ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ประวัติและความสำคัญของพระพุทธศาสนา

    ลำดับตอนที่ #5 : ความแตกต่างของหลักการพระพุทธศาสนากับหลักการทางวิทยาศาสตร์

    • อัปเดตล่าสุด 7 ม.ค. 53


    ความแตกต่างของหลักการพระพุทธศาสนากับหลักการทางวิทยาศาสตร์

    1. มุ่งเข้าใจปรากฎการณ์ทางธรรมชาติหลักการทางวิทยาศาสตร์มุ่งเข้าใจปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ต้องการรู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุ อะไรเป็นผลที่ตามมา เช่น เมื่อเกิดฟ้าผ่า ต้องรู้อะไรคือสาเหตุของฟ้าผ่า และผลที่ตามมาหลังจากฟ้าผ่าแล้วจะเป็นอย่างไร หลักการพระพุทธศาสนาก็มุ่งเข้าใจปรากฏการณ์ต่าง ๆ เช่นเดียวกัน แต่ต่างตรงที่ พระพุทธศาสนาเน้นเป็นพิเศษเกี่ยวกับวิถีชีวิตของมนุษย์มากกว่ากฎเกี่ยวกับสิ่งที่ไร้ชีวิต จุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาคือ สอนให้คนเป็นคนดีขึ้น พัฒนาขึ้น สมบูรณ์ขึ้น
    2. ต้องการเรียนรู้กฎธรรมชาติ หลักการทางวิทยาศาสตร์ต้องการเรียนรู้กฎธรรมชาติและหาทางควบคุมธรรมชาติ หรือเอาชนะธรรมชาติ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ วิทยาศาสตร์เน้นการควบคุมธรรมชาติภายนอกมุ่งแก้ปัญหาภายนอกวิทยาศาสตร์ถือว่าการพิสูจน์ทดลองทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่นำมาแสดงให้สาธารณชนประจักษ์ชัดเป็นหลักฐานยืนยันในสิ่งที่ค้นพบนั้นได้ จึงจะเป็นการยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์
    หลักการพระพุทธศาสนาเป็นการทดสอบความรู้สึกทุกข์ หรือไม่เป็นทุกข์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดในจิตใจเฉพาะตน ไม่สามารถตีแผ่ให้สาธารณชนประจักษ์ด้วยสายตา แต่พิสูจน์ทดลองได้ด้วยความรู้สึกในจิตใจ และหลักการพระพุทธศาสนาไม่ได้เน้นในเรื่องให้สาธารณชนยอมรับหรือไม่ยอมรับ มุ่งให้ศึกษาเข้าไปในจิตใจตนเอง แต่มุ่งแสวงหาความจริงจากทั้งภายนอกและภายในตัวมนุษย์อันเป็นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา ทางด้านจิตวิญญาณอันเป็นผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและต่อคุณภาพชีวิต สอนให้คนควบคุมภายในจิตใจตัวเอง ลำพังแต่ความสามารถที่ควบคุมธรรมชาติได้ ไม่อาจทำให้ความสงบสุขเกิดขึ้นในโลกมนุษย์ มนุษย์ต้องรู้จักควบคุมตนเอง ให้มีจิตใจดีงามด้วย สันติสุขที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้นได้ และสอนมนุษย์ดำรงชีวิตให้สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
    3. ยอมรับโลกแห่งสสาร (Matter) สสาร หมายถึง ธรรมชาติและสรรพสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่จริง รวมทั้งปรากฏการณ์และความเป็นจริงตามภาวะวิสัย (ObjectiveReality) ด้วย ซึ่งสรรพสิ่งเหล่านี้มีอยู่ต่างหากจากตัวเรา เป็นอิสระจากตัวเรา และเป็นสิ่งที่สะท้อนขึ้นในจิตสำนึกของคนเราเมื่อได้สัมผัสมัน อันทำให้ได้รับรู้ถึงความมีอยู่ของสิ่งนั้น ๆ กล่าวโดยทั่วไปแล้วสสารมีคุณลักษณะ 3 ประการคือ
    1) เคลื่อนไหว (Moving) อยู่เสมอ
    2) เปลี่ยนแปลง (Changing) อยู่เสมอ
    3) การเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลง ดังกล่าวนั้น มิใช่เป็นการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างส่งเดช แต่หากเป็นการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างมีกฎเกณฑ์ที่เรียกกันว่า กฎแห่งธรรมชาติ (Laws of Natires)

    วิทยาศาสตร์ยอมรับโลกแห่งสสารซึ่งเทียบได้กับ “รูปธรรม” ในความหมายของพระพุทธศาสนา อันหมายถึงสิ่งที่มีอยู่จริงทางภาววิสัย ที่อวัยวะสัมผัสของมนุษย์สัมผัสได้ วิทยาศาสตร์มุ่งศึกษาด้านสสารและพลังงาน ยอมรับโลกแห่งสสาร ที่รับรู้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ว่ามีจริง โลกที่อยู่พ้นจากนั้น วิทยาศาสตร์ไม่ยอมรับ ส่วนแนวคิดทางพระพุทธศาสนานี้ ชี้ว่าสัจธรรมสูงสุด (นิพพาน) ซึ่งเป็นสภาวะที่ประสาทสัมผัสของมนุษย์ปุถุชนที่เต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา ไม่สามารถรับรู้ได้ พระพุทธศาสนาแบ่งสิ่งที่มีอยู่จริงของสองพวกใหญ่ ๆ คือ “สังขตธรรม” (สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง) ได้แก่ สสารและ “อสังขตธรรม” (สิ่งที่ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง) คือ นิพพาน วิทยาศาสตร์ยอมรับว่าสังขตธรรมมีจริง แต่อสังขตธรรมอยู่เหนือการรับรู้ของวิทยาศาสตร์

    สัจธรรมในพระพุทธศาสนานั้นมีทั้งที่สามารถแสดงให้เห็นประจักษ์เป็นสาธารณะได้และไม่สามารถแสดงให้ประจักษ์เป็นสาธารณะได้ แต่แสดงโดยการประจักษ์ในตนเองได้ (หมายถึงมีทั้งที่สามารถรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส และรับรู้ด้วยใจ) ความจริงระดับต้น ๆ และระดับกลาง ๆ ใคร ๆ ก็อาจเข้าใจและเห็นจริงได้ เช่น คนโลภมาก ๆ อิจฉามาก ๆ ไม่มีความสงบสุขแห่งจิตใจอย่างไรบ้าง คนที่มีเมตตา ไม่ปรารถนาร้ายต่อใคร ๆ มีความสุข ไม่มีเวร ไม่มีภัย อย่างไรบ้าง ความจริงเหล่านี้ ล้วนสามารถแสดงให้ประจักษ์ได้ ชี้ให้ดูตัวอย่างได้ แต่ปรมัตถธรรม อันสูงสุดนั้นผู้ที่ได้พบแล้วยากจะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ เป็นสภาวะที่ผู้รู้เอง เห็นเอง จะพึงประจักษ์เฉพาะตัว

    4. มุ่งความจริงมาตีแผ่ วิทยาศาสตร์นั้นแสวงหาความรู้จากธรรมชาติและจากกฎธรรมชาติที่มีอยู่ภายนอกตัวมนุษย์ (มุ่งเน้นทางวัตถุหรือสสาร) ไม่ได้สนใจเรื่องศีลธรรม เรื่องความดีความชั่ว สนใจเพียงค้นคว้าเอาความจริงมาตีแผ่ให้ประจักษ์เพียงด้านเดียว เช่น วิทยาศาสตร์พบเรื่องการระเบิด แต่ควรระเบิดอะไร ไม่ควรระเบิดอะไร ไม่อยู่ในขอบข่ายของวิทยาศาสตร์ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์จึงมีทั้งคุณอนันต์และมีโทษมหันต์ กระบวนการผลิตทางวิทยาศาสตร์ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คำสอนทางพระพุทธศาสนานั้น เน้นเรื่องศีลธรรม ความดีความชั่ว มุ่งให้มนุษย์มีความสุข เป็นลำดับขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงความสงบสุข อันสูงสุดคือนิพพาน ฉะนั้นกระบวนการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาจึงส่งเสริมให้มนุษย์อนุรักษ์ธรรมชาติ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม


    คำสอนทางพระพุทธศาสนานั้น เน้นเรื่องศีลธรรม ความดีความชั่ว มุ่งให้มนุษย์มีความสุข เป็นลำดับขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงความ
    สงบสุข อันสูงสุดคือนิพพาน ฉะนั้นกระบวนการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาจึงส่งเสริมให้มนุษย์อนุรักษ์ธรรมชาติ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

    การฝึกหัดอบรมตน

    การพึ่งตนเอง
    การพึ่งตนเอง หมายถึง การทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนได้ พร้อมที่จะรับผิดชอบตนเอง ไม่ทำตัวให้เป็นปัญหาหรือเป็นภาระให้กับบุคคลอื่น การพึ่งตนเองโดยไม่คอยแต่พึ่งบุคคลอื่น หรือการคอยอ้อนวอนจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ให้ช่วยเหลือตนเอง เวลาที่เกิดความลำบาก หรือความทุกข์ใจ เป็นต้น การประพฤติธรรมสำหรับสร้างที่พึ่งแก่ตนเอง มี 10 ประการคือ
    1. ประพฤติดีมีวินัย คือ ดำเนินชีวิตโดยสุจริต ทั้งทางกาย ทางวาจา มีวินัย และประกอบอาชีพสุจรติ (สัมมาชีพ)
    2. ได้ศึกษาสดับตรับฟังมาก คือศึกษาเล่าเรียนสดับตรับฟังมาก โดยศึกษาวิชาการให้มีความรู้ความชำนาญอย่างแท้จริง มีความรู้แจ้งชัดเจน และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในดำเนินชีวิตได้
    3. รู้จักคบคนดี คือ มีกัลยาณมิตร รู้จักเลือกคบหาสมาคมกับคนที่ดี เป็นที่ปรึกษาหรือเป็นผู้แนะนำสั่งสอนเราไปในทางที่ดี เลือกสร้างความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องในสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี ซึ่งจะทำให้มีชีวิตที่เจริญงอกงาม
    4. เป็นคนที่พูดกันง่าย คือไม่ดื้อรั้น เป็นคนกระด้างกระเดื่อง รู้จักรับฟังเหตุผล ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น และยอมรับข้อเสนอแนะพร้อมที่จะปรับปรุงตนเอง
    5. ขวนขวายกิจของหมู่ คือเอาใจใส่ช่วยเหลือธุระหรือกิจการงานของหมู่คณะ ญาติ เพื่อนฝูง และภายในชุมชนของตนเอง รู้ใจใช้ปัญญาไตร่ตรองหาวิธีดำเนินงานที่เหมาะสม สามารถดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
    6. เป็นผู้ใฝ่ในธรรม คือ ศึกษาธรรม หรือชอบศึกษาหาความรู้ รู้จักพูด รู้จักฟัง สร้างความรู้สึกสนิทสนม ทำตัวเป็นที่รักใคร่ของบุคคลอื่น และชวนให้ผู้อื่นอยากเข้ามาปรึกษาและร่วมสนทนาด้วย
    7. มีความขยันหมั่นเพียร คือ มีความมุมานะบากบั่น ขยันเรียนขยันทำกิจการงาน ไม่ย่อท้อ รักความก้าวหน้า พยายามหลีกเลี่ยงจากความชั่ว ประกอบแต่ความดีงาม เป็นต้น
    8. มีความพอดี คือ มีความยินดี มีความพึงพอใจในสิ่งที่ควรได้และไม่ควรได้ รู้จักความพอดีไม่ละโมบโลภมาก
    9. มีสติมั่นคง คือ รู้สึกตนเองอยู่ตลอดเวลา ระลึกอยู่เสมอในสิ่งที่กระทำ สิ่งที่คิด มีความสุขุมรอบคอบ ไม่ประมาทเลินเล่อ ไม่เลื่อนลอย เป็นต้น
    10. มีปัญญาอยู่เหนืออารมณ์ คือ มีปัญญาหยั่งรู้เหตุผล รู้ดีรู้ชั่ว รู้คุณรู้โทษ รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ มองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง และมีความคิดวิจารณญาณ

    การพึ่งตนเองตามหลักพุทธศาสนสุภาษิตคือ “อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ” แปลว่า ตนแลเป็นที่พึ่งของตน หมายความว่า คนเราในระยะแรก ๆ มีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น เช่น บุตรต้องอาศัยบิดามารดาเป็นผู้เลี้ยงดูตั้งแต่เล็กจนโต ต้องอาศัยครูบาอาจารย์ศึกษาหาความรู้ แต่เมื่อเราเติบโตมีวิชาหาเลี้ยงชีพได้แล้ว เราจะต้องพึ่งตนเองในการทำมาหากิน ในการสร้างฐานะ และในการเก็บรักษาทรัพย์ที่หามาได้เพื่อจับจ่ายใช้สอยในยามแก่เฒ่า นอกจากจะต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตนแล้ว เราก็จะต้องให้ผู้มีพระคุณมีบิดามารดาเป็นต้น เหล่านั้นพึ่งเราได้ในสิ่งที่ท่านต้องการจะพึ่ง

    คนที่บิดามารดาเลี้ยงจนโตแล้ว ส่งเสียให้เรียนจนมีวิชาความรู้แล้ว ยังอาศัยแรงงานของบิดามารดาเลี้ยงชีวิตต่อไป จัดเป็นบุคคลที่เปล่าประโยชน์ นอกจากเป็นที่พึ่งแก่ตนเองไม่ได้แล้วยังทำตนให้เป็นภาระแก่ผู้อื่นด้วย ดังนั้น บุคคลผู้มีปัญญาพึงรีบสร้างฐานะเพื่อเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง

    การคิดตามนัยแห่งพระพุทธศาสนากับการคิดแบบวิทยาศาสตร์


    การคิดตามนัยแห่งพระพุทธศาสนา การคิดตามนัยแห่งพระพุทธศาสนา เป็นการศึกษาถึงวิธีการแก้ปัญหาตามแนวพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า วิธีการแก้ปัญหาแบบอริยสัจ มีดังนี้คือ (พระราชวรมุนี. 2540 : 43-46)
    1. ขั้นกำหนดรู้ทุกข การกำหนดรู้ทุกข์หรือการกำหนดปัญหาว่าคืออะไร มีขอบเขตของปัญหาแค่ไหน หน้าที่ที่ควรทำในขั้นแรกคือให้เผชิญหน้ากับปัญหา แล้วกำหนดรู้สภาพและขอบเขตของปัญหานั้นให้ได้ ข้อสำคัญคือ อย่าหลบปัญหาหรือคิดว่าปัญหาจะหมดไปเองโดยที่เราไม่ต้องทำอะไร หน้าที่ในขั้นนี้เหมือนกับการที่หมอตรวจอาการของคนไข้เพื่อให้รู้ว่าเป็นโรคอะไร ที่ส่วนไหนของร่างกาย ลุกลามไปมากน้อยเพียงใด ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มีตัวอย่างการกำหนดรู้ทุกข์ตามแนวทางของพุทธพจน์ที่ว่า “เกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์…ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นเป็นทุกข์”
    2. ขั้นสืบสาวสมุทัย ได้แก่เหตุของทุกข์หรือสาเหตุของปัญหา แล้วกำจัดให้หมดไป ขั้นนี้เหมือนกับหมอวินิจฉัยสมุฏฐานของโรคก่อนลงมือรักษา ตัวอย่างสาเหตุของปัญหาที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้คือ ตัณหา ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
    3. ขั้นนิโรธ ได้แก่ความดับทุกข์ หรือสภาพที่ไร้ปัญหา ซึ่งทำให้สำเร็จเป็นจริงขึ้นมา ในขั้นนี้ต้องตั้งสมมติฐานว่าสภาพไร้ปัญหานั้นคืออะไร เข้าถึงได้หรือไม่ โดยวิธีใด เหมือกับการที่หมอต้องคาดว่าโรคนี้รักษาให้หายขาดได้หรือไม่ ใช้เวลารักษานานเท่าไร ตัวอย่างเช่น นิพพาน คือ
    การดับทุกข์ทั้งปวงเป็นสิ่งที่เราสามารถบรรลุถึงได้ในชาตินี้ด้วยการเจริญสติพัฒนาปัญญาเพื่อตัดอวิชชา และดับตัณหา
    4. ขั้นเจริญมรรค ได้แก่ ทางดับทุกข์ หรือวิธีแก้ปัญหา ซึ่งเรามีหน้าที่ลงมือทำ เหมือนกับที่หมอลงมือรักษาคนไข้ด้วยวิธีการและขั้นตอนที่เหมาะควรแก่การรักษาโรคนั้น ขั้นนี้อาจแบ่งออกเป็น 3 ขั้นย่อยคือ
    4.1 มรรคขั้นที่ 1 เป็นการแสวงหาและทดลองใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อค้นหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุด เช่น พระพุทธเจ้าในช่วงที่เป็นคฤหัสถ์เคยใช้ชีวิตแบบบำรุงบำเรอตน หมกหมุ่นในโลกีย์สุข แต่ก็ทรงรู้สึกเบื่อหน่าย จึงออกผนวชแล้วไปบำเพ็ยโยคะบรรลุสมาธิขั้นสูงสุดจากสำนักของอาฬารดาบสและอุทกดาบส แม้ในขั้นนี้พระองค์ยังรู้สึกว่าไม่บรรลุความพ้นทุกข์จึงทดลองฝึกการทรมานตนด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การอดอาหาร เป็นต้น
    4.2 มรรคขั้นที่ 2 เป็นการวิเคราะห์ผลการสังเกตและทดลองที่ได้ปฏิบัติมาแล้ว เลือกเฉพาะวิธีการที่เหมาะสมที่สุด ดังกรณีที่พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่า กามสุขัลลิกานุโยค (การบำเรอตนด้วยกาม) และอัตตกิลมถานุโยค (การทรมานตนเอง) ที่ได้ทดลองมาแล้ว ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง เพราะเป็นเรื่องสุดโต่งเกินไป ทั้งการบำเพ็ญโยคะก็ทำให้ได้เพียงสมาธิ ยังไม่ได้ปัญญาเครื่องดับทุกข์ ดังนั้นวิธีการแห่งปัญญาจะสามารถช่วยให้พ้นทุกข์ได้
    4.3 มรรคขั้นที่ 3 เป็นการสรุปผลของการสังเกตและทดลอง เพื่อให้ได้ความจริงเกี่ยวกับเรื่องนั้น ดังกรณีที่พระพุทธเจ้าได้ข้อสรุปว่า ทางสายกลางที่ไม่ตึงเกินไปหรือไม่หย่อนเกิน เป็นทางดับทุกข์ ทางนี้เป็นวิถีแห่งปัญญาที่เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) สรุปก็คือมรรคมีองค์ 8 นั่นเองแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์

    สรุปและวิเคราะห์พุทธประวัติด้านวิธีการสอนและการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามแนวพุทธจริยา


    หลักการสอนของพระพุทธเจ้า
    การสอน คือกรรมวิธีสำหรับเร้าให้ผู้เรียนเกิดความรู้ในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับต่ำสุดถึงสูงสุด การสอนที่จะมีผลดีนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น สติปัญญาและความเอาใจใส่ของนักเรียน ความรู้ความสามารถและความเอาใจใส่ของครู ตลอดถึงวิธีการสอนที่ดี พระพุทธเจ้าทรงเป็นครูชั้นยอดพระองค์หนึ่ง ทรงสามารถสอนให้คนเกิดความรู้ถึงขั้นวิชชุญาณและสัมโพธิญาณได้ด้วยการพูดธรรมดา และสามารถให้ผู้ฟังรู้ถึงขั้นอริยะสัจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงถึงขั้นจากปุถุชนเป็นอริยบุคคลได้ การศึกษาถึงคุณสมบัติและวิธีการสอนของพระพุทธเจ้าจึงเท่ากับเป็นการศึกษาถึงวิธีสอนตามหลักพุทธศาสตร์ และสามารถนำหลักการบางอย่างมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบันได้ (แสง จันทร์งาม. 2526 : 22–24)
    หลักการสอนของพระพุทธเจ้า นั้น พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) และ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ได้สรุปแบ่งเนื้อหาเป็น ๓ หมวด ดังนี้
    1. เกี่ยวกับเนื้อหาหรือเรื่องที่สอน

    เรื่องที่จะทำการสอนมีความสำคัญอย่างยิ่ง คนที่จะสอนคนอื่นต้องรู้ว่าจะเอาเรื่องอะไรมาสอน ต้องรู้เนื้อหาหรือเรื่องที่จะสอนให้เข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งก่อน และต้องคิดก่อนว่าจะเอาอะไรไปสอนในข้อนี้ ผู้สอนควรได้คำนึงถึงหลักการสอนของพระพุทธเจ้า และนำมาเป็นแนวทางในการสอนได้ ดังนี้

    1. สอนจากสิ่งที่รู้ที่เห็นเข้าใจง่ายหรือรู้เห็นเข้าใจแล้วไปหาสิ่งที่เห็นเข้าใจได้ยาก เนื้อหาต้องเป็นเนื้อหาที่คนฟังเข้าใจง่ายหรือเข้าใจดีอยู่แล้ว ค่อยโยงไปหาเนื้อหาที่เข้าใจยากหรือยังไม่เข้าใจตามลำดับ เช่น การสอนตามหลักอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ เหตุให้ทุกข์เกิด ความดับทุกข์ หนทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
    2. สอนเนื้อหาที่ลุ่มลึกลงไปตามลำดับ หรือสอนเนื้อเรื่องที่ค่อยลุ่มลึกยากลงไปตามลำดับชั้น และความต่อเนื่องกันเป็นสายลงไป เช่น การสอนตามหลักอนุบุพพีกถา ซึ่งมีเนื้อหาเจาะลึกลงตามลำดับ คือ ทานกถา พูดเรื่องทาน สีล กถา พูดเรื่องศีล สัคคกถา พูดเรื่องสวรรค์ กามาทีนวกถา พูดเรื่องโทษของกาม เนกขัมมกถา พูดเรื่องการออกจากกาม
    3. ถ้าสิ่งที่สอนเป็นสิ่งที่แสดงได้ ก็สอนด้วยของจริง ให้ผู้เรียนได้ดู ได้เห็น ได้ฟังหรือได้ทดลองปฏิบัติจริง อย่างที่เรียกว่าสอนด้วยประสบการณ์ตรง
    4. สอนตรงเนื้อหา ตรงเรื่อง ตรงประเด็น คุมอยู่ในเรื่อง มีจุด ไม่วกวน ไม่ไขว้เขว ไม่ออกนอกเรื่องโดยไม่มีอะไรเกี่ยวข้องในเนื้อหา หรือที่เรียกว่าสอนตรงเนื้อหานั่นเอง
    5. สอนมีเหตุผล ตรองตามเห็นจริงได้
    6. สอนเท่าที่จำเป็นพอดีสำหรับให้เกิดความเข้าใจ ให้การเรียนรู้ได้ผล ไม่ใช่สอนเท่าที่ตนรู้ หรือสอนแสดงภูมิว่าผู้สอนมีความรู้มาก
    7. สอนสิ่งที่มีความหมาย ควรที่เขาจะเรียนรู้และเข้าใจ เป็นประโยชน์แก่ตัวเขาเอง และการสอนสิ่งที่มีความหมายนั้น เห็นควรเทียบเคียงกับพระพุทธดำรัสของพระพุทธเจ้า ๖ ประการ ดังนี้
    (1) วาจาใดไม่จริงไม่ถูกต้อง, ไม่เป็นประโยชน์, ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น, พระองค์ไม่ตรัสวาจานั้น
    (2) วาจาใดจริงถูกต้อง, แต่ไม่เป็นประโยชน์, ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น, พระองค์ไม่ตรัสวาจานั้น
    (3) วาจาใดจริงถูกต้อง, เป็นประโยชน์, เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น,พระองค์เลือกตรัสวาจานั้น
    (4) วาจาใดไม่จริงไม่ถูกต้อง, ไม่เป็นประโยชน์, ถึงเป็นที่ชอบใจของผู้อื่น, พระองค์ไม่ตรัสวาจานั้น
    (5) วาจาใดจริงถูกต้อง, แต่ไม่เป็นประโยชน์, ถึงจะเป็นที่ชอบใจของผู้อื่น, พระองค์ไม่ตรัสวาจานั้น
    (6) วาจาใดจริงถูกต้อง, เป็นประโยชน์, เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น,พระองค์เลือกกาลตรัสวาจานั้น (เสฐียรพงษ์ วรรณปก. 2542 : 62–63


    การฝึกอบรมตน หมายถึง การฝึกตนเองให้กระทำความดีทั้งทางกาย วาจา และใจ ซึ่งถือว่าเป็นผู้พัฒนาตนเอง ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อตนเอง ครอบครัว และสังคมโดยรวม โดยอาศัยหลักของไตรสิกขาดังนี้
    1. ศีล เป็นการฝึกการควบคุมพฤติกรรมทางกาย และวาจา เครื่องมือที่ใช้ฝึกศีลคือ วินัย เพราะวินัยเป็นตัวการจัดเตรียมชีวิตให้อยู่ในสภาพที่เอื้อต่อการพัฒนา โดยการจัดระเบียบความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิต และการอยู่ร่วมกันในสังคม
    2. สมาธิ เป็นการฝึกในด้านจิต ได้แก่การพัฒนาจิตทั้งในด้านคุณธรรม เช่น มีความเมตตากรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีจิตใจที่เข้มแข็งมั่นคง มีความเพียรพยายาม มีความรับผิดชอบ มีความอดทนอดกลั้น มีความข่มใจ เป็นต้น และมีสุขภาพจิตที่ดีมีความสุข เช่น มีความอิ่มเอมใจ มีความร่าเริงเบิกบานใจ มีความสดชื่นผ่องใส มีความรู้สึกพึงพอใจ เป็นต้น
    3. ปัญญา เป็นการฝึกพัฒนาด้านความรู้ความเข้าใจ ความรู้ที่มีเหตุผล รู้จักการคิดวิเคราะห์ การสังเคราะห์ ตลอดจนรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก เป็นต้น

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×