ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    การเขียนนิยายสไตล์มัลลิกา

    ลำดับตอนที่ #11 : เขียนเรียงความให้ได้รางวัล

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 3.44K
      3
      5 ก.ย. 51

                    


                     สวัสดีค่ะ น้องๆ เพื่อนๆ พี่ๆ ที่น่ารักของลิก้า ไม่ได้เจอกันนานเติบ ซำบายดีบ่ 555 วันนี้มาแบบอินเตอร์นิดหน่อย หวังว่าจะฟังกันออกเด้อค่ะ
     
     
                    วันนี้ลิกาเอาเรียงความของลิก้าที่เพิ่งได้รับรางวัลที่ 2 (รางวัลที่ 1 ไม่มีใครได้ ดังนั้นผลงานของลิก้าจึงถือได้ว่าได้ที่ 1 เช่นกัน) สดๆ ร้อนๆ จากกรมคุมประพฤติมาให้เพื่อนๆ อ่านเล่นๆ และจะได้ช่วยกันดีใจกับลิก้าด้วย รางวัลที่ได้ครั้งนี้ ประกอบด้วยเงินสด 10,000 บาทพร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ
     
     
                    และไหนๆ ก็เอาเรียงความมาให้เพื่อนๆ อ่านเล่นกันแล้ว เพื่อไม่ให้เสียเที่ยวลิก้าจึงนำเทคนิคการเขียนเรียงความให้ได้รางวัลมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังด้วย เพื่อใครจะหยิบยืมไปใช้เพื่อพัฒนาการเขียนเรียงความของตัวเอง ลิกาก็ไม่หวงหรอกค่ะ มาเริ่มกันเลยดีกว่านะคะ
     

                    การเขียนเรียงความให้ได้รางวัล
     
     
                    การเขียนเรียงความให้ได้รางวัลไม่ใช่เรื่องยากหรอกค่ะ เพียงแต่เราต้องรู้หลักและฝึกฝนอยู่เสมอ ฝีมือของเราก็จะเฉียบคมยิ่งขึ้น ซึ่งหลักในการเขียนเรียงความให้ได้รางวัลของลิก้ามีดังต่อไปนี้
     
     
                    1. อ่านหัวข้อที่กรรมการตั้งมาให้ละเอียด แตกประเด็นให้ได้ว่าเขาต้องการให้เราเขียนอะไร และที่สำคัญเราต้องรู้ว่าเขียนอย่างไรจึงจะถูกใจผู้ตัดสิน สรุป คิดให้ละเอียดว่าจะเขียนอะไร ทำเป็นแผนภูมิก็ได้ เมื่อคิดเสร็จจึงลงมือเขียนตามโครงร่างที่เตรียมไว้อย่างรัดกุม
     
     
                    2. กำหนดสัดส่วนของเรียงความ เรียงความ 1 เรื่องต้องประกอบด้วย คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป การเขียนต้องเริ่มจากการเกริ่นคำนำก่อน ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วเข้าสู่เนื้อหาของเรื่อง จากนั้นจึงเขียนบทสรุป ซึ่งบทสรุปคือหมัดเด็ดที่จะน็อกกรรมการ เราต้องสรุปให้โดนใจและตรงกับหัวข้อมากที่สุด
     
     
                    3. การยกตัวอย่าง เป็นสิ่งที่ต้องใส่ลงในเรียงความ เพื่อให้เนื้อเรื่องของเราครอบคลุมประเด็น และช่วยให้คนอ่านเข้าใจและคล้อยตามได้โดยง่าย ซึ่งจะใส่มากใส่น้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับจำนวนหน้าของเรียงความ
     
     
                    4. เขียนเรียงความให้มีจำนวนหน้าตรงกับที่เขากำหนดมา ห้ามเกินและห้ามขาด โดยต้องมี คำนำ เนื้อเรื่อง และบทสรุปครบถ้วน บรรจุอยู่ในจำนวนหน้าที่เขาระบุมาให้ได้
     
     
                    5. การยกคำกล่าว วาทะ ที่เป็นอมตะมาใส่ในเรื่องจะทำให้เรียงความของเราน่าสนใจยิ่งขึ้น ซึ่งวาทะเด็ดๆ ของนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่มีมากมาย การหามาอ่านไว้บ้าง จะช่วยให้ความคิดของเราเฉียบคมขึ้น
     
                    ทั้งหมดที่กล่าวมาคือเทคนิคการเขียนนิยายของลิก้า อาจไม่ได้ตรงตามหลักการสากล แต่ก็เป็นวิธีการที่ลิก้าใช้ในการเขียนเรียงความมาตลอด ถ้าอยากรู้ว่าเรียงความฝีมือลิก้าเป็นยังไง เชิญติดตามอ่านข้างล่างเลยค่ะ วันนี้ไปก่อน บ้าย บาย รักนะ จุ๊บๆๆ
     
     
    ~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
     
     
    เรียงความเรื่อง
    การพัฒนาองค์กรไปสู่คุมประพฤติพอเพียง
     
     
                    การพัฒนาองค์กรไปสู่คุมประพฤติพอเพียง ดูจะเป็นโจทย์ที่ไม่ยากจนเกินไปนัก แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้สำเร็จได้โดยง่าย เพราะการจะผลักดันให้กรมคุมประพฤติของเรา ก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งความพอเพียงได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจจากชาวคุมประพฤติทุกคน   จึงจะสำเร็จได้
     
     
                    การพัฒนากรมคุมประพฤติ ซึ่งเปรียบดังบ้านหลังใหญ่ของพวกเราทุกคน ให้ก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งความพอเพียงได้นั้น ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถูกต้องเสียก่อน เพราะความเข้าใจที่ถูกต้อง นำมาซึ่งการปฏิบัติอย่างสัมฤทธิ์ผล
     
     
                    “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต และวิถีปฏิบัติที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสชี้แนะแก่พสกนิกรชาวไทยมานานกว่า ๓๐ ปี และได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการพัฒนา ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล
     
     
                    การสร้างภูมิคุ้มกันในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต เป็นดั่งเกราะป้องกันให้รอดพ้นจากวิกฤติ และสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาอยู่ตลอดเวลา
     
     
                    “หัวใจของเศรษฐกิจพอเพียง” ประกอบด้วย ๑. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีต่อ ความจำเป็นและเหมาะสมกับฐานะของตนเอง ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป และไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น   ๒. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ อย่างมีเหตุผลตามหลักวิชาการ
     
     
                    หลักกฎหมาย หลักศีลธรรมและวัฒนธรรมที่ดีงาม โดยคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ และ    ๓. การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม เพื่อให้สามารถปรับตัวและรับมือได้อย่างทันท่วงที
     
     
                    จากความหมายของ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ได้กล่าวถึงข้างต้น จะเห็นได้ว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้ชีวิตดำเนินไปบนทางสายกลาง ที่เหมาะสมสอดคล้องกับวิถีความเป็นอยู่ของคนไทย ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับประชาชนทุกระดับ ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร และระดับประเทศ
     
     
                    เพราะคำว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มิได้หมายความถึงความพอเพียงในด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงความพอเพียงในการดำรงชีวิตในทุกๆ ด้าน อาทิ ด้านจิตใจ ด้านสังคมและวัฒนธรรม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นทุกขณะ
     
     
                    เมื่อเราเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถ่องแท้แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นหลักยึดในการพัฒนากรมคุมประพฤติ เพื่อให้บ้านหลังใหญ่ของเราก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งความพอเพียงอย่างแท้จริง
     
     
                    โดยการพัฒนาองค์กรไปสู่คุมประพฤติพอเพียง    ต้องเริ่มจากการพัฒนาบุคลากรของกรมคุมประพฤติให้เป็นบุคลากรที่พอเพียงก่อน เมื่อชาวคุมประพฤติสามารถดำรงชีวิตได้อย่างพอเพียงแล้ว พวกเขาเหล่านั้นจะเป็นกลไกสำคัญ ที่ช่วยผลักดันองค์กรของเรา ให้พัฒนาไปสู่คุมประพฤติพอเพียงได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการพัฒนาองค์กรไปสู่คุมประพฤติพอเพียง แบ่งออกเป็น ๓ ระยะ ดังนี้
     
     
                    ระยะที่หนึ่ง เรียกว่า ‘ใจพอเพียง’ คือ การทำใจของชาวคุมประพฤติให้พอเพียง เพราะใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน เมื่อใดที่ใจของเราพอเพียงแล้ว เราจะไม่รู้สึกว่าขาดอีกต่อไป ดังคำกล่าวที่ว่า ‘พัฒนาชาติ ให้เริ่มต้นที่ประชาชน พัฒนาคน ให้เริ่มต้นที่จิตใจ’ ซึ่งใจของเราจะพอเพียงได้นั้น เราต้องสร้างจิตสำนึก มีความศรัทธา มีความเชื่อมั่น และเห็นคุณค่าของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง
     
     
                    ใจพอเพียงเป็นอย่างไร ใจที่พอเพียง ก็คือใจที่เป็นสุข ใจที่สงบ ใจที่ปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ และใจที่พร้อมจะให้โอกาสกับคนที่หลงผิด คือใจของชาวคุมประพฤติ ผู้ทำหน้าที่คืนคนดีสู่สังคมผู้ปิดทองหลังพระ เพื่อให้พระปฏิมางามทั่วทั้งองค์
     
     
                    ระยะที่สอง เมื่อใจของเราพอเพียงแล้ว เราก็ต้องพัฒนากายของเราให้พอเพียงเคียงคู่กับใจหรือที่เรียกว่า ‘กายพอเพียง’  การทำให้กายของชาวคุมประพฤติพอเพียงนั้น ทำได้อย่างไร ฟังดูเหมือนยาก แต่แท้ที่จริงแล้ว ไม่ได้ยากอย่างที่คิด เราเพียงแต่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ เป็นหลักในการดำเนินชีวิต เพียงแค่นี้กายของเราก็พอเพียงแล้ว
     
     
                    ตัวอย่างเช่น เมื่อเราเป็นข้าราชการ เรามีรายได้ในแต่ละเดือนเท่าไร เราก็แบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนที่หนึ่งเก็บออมไว้ใช้ยามจำเป็น อีกสองส่วนใช้ในการดำเนินชีวิต โดยตั้งอยู่บนความพอประมาณ ใช้จ่ายให้พอดี พอเหมาะกับฐานะของตนเอง
     
     
                    ซึ่งการใช้จ่ายแต่ละอย่างต้องตั้งอยู่บนหลักของความมี เหตุผล คิดคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดจากการกระทำของเราอย่างรอบคอบ เมื่อเราปฏิบัติได้อย่างนี้ เราก็จะมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตการอะไรขึ้น เราก็สามารถปรับตัว และรับมือได้อย่างทันท่วงที
     
     
                    ในด้านการทำงานเรายังสามารถนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ได้อีกด้วย กล่าวคือเราอาจจะเป็นพนักงานคุมประพฤติ เป็นพนักงานธุรการ หรือว่าเป็นพนักงานขับรถ แต่ไม่ว่าเราจะเป็นอะไรก็ตาม เราต้องทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่ และต้องทำให้ดีที่สุดด้วย ดังที่ขงจื้อกล่าวไว้ว่า ‘มีหน้าที่ทำอะไร ทำให้ดีที่สุด ให้ขงจื้อเลี้ยงม้า ม้าจะต้องอ้วน ให้ขงจื้อเป็นเสนาบดีกระทรวงการคลัง เงินจะต้องเต็มท้องพระคลัง’
     
     
                    ตัวอย่างเช่น   เมื่อเราเป็นพนักงานคุมประพฤติ   เราต้องยึดมั่นในจรรยาบรรณของการเป็นข้าราชการที่ดี และต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ซึ่งหน้าที่ของพนักงานคุมประพฤติก็คือการคืนคนดีสู่สังคม
     
     
                    ดังนั้นการที่เราจะเป็นพนักงานคุมประพฤติที่ดีได้ เราต้องซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรม รับผิดชอบต่อหน้าที่ของเรา และที่สำคัญเราต้องภาคภูมิในวิชาชีพและตระหนักในคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งการทำงานตามหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่ ก็คือการทำงานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง
     
     
                    ระยะที่สาม เมื่อใจและกายของชาวคุมประพฤติพอเพียงแล้ว ก็ถึงเวลาที่พวกเราจะต้องมาร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนากรมคุมประพฤติให้ก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งความพอเพียง หรือที่เรียกว่า ‘คุมประพฤติพอเพียง’ ซึ่งคุมประพฤติจะพอเพียงได้นั้น สมาชิกทุกคนในองค์กรต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ใครมีหน้าที่อะไรต้องทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด
     
     
                    ถ้าเราเป็นผู้บริหาร เราต้องบริหารความเสี่ยง ปรับขนาดองค์กรให้เหมาะสม จัดกำลังคนตามความรู้ ความสามารถ บริหารงานตามหลักธรรมมาภิบาล ด้วยความโปร่งใสมีคุณธรรม บริหารจัดการทรัพยากรด้วยความประหยัดและคุ้มค่า
     
     
                    ถ้าเราเป็นเจ้าหน้าที่ เราต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ รอบคอบ ใช้จ่ายอย่างเหมาะสมกับรายได้ พัฒนาตนเองและความรู้อยู่เสมอ หลีกเลี่ยงอบายมุข ยึดประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน สามัคคี แบ่งปัน ให้บริการและช่วยเหลือประชาชนด้วยน้ำใจไมตรี อย่างรวดเร็วและเสมอภาค
     
     
                    ดังนั้น ‘การพัฒนาองค์กรไปสู่คุมประพฤติพอเพียง’ จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากเลย เพียงแต่ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจจากบุคลากรทุกระดับ โดยเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ คือตัวเรา ก่อนจะขยายไปสู่จุดใหญ่คือกรมคุมประพฤติ ซึ่งเปรียบดังบ้านหลังใหญ่ของเราทุกคน
     
     
                    และเมื่อบ้านของเราเป็นองค์กรแห่งความพอเพียงแล้ว ก็อย่าลืมส่งเสริมให้สังคมของเราเป็นสังคมแห่งความพอเพียงด้วย โดยเริ่มต้นจากคนรอบข้างของเรา ได้แก่ ครอบครัว เพื่อนสนิทมิตรสหาย ผู้ถูกคุมความประพฤติ
     
     
                    ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตลอดจนบุคคลอื่นๆ ที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วย เพื่อสร้างเครือข่ายแห่งความพอเพียง ด้วยหลักแบ่งปันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จนเกิดเป็นสังคมแห่งความพอเพียงในที่สุดอันจะนำไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทย
     
     
    “คุมประพฤติเป็นสุขได้   เพียงพอใจในความพอเพียง


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×