ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Economics

    ลำดับตอนที่ #2 : วิกฤติต้มยำกุ้ง : กับการเจริญเติบโตของประเทศไทย

    • อัปเดตล่าสุด 13 พ.ย. 50


    วิกฤติต้มยำกุ้ง : กับการเจริญเติบโตของประเทศไทย

    ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์  กรุงเทพธุรกิจ  วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

    ผู้อ่านเกือบทุกคนคงจำได้ถึงวิกฤตการณ์การเงินและเศรษฐกิจในประเทศไทยเมื่อ 10 ปีก่อนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากระบบตะกร้าเงินเป็นระบบลอยตัว ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ซึ่งทำให้เกิดความผันผวนอย่างรุนแรงของค่าเงินบาทในระยะสั้น แม้ว่าความจริงแล้วเหตุการณ์นี้เป็นเพียง “ปลายน้ำ” ของ “ต้นน้ำ” อันเป็นรากเหง้าของวิกฤตการณ์

    องค์ประกอบแห่งความเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้านรายจ่ายของประเทศไทย 

    ปี 

    การบริโภค  การลงทุน  การส่งออกการนำเข้า ปัจจัยอื่น การเติบโต
    ทางเศรษฐกิจ
    รัฐ เอกชน รัฐ เอกชน
    2530-2539 0.6 4.5 1.5 3.3 4.5 -5.7 -0.1 8.6
    2540-2548 0.4 2.8 -0.1 1.5 4.8 -5 0.6 4.9

    จากการทบทวนและติดตามเศรษฐกิจของไทยมาตลอดตั้งแต่ช่วงวิกฤตการณ์จนถึงปัจจุบัน ทำให้ผมเกิดคำถามข้อหนึ่ง คือ วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงปี 2540 นั้น เปลี่ยนแปลงแบบแผนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ภายหลังวิกฤติ ไปจากช่วงก่อนเกิดวิกฤติหรือไม่?

    เพื่อให้การวิเคราะห์เป็นไปอย่างมีเหตุผลตามหลักวิชาการ ผมได้วิเคราะห์องค์ประกอบของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ด้านรายจ่าย ซึ่งประกอบด้วย การบริโภค การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2350-2539 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์ และช่วงปี พ.ศ. 2542-2548 ซึ่งเป็นช่วงหลังเกิดวิกฤตการณ์ ดังข้อมูลในตารางข้างล่าง

    เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเติบโต พบว่าประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงหลังวิกฤตการณ์ ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์โดยเฉลี่ยถึงร้อยละ 2.5 ต่อปี ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลง ขององค์ประกอบแห่งความเติบโตทางเศรษฐกิจดังต่อไปนี้

    การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในช่วงก่อนวิกฤตการณ์มีการเติบโตสูง เฉลี่ยถึงร้อยละ 4.5 และ 3.3 ต่อปีตามลำดับ ซึ่งสาเหตุเกิดจากไหลเข้าอย่างรุนแรงของเงินทุนต่างประเทศ ทำให้มีอัตราการขยายตัวของการลงทุนในประเทศสูงมาก การลงทุนได้สร้างตำแหน่งงานเกิดขึ้นมากมาย พร้อมกับค่าจ้างที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การบริโภคของภาคเอกชนขยายตัวอย่างรวดเร็วไปด้วย

    อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนจำนวนมากในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ เป็นการลงทุนเพื่อเก็งกำไร โดยเฉพาะการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มของเศรษฐกิจแบบฟองสบู่

    ภายหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ การขยายตัวของการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนลดลงโดยเฉลี่ยถึงร้อยละ 1.7 และ 1.8 ต่อปี ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจช่วงหลังวิกฤติต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤติ หรืออาจกล่าวได้ว่าวิกฤตการณ์ปี 2540 ได้เปลี่ยนแบบแผนการบริโภคและการลงทุนของประเทศไทย เนื่องจากวิกฤตการณ์ทำให้เงินลงทุนจากต่างประเทศไม่ได้เข้ามาอย่างร้อนแรงเหมือนช่วงก่อนวิกฤติ อีกทั้งภาคการเงินซึ่งได้รับบทเรียนจากวิกฤตการณ์ต่างระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากการให้สินเชื่อภายหลังเกิดวิกฤติมีความเสี่ยงมากขึ้น

    สำหรับองค์ประกอบด้านการบริโภคและการลงทุนภาครัฐนั้น จากตารางจะเห็นได้ว่าการใช้จ่ายของภาครัฐ มีความสำคัญไม่มากนัก เมื่อเทียบกับปัจจัยด้านอื่นทั้งก่อน และหลังวิกฤตการณ์ เราจึงอาจสรุปได้ว่า นโยบายการคลังของรัฐบาล มีส่วนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไม่มากนัก

    ยิ่งไปกว่านั้นตัวเลขจากตารางยังแสดงให้เห็นว่า นโยบายการคลังของรัฐบาลในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ โดยเฉพาะนโยบายด้านการลงทุนภาครัฐประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย มากกว่ารัฐบาลในช่วงหลังวิกฤตการณ์ ดังนั้นคำกล่าวอ้างของรัฐบาลทักษิณที่ว่า นโยบายของตนเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจึงอาจจะไม่ตรงกับความจริงมากนัก

    สำหรับองค์ประกอบสุดท้ายคือด้านการค้าระหว่างประเทศ ประเทศไทยยังคงสอบผ่านในเรื่องการส่งออก เนื่องจากการขยายของการส่งออกหลังวิกฤตการณ์ยังคงอยู่ในระดับสูง ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยเปลี่ยนจากประเทศที่ขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องก่อนเกิดวิกฤติ มาเป็นประเทศที่ได้ดุลการค้า ซึ่งชี้ให้เห็นโดยตัวเลขการขยายตัวของการนำเข้าที่ลดลง ขณะที่การส่งออกมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้น

    อาจกล่าวได้ว่า การค้าระหว่างประเทศเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยสาเหตุสำคัญคือค่าเงินบาทที่ลดลงหลังการลอยตัวค่าเงินบาทในช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ ทำให้สินค้าไทยยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ อีกสาเหตุมาจากการที่ไทย ได้กลายเป็นฐานในการประกอบสินค้าบางชนิด เช่น รถยนต์และคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลก

    คำถามต่อมาคือ แบบแผนที่ดีของการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศไทยควรเป็นอย่างไร? ประเทศไทยควรเร่งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนให้กลับมาขยายตัวเท่ากับก่อนเกิดวิกฤติ เพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกับก่อนเกิดวิกฤติหรือไม่?

    ในความเห็นของผม การขยายตัวของการบริโภคเป็นสิ่งดี หากเป็นผลของการที่ประเทศสามารถผลิตสินค้า และบริการได้มากขึ้น แต่เป็นสิ่งไม่สู้ดีนักหากผู้กำหนดนโยบายจงใจให้เกิดขึ้นแม้ความสามารถในการผลิตของประเทศยังเท่าเดิม เนื่องจากแนวทางเช่นนี้อาจทำให้เกิดสังคมแห่งการบริโภคและกลายเป็นสังคมหนี้ในที่สุด

    เช่นเดียวกับการขยายตัวของการลงทุนซึ่งเป็นสิ่งดี หากเป็นการลงทุนที่ทำให้ประเทศมีศักยภาพ และประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น แต่จะเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์หากการลงทุนนั้น เป็นการเก็งกำไรอันไม่ได้สร้างคุณูปการอันใดเลย หรือเป็นการลงทุนแบบสุ่มเสี่ยงเกินไป

    สุดท้ายผมจึงขอเสนอว่า สิ่งที่ประเทศไทยยังขาดอยู่และทำให้เกิดขึ้นได้ยาก แต่มีความจำเป็นต่อประเทศของเราคือ การลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) เนื่องจากการวิจัยและพัฒนาเป็นกุญแจสำคัญที่สุด ในการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการผลิต ซึ่งผลที่ตามมาคือ องค์ประกอบแห่งการเติบโตทั้งสาม คือ การบริโภค การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศจะสามารถเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×