คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #23 : ๑๑ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๓๕
๑๑ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๓๕
ห้าพรรค หลอกอีกแล้ว / หลังจากการชุมนุมของประชาชนยุติลงห้าพรรครัฐบาลก็มีท่าทีเปลี่ยนไป นายมนตรีกล่าวว่าการประชุมวันที่ ๙ นั้นไม่ใช่มติพรรคต้องนำเข้าที่ประชุมพรรคก่อน นายบรรหาร ศิลปอาชา เลขาธิการพรรคชาติไทยได้กล่าวหาว่า นายอาทิตย์กระทำการโดยพลการ และบอกว่าที่ทำไปเพื่อลดแรงกดดัน จนนายอาทิตย์ต้องออกมาประกาศว่า ได้ทำหน้าที่อย่างถึงที่สุดแล้ว และจะเกิดอะไรขึ้นเกินกว่าที่ตนจะผลักดันใด ๆ ได้
นอกจากนี้ทั้งห้าพรรค ยังมีท่าทีที่จะถ่วงเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป โดยอ้างว่าต้องไปปรึกษากับ ส.ส. ในพรรคก่อน ไม่สามารถยื่นหนังสือขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทันวันที่ ๑๕ นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมบอกว่าต้องมีบทเฉพาะกาลสองปี นายมนตรีบอกว่าจะให้เริ่มมีผลบังคับใช้ในรัฐบาลหน้าส่วนนายสมัครบอกว่า นายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง
การพลิกลิ้นของพรรคฝ่ายรัฐบาลครั้งนี้คาดว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมที่ท้องสนามหลวงในวันที่ ๑๗ พฤษภาคมเป็นจำนวนมาก
ฉลาดขออดจนตาย ถ้าสุจินดาไม่ลาออก
แม้ว่าทาง พล.ต. จำลองจะประกาศเลิกอดอาหารแล้ว แต่ ร.ต. ฉลาดยังยืนยันที่จะอดอาหารประท้วงต่อไป เพราะไม่เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จ โดยย้ายมาอยู่ที่หน้ารัฐสภาและประกาศว่า ถ้า พล.อ. สุจินดา ไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ภายในวันที่ ๒๕ จะขออดทั้งอาหารและน้ำจนกว่าจะตาย
จัดคอนเสิร์ตกัดม็อบ
ได้มีความพยายามจะไม่ให้เกิดการชุมนุมของประชาชนวันที่ ๑๗ กระทรวงมหาดไทยสั่งการให้ผู้ว่า ทุกจังหวัดดูแลไม่ให้เกิดการชุมนุมคัดค้าน โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ มีการสั่งห้ามผู้ว่าฯ กทม. ไม่ให้สนับสนุนการชุมนุม เช่น ห้ามบริการสุขาเคลื่อนที่ ในตอนท้ายแม้ว่านายกฯ จะอนุญาต แต่ปรากฏว่าฝ่ายทหารได้นำรถไปใช้และยังไม่ได้นำส่งคืน กทม. นอกจากนี้ในวันที่ ๑๕ มีปรากฏการณ์หนึ่งเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ คือมีประชาชนไปรวมกันที่หน้าศาลากลางของแต่ละจังหวัด พร้อมชูป้ายสนับสนุน พล.อ. สุจินดาเป็นนายกฯ เช่น “แล้งไม่ว่า ให้สุจินดาเป็นนายกฯ”
ความพนายามอีกประการหนึ่งก็คือ การจัดคอนเสิร์ต “รวมใจต้านภัยแล้ง” ที่สนามกีฬากองทัพบก ซึ่งถูกจัดขึ้นอย่างฉุกละหุกในวันและเวลาเดียวกันกับการชุมนุมของประชาชนที่ท้องสนามหลวง
ประกาศตั้งสมาพันธ์ประชาธิปไตย
หลังจากยุติการชุมนุมชั่วคราว บรรดาแกนนำได้นำประชุมร่วมกันเพื่อปรึกษาและสรุปบทเรียนที่ผ่านมาในวันที่ ๑๔ พ.ค. ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ เนื่องจากพบว่าการชุมนุมในช่วงแรก(๔-๑๑ พ.ค.) นั้นแกนนำขาดความเป็นเอกภาพมีความแตกต่างทางแนวคิดและไม่สามารถหาข้อยุติได้ด้วยขาดองค์กรนำ ที่ประชุมจึงลงมติจัดตั้งสมาพันธ์ประชาธิปไตยขึ้น ประกอบด้วยกรรมการเจ็ดคน คือ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง นายปริญญา เทวนฤมิตรกุล น.พ. เหวง โตจิราการ น.พ. สันต์ หัตถีรัตน์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ และร.ต. ฉลาด วรฉัตร (ภายหลังได้ถอนตัว และให้ น.ส. จิตราวดีเป็นแทน) นอกจากนี้ยังได้ออกแถลงการณ์ ใบปลิว ชักชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมในเย็นวันที่ ๑๗ ด้วย
กิจกรรมในช่วงนี้ได้แก่ การเผาหุ่นสุจินดาในวันที่ ๑๒ การอภิปรายที่ธรรมศาสตร์วันที่ ๑๓ การแสดงของศิลปินที่สวนจตุจักรในวันที่ ๑๕ รวมทั้งการเข้าร่วมกิจกรรมวันวิสาขบูชาในวันที่ ๑๖ เป็นที่น่าสังเกตว่าเพลงของนักดนตรีที่เข้าร่วมในงานวันที่ ๑๕ ที่สวนจตุจักร ต่างถูกห้ามเปิดตามสถานีวิทยุของทหาร
ความคิดเห็น