ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ภาษาตามโพร โอโห้...ปักษ์ใต้

    ลำดับตอนที่ #14 : มารู้จักคำศัพท์ภาษาตามโพรกันเถอะ ! (หมวด น)

    • อัปเดตล่าสุด 30 ม.ค. 54


    หมวด น
     

    หมายเหตุเสียง น. - อักษรต่ำ(เดี่ยว) ในสำเนียงใต้(สงขลา) จะมีฐานเสียงเป็น
                      เสียง โท      เช่น 
                          นวน  จะออกเสียง เป็น  น้วน,     เนียน จะออกเสียง เป็น  เนี้ยน

    นกกรง  (น.)  ชื่อกลุ่มของนกขนาดเล็ก ที่อาศัยอยู่ในป่าพื้นราบของภาคใต้
           ประกอบด้วย  นกกรงหัวจุก,  นกกรงแม่พะ,
     นกกรงหน้าหมา,  นกกรงดิน,
           นกกรงดอกแตง

               
    -
     นกกรงหัวจุก (Red-whiskered) ชื่อวิทยาศาสตร์ Pycnonotus jocosus
           วงศ์
    Pycnonotidae
       นกชนิดนี้ในเขตภาคกลางเรียกว่า นกปรอดหัวโขน,  ภาค
           เหนือเรียก
    นกพิชหลิว หรือ ปิ๊ดจะลิว (ปัจจุบัน "นกกรงหัวจุก"ได้กลายเป็นสินค้า
           ที่มีการซื้อขายกันทั่วไปในภาคใต้  
    จึงหานกชนิดนี้ในป่าธรรมชาติได้ยาก)
                
    -
    นกกรงแม่พะ, นกปรอดแม่พะ (
    Straw-headed Bulbul)จัดเป็นนกปรอด
           ที่มีขนาดโตที่สุด
    และหายากที่สุดของประเทศไทย  ขนที่หัวของ
    นกกรงแม่พะจะ
           มี
    สีส้มสด ขณะที่ขนส่วนอื่นๆจะเป็นสีน้ำตาลหม่น   
    ( ปัจ จุบันในป่าธรรมชาติของ
           ภาคใต้จะหานกชนิดนี้ได้ยาก เช่นเดียวกับนกกรงหัวจุก )
        
                 (
    นกกรงหน้าหมา,  นกกรงดิน,   นกกรงดอกแตง  - ยังไม่มีข้อมูล )

    นกตูก  (ออกเสียงเป็น หนก ตู้ก) (น.)  นกฮูก,   นกเค้าแมว
              
              (พบเห็นได้น้อยมาก  หลังจากที่เกษตรกรไทย เริ่มใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าหนู)

    นกพี่ทิดพี่ที  (น.) นกทึดทือมลายู, นกในวงศ์นกเค้าชนิดหนึ่ง(วงศ์ Strigidae)มีขนาด
            ใหญ่
    ตัวสีนํ้าตาล มีลายกระสีขาว ลําตัวด้านบนและปีกสีเข้มกว่าด้านท้อง ขนคิ้ว
             ยาว เห็นได้ชัด ตาสีเหลือง ขาไม่มีขน หากินในเวลากลางคืน

          
     (คนไทยถิ่นใต้ ได้ยินเสียงนกชนิดนี้ร้องเป็น "พี่ทิดพี่ที"  จึงเรียกนกนี้ว่า  นกพี่
            ทิดพี่ที
    )

    นกพร้าว (น.)  ช่อดอกของมะพร้าว

    นม, นุม  (น.) คำที่ใช้เรียกมารดาผู้ให้กำเนิด  ใช้เช่นเดียวกันกับคำว่า แม่    หรือใช้
          เป็นคำนำหน้านาม เรียกญาติผู้ใหญ่ที่เป็นผู้หญิงด้วยความเคารพ

         
     ( แถวๆบ้านพรุ หาดใหญ่ สงขลา มีคลองสายหนึ่งเรียกว่า คลองหามนม ที่มาของ
           ชื่อนี้ คือ ลูกๆหามแม่ซึ่งป่วยหนัก ข้ามคลองไปหาหมอ เพื่อทำการรักษา )

    นวล   (ว.) นุ่ม
           
    " หมอนนี้ นวลจัง "  -  หมอนใบนี้นุ่มจัง

            
    (ข้อสังเกตุ: นวลของคนสงขลาจะรู้ว่า นวลหรือไม่ ก็ด้วยการจับต้อง  แต่ นวล
            ในภาษากรุงเทพฯ
    จะรู้ได้  ก็ด้วยการมอง )

    น้องใหญ่  (น.)  ภาษาถิ่นใต้ ในเขตหาดใหญ่ รัตภูมิ คลองหอยโข่งและเขตใกล้เคียง
           ของจังหวัดสงขลา มีความหมายว่า ญาติผู้น้องแต่มีอายุมากกว่ามักจะตัดทอน
           ให้สั้น เหลือ เพียงคำว่า ใหญ่ คำเดียว
          
           ตัวอย่างประโยคเช่น  " พี่หลวง บ้านใหญ่คลิ้ง ไปทางไหน "    คำว่า ใหญ่ คลิ้ง 
           นั้น คำเต็ม คือ น้องใหญ่คลิ้ง แสดงว่าผู้ถามเป็นญาติผู้พี่ของนายคลิ้ง และนาย
           คลิ้ง เป็นญาติผู้น้องแต่มีอายุมากกว่าผู้ถามประโยคนี้

    นอตู    (น.) ธรณีประตู

    นั่งหม้อง (ว.)  นั่งซึม ไม่พูดไม่จากับใคร

    นากา    (ออกเสียงเป็น หน่า กา)  (น.)  นาฬิกา

    นากบุด, ต้นนากบุด   (น.) ต้นบุนนาค

    นาย 
    (น.) ตำรวจ
           ในอดีตคนปักษ์ใต้จะเรียกตำรวจว่า
    นาย  เนื่องจากตำรวจส่วนใหญ่มักใช้อำนาจ
           ข่มขู่และทำตัวเป็น นาย เหนือกว่าชาวบ้าน ซึ่งเป็นคนยากคนจน   คนบ้านนอกจะ
            กลัวตำรวจ ถึงขนาดเวลาเด็กๆร้องไห้โยเย ผู้เป็นแม่ก็จะขู่ลูกว่า 
           
     " นาย มาแล้ว  
    ....อย่าร้อง เดี๋ยวนายจับแหละ"
          
           
    ปัจจุบัน โดยทั่วไปจะใช้คำว่า ตำรวจ 

    นายคุม (น.) ผู้คุม,  เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์
        
    ในอดีตคนไทยถิ่นใต้จะเรียก
    ผู้คุม  ผู้ทำหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขังในเรือนจำตามหมาย
          ศาล ว่า  นายคุม
         
         
    ปัจจุบัน คำว่า นายคุม นี้ จะไม่มีใครพูดแล้ว โดยทั่วไปจะใช้คำว่า ผู้คุม ตามภาษา
          ไทยมาตรฐาน
      คำว่า นายคุม จะมีพูดบ้าง ก็เฉพาะคนเฒ่าคนแก่หรือคนบ้านนอก
          ริมเขา ริมควน
    เท่านั้น

    นายเงา  (น.)   คำเรียกสมมติตัวอะไรสักอย่าง ไว้หลอกเด็กๆ
         
     
    " ไอ้บาว อย่าเล่นเงา  เดี๋ยวอิโถก นายเงา จับไปทุ่มเล "
             ไอ้หนู อย่าเล่นเงา เดี๋ยวจะถูกนายเงา จับตัวไปทิ้งทะเล

       
    ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้  ตอนกลางคืนเด็กๆจะเล่นเงาโดยจุดตะเกียงกระป๋อง
        หรือ "เกียงคางคก" แล้ว  เอามือมาบังแสงให้เกิดเป็นเงาบนฝาห้อง   การเล่นเงาดัง
        กล่าวเป็นสิ่งที่อันตราย เพราะอาจเกิดไฟไหม้ได้     ผู้ใหญ่จึงใช้คำว่า นายเงา เป็น
        อุบายหลอกให้เด็กกลัว  
     (  กรุณาเปรียบเทียบกับ   มูสังแหย้ว  ตัวสมมุติอีกตัว ที่
        เป็นอุบายหลอกเด็กของคนปักษ์ใต้สมัยก่อน )

    นายหนัง  (น.)คนเชิดหนังตะลุง,  ศิลปินพื้นบ้านปักษ์ใต้,  ( ผู้เป็นนายของรูปหนัง)

     
     

    ภาพการฝึกซ้อมของ "นายหนัง"  ตัวน้อยๆ
    ใน "ชมรมหนังตะลุงบ้านม่วงค่อม"
     ตำบลควนลัง   อำเภอหาดใหญ่  จังหวัดสงขลา

    นายบ้าน  (น.) ผู้ใหญ่บ้าน ( ผู้เป็นนายของหมู่บ้าน)

    นายหัว, นายหัวรถ  (น.)  คนขับรถ, โชเฟอร์

           คำว่า นายหัว ในภาษาไทยถิ่นใต้(สงขลา)ดั่งเดิม จะใช้ในความหมาย คนขับรถ
           เนื่องจากจะต้องนั่งอยู่ที่หัวรถ  ไม่ได้ หมายถึง เจ้านาย หรือ เศรษฐีคนมีเงิน แต่
           อย่างใด  กรณีเศรษฐีคนมีเงินในภาษาไทยถิ่นใต้ทั่วไป จะใช้คำว่า เถ้าแก่(ออก
           เสียงเป็น ท่าวแก๊) เช่น เถ้าแก่เรือขุด,  เถ้าแก่เหมืองแร่, เถ้าแก่สวนยาง เป็นต้น

          
    ปัจจุบัน คำว่า นายหัว นี้ ได้มีการนำไปใช้เรียก  เศรษฐีคนมีเงินคนปักษ์ใต้ ใน
           ละครโทรทัศน์ หรือ ภาพยนต์ ซึ่ง ผิดเพี้ยนไปจากความหมายเดิม

    เน,  เด  (ว.)  นี่,  นี้
          เนื่องจาก ในภาษาไทยถิ่นใต้(สงขลา) มักจะแปลงเสียง อี เป็นเสียง
    เอ และเสียง
          น.  ไทยถิ่นใต้จะออกเสียงผสมเป็น น+ด   ดังนั้น
    คำว่า  เน,  เด  ของคนไทยถิ่น
         ใต้  ก็คือ คำว่า   นี่,  นี้
      
    ในภาษาไทยภาคกลาง
         
          ตัวอย่าง การใช้คำนี้ของคนไทยถิ่นใต้ สงขลา
           "
    เน อี้สาว  มาเด พี่หลวง อีบอกให้โร้ "
          ความหมายของประโยคนี้ คือ  
    นี่ อีสาว  มาตรงนี้ พี่หลวง จะบอกให้รู้

    น้ำชุบ (น.) น้ำพริก   
            ชาวสงขลา จะเรียกน้ำพริกว่า 
    น้ำชุบ  โดยเฉพาะน้ำพริกกะปิที่มีน้ำขลุกขลิกที่
            เราสามารถใช้ผักจุ่มลงไปในน้ำชุบ ได้  ( ถ้าจุ่มแล้ว น้ำพริกไม่ติดผัก ก็ไม่เรียก
            ว่า
    น้ำชุบ )

    น้ำตาล  (น.) น้ำตาลเมา    (  คำว่า น้ำตาล ในภาษาไทยถิ่นใต้ดั่งเดิมจะใช้ในความ
           หมายน้ำตาลเมา หรือ  หวาก    และ
    น้ำผึ้ง จะใช้ในความหมาย น้ำตาลในภาษา
          ไทยภาคกลาง )

    น้ำเต้า   (น.)   ฟักทอง
            
    " น้ำเต้าเชื่อม " 
    ฟักทองเชื่อม
               
    น้ำเต้าขาควาย (น.)   คำนี้ในภาษาไทยถิ่นใต้ (สงขลา) หมายถึง   น้ำเต้า (ที่เมื่อแก่
            และแห้งแล้ว  เปลือกน้ำเต้าจะแข็ง สามารถดัดแปลงเป็นภาชนะเก็บน้ำได้)

    น้ำเทะ   น้ำกะทิ     ( ในสำเนียงสงขลา จะแปลงเสียง อิ  เป็น เสียง เอะ )  
               
    "น้ำเทะเรียน"        (
    น้ำกะทิทุเรียน )
               
    "ต้มเทะหน่อไม้"    ( ต้มกะทิหน่อไม้)

    น้ำผึ้ง    (น.คำนี้หมายถึง น้ำตาล แต่จะเป็นน้ำตาลประเภทใด จะต้องดูคำที่ต่อท้าย
            เช่น
              
    " น้ำผึ้งทราย  "    น้ำตาลทราย

              
    " น้ำผึ้งกลวด  "    น้ำตาลกรวด
              
    " น้ำผึ้งเหลว  "     
    น้ำตาลโตนด (เคี่ยวแล้ว ข้นเหลว สีน้ำตาล)
              
    " น้ำผึ้งเมืองเพชร "    น้ำตาลปี๊บ (สีขาว - น้ำตาลอ่อน)
              
    " น้ำผึ้งแว่น "       น้ำตาลแว่น (ทำจาก"น้ำผึ้งเหลว" ที่เคี่ยวจนเหนียว )
              
    " น้ำผึ้งโหนด  "    น้ำตาลโตนด
             
      " น้ำผึ้งรวง  "       น้ำผึ้ง  (จากรวงผึ้งจริงๆ)

    หนาบทีง,   งูบอง หนาบทีง,  งูหนาบทีง (น.)  งูชนิดหนึ่ง มีขนาดและลำตัวยาว
            คล้ายงูจงอางแต่แตกต่างจากงูจงอาง ตรงที่
    งูหนาบทีงตลอดลำตัวจะมีลายพาด
            สีดำ สีเหลือง ( สีน้ำตาล)และสันหลังจะเป็นเหลี่ยม  
    งูหนาบทีง เป็นงูไม่มีพิษ
            อำพรางตัวได้เก่ง  เมื่อจวนตัว จะเลื้อยหนีอย่างรวดเร็ว
           ( ชาวนครศรีฯ เรียกงูชนิดนี้ว่า งูหนาบควาย ปัจจุบัน จะพบเห็น
    งูหนาบทีง หรือ
           งูหนาบควาย
    ได้ยากมาก )

    หนุน (น.)   ขนุน
           "หนุนปุด" - ขนุนป่าชนิดหนึ่ง  เมื่อสุกเนื้อจะเละๆ กินไม่อร่อยมักเป็นอาหารของ
         สัตว์ป่า  แต่เนื่องจาก "หนุนปุด" มีเมล็ดมาก ชาวป่าซาไก และชาวบ้านริมป่าเขาใน
         อดีต จึงใช้ประโยชน์"หนุนปุด" โดยการนำเมล็ด"หนุนปุด" มาต้มกิน

    หนวย (ออกเสียงเป็น น้วย )(น.) หน่วย คำลักษณะนาม ใช้กับสิ่งของที่มีรูปทรง
           กลมๆ หรือ เรียวๆ   เช่น   
             
    " ถ้วย หนวย"  -   ถ้วย 3 ใบ
             
    " กล้วย 2 หนวย "  กล้วย 2 ใบ
            
     " ดีปลี 5 หนวย  ( 5 ดอก)  "  -  พริกขี้หนู 5 เม็ด

    หนอย หนอย (ออกเสียงเป็น น้อย น้อย) (ว) เบาๆ, ค่อยๆ
          
     " เฆี่ยน หนอย หนอย พันนี้   แล้วตอใด เด็ก อิ กลัวละ "
           (ลงโทษ)เฆี่ยน(เด็ก เกเร)  เบาๆอย่างนี้   แล้วเมื่อไหร่ เด็ก ถึงจะ กลัวละ

    หนำ  (ออกเสียงเป็น นั้ม )  (น.)   ขนำ, กระท่อม (ที่อยู่อาศัย ในสวนหรือตามหัวไร่ปลายนา)
             
    " หนำไร่ " - ขนำเฝ้าไร่
            
     
    " หนำริมถ่องปลักเหม็ด " - ขนำริมทุ่งปลักเหม็ด
             
           
    หมายเหตุ : ทุ่ง  สำเนียงไทยถิ่นใต้ -สงขลา จะออกเสียงเป็น ถ่อง   ( เสียง อุ
            ในภาษาไทยภาคกลาง  ในสำเนียงไทยถิ่นใต้-สงขลา  จะออกเสียงเป็น เอาะ
            หรือ โอะ )

    หน่ำ (ก.)  ปลูก (ข้าว  หรือ พืชอื่นๆ เฉพาะในที่สูง ที่ดอน )

            
    ถ้า ปลูกข้าวจะเรียกว่า
    หน่ำข้าว ปลูกถั่ว จะเรียกว่า หน่ำถั่ว   การหน่ำข้าวของ
            คนปักษ์ใต้จะเริ่มในช่วงต้นหน้าฝน  โดยทั่วไปผู้ชายจะเดินข้างหน้า   มือทั้งสอง
            ถือ ไม้สัก กระทุ้ง พื้นดิน ให้เป็นหลุม (รู) เล็กๆ เป็นแนวสองแนว ส่วนผู้หญิงจะ
            ถือกระบอกไม้ไผ่ที่ใส่ข้าวเปลือก ดินตามและหยอดเมล็ดข้าวเปลือกลงในหลุม
            (รู) เมื่อหยอดเมล็ดข้าวแล้ว  ก็จะใช้กระบอกไม้ไผ่กระแทก ขอบหลุม(รู) ให้ดิน
            กลบเมล็ดข้าว  เมื่อฝนดีแดดดี ข้าวก็จะงอกงาม เป็นข้าวไร่ที่เขียวขจีรอการเก็บ
            ข้าวในอีก 3 - 4 เดือนข้างหน้า

            
    ( พันธุ์ข้าวไร่  พื้นเมืองของปักษ์ใต้มีหลายพันธุ์ ที่สำคัญคือ ข้าวดอกพะยอม )

    นุ้ย      (ออกเสียงเป็น  หนุ่ย)   (ว.)    น้อย, เล็ก    ตัวอย่างเช่น
            
    " สาวนุ้ย "   หมายถึง สาวน้อย, ลูกสาวคนเล็ก หรือ น้องสาวคนเล็ก  
             " ทำนุ้ย วลีนี้มีความหมายถึง การแสดงกิริยาเหมือนกับเด็กเล็กๆ
                            (ทั้งๆที่โตแล้ว) เพื่อให้พ่อแม่เอาใจ
             " พี่นุ้ย "   คำนี้หมายถึง ญาติผู้พี่ แต่อายุน้อยกว่า
            
    ในเขตหาดใหญ่  รัตภูมิ  คลองหอยโข่ง และเขตใกล้เคียงของจังหวัดสงขลา
             ถ้ามีคำว่า พี่นุ้ย นำหน้าชื่อบุคคล จะมีความหมายว่า
    ญาติผู้พี่แต่มีอายุน้อยกว่า
            
    ตัวอย่างเช่น ประโยคต่อไปนี้       " น้าหลวง รู้จักบ้านพี่นุ้ยแดงม่ายครับ "
             คำว่า พี่นุ้ยจะมีความหมายว่า  นายแดงหรือนางแดง ที่ถูกถามหานั้น  เป็นญาติ
             ผู้พี่ของคนถามและมีอายุน้อยกว่าคนถามด้วย      บางครั้ง  การพูดคำว่า พี่นุ้ย
             ตามด้วยชื่อจะช้าไปไม่ทันการ 
     จึงใช้สั้นๆว่า นุ้ย   (ไม่มีคำว่าพี่ นำหน้า)  เช่น
            
    รู้จักบ้าน นุ้ยแดง ม่าย     นุ้ยแดง  ในที่นี้ ก็คือ  พี่นุ้ยแดง นั้นเอง

               หมายเหตุ   คำว่า  พี่นุ้ย  นี้จะ ใช้คู่กับคำว่า   น้องใหญ่  เสมอ

    เนียง  (น.) 1. ชื่อพันธุ์ไม้ถิ่นใต้ชนิดหนึ่ง ผลใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก  2. หม้อขนาดใหญ่
             ทรงสูง (ตุ่มขนาดเล็ก)

    เนียน   1.  (ว.)   ละเอียดลออ   คนเนียน   ก็คือ คนที่ละเอียดลออ มักใช้ในความ
              หมายตระหนี่
               2.  (น.)  พันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง เป็นไม้ยืนต้น เปลือกต้น สีน้ำตาลเข้ม-ดำ
               3. 
    (ว.)   พัง, แหลก,ไม่มีชิ้นดี
                 
    "เนียนเหมือนยานัดถุ์"  แหลกละเอียดเหมือนยานัดถุ์

    เนือย   (ก.)  หิว 
               
    " เนือยจัง "  -  หิวจัง      
            
    ( แต่ถ้าออกเสียงสูงเป็น "เหนื้อย"
    ในสำเนียงสงขลาจะหมายถึง เหนื่อย หมด
             เรี่ยวหมดแรง

    แน็ด     (ว.)   ชา    
           
    "แน็ดกินตีน"  ก็คือ เท้าเป็นเหน็บชา ( เนื่องจากนั่งพับเพียบ นานๆ )

    แน็บเพลา   (น.)   สนับเพลา ,   กางเกง
             
    ( คำนี้ ปัจจุบันหาคนพูดได้ยากมาก  ถ้ามี อย่างน้อยต้องอายุ
    70 ปีขึ้นไป )

    โนรา, มโนราห์   (น. )  ศิลปะการละเล่นพื้นบ้านชนิดหนึ่งของคนไทยถิ่นใต้

    โนราโรงครู  (น.พิธีการเล่นโนราแบบโบราณ เพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษ  มักใช้ใน
            การแก้บน (
    ตัด เหฺมฺรย) กรณีที่ตายายทัก มีผลให้ลูกหลานเจ็บไข้ไม่สบาย  
            ( กรณีเจ็บไข้ในโรคทั่วไป ก็พอช่วยได้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ เมื่อเล่นโนราโรงครู
            แล้ว ผู้ป่วยมีความมั่นใจ ว่าวิญญาณปู่ย่าตายาย  ยังคอยช่วยเหลือลูกหลานอยู่
            เมื่อมีกำลังใจ โรคร้ายก็หาย )
            (สอบค้นเรื่อง โนราโรงครู เพิ่มเติม)

    ในโหย,  ในหยู่,  แหละนี้,   โหยฺ เครง  (ว.) เดี๋ยวนี้ .. ขณะนี้
            
    ในโหย, ในหยู่   คำนี้ใช้ในเขต นครศรีธรรมราช  พัทลุง สงขลา ตรัง
            
    แหละนี้      คำนี้ใช้ในเขต สงขลาตอนล่าง คือจะนะ นาทวี เทพา สะบ้าย้อย
             และในเขต
    3 จังหวัด ชายแดน

           
     โหยฺ เครง
      คำนี้ใช้ในเขตภาคใต้ตอนบน สุราษฎร์ธานี ชุมพร ..
            
            ทั้ง
    3 กลุ่มคำที่กล่าวมา ใช้ในความหมาย  
    เดี๋ยวนี้ .. ขณะนี้    ปัจจุบันนี้

    หนักแรง  (ว.) คำนี้ใช้ในกรณีที่มีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด จนคนอื่นรับไม่ได้
            รู้สึกว่ามันจะ เกินไปแล้ว ก็จะตอบโต้ด้วยคำนี้ คือ 
    "อย่าหนักแรง " ( ความ
            หมายใกล้เคียงกับ  มันจะมาก ไปแล้ว ในภาษาไทยบางกอก)

    หนักหู   (ว.) หนวกหู , เสียงดัง,  อึกทึก

    หนังโรง, หนังลุง  (น.) หนังตะลุง การละเล่นพื้นบ้านของคนไทยถิ่นใต้ ( ที่เด็กใต้รุ่น
             หลังมักมองข้าม  หรือ หลงลืม)

    หนุม    (น.) ขนม

    หนุมกลวย, หนมกรวย (น.)  ชื่อขนม  ทำจากแป้งและน้ำตาลโตนด(น้ำผึ้งเหลว)
         ใส่กรวยใบตองแล้วนำไปนึ่งให้สุกเหมือนกับ
    "หนุมปำ"
    โดยทั่วไป "หนุมกลวย"
         จะผูกรวมกันเป็นพวง ( ซื้อขายเป็นพวง )

    หนุม ก้อ ทึ่ง  
    (น.) ขนมตุ๊บตั๊บ

    หนุมโค  (น.) ขนมโค,ชื่อขนมชนิดหนึ่งของถิ่นใต้ ใช้ในงานพิธีต่างๆ  เช่นานวันว่าง
           บัวเดือน
    5 (วันสงกรานต์),ไหว้พระภูมิเจ้าที่, ไหว้ครูหมอตายาย ฯลฯ 
     "หนุมโค"
           ทำจากแป้งข้าวจ้าว   ปั้นเป็นลูกกลมๆ มีใส้เป็น "น้ำผึ้งแว่น"  ผิวนอกคลุกด้วย
           มะพร้าวขูด

    หนุมปำ (น.ชื่อขนมชนิดหนึ่งของถิ่นใต้ คล้ายขนมถ้วยของภาคกลาง ทำจากแป้ง
          และน้ำตาลโตนด(น้ำผึ้งเหลว)ใส่ถ้วยเล็กๆแล้วนำไปนึ่งให้สุก
     "หนุมปำ" แตกต่าง
          จากขนมถ้วย ตรงที่ไม่มีหน้ากะทิ  
          (คำนี้มาจาก apam - ขนม ในภาษามลายู)

    หนุมเป้า  (น.)   ซาลาเปา  หนุม = ขนม,  เป้า = ซาลาเปา )

    หนุมแม็ดข้าว (น.)  ขนมเม็ดข้าว  ชื่อขนมชนิดหนึ่ง คล้าย ขนมปลากริม

    หนุมน้ำ  (น.)  ขนมลอดช่อง

    หนุมหม้อลีง (น.) ขนมหม้อลิง ขนมพื้นบ้านชนิดหนึ่งของปักษ์ใต้ ที่ใช้หม้อ หรือกระ
           เปาะล่อแมลงของ
    หม้อข้าวหม้อแกงลิง นำมานึ่งข้าวเหนียวหน้ากะทิ


    หนุมหม้อลิง  (ขนมหม้อข้าวหม้อแกงลิง)

    หน่อถั่ว  (ออกเสียงเป็น  น้อ ถั๊ว ) (น.)  ถั่วงอก
       ( ปัจจุบัน หาคนพูดคำนี้ได้น้อยมาก คงมีเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่หรือชาวบ้านนอกไกลๆ )

    หนู่ - หนี่   (ว.) คำประกอบนาม ใช้แสดงที่อยู่ไกล และอยู่ใกล้
             " เท่ หนู่ "   ที่โน้น    (  สำเนียงนครศรีฯ  จะออกเสียงเป็น   ถี่ นู้  )
             " 
    เท่ หนี่ "   =   ที่นี่       (  สำเนียงนครศรีฯ  จะออกเสียงเป็น   ถี่ นี้  )
          ถ้าไม่มีคำว่า  ที่ (เท่ ) นำ  มีเพียง โน้น คำเดียว สำเนียงสงขลาจะออกเสียงเป็น
         
    หนู้   เช่น   
             
    หนู้ พ่อเฒ่า เดินมาแล้ว "
    -  โน้น คุณตา เดินมาแล้ว
          แต่ในกรณีที่ใช้ในความหมาย เวลาที่ผ่านไปแล้ว และเวลาปัจจุบันนี้ จะออกเสียง
          เป็น
     
    นู้   - นี้   เช่น 
            
    แรกนู้  - เมื่อก่อนโน้น       
             หวางนี้
     
    - ระหว่างนี้ ,เดี๋ยวนี้

    เหน้   (น.)   หนี้ (หนี้สินที่ต้องชำระคืน) 
             
            
    สำเนียงใต้(สงขลา) เสียง อี จะแปลงเป็นเสียง เอ เช่น   สี่  ออกเสียงเป็น เส ,
             ปลากระดี่  ออกเสียงเป็น  ปลาเด ,  หนี้  ออกเสียง เหน้  ฯลฯ

    น่ง (ก.) นิ่ง ( สียง  อิ ในภาษาไทยมาตรฐาน ภาษาไทยถิ่นใต้-สงขลา จะออก
             เสียงเป็น  แอะ   ดังนั้น  นิ่ง   ของคนกรุงเทพ ก็คือ    แหน่ง  ของคนสงขลา )

    น่งกึ๊บ (ก.)  นิ่งเสีย  นิ่งเดี๋ยวนี้ 
             (
    คำนี้ใช้ขู่เด็กขี้แยให้หยุดร้องไห้)  "
    กึ๊บ " เป็นคำที่ออกเสียงสั้นๆ เน้นเสียงให้
              เด็กกลัว    ตัวอย่างเช่น
      
    "น่งกึ๊บ..แหน่ง ! ไม่แหน่ง เดี๋ยว ตักแกกินตับ"
            
    - นิ่งเสีย ไม่นิ่งเดี๋ยว ตุ๊กแกกินตับ

    เหนียว หลบ  (น.)  ข้าวเหนียวมูน ( ข้าวเหนียว เคล้ากะทิ)

    เหนา  (น.)   รอยเปื้อนของเชื้อราบนเสื้อผ้าที่เปียกชื้นนานๆ
                      ภาษาไทยถิ่นใต้ เรียกว่า
     ผ้าขึ้นเหนา

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×