ลำดับตอนที่ #11
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #11 : special - ตีเเผ่การ์ตูนเกย์
การ์ตูนชายรักชาย หรือ Boy's Love กลายเป็นขนมหวานของสาวๆ ยุคนี้ไปเสียแล้ว และความนิยมที่เพิ่มพูนขึ้นนี่เอง เป็นที่มาของการรวมกลุ่มของสาวๆ ที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มสาววาย" นี่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นภายใต้โลกเปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่ใครหลายคนอาจมองว่า การ์ตูนเป็นเรื่องไร้สาระแต่แท้จริงแล้วการ์ตูนก็สะท้อนค่านิยม และภาวะจิตใต้สำนึกลึกๆ ของคนในสังคมด้วยเหมือนกัน เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ได้จัดเสวนาเรื่อง "ความหลากหลายทางเพศในการ์ตูนญี่ปุ่นเพื่อผู้ชาย ผู้หญิง หรือคนรักเพศเดียวกัน" โดย ญาณาธร เจียรรัตนกุล นิสิตสหสาขาวิชาเพศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดประเด็น ศึกษาการ์ตูนญี่ปุ่นที่นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายและผู้ชาย (YAOI) และความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง (YURI) ทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภคเพื่อแลกเปลี่ยนความคิด เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศที่ซับซ้อนอย่างยิ่งในปัจจุบัน ชำแหละการ์ตูนปลาดิบ ญาณาธร อธิบายว่า การ์ตูนญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1. เฮนไต (Hentai) การ์ตูนประเภทนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิงที่เน้นความรุนแรง 2.ยาโออิ(Yaoi) มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย และ 3. ยูริ (Yuri) มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างหญิงกับหญิง ทำให้การ์ตูนประเภทนี้ในประเทศไทยถูกจัดอยู่ในประเภทสื่อลามก และหากไม่มีลิขสิทธิ์ก็จะถูกกวาดล้างออกจากแผงหนังสือทันที ทั้งนี้ หากแบ่งกลุ่มตามผู้บริโภคสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือโชเนน (Shonen) การ์ตูนสำหรับเด็กผู้ชาย โชโจ (Shojo) การ์ตูนสำหรับเด็กผู้หญิง ส่วนการ์ตูนที่เน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง เรียกว่า Seinen และสุดท้ายคือ Seijin ซึ่งเป็นการ์ตูนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์อย่างชัดเจน นอกจากนั้น ยังมีการ์ตูนล้อเลียนคนดัง หนังสือการ์ตูนทำมือ หรือแม้แต่นิยายที่นักเขียนหน้าใหม่แวะเวียนกันแต่งขึ้นจากจินตนาการ โดยนำดารา นักร้องที่ตนชื่นชอบมาเป็นพระเอก นางเอก ของเรื่อง สำหรับการ์ตูนที่ดังๆ หรือได้รับความนิยมมากๆ ก็จะมีการผลิตเป็นปฏิทิน การ์ดโทรศัพท์ บัตรรถไฟใต้ดิน แก้วน้ำ ปากกา ฯลฯ เบื่อการ์ตูนตาโตหันหาการ์ตูนเกย์ ญาณาธร บอกอีกว่า แท้จริงแล้วการ์ตูนชายรักชาย หรือการ์ตูนเกย์ มีมานานมาก โดยจะค่อยๆ ปะปนมากับการ์ตูนธรรมดาและได้รับความนิยมในคนกลุ่มเล็กๆ และบูมมากเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา ญาณาธรยกตัวอย่างการ์ตูนยอดนิยม เช่น กุหลาบแวร์ซาย ซึ่งเป็นการ์ตูนในยุคแรกๆ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากเกี่ยวกับเนื้อหา ซึ่งสอดแทรกความคิด ทัศนคติ เรื่องชายรักชาย ตัวละครอยู่ในยุคสมัยของพระนางมารี อองตัวเนต ตัวเอกของเรื่องออสก้า ฟร็องซัวส์ จาร์แจแยส ได้ถูกบิดาเลี้ยงดูมาแบบลูกผู้ชาย จนกลายเป็นสาวหล่อเก่งกล้าสามารถไม่แพ้ผู้ชาย อองเดรซึ่งหลงรักก็ยังไม่สามารถเอาชนะได้สักครั้งเดียว จนในที่สุดแล้วความรักก็สามารถพิชิตใจออสก้า ทำให้ตอนจบของเรื่องออสก้ากลายเป็นผู้หญิงที่ครองคู่ใช้ชีวิตเช่นผู้หญิงธรรมดาๆ ทั่วไป "ผู้ที่ชื่นชอบการ์ตูนเกย์ก็เป็นเพียงความนิยมเฉพาะกลุ่มเท่านั้น จุดเริ่มต้นของผู้หญิงที่อ่านการ์ตูนเกย์ส่วนมากเป็นกลุ่มคนที่เติบโตมากับวัฒนธรรมการ์ตูนญี่ปุ่น อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นมาก่อนแล้ว และเริ่มเบื่อแนวการ์ตูนผู้หญิง หรือที่เรียกว่า การ์ตูนตาโต มีความรู้สึกว่า ทำไมผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายสารภาพรักผู้ชาย หรือกังวลอยู่ตลอดเวลาว่าผู้ชายจะคิดกับตัวเองอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ การชื่นชอบดาราวงผู้ชายล้วน ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กลุ่มสาวๆ ที่คลั่งไคล้ดาราเป็นทุนเดิมอยู่แล้วหันมาอ่านการ์ตูนเกย์" ญาณาธร บอกว่า ในญี่ปุ่นกลุ่มผู้อ่านกว่า 95% เป็นผู้หญิง ส่วนในประเทศไทยคาดว่าจะเป็นผู้หญิงที่อ่านการ์ตูนแนวนี้ถึง 99% ขณะที่กลุ่มคนรักเพศเดียวกันมักจะไม่อ่านการ์ตูนประเภทนี้ แต่จะสนใจหนังสือที่มีลักษณะเป็นความสมจริงมากกว่า เช่น นิตยสาร รูปถ่าย ดังนั้น จะชอบหรือไม่ชอบก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ความ ความอยากรู้อยากเห็นและความพร้อม ซึ่งมีภาพที่ทับซ้อนกันอยู่มากทีเดียว ปลดปล่อยถึงชายในฝันผ่านการ์ตูนเกย์ "การ์ตูนเกย์ ไม่ได้มีแต่ภาพเปลือย โป๊ หรือขายเซ็กซ์เพียวๆ มีการ์ตูนหลายๆ เรื่องที่เป็นที่นิยม โดยเนื้อเรื่องของการ์ตูนเป็นความรักกันระหว่างในกลุ่มเพื่อน ที่แฝงไปด้วยความอบอุ่น แต่ก็ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันมีฉากเอ็กซ์ๆ เพิ่มขึ้นเพื่อดึงดูดใจผู้อ่าน แต่ที่ต่างจากการ์ตูนในบ้านเรา คือ ญี่ปุ่นมีการแบ่งเรตการ์ตูนด้วย" สำหรับอิทธิพลของการ์ตูนเกย์ ญาณาธร บอกว่าหลังจากได้มีโอกาสสัมภาษณ์ Akiko Mizoguchi นักเขียนการ์ตูนเกย์ชื่อดังและแกนนำกลุ่มผู้หญิงที่ชื่นชอบการ์ตูนเกย์ในญี่ปุ่น เธอบอกว่า เธอเป็นเลสเบี้ยนและไม่ชอบผู้ชาย เพราะอ่านการ์ตูนเกย์ และโตมากับการ์ตูนเกย์ จนกระทั่งเป็นแกนนำเลสเบี้ยนในญี่ปุ่น ญาณาธร บอกว่า นี่อาจไม่ใช่ข้อสรุปว่า กลุ่มที่อ่านการ์ตูนเกย์จะมีรสนิยมทางเพศที่เปลี่ยนไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากหลายๆ ปัจจัย โดยในมิติของวัฒนธรรมญี่ปุ่นเองเรื่องเพศยังคงมีความลึกลับซับซ้อนอยู่มาก ผู้หญิงถูกกดดันจากภาวะทางครอบครัวและสังคม เนื่องจากผู้ชายญี่ปุ่นมีลักษณะของการเป็นบิสเนสแมน และมักไม่มีเวลาให้กับภรรยาของตน การที่ได้เฝ้ามองผู้ชายในจินตนาการเป็นการได้ปลดปล่อย ยิ่งหากเห็นผู้ชายเป็นผู้ถูกกระทำบ้างก็จะมีความรู้สึกเหนือกว่า นอกจากนี้อิทธิพลของการ์ตูนทำให้สาวๆ ญี่ปุ่นส่วนมากเห็นว่า เกย์เป็นผู้ชายในอุดมคติ ด้วยรูปร่างหน้าตาในการ์ตูนที่น่ารัก รูปร่างเพรียวบาง มีความเพียบพร้อม สวยงาม สะอาดสะอ้าน สามารถทำกิจกรรมที่ผู้หญิงชอบได้หลายอย่างไม่ว่าจะซื้อเครื่องสำอาง ชอปปิ้ง พาเดินเล่น และยังคงความสามารถในการดูแลปกป้องผู้หญิง จนอิทธิพลนี้ก็ระบาดมายังสาวๆ ในประเทศไทยด้วย "หลายคนสงสัยว่า "สาววาย" นี่เป็นยังไง กลุ่มสาววายก็เป็นผู้หญิงธรรมดาๆ มีรสนิยมทางเพศเช่นคนปกติ พวกเธอไม่ได้อยากครองคู่กับเกย์ หรืออ่านการ์ตูนแล้วนำไปเลียนแบบ พวกเธอเพียงแค่ชื่นชอบ ไม่ต่างกันกับการชื่นชอบของนักอ่านการ์ตูนกลุ่มอื่นๆ แต่ที่ต่างจากคนอื่นๆ คือ เรามีมุมมองที่ดีกับกลุ่มคนที่รักเพศเดียวกัน และมีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมเป็นกิจลักษณะ เหนียวแน่น" ญาณาธรอธิบาย อย่างไรก็ตาม กลุ่มชายรักชายตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เกย์ในการ์ตูนไม่ใช่เกย์ที่มีอยู่จริงๆ บนโลก เพราะเมื่อได้อ่านการ์ตูนประเภทนี้แล้ว เกย์ส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกว่า เกย์ไม่ใช่อย่างนั้น เกย์ไม่ได้โรแมนติกขนาดนี้ ดังนั้น เรื่องของความเป็นจริงปลีกย่อยในเนื้อเรื่องการ์ตูนเรื่องหนึ่งๆ นั้นหายากมาก สำหรับในมุมของผู้ผลิต ญาณาธร บอกว่า ส่วนมากผู้แต่งเรื่องชายรักชายจะเป็นผู้หญิง ส่วนผู้วาดการ์ตูนหญิงรักหญิงมักวาดโดยผู้ชาย ส่วนลักษณะการ์ตูนทั้งเนื้อเรื่องและลายเส้น จะมีความเป็นแฟนตาซี สวยงาม อ่อนโยน เป็นผู้ชายในอุดมคติของผู้หญิง แต่หากการ์ตูนชายรักชายวาดโดยเกย์นั้น พระเอกในเรื่องก็จะมีต้นแบบเป็นผู้ชายในอุดมคติเกย์เช่นเดียวกัน คือ มีลักษณะเป็นผู้ชายบึกบึน มีกล้าม แข็งแรง ผมสั้น และมีหนวดเครา ด้วยแง่มุมต่างๆ ที่น่าสนใจเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของการตั้งเป็นหัวข้อในการทำวิทยานิพนธ์ ญาณาธร สรุปว่า จริงๆ แล้วคนมองภาพการ์ตูนเป็นสิ่งไม่ดีไม่มีประโยชน์ เป็นสื่อลามกที่สอดแทรกภาพโป๊ โดยเฉพาะฉากการมีเพศสัมพันธ์ แต่ถ้าสังเกตพินิจพิเคราะห์ให้ดีจะเห็นว่าการ์ตูนเหล่านี้มีนัยที่แฝงมา โดยที่ผู้ศึกษาเรื่องความหลากหลายทางเพศเองก็ลืมจุดนี้ ทั้งๆ ที่มีผู้บริโภคอายุน้อยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นว่า นี่ไม่ถือว่าเป็นปัญหาของสังคมไทยแต่ถือว่าเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง และก็ไม่แปลกที่วัฒนธรรมการ์ตูนญี่ปุ่นจะเข้ามาสู่สังคมไทยเพราะประเทศไทยเป็นเมืองที่เปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติมาแต่โบราณแล้ว ต้องยอมรับว่า การ์ตูนของไทยมีสภาพอ่อนแอ แต่การ์ตูนญี่ปุ่นมีรากฐานที่แข็งแรง ปัจจุบันแม้แต่ในอเมริกา การ์ตูนญี่ปุ่นก็ครองใจเด็กอเมริกันได้ไม่ยาก "นี่เป็นเรื่องใหม่สำหรับคนรุ่นเรา ที่ไม่เคยอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นเพราะต่างกันเนื่องจากรุ่นเราโตมากับการ์ตูนไทยๆ ที่ขณะนี้ก็หายไปหมดแล้ว วัฒนธรรมญี่ปุ่นเองมีความเข้มแข็ง การเข้ามาเติบโตของการ์ตูนญี่ปุ่นในประเทศไทยจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ขณะนี้ก็ยังมีผู้ใหญ่ติดโดราเอมอน แต่ก็ต้องถือว่านี่เป็นวัฒนธรรมของชนชั้นกลางเท่านั้น ยังไม่ได้แพร่หลายไปในต่างจังหวัด หรือ ชนชั้นล่างที่การเข้าถึงหนังสือยังน้อยอยู่มาก ส่วนการ์ตูน Yaoi ที่แพร่หลายในเด็กบางกลุ่ม ก็มีส่วนในการเติมเต็มจินตนาการที่ขาดหายไป" รศ.ดร.กฤตยาทิ้งท้าย |
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น