ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เทคนิคช่วยจำวิชาชีววิทยา

    ลำดับตอนที่ #35 : สรุปฮอร์โมนจากต่อมไพเนียลจนถึงลำไส้เล็ก

    • อัปเดตล่าสุด 7 ต.ค. 48


    1.  ต่อมไร้ท่อ



    แหล่งสร้างฮอร์โมน มีต่อมไร้ท่อและอวัยวะสำคัญดังนี้



    เทคนิคช่วยจำ  จะเหนือหรือใต้ สาวไฮโซก็จะพาอาน้องเบไปดูฟ้าไทใส่หมวกอันเล็ก



    เหนือ     หมายถึง ต่อมเหนือสมอง หรือต่อมไพเนียล



    หรือ      หมายถึง รก



    ใต้        หมายถึง ต่อมใต้สมอง ซึ่งมี 3 ส่วนคือ ต่อมใต้สมองส่วนหน้า ต่อมใต้สมองส่วนกลาง และต่อมใต้สมองส่วนหลัง



    สาว      หมายถึง ลำไส้เล็ก   หรือจำเล่นๆว่าสาวไส้



    ไฮโซ   หมายถึง สมองส่วนไฮโปทาลามัส



    พา      หมายถึง ต่อมพาราไทรอยด์



    อา      หมายถึง กระเพาะอาหาร



    น้องเบ หมายถึง น้องเบต้าเซลล์ของไอส์เลตออฟแลงเกอร์ฮานส์ในตับอ่อน



    ฟ้า      หมายถึง น้องแอลฟาเซลล์ของไอส์เลตออฟแลงเกอร์ฮานส์ในตับอ่อน



    ไท     หมายถึง แฝดพ้องเสียง คือต่อมไทรอยด์และต่อมไทมัส



    หมวก หมายถึง ต่อมหมวกไตชั้นนอกและต่อมหมวกไตชั้นใน



    อัน    หมายถึง อัณฑะ



    เล็ก  หมายถึง รังไข่





    2. ต่อมไพเนียล



    เทคนิคช่วยจำ    ภัยมาอุ่นว่ะ เย็นกะรับแสง แล้วกลิ้งรับภาพ



    ภัย          หมายถึง ต่อมไพเนียล



    มา          หมายถึง ฮอร์โมน เมลาโทนิน ที่ต่อมนี้สร้างขึ้น



    อุ่นว่ะ      หมายถึง ในสัตว์เลือดอุ่น เมลาโทนินจะยับยั้งอวัยวะเพศไม่ให้เจริญเร็วก่อนกำหนด



    เย็นกะ     หมายถึง ในสัตว์เลือดเย็น เมลาโทนิน จะกระตุ้นให้เมลานินมารวมตัวกัน ทำให้ผิวหนังสีจางลง



    รับแสง    หมายถึง  ในสัตว์เลือดเย็น เช่น ปลาปากกลม สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำและสัตว์เลื้อยคลานบางชนิด ต่อมนี้ไม่สร้างฮอร์โมน แต่



                              จะเป็นเพียงกลุ่มเซลล์รับแสง



    แล้วกลิ้งรับภาพ     หมายถึง   ต่อมไพเนียลของกิ้งก่าในนิวซีแลนด์จะรับภาพได้ด้วย จึงเรียกว่ากิ้งก่า 3 ตา





    3. นักวิทยาศาสตร์มีความเชื่อว่า ต่อมไพเนียลของสัตว์บางชนิดจะถูกยับยั้งโดยแสง  น้องๆจำแบบง่ายๆไปก่อนว่า



    แสงมีผลยับยั้งการทำงานของต่อมไพเนียล และเมลาโทนิน จำแค่นี้ไปก่อนนะครับ  



    ต่อมาน้องๆก็เข้าใจต่อว่า ถ้าช่วงกลางวันยาวนาน ต่อมไพเนียลจะทำงานน้อย  แสดงว่าในฤดูร้อน ต่อมไพเนียลจะทำงานน้อย



    ส่วนฤดูหนาว กลางคืนยาว ต่อมไพเนียลก็จะทำงานมาก  อันนี้ไม่สับสนนะครับ



    ต่อมาค่อยมาเข้าใจต่อว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น มีแสงทำไมต่อมไพเนียลทำงานน้อยล่ะ



    นักวิทยาศาสตร์เขาเชื่อว่า ต่อมไพเนียลของสัตว์บางชนิดถูกควบคุมโดยสารสื่อประสาทจากระบบประสาทซิมพาเทติกซึ่งเป็นระบบประสาทอัตโนวัติ ระบบการทำงานเป็นยังไงน่ะเหรอ น้องๆจำสั้นๆไว้ว่า    แสงเร ซิมไพ  ก็คือว่า แสงไปกระตุ้นเรตินาให้ส่งกระแสประสาทไปยังระบบประสาทซิมพาเทติก แล้วระบบประสาทซิมพาเทติกก็จะส่งกระแสประสาทไปยังต่อมไพเนียล มีผลให้ต่อมไพเนียลยับยั้งการทำงานของเมลาโทนิน    ทำให้พอมีแสงมากๆหรือกลางวันยาวกว่ากลางคืน เช่นฤดูร้อน ต่อมไพเนียลจะทำงานน้อยกว่าในฤดูหนาว





    มาเข้าใจกันต่ออีกหน่อยว่า  เมลาโทนินที่หลั่งมาจากต่อมไพเนียลมีผลยับยั้งการหลั่งของโกนาโดโทรฟินจากต่อมใต้สมอง   เพราะฉะนั้นถ้ามีเมลาโทนินมากก็จะมีโกนาโดโทรฟินน้อย      แล้วเจ้าโกนาโดโทรฟินจะไปมีผลกระตุ้นต่อมเพศให้ทำงาน เมื่อมีโกนาโดโทรฟินน้อย ต่อมเพศก็จะทำงานน้อย  



    เราสามารถเข้าใจเป็นช่วงได้ดังนี้คือ  เมื่อเมลาโทนินมาก  โกนาโดโทรฟินจะน้อย มีผลให้ต่อมเพศทำงานน้อย และ

                                                   เมื่อเมลาโทนินน้อย   โกนาโดโทรฟินจะมาก มีผลให้ต่อมเพศทำงานมาก



    หรืออาจจะจำสั้นกว่านั้นก็ได้ว่า        เมื่อเมลาโทนินมาก ต่อมเพศทำงานน้อย เมื่อเมลาโทนินน้อย ต่อมเพศทำงานมาก



    ถ้าน้องเข้าใจตามนี้   ถ้ามีการถามว่า เจ้าสัตว์ชนิดนี้ในฤดูร้อนจะมีกิจกรรมทางเพศมากหรือน้อย เราก็ค่อยๆคิดครับว่า ฤดูร้อน กลางวันยาว แสงจ้า เพราะฉะนั้น จะมีกิจกรรมทางเพศน้อยก็แค่นั้นเอง



    4.  รก





    หลังจากเอมบริโอหรือตัวอ่อนฝังตัวที่ผนังมดลูกแล้ว  รกจะสร้างฮอร์โมน HCG     ฮอร์โมนตัวนี้จะไปกระตุ้นคอร์ปัสลูเทียมให้สร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นการตั้งครรภ์







    5.   ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า





    มีฮอร์โมน 6 ชนิดคือ   GAL-FTL อ่านว่า  กัลเอฟ ทีแอล



    มาดูตรงกัลกันก่อน



    G                 หมายถึง GH หรือ โกรทฮอร์โมน  หน้าที่ของ GH คือ เจริญสร้างซึม  เจริญคือ กระตุ้นการเจริญเติบโตของกระดูก



                                                                                                                           และกล้ามเนื้อ



                                                                                                               สร้างคือ สร้างโปร



                                                                                                               ซึมคือ ควบคุมเมแทบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรตและ



                                                                                                                         ไขมัน

                       ส่วนความผิดปกติเนื่องจากฮอร์โมนตัวนี้ ก็ท่องอาขยานบทนี้ก็แล้วกันครับ



                       ฮอร์โมนน้อยไป เด็กผู้ใหญ่ดวาซิมมอน  ฮอร์โมนปลิ้นปล้อน เด็กใจอ่อนผู้ใหญ่กาลี หมายความว่า



    ถ้า GH มีน้อยเกินไป ถ้าเป็นเด็กจะเกิดโรค dwarfism หรือโรคเตี้ยแคระ ถ้าเป็นผู้ใหญ่จะเกิดโรคซิมมอนด์





    ถ้า GH มีมากเกินไป ถ้าเป็นเด็กจะเกิดโรค gigantism หรือโรคยักษ์ ถ้าเป็นผู้ใหญ่จะเกิดโรคอะโครเมกาลีครับผม





    A               หมายถึง ACTH มีหน้าที่คือ มันใส่หมวกอินจัง





                     มัน                หมายถึง กระตุ้นการปล่อยกรดไขมัน

                     หมวก            หมายถึง  กระตุ้นการเติบโตและการสร้างฮอร์โมนของต่อมหมวกไตชั้นนอก

                     อิน                หมายถึง กระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน

                     จัง                 จังนี่ให้นึกถึง G ซึ่งมาจาก GH  คือมันมีหน้าที่กระตุ้นการหลั่ง GH จากต่อมใต้สมองส่วนหน้าด้วย



                     และที่ลืมไม่ได้ ACTH ยังมีบางอย่างคล้าย MSH จากต่อมใต้สมองส่วนกลาง มันจึงสามารถกระตุ้นเมลานินในเซลล์ที่บริเวณผิวหนังของสัตว์เลือดเย็นให้ขยายตัว ทำให้มีสีเข้มขึ้น



    L               หมายถึง LH มีหน้าที่ในเพศหญิงคือ   ร่วมตก กายเทียม



                    ร่วม               หมายถึง   ทำหน้าที่ร่วมกับ FSH ในการกระตุ้นฟอลลิเคิลให้มีการหลั่งอีสโทรเจนมากขึ้นกว่าเดิม

                    ตก                หมายถึง   เมื่อมีปริมาณสูงจะกระตุ้นให้เกิดการตกไข่

                    กาย              หมายถึง   LH กระตุ้นเซลล์ที่ผนังฟอลลิเคิลให้กลายเป็นคอร์ปัสลูเทียม

                    เทียม            หมายถึง   มีผลกระตุ้นคอร์พัสลูเทียมให้หลั่งฮอร์โมนโพรเจสเตอโรน



                    ส่วนในเพศชายจะกระตุ้นอินเตอร์สติเชียลเซลล์ซึ่งแทรกอยู่ระหว่างหลอดสร้างอสุจิในอัณฑะให้สร้างฮอร์โมนเพศชาย จึงอาจเรียก LH อีกชื่อหนึ่งว่า ICSH





    F               หมายถึง FSH ในเพศหญิงจะควบคุมการเจริญของฟอลลิเคิลในรังไข่และสร้างฮอร์โมนอีสโทรเจน ในเพศชายจะกระตุ้นให้อัณฑะเจริญและสร้างอสุจิ





    หมายเหตุ   ทั้ง LH และ FSH อาจเรียกรวมกันว่าโกนาโดโทรฟิน ในเพศหญิงช่วงตกไข่จะมีฮอร์โมนทั้ง 2 ตัวนี้ในเลือดสูงมาก





                    จากกัลเอฟไปแล้วนะครับ ตอนนี้เราจะมาดู ทีแอลกันบ้าง



    T              หมายถึง TSH มีหน้าที่กระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมน



    L               แอลตัวสุดท้ายหมายถึง LTH หรือ โปรแลคตินซึ่งมีหน้าที่ กระตุ้นต่อมน้ำนมให้ขับน้ำนมออกมาเพื่อเลี้ยงลูกอ่อน





    6. ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนกลาง



    มีอยู่ตัวเดียวคือ MSH มีหน้าที่กระตุ้นเมลานินในเซลล์เมลาโนไซด์ให้กระจายตัวทำให้ผิวหนังมีสีเข้มขึ้น





    ตัว M ข้างหน้าอาจจำเล่นๆก็ได้ว่าคือ middle ซึ่งแปลว่ากลาง จะได้จำแม่นขึ้นว่าเป็นฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนกลาง





    เพราะฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองทั้งหมดมีตัวนี้ตัวเดียวที่ขึ้นต้นด้วย M





    7. ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหลัง





    จำง่ายๆว่า ออกวา









    ออก        หมายถึง  ฮอร์โมนออกซีโทซิน หน้าที่ของฮอร์โมนตัวนี้จำง่ายๆว่า มด-อด-นม



                               มด หมายถึง การที่มันกระตุ้นให้กล้ามเนื้อมดลูกหดตัวเพื่อช่วยในการคลอด



                               อด  ให้นึกถึงอสุจิ เพราะมันช่วยกระตุ้นอสุจิให้เคลื่อนที่ในมดลูก



                               นม  หมายถึงมันช่วยกระตุ้นให้ต่อมน้ำนมหลั่งน้ำนม



    วา          หมายถึง   วาโซเพรสซิน หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ADH หน้าที่ของมันจำสั้นๆว่า น้ำเลือด



                               น้ำ  หมายถึงมันกระตุ้นให้ท่อของหน่วยไตส่วนท้ายและท่อรวมมีการดูดน้ำกลับคืน ถ้า

                                     ฮอร์โมนตัวนี้น้อยไปจะทำให้ปัสสาวะมีน้ำมาก หรือน้ำปัสสาวะมี

                                     ความเข้มข้นน้อยลง เรียกว่า เบาจืด เบาในที่นี้หมายถึงปัสสาวะ





                               เลือด  หมายถึงฮอร์โมนตัวนี้มีผลกระตุ้นให้เส้นเลือดแดงเล็กๆหดตัว ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น





    ถ้าจะจำแบบสรุปว่าฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองทั้งหมดมีอะไรบ้างก็สามารถจำได้เป็น กัลเอฟ ทีแอล เอ็มออกวา





    8.  ฮอร์โมนจากลำไส้เล็ก



    อันนี้จำง่ายมากว่า  CNN ครีติน



    C         คือ CCK

    N ตัวแรกคือ  เอนเทอโรแกสโทรน

    N ตัวที่สองคือเอนเทอโรครินิน

    ครีตินก็คือ ซีครีติน



    ถ้าพูดถึงแหล่งสร้าง มี เอนเทอโรครินินตัวเดียวที่สร้างจากเยื่อเมือกของลำไส้เล็ก นอกนั้นสร้างจากดูโอดีนัม



    เราจะมาดูหน้าที่ของแต่ละตัวกันครับ



    CCK มีหน้าที่คือ ดีอ่อนก่อนเอนเสริม



    ดี     หมายถึง   กระตุ้นการหดตัวของถุงน้ำดี

    อ่อน หมายถึง   กระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยของตับอ่อน

    ก่อน หมายถึง   กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนกลูคากอน

    เอน  หมายถึง   กระตุ้นการหลั่งเอนไซม์เอนเทอโรไคเนส จากผนังลำไส้เล็ก

    เสริม หมายถึง   เสริมฤทธิ์ซีครีตินในการหลั่งน้ำย่อยที่มีเบสสูง



    เอนเทอโรแกสโทรน มีหน้าที่ ขับรถ



    ขับ  หมายถึง    ยับยั้งการขับน้ำย่อยของกระเพาะอาหาร

    รถ  หมายถึง     ลดการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหาร



    หน้าที่ของ เอนเทอโรครินินคือ กระตุ้นต่อมบรูนเนอร์ให้สร้างเมือกออกมาเคลือบผนังลำไส้เล็ก



    หน้าที่ของซีครีตินคือ กระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งน้ำย่อยที่มีปริมาณน้ำมากและมีไฮโดรเจนคาร์บอเนตไอออนซึ่งมีฤทธิ์เป็นเบสอยู่มาก ช่วยให้ความเป็นกรดของอาหารจากกระเพาะลดลงเมื่ออาหารเข้าสู่ลำไส้เล็ก

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×