนอหนทางปฏิบัติทางทหาร (Courses of Military Actions) 3 แนวทางคือ 1) ทำการโจมตีทางอากาศ
2) การใช้กำลังทางทหารเข้ายึดครองคิวบา และหนทางปฏิบัติสุดท้าย
3) ทำการปิดล้อมทางทะเลประเทศคิวบา โดยทางผู้บัญชาการทหารสูงสุดสหรัฐฯได้เลือกแนวทางการใช้กำลังทหารเข้ายึดครองคิวบา
แต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ John F. Kennedy มีความเห็นว่าการใช้กำลังทหารจะทำให้เกิดปัญหาตามมาและอาจทำให้สหภาพโซเวียต ใช้กำลังทหารเข้ายึดกรุงเบอร์ลินเพื่อเป็นการตอบโต้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ John F. Kennedy และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นาย MacNamara ได้เห็นพ้องต้องกันว่าหนทางปฏิบัติที่ 3 คือการปิดล้อมทางทะเลต่อประเทศคิวบาน่าจะเป็นหนทางปฏิบัติที่ดีที่สุด แต่การปิดล้อมทางทะเลที่ใช้คำว่า (Naval Blockade) นั้นจะมีปัญหาเพราะว่าคำว่า Naval Blockade นั้นเป็นการปฏิบัติในภาวะสงคราม
ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวการปิดล้อมทางทะเลจึงใช้คำว่า Quarantine หรือถอดความเป็นไทยได้ว่ามาตรการกักกัน
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) เครื่องบินจารกรรม U-2 ได้ทำการบินถ่ายภาพสถานีปล่อยขีปนาวุธอีก 4 แห่ง และกองพลทหารม้าที่ 1 ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนย้ายไปที่มลรัฐจอเจียร์ พร้อม ๆ กับ 5 กองพลได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อม เครื่องบินทหารต่าง ๆ ได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่สนามบินพลเรือน และเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ B-52 ได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อมและมาตรการกักกันเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) โดยสหรัฐฯ ส่งเรือรบเข้าปิดล้อมคิวบา ห้ามเรือบรรทุกสินค้าทุกลำผ่านเข้ามาในน่านน้ำทะเลแคริบเบียน หลังจากการเผชิญหน้าผ่านการโต้ตอบทางการทูตอย่างดุเดือด ในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) ประธานาธิบดี John F. Kennedy ของสหรัฐฯและนายกรัฐมนตรี Nikita Khrushchev ของสหภาพโซเวียต ต่างตกลงยินยอมที่จะถอนหัวรบนิวเคลียร์ของตนออกจากตุรกีและคิวบาตามลำดับ ตามการร้องขอของนาย U Thant ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้น
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น