ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    การเขียนนิยายสไตล์มัลลิกา

    ลำดับตอนที่ #10 : ความเหมือนและต่างระหว่างการเขียนนิยายและบทละครโทรทัศน์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.21K
      10
      13 ส.ค. 51

    ความแตกต่างระหว่างนิยายและบทละครโทรทัศน์
     
                  
                     สวัสดีค่ะ ไม่ได้พบกันเสียนาน เนื่องจากลิก้าติดภารกิจส่วนตัว นั่นก็คือการปั่นๆๆๆ และปั่นๆๆๆ นิยายส่งสนพ. ตอนนี้ก็ยังปั่นๆๆๆ อยู่ เพียงแต่หัวขมองตันสนิทก็เลยพักขมองด้วยการมาเขียนบทความการเขียนนิยายสไตล์มัลลิกาให้เพื่อนๆ อ่านแก้เซ็ง ซึ่งวันนี้ลิก้าเอาบทความเรื่อง
    “ความแตกต่างระหว่างนิยายและบทละครโทรทัศน์” มาฝาก เรามาเริ่มกันดีกว่านะคะ


     
                    ก่อนอื่นคงต้องขอเกริ่นก่อนว่า ตัวลิก้าเองก็ไม่เคยเขียนบทละครโทรทัศน์ ไม่เคยเรียน ไม่เคยเห็นว่าหน้าตามันเป็นยังไง แต่เผอิญต้องมาเขียน และต้องเขียนอย่างเร่งรีบด้วย เพราะเมื่อเดือนเมษายน 2551 บริษัทกันตนาสตูดิโอจัดประกวดการเขียนบทละครโทรทัศน์ เพื่อคัดสรรคนเขียนบทหน้าใหม่ ลิก้าในตอนนั้นคิดเพียงว่าอยากให้นิยายของตัวเองได้ทำเป็นละคร ก็เลยส่งไป 3 เรื่อง คือ “พันธนาการหัวใจ, หอบรักห่มใจ และดวงใจภูมินทร์”


     
                    ผ่านไป 3 เดือนลิก้าก็ได้รับการติดต่อจากกันตนาว่านิยายของลิก้าผ่านการคัดเลือก 2 เรื่อง คือ เรื่องหอบรักห่มใจ และดวงใจภูมินทร์ ตอนที่ได้รับแจ้งข่าวก็ดีใจมาเลยค่ะ แต่หลังจากที่ฟังเขาพูดไปเรื่อยๆ ก็เริ่มวิตก เพราะเขาบอกให้ลิก้าส่งบทละครโทรทัศน์มาประกวดหนึ่งตอน มีเวลาเขียน 20 วัน ต้องบอกว่าตอนนั้นเหวอเลยค่ะ เพราะเขียนบทละครโทรทัศน์ไม่เป็น ไม่เคยเห็น รู้แต่ว่ามันต่างจากนิยายที่เราเขียน แต่ก็รับปากเขาไปว่าจะลองทำดู

     
                    เมื่อตัดสินใจที่จะลองทำ สิ่งแรกที่ลิก้าคิดก็คือ เราต้องหาความรู้ก่อน เราต้องรู้ก่อนว่าบทละครโทรทัศน์มันหน้าตาอย่างไร เขียนอย่างไร บทละครที่ดีควรจะเป็นอย่างไร เมื่อมีเป้าหมายแล้ว สิ่งแรกที่ทำก็คือ เซิร์สอินเตอร์เน็ตหาหนังสือเกี่ยวกับการเขียนบทละครมาอ่านค่ะ เชื่อไหมคะว่าเจอแต่ชื่อ ตัวหนังสือไม่มี จะซื้อก็หาไม่ได้เพราะเขาเก็บคืนสนพ.ไปหมดแล้ว หนทางที่ลิก้าจะได้อ่านหนังสือพวกนั้นก็คือต้องไปที่สนพ. หรือไม่ก็ห้องสมุด

     
                    เมื่อคิดได้อย่างนั้นลิก้าก็ตัดสินใจลางานครึ่งวันเดินทางไปห้องสมุดจุฬาฯ ทันที เพราะที่นั่นมีหนังสือเกี่ยวกับการเขียนบทละครที่ลิก้าต้องการหลายเล่ม เมื่อเดินทางไปถึงก็ต้องปวดหัวเพราะหนังสือที่ต้องการมีอยู่ที่ห้องสมุดคณะอักษรค่ะ ไม่ใช่หอสมุดใหญ่ แต่ในที่สุดหลังจากที่เดินไปเดินมา ลิก้าก็ได้ซีล็อกหนังสือเกี่ยวกับการเขียนบทละครมา 3 เล่ม

     
                    เมื่อได้มาแล้วลิก้าก็ทำการอ่านๆๆๆ อ่านและจดประเด็น ใช้เวลาอ่านทั้งสิ้น 5 วัน เมื่ออ่านเสร็จก็ลงมือเขียนบทละครทันที ซึ่งจะเรียกว่าเขียนก็คงไม่ใช่นัก ต้องเรียกว่านำนิยายมาดัดแปลงเป็นบทละครโทรทัศน์จะถูกต้องกว่า ลิก้าใช้เวลาในการเขียนบทละครจากนิยายของตัวเองทั้งสิ้น 18 วันจึงแล้วเสร็จ

     
                    ลิก้าไม่ได้หวังแม้แต่นิดเดียวว่าจะชนะ เพราะวงการนี้มีอะไรมากกว่าที่ลิก้ารู้จัก แต่ลิก้าก็ไม่เสียใจนะคะที่ทิ้งเวลาเขียนนิยายมาลองเขียนบทละคร เพราะเมื่อได้ศึกษาแล้ว ลิก้าก็ได้ความรู้เพิ่มมากขึ้น และยังได้นำความรู้นั้นมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังด้วย ลิก้าคิดว่าความรู้สำคัญกว่าชัยชนะเยอะเลยค่ะ เพราะมันจะติดตัวเราไปจนตาย ผิดกับชัยชนะที่มาวูบเดียวก็จางหาย เพราะในโลกนี้ไม่มีใครที่จะชนะตลอดไป


     
                    เอาล่ะค่ะมาเข้าเรื่องกันดีกว่านะคะ นิยายกับบทละครโทรทัศน์จะว่าต่างก็ต่างกันค่ะ จะว่าคล้ายก็คล้ายกันค่ะ สรุปก็คือมันมีทั้งส่วนที่ต่างกันและส่วนที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งลิก้าจะได้สรุปให้เพื่อนๆ ฟังในลำดับต่อไปนะคะ แต่ก่อนจะสรุปลิก้าอยากให้เพื่อนๆ ดูนิยายและบทละครโทรทัศน์ที่ลิก้าตัดออกมาประกอบกันก่อนนะคะ เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
     
     
    นิยายเรื่อง ดวงใจภูมินทร์ บทที่ 1 พานพบ (บางส่วน)

     
                    กรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรในยามบ่ายร้อนจัดเหมือนอยู่ในเตาอบ รถราจอดต่อกันยาวเหยียดบนท้องถนนแทนที่จะวิ่งห้อไปยังจุดหมายปลายทางของคนคุมพวงมาลัยอย่างที่ควรจะเป็น


                    สายป่านแตะเบรกพารถกระบะคู่ชีพที่รับใช้เธอมาร่วมสิบปีขยับไปต่อท้ายรถยุโรปคันโตที่จอดอยู่ข้างหน้าเมื่อสัญญาณไฟจราจรตรงสี่แยกเปลี่ยนเป็นสีแดงหลังจากที่เป็นสีเขียวได้เพียงอึดใจเดียว


                    “ฟู่...” หญิงสาวพ่นลมออกจากปากยาวเหยียดเพื่อระบายความหงุดหงิดที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เธอออกจากร้านอาหารตั้งแต่บ่ายโมงครึ่ง โดยตั้งใจจะไปถึงบริษัทภูมินทร์พล็อพเพอร์ตี้ในเวลาบ่ายสามโมง ตามที่นัดหมายกับเลขาหน้าห้องของคุณลุงกวีไว้ แต่ขณะนี้บ่ายสองครึ่งแล้วเธอก็ยังติดแหง็กอยู่บนถนน ทั้งๆ ที่เหลือระยะทางไปยังจุดหมายอีกแค่ไม่ถึงสิบกิโลเมตรเท่านั้น บางทีถ้าเธอจอดรถไว้แล้วเดินไปอาจจะเร็วกว่านี้ก็ได้ แต่จะจอดตรงไหนล่ะ ถนนสายนี้ไม่มีที่จอดรถเลย ขืนจอดส่งเดชอาจโดนล็อกล้อก็ได้ ถ้าเป็นแบบนั้นเธอจะกลับบ้านได้อย่างไร


                    เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นหญิงสาวจึงต้องยอมทำใจ ถึงเมื่อไรก็เมื่อนั้น โมโหไปก็เครียดเปล่าๆ เธอดึงเบรกมือขึ้นพร้อมกวาดตามองไปรอบรถ ก่อนจะหยุดสายตาที่เด็กหญิงตัวเล็กๆ และพวงมาลัยดอกมะลิหลายสิบพวงในมือน้อยๆ เด็กคนนี้คงอายุมากกว่าตาชาลีหลานชายของเธอไม่กี่ปี ที่ๆ แกควรจะอยู่น่าจะเป็นโรงเรียน ไม่ใช่ท้องถนนที่ร้อนระอุและอัดแน่นไปด้วยมลพิษเช่นนี้


                    สายป่านไขกระจกรถลงแล้วชะโงกหน้าออกไปถาม “หนู พวงมาลัยขายยังไงจ้ะ”


                    “พวงละยี่สิบค่ะ” เด็กหญิงยิ้มสดใสพร้อมกับยกพวงมาลัยให้เธอดูใกล้ๆ


                    “พี่เอาพวงหนึ่งไม่ต้องทอน” สายป่านหยิบพวงมาลัยมาหนึ่งพวงแล้วส่งธนบัตรใบละหนึ่งร้อยบาทให้หนึ่งใบ


                    เด็กหญิงทำตาโต รีบคว้าเงินจากมือเธอไปกำไว้ ก่อนจะยกมือไหว้แล้วเอ่ยชมเธอยาวเหยียด “ขอบคุณค่ะ พี่สาวทั้งสวย ทั้งใจดี ขอให้มีแฟนหล่อๆ นะคะ”


                    เมื่อพูดจบร่างเล็กๆ ก็วิ่งจากไปอย่างรวดเร็ว เด็กหญิงวิ่งตรงไปหาหญิงชราคนหนึ่งที่ยืนอยู่อีกด้านของถนนพร้อมกับส่งเงินค่าพวงมาลัยให้ด้วยท่าทางลิงโลด


                    สายป่านยิ้มน้อยๆ ด้วยความสะเทือนใจ ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในสังคมไทยไม่เคยแคบลง ในทางตรงข้ามมันกลับกว้างขึ้นเรื่อยๆ คนรวยก็รวยเสียจนไม่รู้จักคำว่าขาด ในขณะที่คนจนก็จนเสียจนไม่รู้จักคำว่ามี หลายคนสงสัยถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้น แต่เมื่อหาคำตอบไม่ได้พวกเขาก็โทษว่าเป็นเรื่องของบุญกรรม แทนที่จะหาทางแก้ไขอย่างจริงจัง



                    ไฟเขียวที่หายไปนานหวนกลับมาอีกครั้งหลังจากที่ปล่อยให้เธอรอจนเบื่อ สายป่านปลดเบรกมือแล้วเคลื่อนรถไปบนถนนที่ค่อนข้างแออัด ก่อนจะหักเลี้ยวเข้าถนนอีกเส้นซึ่งตรงไปยังบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย


     
     
    บทละครโทรทัศน์ เรื่อง ดวงใจภูมินทร์

     
    ฉากที่ 5      ถนน สี่แยกไฟแดงรถติด บ่าย
    ตัวละคร    สายป่าน / เด็กขายพวงมาลัย
    - ภาพกว้าง สภาพจลาจรติดขัด แสงแดดยามบ่ายร้อนระอุ กระไอแดดกะพริบไหว ตัดภาพมาที่สายป่าน เธอกำลังขับรถด้วยท่าทางหงุดหงิด


     
    สายป่าน : (เป่าลมออกจากปากด้วยความหงุดหงิด) “มันจะติดไปถึงไหนกันเนี่ย”


     
    - ภาพกว้าง เด็กหญิงตัวเล็กวิ่งเท้าเปล่าขายพวงมาลัยอยู่ตรงสี่แยก เธอวิ่งผ่านมาที่รถของสายป่าน สายป่านไขกระจกรถลงแล้วชะโงกหน้าออกไปถาม

     
    สายป่าน : “หนู พวงมาลัยขายยังไงจ้ะ”


    เด็กหญิง : (ชูพวงมาลัยให้ดู) “พวงละยี่สิบค่ะ”


    สายป่าน : (หยิบพวงมาลัยมาหนึ่งพวงแล้วส่งธนบัตรใบละหนึ่งร้อยบาทให้หนึ่งใบ) “พี่เอาพวงหนึ่งไม่ต้องทอน”


    เด็กหญิง : (ทำตาโต รีบคว้าเงินไปกำไว้ ยกมือไหว้เร็วๆ หนึ่งครั้ง) “ขอบคุณค่ะ พี่สาวทั้งสวย ทั้งใจดี ขอให้มีแฟนหล่อๆ นะคะ” (ชมเสร็จก็วิ่งจากไป)


     
    - สายป่านยิ้มด้วยความสะเทือนใจ เพราะอดคิดถึงหลานชายที่บ้านไม่ได้ เธอปิดกระจก เคลื่อนรถออกไป เมื่อสัญญาณไฟจราจรเปลี่ยนเป็นสีเขียว

    - ตัด -
     
                    เอาล่ะค่ะ เมื่อได้อ่านนิยายและบทละครที่ลิก้ายกมาจบแล้วเพื่อนๆ มองเห็นอะไรบ้างค่ะ สำหรับลิก้านั้นมองเห็นความแตกต่างค่ะ แตกต่างกันในหลายๆ ประเด็น ดังที่ลิก้าจะได้สรุปความเหมือนและความต่างของมันให้เพื่อนๆ เห็นดังนี้ค่ะ
     
     
    ความเหมือนระหว่างนิยายและบทละคร

    1.     การสร้างพล็อต ไม่ว่าจะเป็นนิยายหรือบทละคร พล็อตเป็นเรื่องสำคัญค่ะ การจะเขียนจบหรือไม่จบ งานจะออกมาดีหรือไม่ดี คนอ่าน/คนดูจะชอบหรือไม่ขึ้นอยู่กับการสร้างพล็อต นิยายที่ดี/บทละครที่ดี พล็อตต้องแน่น ต้องน่าสนใจ มีที่มาที่ไป และสมเหตุสมผลแม้จะเป็นเรื่องสมมุติก็ตาม


    2.     การสร้างตัวละคร ตรงนี้ก็เหมือนกันค่ะ ทั้งนิยายและละคร ก่อนจะเขียนต้องกำหนดตัวละครไว้อย่างชัดเจน ทั้งรูปร่างหน้าตา อายุ นิสัย พื้นฐานทางสังคม ครอบครัว เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้นิยายของเราดูสมจริง น่าติดตาม และไม่ทำให้เราหลงทางตอนที่เขียนค่ะ


    3.     การเปิดเรื่อง การเปิดเรื่องต้องน่าสนใจ และจับคนอ่าน/คนดูให้อยู่หมัดตั้งแต่ฉากแรก/บทแรก เหมือนกันค่ะ เพราะถ้าเราทำไม่ได้ ทุกอย่างก็จบ


    4.     จุดไคลแมกซ์ นิยาย/บทละครที่ดี ต้องมีไคลแมกซ์ การจะเขียนไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้กำหนดไคลแมกซ์ไว้เป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง เพราะมันจะทำให้นิยาย/ละครเรื่องนั้น น่าเบื่อ ไม่น่าติดตาม และไม่รู้ว่าจะอ่าน/จะดูไปทำไม


    5.     การปิดเรื่อง การปิดเรื่องที่ดี ต้องทิ้งบางสิ่งบางอย่างไว้ในใจของคน/คนดู อาจจะเป็นความอิ่มใจ ความสุข ความเศร้า ซึ่งละครและนิยายต้องมีเหมือนกันค่ะ


     
                    จากทั้งหมดที่กล่าวมาเพื่อนๆ คงเห็นแล้วใช่ไหมคะ ว่าความเหมือนของนิยายและบทละครก็คือ วิธีสร้างสรรค์ผลงาน วัตถุประสงค์ในสร้างสรรค์ ต่อไปเรามาดูความแตกต่างกันบ้างนะคะ
     
     
    ความแตกต่างระหว่างนิยายและบทละคร


                    1. รูปแบบการนำเสนอ แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด จากตัวอย่างข้างบนจะเห็นว่า นิยายจะมีการนำเสนอแบบบรรยายให้เห็นภาพชัดเจน ตัวละครคิดอะไรจะทำอะไรเราสามารถบรรยายให้คนดูรู้ได้หมด แต่บทละครจะมีรูปแบบการนำเสนอที่สั้นๆ ให้นักแสดงเห็นและเข้าใจทันที เน้นบทสนทนามากกว่าบทบรรยาย สรุป นิยายเน้นบทบรรยาย บทละครเน้นบทสนทนา


                    2. การบรรยาย จะแตกต่างกันอย่างชัดเจนที่สุด นิยายจะมีการบรรยายและพรรณสิ่งต่างๆ ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดให้คนอ่านเข้าใจอย่างละเอียด แต่บทละครจะไม่มีบทบรรยาย หรือมีก็เพียงสั้นๆ เพื่อให้นักแสดงเข้าใจเท่านั้น


                    3. บทสนทนา บทสนทนาของบทละครต้องสั้น และได้ใจความเพื่อให้นักแสดงมาสามารถจดจำและพูดได้ง่ายที่สุด ในขณะที่นิยายไม่จำกัดเรื่องนี้ เราสามารถเขียนบทสนทนายาวๆ หรือคำสวยๆ ได้มากเท่าที่เราต้องการ



                    4. ความยาว นิยายเรื่องหนึ่งๆ จะถูกแบ่งออกเป็นบทๆ แต่ละบทยาวประมาณ 10 หน้าขึ้นไป ส่วนละครนั้นจะแบ่งเป็นฉาก ฉากหนึ่งก็คือ 1 เหตุการณ์ บทละครที่ดีต้องสั้นๆ ยิ่งสั้นยิ่งดี บทละครที่ดีต้องยาวประมาณ ครึ่งหน้าถึง 2 หน้า มากกว่านั้นจะเป็นบทละครที่ไม่ดีแล้ว



                    5. มุมกล้อง บทละครต้องบอกมุมกล้อง ภาพไกล ภาพใกล้ แต่นิยายไม่ต้องเราสามารถบรรยายไปเรื่อยๆ โดยเน้นความงามทางวรรณศิลป์เป็นหลัก
     
                    ทั้งหมดที่กล่าวมาก็คือ ความเหมือนและความแตกต่างระหว่างบทละคร เมื่ออ่านจบเพื่อนๆ คงมีความรู้เกี่ยวกับบทละครเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อยนะคะ ลิก้าก็พยายามนำเสนอเท่าที่ลิก้าเข้าใจและจับประเด็นได้ ส่วนถ้าใครอยากรู้จักบทละครให้มากกว่านี้คงต้องไปศึกษาเพิ่มเติมเอาเองนะคะ มีหนังสือหลายเล่มหาอ่านได้ค่ะ และมีโรงเรียนสอนการแสดงหลายแห่งที่เปิดสอนการเขียนบทละคร แต่สำหรับลิก้าคงพอแค่นี้แหละค่ะ
     
                    เพราะลิก้ารู้ใจตัวเองแล้วว่าลิก้าชอบเขียนนิยายมากกว่าบทละคร เพราะมันสามารถใส่จินตนาการ ความรู้สึกนึกคิด ทัศนะคติของลิก้าลงไปได้เต็มที่ ผิดกับบทละครที่ใส่อะไรไม่ได้เลย แต่กลับต้องทำให้มันง่ายที่สุด ที่จะทำให้นักแสดงอ่านแล้วเข้าใจ มันทำให้ลิก้าอึดอัดน่ะค่ะ แต่ข้อดีของบทละครก็คือ เขียนเร็วดีค่ะ เพราะไม่ต้องสรรหาถ้อยคำยากๆ มาบรรยายความรู้สึกของตัวละคร แค่เขียนบทสนทนาจบ บรรยายนิดหน่อยก็โอเคแล้วค่ะ
     
                    วันนี้ลิก้าคงต้องจบบทความแค่นี้นะคะ หวังว่าเพื่อนๆ คงจะได้อะไรกลับไปบ้างไม่มากก็น้อย รักทุกคนค่ะ คราวหน้ามาพบกับบทความ เรื่อง “การสร้างพระรองที่ดี” พระรองที่ดีเป็นอย่างไร เราต้องสร้างพระรองอย่างไรให้ไม่เกินหน้าพระเอก แต่สามารถทำให้เรื่องมีเสน่ห์น่าสนใจมากขึ้น ติดตามโปรแกรมหน้านะคะ วันนี้ลิก้าไปล่ะ จะไปปั่นๆๆๆ มณีนาคาต่อ อยากรีบจบ เพราะอยากเขียนเรื่องของเจ้าชายซาเลมจะแย่แล้ว บายค่ะ บายๆๆๆ รักเพื่อนๆ ทุกคน จุ๊บๆๆๆ



    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×