การเมืองระหว่างประเทศ ตอนที่๑ ความสัมพันธ์สามฝ่าย: รัสเซีย อ - การเมืองระหว่างประเทศ ตอนที่๑ ความสัมพันธ์สามฝ่าย: รัสเซีย อ นิยาย การเมืองระหว่างประเทศ ตอนที่๑ ความสัมพันธ์สามฝ่าย: รัสเซีย อ : Dek-D.com - Writer

    การเมืองระหว่างประเทศ ตอนที่๑ ความสัมพันธ์สามฝ่าย: รัสเซีย อ

    โดย Tanuki_kung

    ผู้เข้าชมรวม

    4,691

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    0

    ผู้เข้าชมรวม


    4.69K

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    2
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  6 มิ.ย. 49 / 15:54 น.


    ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

      การเมืองระหว่างประเทศ ตอนที่๑ ความสัมพันธ์สามฝ่าย: รัสเซีย อินเดีย และจีน


      ความแข็งแกร่งของรัสเซียตอนที่ ๑
      ความสัมพันธ์สามฝ่าย: รัสเซีย อินเดีย และจีน


      กล่าวนำ

      หลังจากที่ ปธน.ปูตินได้เดินทางเยือนอินเดียเมื่อต้นเดือน ธ.ค.๔๗ และประกาศฟื้นฟูความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอินเดียกับรัสเซีย (มีการแถลงการณ์ร่วมของผู้นำทั้งสองประเทศ และลงนามในข้อตกลง/บันทึกความเข้าใจหลายฉบับ) นอกจากนั้นรัสเซียยังประกาศที่จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสามฝ่าย (จีน - อินเดีย - รัสเซีย) ที่กรุงมอสโก ในปี ๒๕๔๘ ทำให้เป็นที่น่าจับตาว่า ประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์ ๓ ชาติ ซึ่งมีจำนวนประชากรมากกว่า ๒,๕๐๐ ล้านคน (เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก) และมีพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ จนอาจจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของศตวรรษที่ ๒๑ กำลังดำเนินความพยายามที่จะร่วมมือกันเพื่ออะไร และมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

      ความร่วมมือ ๓ ฝ่ายนี้เคยถูกเสนอโดยอดีต นรม.เยฟเกนี พรีมาคอฟ ของรัสเซีย เมื่อปี ๒๕๔๒ ภายหลังจากที่สหรัฐฯ เป็นแกนนำ กกล.นาโต้ใช้ปฏิบัติการทางทหารต่ออดีตประเทศยูโกสลาเวีย แต่จีนก็ไม่ตอบรับ ขณะที่อินเดียก็ยังคงนิ่งเฉย หลังจากนั้นในปี ๒๕๔๔ ปธน.ปูตินเดินทางเยือนจีนและอินเดีย ก็ประกาศสนับสนุนการเมืองหลายขั้ว (multipolar) เมื่อ ปธน.หูจินเทาเดินทางเยือนรัสเซีย ก็ประกาศการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับรัสเซีย และสุดท้ายเมื่อ ปธน.ปูตินเดินทางเยือนอินเดียในเดือน ธ.ค.๔๗ รัสเซียกับอินเดียก็ประกาศการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน

      ความร่วมมือ ๓ ฝ่ายนี้ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองระหว่างประเทศเคยให้คำจำกัดความว่า ถ้าหากเป็นความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ (Strategic Cooperation) ก็หมายถึง การแลกเปลี่ยนและการประสานงานกันในมิติต่าง ๆ ของประเทศภาคีต่อปัญหาท้าทายทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร แต่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partner) จะเป็นความสัมพันธ์ที่ประเทศภาคีจะร่วมมือกันทางยุทธศาสตร์ และทำให้ประเทศภาคีบรรลุยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ ซึ่งหากมองในมิติด้านการทหารจะหมายรวมถึงการใช้เครื่องมือด้านการทหารและความมั่นคง, การฝึกร่วมทางทหาร, การวิจัย การพัฒนา และการผลิตทางทหาร, การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีชั้นสูงทางทหาร และการยอมรับข้อตกลงทางทหารร่วมกัน

      ดังนั้น การพิจารณาสถานการณ์ความมั่นคง, สิ่งที่จีน-อินเดีย-รัสเซียต้องการ, ปัจจัยผลักดัน และปัจจัยต่อต้านการรวมตัวของทั้ง ๓ ประเทศ จึงเป็นสิ่งที่ควรศึกษา

      สถานการณ์ด้านความมั่นคงของรัสเซีย

      รัสเซียซึ่งเป็นประเทศแรกในการสนับสนุนการเมืองหลายขั้ว (multipolar world) และเป็นประเทศที่ริเริ่มการจัดประชุมสามฝ่าย กำลังเผชิญสถานการณ์ความมั่นคงดังนี้.-

      ๑. การแตกตัวของสหภาพโซเวียต ทำให้รัสเซียซึ่งสืบทอดสิทธิอันชอบธรรมของสหภาพ-โซเวียตต้องเผชิญกับความผันผวนทางการเมืองภายใน และปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า แม้ว่าหลังจาก ปธน.ปูตินก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำของรัสเซีย จะทำให้เกิดอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทางการเมือง และสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง (๔ ปีติดต่อกัน) แต่สภาพหนี้สินที่มากมาย การปฏิรูประบบเศรษฐกิจที่ยังไม่เข้าที่เข้าทาง ปัญหาเงินเฟ้อที่สูงมาก และปัญหาชนกลุ่มน้อยทางตอนใต้ (คอเคซัสเหนือ) ก็ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก

      ๒. การพัฒนาประเทศรัสเซียจำเป็นต้องอาศัยเงินทุน การค้าที่ยั่งยืน และเทคโนโลยีเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถเทียบเคียงกับ G-7 ได้ ปัจจุบันการติดต่อการค้า การลงทุนระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกมักอยู่ในสภาพที่รัสเซียขายวัตถุดิบ โดยเฉพาะพลังงานให้ไป และต้องนำเข้าสินค้าประเภทไฮเทคกลับคืนสู่รัสเซีย นอกจากนั้นสภาพหนี้สินจำนวนมหาศาลของรัสเซียต่อกลุ่ม Paris Club และ London Club ก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการขัดขวางการค้าระหว่าง ๒ ฝ่าย รัสเซียมองว่า ชาติตะวันตกกำลังสูบเอาทรัพยากรของรัสเซียออกไป นอกจากนั้นเวทีการเมืองระหว่างประเทศ อาทิ OSCE หรือ EU-Russia ก็ไม่เคยทำให้รัสเซียได้รับประโยชน์มากมาย นอกจากใช้เพื่อการเจรจาประนีประนอมกันเท่านั้น

      ๓. รัสเซียมองว่า หลังจากเหตุการณ์ก่อการร้ายในสหรัฐฯ เมื่อ ๑๑ ก.ย.๔๔ สหรัฐฯ ร้องขอการสนับสนุนจากรัสเซียในการใช้กำลังทหารต่ออัฟกานิสถาน เพื่อกำจัดโอซามา บินลาเดน และกลุ่มตาลีบัน ซึ่งสหรัฐฯ อ้างว่าเป็นต้นตอของการก่อการร้ายในสหรัฐฯ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียดีขึ้นมาก มีการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้นำระหว่างกัน และยอมรับท่าทีระหว่างกันและกันมากขึ้น

      แต่หลังจากที่สหรัฐฯ พยายามใช้กำลังทหารเข้าล้มล้าง ปธน.ซัดดัม ฮุสเซนของอิรัก โดยอ้างว่าครอบครองอาวุธทำลายล้างสูง (WMD) และเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ และประชาคมโลก รัสเซียคัดค้านว่าไม่ผ่านมติสหประชาชาติ รัสเซียมองว่าเป็นการดำเนินนโยบายฝ่ายเดียว (unilateral) ของสหรัฐฯ หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็ชาเย็นลง สหรัฐฯ ยังคงกำลังทหารในอัฟกานิสถาน อิรัก เอเชียกลาง และคอเคซัส ซึ่งรัสเซียมองว่า สหรัฐฯ กำลังคุกคามผลประโยชน์ของรัสเซียในเขตอิทธิพลของตนเองอย่างไม่เคยมีมาก่อน

      การที่สหรัฐฯ ประสานเสียงกับสหภาพยุโรปวิจารณ์การปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในเชชเนีย ประกาศแทรกแซงการเลือกตั้งในจอร์เจีย และยูเครน ทำให้รัสเซียมองว่าตนเองกำลังถูกสหรัฐฯ รุกทั้งทางการเมือง และการทหาร นอกจากนั้นสหรัฐฯ อาจใช้สิทธิผ่านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก หรือยับยั้งการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกของรัสเซีย ก็ยิ่งทำให้รัสเซียตกอยู่ในสภาพตั้งรับอย่างต่อเนื่อง

      ๔. รัสเซียมองว่า นาโต้เป็นเครื่องมือหนึ่งของสหรัฐฯ ที่พยายามขยายจำนวนสมาชิกมาทางตะวันออก เข้าสู่ยุโรปกลางซึ่งมีพรมแดนติดอยู่กับรัสเซีย ขณะที่สหรัฐฯ คงกำลังทหารในภูมิภาคทางตอนใต้ของรัสเซีย กำลังคุกคามต่อสถานการณ์ความมั่นคงของรัสเซียโดยตรง นอกจากนั้นความพยายามของนาโต้ที่ปรับการวางกำลังใหม่เข้ามาประชิดชายแดนด้านตะวันตกของรัสเซีย อาจจะเป็นความพยายามที่จะติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธ (NMD) ของสหรัฐฯ ให้ใกล้ชายแดนรัสเซียมากที่สุดเพื่อประสิทธิภาพในการทำลายศักยภาพของขีปนาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย

      ๕. รัสเซียปรับ ครม. โดยมี นรม. Fradkov และรมว.กต. Lavrov ซึ่งสนใจการค้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติผ่านทางท่อ (pipeline) และเน้นการปฏิสัมพันธ์กับเอเชียมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นนาย Sergei Ivanov ก็ผูกพันธ์ด้านการทหารกับชาติมหาอำนาจอย่างจีนและอินเดีย จึงนับเป็นก้าวสำคัญในนโยบายการเมืองระหว่างประเทศว่า รัสเซียกำลังเริ่มนโยบายสู่เอเชียมากกว่าเดิม

      ความต้องการของรัสเซีย

      ๑. เป้าหมายสูงสุดของรัสเซีย คือ การฟื้นฟูสถานะของตนเองให้กลับกลายมาเป็นอภิมหาอำนาจดังเช่นอดีตสหภาพโซเวียต สิ่งที่รัสเซียมุ่งหวังจะสำเร็จได้ก็ด้วยการรวมกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) เข้าด้วยกันภายใต้การนำของรัสเซีย หรืออย่างน้อยสามารถรวมรัสเซีย เบลารุส และยูเครนเข้าด้วยกัน ก็นับว่าเป็นประโยชน์ในการฟื้นคืนความเป็นมหาอำนาจของตนเองได้ในระดับหนึ่ง

      ๒. ความมั่นคงของรัสเซียต้องมีพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ในการป้องกันตนเอง รัสเซียเชื่อว่าตนเองมี ๒ นายพลที่ปกป้องประเทศ ได้แก่ General Distance (ระยะทาง) และ General Frost (ความหนาวเย็น) รัสเซียมองว่าในอดีตศัตรูเคยรุกรานเข้าสู่ใจกลางของตนเองจากตอนใต้และทางตะวันออก (สมัยมองโกลเรืองอำนาจ) และจากทางตะวันตก (สมัยนโปเลียน และสมัยฮิตเลอร์) ดังนั้นเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย เบลารุสและยูเครนซึ่งเคยปกป้องการรุกรานทางตะวันตกแยกตัวออกไป ตลอดจนพื้นที่ทางตอนใต้ก็เริ่มสั่นคลอนจากความต้องการแยกตัวเป็นเอกราชของชนกลุ่มน้อยมุสลิม การรวมกลุ่ม CIS เข้าด้วยกันได้น่าจะเป็นการเสริมแนวปกป้องศัตรูของรัสเซียได้

      ๓. รัสเซียยึดมั่นกับวลีในอดีต (สมัยซาร์ปีเตอร์มหาราช) ที่ว่า รัสเซียมีมิตรแท้คือ กองทัพบก และกองทัพเรือเท่านั้น การจะรักษาอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนเอาไว้ได้ก็ด้วยกองทัพที่เข้มแข็ง มียุทโธปกรณ์ทางทหารที่ล้ำสมัย และอาวุธนิวเคลียร์ที่สามารถป้องปรามศัตรูจากภายนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม การจะพื้นคืนสภาพกองทัพให้เข้มแข็งนั้น รัสเซียจำเป็นต้องใช้งบประมาณทางทหารมหาศาลในการพัฒนายุทโธปกรณ์ให้ก้าวหน้าทัดเทียมชาติตะวันตกและสหรัฐฯ ดังนั้นการพัฒนาความร่วมมือทางทหารกับจีน และอินเดีย น่าจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองในการขายยุทโธปกรณ์ทางทหาร และเป็นเงินทุนในการพัฒนา วิจัย และผลิตอุตสาหกรรมทางทหารของตนเองได้

      ๔. รัสเซียมองว่า โลกในอนาคตจะต้องการทรัพยากรน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และสินแร่บางชนิดที่ตนเองมีอยู่ รัสเซียเชื่อว่าตนเองอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรพลังงาน ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือต่อรองในเชิงการเมืองระหว่างประเทศได้ นอกจากนั้นรัสเซียต้องการเงินลงทุนในด้านพลังงาน ความร่วมมือกับอินเดีย และจีนน่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อรัสเซีย และสถานะของตนเองในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

      ๕. รัสเซียต้องการพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และต้องการเพิ่มมูลค่า GDP ให้เป็นสองเท่าในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า การพึ่งพาแต่การขายวัตถุดิบด้านพลังงาน สินแร่ ป่าไม้ และอาวุธ ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่รัสเซียต้องการคือเงินทุน และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาความหลากหลายของรัสเซียให้เป็นชาติอุตสาหกรรมเทียบชั้นกับกลุ่ม G-7 นอกจากนั้นยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร และยกระดับรายได้ประชากรให้ยั่งยืน

      สถานการณ์ความมั่นคงของจีน

      ๑. จีนมองว่าการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ไม่เคยมองจีนในฐานะที่เท่าเทียม มองจีนเป็นภัยคุกคามตลอดเวลา การดำเนินนโยบายปิดกั้นจีนทางตะวันออก โดยรวมกลุ่มกับเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ ก็เพื่อสกัดกั้นการเติบโตของจีน การโจมตีสถานทูตจีนในกรุงเบลเกรด ประเทศยูโกสลาเวีย เมื่อปี ๒๕๔๒ และเหตุการณ์การใช้เครื่องบินสอดแนมที่บริเวณชายฝั่งของจีนเมื่อปี ๒๕๔๔ นับเป็นการท้าทายและทดสอบศักยภาพการตอบโต้ของจีน

      ๒. การที่สหรัฐฯ ประกาศสนับสนุนจีนเดียว แต่กลับหนุนหลังไต้หวันในการเพิ่มศักยภาพกำลังทหารนับเป็นสิ่งที่จีนยอมรับไม่ได้ นอกจากนั้นศักยภาพกำลังทหารของจีนในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถสนับสนุนจีนในการผนวกไต้หวันด้วยกำลัง

      ๓. การที่สหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์ระบบการปกครองของจีนว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย ปัญหาสิทธิมนุษยชนในจีน และปัญหาธิเบต จีนถือว่าสหรัฐฯ กำลังอาศัยความเหนือกว่าในเชิงนโยบายฝ่ายเดียว เพื่อแทรกแซงกิจการภายในและบ่อนทำลายความมั่นคงของจีนโดยตรง

      ๔. การเข้ามาคงกำลังทหารในเอเชียกลางของสหรัฐฯ ขณะที่จีนกำลังจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือในเอเชียกลางหรือ Shanghai Cooperation Organization (SCO) จีนถือว่า เป็นการจำกัดทางเลือกของจีนในภูมิภาคนั้น พูดง่าย ๆ สหรัฐฯ กำลังดำเนินนโยบายปิดล้อมจีนทางตะวันตกอีกด้วย

      ๕. การประกาศนโยบายโจมตีทางทหารโดยไม่แจ้งเตือนล่วงหน้า และการใช้การแทรกแซงทางทหารโดยเหตุผลด้านมนุษยธรรมของสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่จีนวิตกกังวลต่อการดำเนินนโยบายของตนเองในธิเบต และต่อไต้หวัน

      ความต้องการของจีน

      ๑. จีนเคยประกาศที่จะก้าวขึ้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี ๒๕๖๓ (๒๐๒๐) โดยก้าวล้ำหน้าญี่ปุ่นในทางเศรษฐกิจ และทัดเทียมสหรัฐฯ ให้ได้ในเชิงการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ แม้ว่าจะเป็นเป้าหมายที่ท้าทายจีนอย่างมาก แต่ถ้าหากจีนสามารถคงสภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับสูงต่อไป ร่วมมือด้านการทหารกับรัสเซีย และจับมือกับรัสเซียและอินเดียเพื่อถ่วงดุลสหรัฐฯ แล้ว ก็น่าจะบรรลุเป้าหมายได้เช่นกัน

      ๒. จีนมองว่าสถานะของตนเองเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค แต่การที่สหรัฐฯ คอยกระตุกหลังอยู่ตลอดเวลาด้วยการปิดกั้นทางตะวันออกผ่านพันธมิตรของสหรัฐฯ ในเอเชีย ตอ. และคงกำลังทหารไว้ในเอเชียกลาง โดยเฉพาะใน Bishkek ประเทศทาจิกิสถาน ซึ่งห่างชายแดนจีนเพียง ๒๐๐ กม. นับว่าเป็นความต้องการสกัดกั้นจีนในการเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก

      ๓. เป้าหมายสูงสุดของจีน คือ การรวมไต้หวัน ตลอดจนดินแดนต่าง ๆ ของจีนกลับคืนมา ซึ่งคงต้องอาศัยกำลังทหารที่เข้มแข็ง เนื่องจากสหรัฐฯ และพันธมิตรในเอเชีย ตอ. คงสนับสนุนไต้หวัน ดังนั้นเมื่อมองศักยภาพทางทหารของตนเอง จีนรู้สึกได้ว่าในสงครามสมัยใหม่นั้น ตนเองล้าหลังสหรัฐฯ เกือบ ๔๐-๕๐ ปี กำลังทางเรือของจีนยังไม่สามารถก้าวออกสู่โพ้นทะเลได้ ขีดความสามารถในการส่งกำลังออกนอกประเทศยังจำกัด กำลังทางอากาศของจีนยังไม่สามารถยับยั้งแสนยานุภาพของกองเรือแปซิฟิกได้

      จีนทราบดีว่า การพัฒนาศักยภาพทางทหารของตนเองต้องการกำลังทางเรือ กำลังทางอากาศ ขีปนาวุธ และระบบป้องกันภัยทางอากาศจำนวนมาก ไม่ใช่เฉพาะปริมาณเท่านั้น แต่ต้องมีคุณภาพด้วย จีนเคยมองว่ารัสเซียสามารถช่วยตนเองในเรื่องนี้หลังจากถูกปิดกั้นจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีทางทหารก้าวไปไกลมาก การปรับปรุงสภาพกองทัพไม่ใช่แค่ซื้อยุทโธปกรณ์ล้ำสมัยมาใช้เท่านั้น แต่ควรมองถึงความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางทหาร เพื่อเป็นการต่อยอดเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมทางทหารของตนเอง นอกจากนั้นการร่วมฝึกซ้อมกำลังทหารร่วมกันก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อกระตุ้นขีดความสามารถของกำลังพล และยกระดับมาตรฐานการรบในสูงขึ้น

      ๔. จีนมองว่า เอเชีย ตอ./ต. และเอเชียใต้ยังคงเป็นดินแดนเปิดของตนเอง และหากขยายไปสู่เอเชียกลางก็ยิ่งทำให้จีนสามารถขยายขอบเขตอิทธิพลในการเมือง และการค้าได้ จีนจึงมองว่าการเป็นผู้เล่น (player) สำคัญในเวทีการเมืองระหว่างประเทศผ่านทาง APEC, ASEAN, ARF หรือ SCO จึงน่าจะรีบดำเนินการ การผูกสัมพันธ์กับรัสเซียและอินเดียจึงไม่ใช่สิ่งเสียหายในการถ่วงดุลสหรัฐฯ

      ๕. การพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนต้องอาศัยพลังงานและเทคโนโลยี IT รัสเซียและอินเดียก็สามารถสนับสนุนพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของตนเองให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ การแข่งขันในการวางท่อก๊าซและท่อน้ำมันจากเขตไซบีเรียของรัสเซียมาที่เมือง Daqing ของจีน หรือไปลงทะเลที่เมือง Nakhodka (ใกล้ญี่ปุ่น) จึงเป็นสิ่งท้าทายว่ารัสเซียจะเลือกจีนหรือสนับสนุนญี่ปุ่นในเชิงการค้าการลงทุน แม้ว่าจีนจะมองว่าตนเองเป็นต่อที่รัสเซียจะเริ่มส่งน้ำมันดิบปีละ ๒๐ ล้านตันในปี ๒๕๔๘ และจะเพิ่มเป็น ๓๐ ล้านตันในปี ๒๕๕๓ ก็ตาม

      สถานการณ์ความมั่นคงของอินเดีย

      ๑. ในสมัยสงครามเย็น อินเดียเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกับสหภาพโซเวียต แต่หลังจากสหภาพโซเวียล่มสลายในทศวรรษที่ ๑๙๙๐ ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับรัสเซียก็ผ่อนคลายความใกล้ชิดลงไป ดังนั้นการฟื้นความสัมพันธ์ในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอินเดียกับรัสเซีย จึงเป็นสิ่งที่อินเดียได้ประโยชน์

      ๒. สำหรับจีนนั้น อินเดียมองว่าจีนสนับสนุนปากีสถานในการพัฒนาขีปนาวุธและนิวเคลียร์ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่อินเดียโดยตรง แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียในปัจจุบันจะดีขึ้น อินเดียลดความหวาดระแวงจีนลงไป และมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นทุกปี ทำให้อินเดียเชื่อว่าตนเองสามารถร่วมมือกับจีนได้ในบางมิติ

      ๓. สำหรับสหรัฐฯ นั้น อินเดียมีความสัมพันธ์ที่ลึกซื้งกว่าจีน แต่หลังจากเหตุการณ์ ๑๑ ก.ย.๔๔ สหรัฐฯ อาศัยปากีสถานเป็นฐานปฏิบัติการทางทหารต่ออัฟกานิสถาน โดยประกาศยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ละเว้นการประณามด้านสิทธิมนุษยชนของปากีสถาน และยังช่วยเหลือปากีสถานในการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่อินเดียมองว่าสหรัฐฯ ใช้ double standard ในการตัดสินใจเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งหากปากีสถานเข้มแข็งนั่นหมายถึงการคุกคามความมั่นคงในบริเวณดินแดนที่มีปัญหาระหว่างปากีสถานกับอินเดียจะมีมากขึ้น

      ๔. อินเดียมองออกว่า รัสเซียและจีนมองว่าสหรัฐฯ เป็นภัยคุกคามของตนเอง แต่อินเดียไม่ได้มองเช่นนั้น สหรัฐฯ ไม่ได้แสดงตนเป็นภัยคุกคามต่ออินเดีย อินเดียเชื่อว่าสหรัฐฯ ยังคงทราบถึงความสำคัญของอินเดียในการเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค แม้สหรัฐฯ จะดำเนินความสัมพันธ์อย่างระมัดระวังกับอินเดียและปากีสถานควบคู่กันไปก็ตาม

      ความต้องการของอินเดีย

      ๑. อินเดียมองว่าตนเองเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ และมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียใต้ ต้องการให้มหาอำนาจภูมิภาคอื่น เช่น รัสเซียและจีนยอมรับสถานะนี้เช่นกัน ซึ่งหากยอมรับแล้วก็ต้องยกเลิกการสนับสนุนประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียใต้ เพื่อมาทดสอบหรือท้าทายอินเดีย

      อินเดียต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและเอเชียกลาง ดังนั้นการกำหนดนโยบาย Look East ของอินเดียเข้าสู่ ASEAN จึงเป็นความสัมพันธ์ที่อินเดียต้องเร่งดำเนินการ เพื่อก้าวให้ทันจีนในภูมิภาคนั้น นอกจากนั้นการแสดงท่าทีของรัสเซียในการให้อินเดียเข้าร่วมเป็นสมาชิก SCO ในเอเชียกลางก็เป็นสิ่งที่อินเดียต้องการเช่นกัน

      ๒. อินเดียต้องการเป็นสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) และมีอำนาจออกเสียงยับยั้ง (Veto) การจุดประกายของรัสเซียที่จะสนับสนุนอินเดียนั้น ทำให้อินเดียคาดหวังสูง และถือเป็นการให้เกียรติอินเดียอย่างมาก อินเดียมองว่าสหรัฐฯ ยังไม่เคยแสดงท่าทีสนับสนุนอินเดียเลย แต่ถ้าหากจีนไม่แสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับอินเดีย และสนับสนุนอินเดียเช่นเดียวกับรัสเซียแล้ว ทั้งสองประเทศก็น่าจะร่วมมือกันทางยุทธศาสตร์ในระยะยาวได้

      ๓. อินเดียมีศักยภาพในการก้าวเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้ในศตวรรษที่ ๒๑ แต่ความต้องการในเชิงการค้า และความร่วมมือในมิติทางเศรษฐกิจนั้น อินเดียต้องไม่อยู่ในสถานะที่เสียเปรียบ แม้หลายชาติในภูมิภาคใกล้เคียงจะมองว่า การค้าการลงทุนกับอินเดียนั้น อินเดียจะเอาเปรียบทำให้ขาดแรงจูงใจ แต่อินเดียเชื่อว่าตนเองยังมีศักยภาพหลายประการในมิติการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร และเทคโนโลยี IT ที่หลายประเทศต้องการ ดังนั้นการร่วมมือกับอินเดียต้องมองในแง่ที่อินเดียไม่เสียเปรียบ

      ๔. ศักยภาพทางเศรษฐกิจของอินเดียต้องพึ่งพาพลังงาน และเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงกับประเทศอื่นภายนอกภูมิภาค อินเดียจึงมองว่า การร่วมมือกับรัสเซียด้านพลังงานจะทำให้ตนเองไม่ต้องพึ่งพาแต่แหล่งพลังงานในตะวันออกกลางเท่านั้น นอกจากนั้นเส้นทางเชื่อมโยงจากอินเดียสู่อาเซียน หรือ North-South Corridor จากรัสเซีย-อิหร่าน-อินเดีย ก็น่าจะเกิดประโยชน์โดยตรงต่ออินเดีย

      ๕. อินเดียต้องการพัฒนาศักยภาพทางทหาร ปัจจุบันกำลังทางเรือ กำลังทางอากาศ และกำลังทางบกของอินเดียนับว่าไม่มีประเทศใดในภูมิภาคทัดเทียม อย่างไรก็ตาม กำลังกองทัพที่เข้มแข็ง จะยั่งยืนถาวรก็ต้องควบคู่ไปกับการวิจัย พัฒนา และการผลิตทางทหาร เพื่อพึ่งพาตนเอง ดังนั้นหนทางที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมทางทหารจึงเป็นคำตอบที่อินเดียต้องการจากความสัมพันธ์เชิงพันธมิตรทางยุทธศาสตร์กับรัสเซีย

      นอกจากนั้นแล้วการสำรวจอวกาศ จนถึงขั้นส่งยานอวกาศขึ้นสู่ท้องฟ้า ก็เป็นเป้าหมายสูงสุดในมิติของเทคโนโลยีชั้นสูงของอินเดียด้วย อินเดียมองว่า จีนสามารถส่งยานอวกาศขึ้นสู่อวกาศได้แล้ว อินเดียก็น่าจะกระทำได้เช่นกัน

      ปัจจัยผลักดันความร่วมมือ ๓ ฝ่าย

      ๑. โลกในอนาคตอาจถูกแบ่งเป็นชาติตะวันตก ชาติมุสลิม และชาติที่มิใช่ตะวันตก ดังนั้นปัจจัยของการดำเนินนโยบายสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ และการประกาศทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ของโลกมุสลิม จึงน่าจะเป็นปัจจัยผลักดันให้มหาอำนาจทั้ง ๓ ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาคล้ายคลึงกันจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่ต้องการแยกตัวออกไป ต้องร่วมมือกันมากขึ้น รัสเซียมีปัญหาในเขตคอเคซัสเหนือ จีนมีปัญหาในมณฑลซินเกียงทางตะวันตก ส่วนอินเดียมีปัญหาในแคว้นแคชเมียร์และแคว้นจัมมูทางตอนเหนือของประเทศ

      ๒. การร่วมมือกันระหว่างจีนและรัสเซีย ซึ่งต้องการรวมอินเดียด้วยนั้น น่าจะมีเป้าหมายในการถ่วงดุลหรือคานอำนาจสหรัฐฯ สำหรับอินเดียนั้นมองว่า การร่วมมือกับรัสเซียกับจีน เป็นการยกระดับบทบาทของตนเองในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ และเพิ่มไพ่ในการต่อรองกับสหรัฐฯ ที่อินเดียไม่ได้เสียเปรียบ

      ๓. ประเทศทั้งสามต้องการให้แต่ละฝ่ายยอมรับสถานะและเขตอิทธิพลของตนเองในภูมิภาค ความร่วมมือ ๓ ฝ่ายจึงน่าจะเกิดจากปัจจัยที่ต้องการยกระดับสถานะของตนเองและสนับสนุนซึ่งกันและกันในเวทีการเมืองระหว่างประเทศระดับต่าง ๆ ด้วย

      ๔. ประเทศทั้งสามมีศักยภาพในการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ด้วยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง ขนาดของประเทศที่ใหญ่โต มีประชากรจำนวนมาก และอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นการช่วยเหลือและสนับสนุนซึ่งกันและกันก็จะทำให้ทั้งสามประเทศเติมเต็มในส่วนที่ตนเองขาดแคลน อาทิ ทรัพยากรพลังงาน เงินทุน และเทคโนโลยี IT

      ๕. การร่วมมือกันในการวิจัย พัฒนา และการผลิตยุทโธปกรณ์ทางทหาร จะเป็นปัจจัยสำคัญในการลดภาระด้านเงินทุน การต่อยอดด้านเทคโนโลยี และยังเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมทางทหารของประเทศให้ก้าวรุดหน้าอีกด้วย

      ๖. การสำรวจอวกาศ ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และต้องใช้งบประมาณมหาศาล แต่ถ้าหากทั้ง ๓ ประเทศร่วมมือกันในมิติด้านนี้แล้ว นอกจากจะลดภาระการลงทุนแล้ว ยังเป็นการร่วมมือกันยกระดับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศซึ่งกันและกัน

      ปัจจัยต่อต้านความร่วมมือ ๓ ฝ่าย

      ๑. สหรัฐฯ และพันธมิตร

      สหรัฐฯ นับเป็นผู้เล่นสำคัญ หลายฝ่ายมองว่าการดำเนินนโยบายฝ่ายเดียว (unilateral) ของสหรัฐฯ จะผลักดันให้มหาอำนาจอย่างจีน อินเดีย และรัสเซีย รวมตัวกันเพื่อถ่วงดุลสหรัฐฯ มากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ศักยภาพการเมืองระหว่างประเทศ การทหาร และเศรษฐกิจของทั้งสามประเทศแล้ว การรวมตัวของทั้ง ๓ ประเทศยังไม่แน่นแฟ้นนัก นอกจากนั้นทั้งสามประเทศยังต้องพึ่งพาการค้ากับสหรัฐฯ จึงยังไม่น่าที่จะท้าทายสหรัฐฯ ได้โดยตรง ทั้งนี้สหรัฐฯ ยังมีพันธมิตรทางทหารอย่างนาโต้ หรือมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย คอยสนับสนุนอีกด้วย

      ดังนั้น การรวมตัวของอินเดียที่เปราะบางที่สุดในบรรดา ๓ ประเทศ จึงน่าจะถูกสหรัฐฯ ดึงออกมาได้ง่ายที่สุด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแล้ว รัสเซียและจีนก็จะเผชิญกับแรงบีบคั้นและการปิดกั้นจากสหรัฐฯ และพันธมิตรมากกว่าเดิม

      ๒. ความหวาดระแวงต่อกันของมหาอำนาจทั้ง ๓

      รัสเซียเคยมีปัญหาพรมแดนกับจีน แม้ว่าปัญหาเขตแดนจะได้รับการแก้ไขเบ็ดเสร็จในเดือน ต.ค.๔๗ ทำให้พรมแดนมากกว่า ๔๖๐๐ ไมล์ระหว่าง ๒ ประเทศหมดปัญหาไปในเชิงการเมืองระหว่างประเทศ แต่ถ้าหากมองในมิติด้านการทหาร และมิติด้านสังคมจิตวิทยาแล้ว รัสเซียมองว่าจีนน่าจะเป็นภัยคุกคามต่อตนเองในระยะยาว ถ้าหากจีนเข้มแข็งขึ้นมา ดินแดนไซบีเรียและตะวันออกไกลซึ่งปัจจุบันก็เผชิญกับปัญหาการหลั่งไหลเข้าไปอยู่เป็นจำนวนมากของชาวจีน ก็อาจจะเป็นเป้าหมายของจีนในอนาคต ทั้งนี้เนื่องจากจีนต้องการทรัพยากรพลังงาน และพื้นที่ในการอพยพประชากรของตนที่มีล้นประเทศ

      อินเดียเช่นกัน มองว่าจีนเคยช่วยเหลือปากีสถานในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ นับว่าเป็นภัยคุกคามต่อตนเอง นอกจากนั้นการขยับตัวของจีนลงสู่ตอนใต้เข้าสู่เอเชีย ตอ./ต. นับว่าเป็นการท้าทายเขตอิทธิพลของอินเดียในมหาสมุทรอินเดีย

      จีนมองว่า รัสเซียขายยุทโธปกรณ์ แต่ไม่ขายเทคโนโลยีล้ำสมัยแก่จีน เหมือนเป็นการเลหลังยุทโธปกรณ์เก่ามาให้จีน ทำให้เป็นภาระแก่กองทัพจีนในระยะยาว ดังนั้นหากสหภาพยุโรปยกเลิกการคว่ำบาตรในการขายเทคโนโลยีและการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่จีนแล้ว จีนน่าจะมีทางเลือกอื่นในการต่อรองกับรัสเซียได้ จีนมองว่ารัสเซียยังไม่ตกลงใจในการวางท่อน้ำมันและท่อก๊าซจากไซบีเรียเข้าสู่จีนหรือไปสู่ท่าเรือที่ใกล้กับญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นให้ข้อเสนอด้านเงินทุนที่ดีกว่าจีน ซึ่งหากรัสเซียกระทำดังกล่าวแล้ว แสดงว่ารัสเซียให้ความสำคัญแก่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจสำคัญของจีน

      ๓. ชาติต่าง ๆ ในเอเชีย ตอ./ต. เอเชีย ตอ., เอเชีย ต. และเอเชียกลาง

      หากมองอย่างเป็นกลางแล้ว มหาอำนาจทั้ง ๓ มีปัญหาในการดำเนินนโยบายกับประเทศในภูมิภาคของตนเองแทบทั้งสิ้น นอกจากเอเชีย ตอ./ต. เท่านั้น ที่ยอมร่วมมือกับชาติมหาอำนาจทั้ง ๓ ผ่านเวทีระดับพหุภาคีของอาเซียน และ ARF แต่ถ้าหากความร่วมมือของมหาอำนาจทั้งสามเกิดขึ้นก็จะเพิ่มความหวาดระแวงต่อประเทศในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น อาจทำให้การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของประเทศทั้งสามในการปฏิสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ ยุ่งยากมากกว่าเดิม นอกจากนั้นหากสหรัฐฯ ส่งสัญญาณเชิงอิทธิพลให้เลือกฝ่ายแล้ว เชื่อว่าชาติต่าง ๆ ในภูมิภาคที่ทั้งสามประเทศดำรงอยู่น่าจะเลือกฝ่ายสหรัฐฯ มากกว่า

      สรุป

      ๑. รัสเซียสามารถดำเนินความสัมพันธ์เชิงพันธมิตรทางยุทธศาสตร์กับจีน และความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์กับอินเดียได้ แต่ความสัมพันธ์ ๓ ฝ่ายระหว่าง จีน อินเดีย และรัสเซีย น่าจะเป็นแค่ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ในบางมิติเท่านั้น ไม่น่าจะยกระดับเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ได้ ซึ่งหากมองดูการดำเนินนโยบายของรัสเซียแล้ว รัสเซียได้รับประโยชน์มากที่สุดในการดำเนินความสัมพันธ์กับจีนและอินเดีย

      ๒. การรวมตัวกันของทั้ง ๓ ประเทศ หากเป็นการดำเนินการเพื่อถ่วงดุลสหรัฐฯ ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศแล้ว ไม่น่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ของทั้งสามประเทศในระยะสั้น เนื่องจากทั้งสามประเทศยังมีพลังอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศ พลังอำนาจทางเศรษฐกิจ และพลังอำนาจทางทหารอ่อนด้วยกว่าสหรัฐฯ แต่ถ้าหากเป็นการสร้างสัมพันธ์ ๓ ฝ่ายระยะยาวแล้ว ก็จะก่อให้เกิดยุคสงครามเย็นขึ้นมาใหม่ และไม่น่าจะเป็นผลประโยชน์ต่อประเทศใด ๆ อย่างยิ่ง

      Black Rasputin
      rasputin@taharn.net
      27 Dec 04


      http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=ongchun&date=20-05-2006&group=3&blog=1

      นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      คำนิยม Top

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      คำนิยมล่าสุด

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      ความคิดเห็น

      ×