ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เทคนิคช่วยจำวิชาชีววิทยา

    ลำดับตอนที่ #33 : ว่าด้วยเรื่องของทฤษฎีเซลล์และนิวเคลียส

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 11.92K
      21
      7 ต.ค. 48

    1.ทฤษฎีเซลล์



                       สวัสดีครับ เรามาเจอกันก็ว่าด้วยเรื่องทฤษฎีเซลล์ของชวันน์และชไลเดนกันเลยนะครับ ใจความสำคัญของทฤษฎีเซลล์มีอยู่ว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหลายประกอบขึ้นด้วยเซลล์ และเซลล์คือหน่วยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด แต่ทฤษฎีเซลล์นั้นยังครอบคลุมใจความสำคัญอีก 3 ประการครับ   มีเทคนิคช่วยจำง่ายๆดังนี้ครับ



                       เซลล์สาร ฐานแรก



        1. เซลล์       หมายความว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายอาจเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวหรือหลายเซลล์



           สาร          หมายความว่าภายในเซลล์จะมีสารพันธุกรรมและมีเมแทบอลิซึม ทำให้สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่ได้



       2. ฐาน         หมายความว่า เซลล์เป็นหน่วยพื้นฐานที่เล็กที่สุดที่มีการจัดระบบการทำงานภายในเซลล์



       3. แรก        หมายความว่า เซลล์ต่างๆมีกำเนิดมาจากเซลล์เริ่มแรก โดยการแบ่งเซลล์ของเซลล์เดิม



    2. ชนิดของเซลล์   เซลล์แบ่งตามลักษณะนิวเคลียสได้ 2 ชนิดคือ



        1. เซลล์โพรคาริโอต เป็นเซลล์ที่ไม่มีเยื่อหุ้มนิวเคลียส   นิวเคลียสประกอบด้วยโครโมโซมเพียงเส้นเดียวซึ่งมีลักษณะเป็นวงแหวน สิ่งมีชีวิตที่มีเซลล์แบบโพรคาริโอตได้แก่  แบคทีเรียกับสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน



        2. เซลล์ยูคาริโอต เป็นเซลล์ที่มีเยื่อหุ้มนิวเคลียส สารพันธุกรรมจะอยู่ภายในนิวเคลียส  สิ่งมีชีวิตทั่วไปที่ไม่ใช่แบคทีเรียกับสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินจะเป็นเซลล์ประเภทนี้



        ถ้าน้องคนไหนกลัวสับสนก็จำง่ายๆว่า    ยู-เยื่อ    คือ ยูคาริโอต มีเยื่อหุ้มนิวเคลียส ส่วนโพรคาริโอตไม่มีเยื่อหุ้มนิวเคลียส





    3. โครงสร้างของเซลล์



        โพรโตพลาสซึม  เป็นส่วนของเซลล์ที่อยู่ภายในเยื่อหุ้มเซลล์ โพรโตพลาสซึมของเซลล์ต่างๆ จะประกอบด้วย 4 ธาตุหลักซึ่งรวมกันแล้วมีถึง 90 % ได้แก่   คอนเอช   อย่าเพิ่งงงครับ   คอนเอช ได้แก่ CON-H



        C   คาร์บอน O ออกซิเจน N ไนโตรเจน H ไฮโดรเจน       คอนเอชครับ คอนเอช ส่วนธาตุอื่นมีน้อย แต่ก็ควรรู้ไว้นะครับ ธาตุที่มีน้อย ได้แก่ สังทองแมงโม้ อะโคโบรอน

        สัง        หมายถึง    สังกะสี

        ทอง      หมายถึง    ทองแดง

       แมง       หมายถึง    แมงกานีส

       โม้         หมายถึง    โมลิบดีนัม

       อะ         หมายถึง    อะลูมิเนียม

       โค         หมายถึง    โคบอลต์

       โบรอน   หมายถึง     เป็นอื่นไปไม่ได้ครับ ต้องเป็นโบรอน



    4. นิวเคลียส



        เซลล์ทั่วๆไปจะมี 1 นิวเคลียส  เซลล์พารามีเซียมจะมี 2 นิวเคลียส เซลล์ที่ไม่มีนิวเคลียสคือเซลล์เม็ดเลือดแดงของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กับเซลล์ซีฟทิวบ์ของโฟลเอ็มตอนที่แก่เต็มที่    ส่วนเซลล์ที่มีหลายนิวเคลียสได้แก่   ลายเวรา  



        ลาย คือ เซลล์กล้ามเนื้อลาย    

        เว    คือ เซลล์เวสเซลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตลาเทกซ์ในพืชชั้นสูง

        รา   คือ เซลล์ของราที่เส้นใยไม่มีผนังกั้น



    5. สารประกอบทางเคมีของนิวเคลียสได้แก่   ดีออกโค ไร่ส้มโอ โปรดีไซม์    ไม่งงนะครับ



        ดีออกโค   หมายถึง  ดีออกซีไรโบนิวคลีอิก แอซิด หรือ DNA ที่เป็นส่วนประกอบของโครโมโซมในนิวเคลียส



        ไร่ส้มโอ   ตัวไร่นั้น คือ ไรโบนิวคลีอิก แอซิด หรือ RNA     ส่วนส้มโอ หมายถึง เราพบ RNA ได้ที่นิวคลีโอลัส



        โปรดีไซม์  หมายความว่า มีโปร 2 ส่วนนะ คือโปรทีทำหน้าที่เชื่อมเกาะอยู่กับ DNA และโปรที่ทำหน้าที่เป็นเอนไซม์ พี่จึงเรียกสั้นๆว่า โปรดีไซม์



                       เรามาดูโปรที่ทำหน้าที่เชื่อมเกาะอยู่กับ DNA มี 2 ตัวคือ ฮีสโตนกับโพรตามีน



                       ส่วนโปรเอนไซม์นั้น จะเป็นเอนไซม์ในกระบวนการต่างๆดังต่อไปนี้คือ เคาะบ่ไกล



                       เคาะ      ก็หมายถึงเอนไซม์ในกระบวนการสังเคราะห์นิวคลีอิก แอซิด



                       บ่         คือเอนไซม์ที่ใช้ในเมแทบอลิซึมของนิวคลีอิก แอซิด



                       ไกล      หมายถึงเอนไซม์ในกระบวนการไกลโคไลซิส



         เราจึงสามารถจำสั้นๆได้ว่า เคาะบ่ไกล





    6. โครงสร้างของนิวเคลียส  ประกอบด้วย 3 ส่วน จำสั้นๆว่า  เยื่อโอมา  



                      เยื่อ หมายถึง  เยื่อหุ้มนิวเคลียส

                      โอ  หมายถึง   นิวคลีโอลัส

                      มา  หมายถึง   โครมาทิน





                     เรามาดูเยื่อหุ้มนิวเคลียสกันก่อนนะครับ   มันเป็นเยื่อบางๆสองชั้น ชั้นนอกติดต่อกับ ER และมีไรโบโซมมาเกาะ  ที่ตรงเยื่อบางๆนี้จะมีรูเรียกว่า นิวเคลียร์ พอร์ หรือ แอนนูลัสซึ่งเป็นทางผ่านของสารต่างๆระหว่างไซโทพลาสซึมกับนิวเคลียส เยื่อหุ้มนิวเคลียสมีลักษณะเป็นเยื่อเลือกผ่าน



                     เรามารู้จักกับนิวคลีโอลัสกันบ้างนะครับ เราจะพบนิวคลีโอลัสเฉพาะเซลล์ยูคาริโอต     แต่ก็ยังมีบางเซลล์ที่ไม่มีนิวคลีโอลัสนะครับ   เซลล์ที่ไม่มีนิวคลีโอลัสเราจะจำสั้นๆง่ายๆว่า อำแดงเบลอ   หมายถึงผู้หญิงคนหนึ่งเบลอไปแล้ว ไม่ใช่ครับ อำแดงเบลอหมายถึง



                     อำ           คือ   เซลล์อสุจิ

                     แดง         คือ   เซลล์เม็ดเลือดแดงที่เจริญเต็มที่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

                     เบลอ       คือ   เซลล์ไฟเบอร์ของกล้ามเนื้อ





                     นิวคลีโอลัสประกอบด้วย  โปรกับ RNA   นิวคลีโอลัสมีหน้าที่สังเคราะห์ RNA  โปรที่พบก็จะเป็นพวก ฟอสโฟโปร





                    เรามาพูดถึงโครมาทินกันบ้างนะครับ  โครมาทินเป็นส่วนของนิวเคลียสที่ย้อมติดสี  เราจะมองเห็นมันเป็นเส้นใยเล็กๆพันกันเป็นร่างแหนะครับ เลยมีการเรียกกันว่า ร่างแหโครมาทิน    





                    ร่างแหโครมาทินนี้จะประกอบไปด้วยโปรและ DNA  เวลาย้อมสีโครมาทิน จะมีส่วนที่ติดสีเข้ม และติดสีจาง   โครมาทินที่ติดสีจางเราจะเรียกว่า ยูโครมาทิน      ส่วนที่ติดสีเข้มจะเรียกว่า เฮเทอโรโครมาทิน ส่วนที่มียีนอยู่คือส่วนที่ติดสีจาง



                    ถ้ากลัวจำสับสน ให้นึกถึงผู้หญิงฮ่องกงที่ชื่อว่า ยูยีน จาง    จะได้จำได้ว่า ยูโครมาทิน มียีน และติดสีจาง

    ส่วนเฮเทอโรโครมาทินก็ตรงกันข้ามนะครับ แทบจะไม่มียีนอยู่เลย หรือถ้ามีก็ไม่ทำงาน เวลาย้อมสีก็ติดสีเข้ม



                    ตอนแบ่งเซลล์นั้น    โครมาทินจะหดสั้นเข้า และมีลักษณะเป็นแท่งๆ  เจ้าแท่งนี้แหละที่เราเรียกว่า โครโมโซม   โครโมโซมช่วงนี้แหละที่จะมีการจำลองตัวเอง เหมือนกับว่า มีอยู่แท่งหนึ่ง แล้วสร้างเพิ่มอีกแท่งหนึ่ง แต่แท่งที่สร้างขึ้นนี้ก็ไม่ได้หายไปไหน ยังคงติดอยู่ด้วยกันคล้ายๆกับปาท่องโก๋  น้องๆคงพอนึกภาพออกนะครับ



                    ถึงตอนนี้เราเรียกเจ้าปลาท่องโก๋นั้นว่า  โครโมโซม  แต่มันมี 2 แท่งติดกัน เราเรียกแต่ละแท่งว่าโครมาติด  ตรงจุดที่มันติดกันนั้นเราเรียกว่า เซนโทรเมียร์



                    โครโมโซมของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะมีจำนวนไม่เท่ากันนะครับ     สำหรับมนุษย์เรามีโครโมโซมทั้งหมด 46 แท่ง แต่นิยมเรียกเป็นคู่ครับ   เพราะเจ้า 46 แท่งนั้น บังเอิญเอามาจับคู่กันได้ เพราะมันจะเหมือนกันเป็นคู่ๆ  เราเรียกว่า โครโมโซมคู่เหมือนหรือ Homologous Chromosome    เพราะฉะนั้นมนุษย์เรามี Homologous Chromosome ทั้งหมด 23 คู่ครับ    สิ่งมีชีวิตอื่นก็มีแบบนี้แต่จำนวนคู่จะแตกต่างกันไป เราลองไปดูกันหน่อยดีไหมครับ





                    คน อย่างที่รู้กันไปแล้วมี 23 คู่ครับ       มะละกอมี 9 คู่ จำง่ายๆว่า กอ-เก้า    ส่วนแมวมี 9 ชีวิตตามความเชื่อ  แต่แมวมี 19 คู่ครับ     แมลงหวี่  เสียงหวี่ๆก็เลยมี 4 คู่       กาแฟ บังเอิญผมชอบกินกาแฟที่ซอยสุขุสวิท 22 เลยจำได้ง่ายมากว่ากาแฟมี 22 คู่   หมูล่ะครับมีกี่คู่   จำไม่ยากครับ หมูมี 20 คู่



                    บางครั้งมีการกำหนดตัวอักษร n ขึ้นมา แทนจำนวนชุดของโครโมโซม  โครโมโซมคู่เหมือนทั้ง 23 คู่นั้น ถ้าเราแยกออกมาเป็น 23 แท่งซึ่งแต่ละแท่งรูปร่างไม่เหมือนกันเลย เราจะเรียกทั้ง 23 แท่งนี้ว่า n หรือเท่ากับโครโมโซม 1 ชุด



                   อย่างของคน n = 23  ถ้ามีโครโมโซม 2 ชุด ก็จะเรียกว่า 2n=46

                   ยกตัวอย่างของแมวบ้าง  n= 19       2n=38



                   โครโมโซมมีหน้าที่ควบคุมกิจกรรมของเซลล์และการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมครับผม

            
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×