ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    พฤษภาทมิฬ ความจริงที่ไม่อาจลืม

    ลำดับตอนที่ #26 : มอเตอร์ไซค์พิทักษ์ประชาธิปไตย

    • อัปเดตล่าสุด 13 มิ.ย. 50


    มอเตอร์ไซค์พิทักษ์ประชาธิปไตย

              หลังเที่ยงคืน ฝูงชนที่ถนนราชดำเนินเริ่มบางตา แต่ยังรวมกลุ่มกันอยู่เป็นกระจุก ๆ รอบสนามหลวง ตามอาคารและซอกซอยต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็มีรถจักรยานยนต์จับกลุ่มวิ่งไปตามถนนสายต่าง ๆ กลุ่มละ 60 คันบ้าง 70 คันบ้าง รายงานจากบางแหล่งอ้างว่าบางกลุ่มมีรถจักรยานยนต์ถึง 500 คัน

             กลุ่มรถจักรยานยนต์เข้าทำลายสัญญาณไฟจราจรตามสี่แยก ป้อมยาม ป้อมตำรวจ ถูกทุบเสียหาย บางแห่งก็ถูกเผา โดยเฉพาะสถานีตำรวจจะเป็นจุดที่กลุ่มรถจักรยานยนต์เล็งเป็นเป้าหมายของ การแก้แค้นแทนฝูงชนที่ถูกสังหารบริเวณราชดำเนิน

             เส้นทางของกลุ่มรถจักรยานยนต์นั้นมีตลอดทั่วทั้งกรุง เช่น ถนนพระรามสี่ สะพานขาว เยาวราช ราชวงศ์ สถานีหัวลำโพง ท่าพระ ฯลฯ สร้างความวุ่นวายราวเกิดสงครามกลางเมืองด้วยการปฏิบัติการดั้งหน่วยรบเคลื่อนที่ แต่นอกจากการทำลายข้าวของราชการแล้ว พวกเขายังชักชวนผู้คนตามท้องถนนให้ไปร่วมต่อสู้ที่สนามหลวงด้วย นอกจากนั้นมอเตอร์ไซค์บางคันยังถูกใช้เป็นพาหนะ ช่วยพาผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลได้ทันเวลา เนื่องจากรถพยาบาลถูกทหารปิดกั้นไม่ให้วิ่งผ่าน จากบทบาทเหล่านี้ จึงเกิดศัพท์เรียกกลุ่มนี้ว่า "ขบวนการมอเตอร์ไซค์"

             แม้ว่าบทบาทของขบวนการมอเตอร์ไซค์กำลังจะทำให้ผู้ชุมนุมมีโอกาสตอบโต้การกระทำของรัฐบาลมากขึ้น แต่ขบวนการมอเตอร์ไซค์ก็ทำให้สถานการณ์อันยากเกินความควบคุมนี้ได้ก่อให้เกิด "หน่วยไล่ล่า" ซึ่งเป็นชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว ออกไล่ล่าสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์จนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก

             พล.ต.ท. ณรงค์ เหรียญทอง รักษาการผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึงการออกปฏิบัติการของ "หน่วยไล่ล่า" ของกองบัญชาการตำรวจนครบาลว่าเป็นเพียงสายตรวจธรรมดาซึ่งมีหน้าที่ดูแลประชาชนและออกไปปราบปรามผู้กระทำผิดเท่านั้น หน่วยไล่ล่าชุดนี้จะแต่งเครื่องแบบ นั่งรถยนต์ตำรวจ มีอาวุธปืนแต่เน้นให้ยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อขู่เท่านั้น

             จากคำให้สัมภาษณ์ของตำรวจและผู้อยู่ในเหตุการณ์พบว่า "หน่วยไล่ล่า" มีมากกว่าหนึ่งชุด โดยอีกชุดหนึ่งเป็นของฝ่ายทหารร่วมกับตำรวจ โดยใช้รถของ 191 ในการปฏิบัติการ และสันนิษฐานว่า "หน่วยไล่ล่า" ที่ออกสังหารประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ห่างไกลจากการชุมนุม คือ ชุดปฏิบัติการร่วมระหว่างทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ

            การปฏิบัติการของ "หน่วยไล่ล่า" เริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 22.00 น. ของวันที่ 18 พฤษภาคม ไปจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม โดยพื้นปฏิบัติการได้กระจายไปทั่วกรุงเทพฯ มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อสังเวย "หน่วยไล่ล่า" ครั้งนี้ตั้งแต่ฝั่งพระนครบริเวณสะพานขาว ไปจนถึงฝั่งธนบุรี ตั้งแต่โรงพยาบาลพระปิ่นเกล้า (โรงพยาบาลทหารเรือ ตลาดพลู บุคคโล )ไปจนถึงถนนสาธร

            ด้วยความคล่องตัวของรถจักรยานยนต์  ทำให้กำลังตำรวจไม่สามารถจัดการกลุ่มรถจักรยานยนต์พิทักษ์ประชาธิปไตยได้อย่างเด็ดขาดในคืนนั้น และขบวนการมอเตอร์ไซค์ก็ได้พลิกสถานการณ์ให้เห็นว่า การล้อมฆ่าที่กรมประชาสัมพันธ์ไม่อาจหยุดยั้งการต่อสู้ของประชาชนได้เลย

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×