คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #2 : แนะหมั่นออกกำลังกาย แก้ปัญหา"เด็กอ้วน"นอนกรน
เด็กอ้วนนอกจากเสี่ยงกับสารพัดโรคแล้ว ส่วนใหญ่มักจะนอนกรนด้วย ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจขณะหลับตามมา แต่ถ้าหมั่นออกกำลังกายจะช่วยแก้ปัญหาทางสุขภาพข้อนี้ได้
แพทย์หญิงแคเธอรีนแอล เดวิส จากวิทยาลัยแพทย์จอร์เจียในเมืองออกัสตา สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า การนอนกรนมักจะมากับปัญหาคุณภาพในการนอนต่ำ และนำไปสู่ปัญหาในการเรียนรู้และพฤติกรรม ซึ่งมักจะถูกทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นอาการของโรคสมาธิสั้น
นอกจากนั้น ยิ่งเมื่อแพทย์สั่งจ่ายยากระตุ้นประสาทสำหรับรักษาโรคสมาธิสั้น เช่น ไรตานิน จะยิ่งทำให้การนอนกรนเป็นหนักเข้าไปอีก ทั้งนี้นอกจากจะพบว่าโรคอ้วนทำให้เกิดการนอนกรนได้มากแล้ว ยังพบว่าปัญหาในการนอนหลับยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกินอีกด้วย
ทีมของเดวิสจึงศึกษาเพื่อดูว่าการออกกำลังกายจะสามารถลดปัญหาการหายใจผิดปกติอันเนื่องมาจากปัญหาการนอนในหมู่เด็กโรคอ้วนได้หรือไม่ โดยวิธีการทดดลองนั้น ทีมผู้วิจัยได้ลองสุ่มให้เด็กที่เป็นโรคอ้วนจำนวน 100 คน ออกกำลังกายใน 3 ลักษณะ โดยเด็กที่เข้าร่วมการทดลองมีอายุระหว่าง 7 ถึง 11 ปี
การออกกำลังกายลักษณะแรกเรียกว่า "ไฮโดส" หรือปริมาณสูง กล่าวคือให้ออกกำลังกาย 40 นาที เป็นประจำทุกวันที่ไปโรงเรียน
ลักษณะที่ 2 คือ "โลว์โดส" หรือปริมาณต่ำ 20 นาที และแบบที่ 3 กลุ่มควบคุม คือไม่ต้องออกกำลังกายเพิ่มเติมเลย
การออกกำลังกายที่ว่านี้ประกอบไปด้วยเกมกีฬาอย่างเช่นบาสเกตบอลและการเล่นไล่จับ แต่ที่พิเศษและต่างไปจากการออกกำลังกายในชั้นเรียนพลศึกษาคือให้เด็กทุกคนได้เคลื่อนไหวร่างกายตลอดเกม แทนที่จะหยุดรอรับลูกบอล
ในช่วงแรกๆ ของการทดลองผู้ปกครองของเด็กเหล่านี้จำนวน 1 ใน 4 รายงานว่าลูกของตัวเองมีอาการนอนกรนและไม่มีสมาธิในลักษณะที่ถือว่าเป็นปัญหาทางสุขภาพ และมีเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ที่พบว่ามีปัญหาในการหายใจขณะนอนหลับ
จนถึงตอนท้ายของโปรแกรมทดลองพบว่า จำนวนครึ่งหนึ่งของเด็กอ้วนที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มออกกำลังกายทั้งสองกลุ่มแรกหายกรนอย่างสนิท และพบด้วยว่า กลุ่มที่ออกกำลังกายในปริมาณสูงได้ผลมากกว่ากลุ่มที่ออกกำลังกายปริมาณต่ำ
อย่างไรก็ตาม เดวิสย้ำว่า การออกกำลังกายเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับการลดน้ำหนัก แต่เพียงแค่ทำให้ร่างกายฟิตขึ้นเท่านั้น
ส่วนเหตุผลที่ว่า ทำไมการออกกำลังกายในการทดลองนี้จึงทำให้เด็กหายนอนกรนได้นั้น มีความเป็นไปได้ว่าการออกกำลังกายทำให้ไขมันที่อยู่รอบๆ คอซึ่งขัดขวางทางเดินหายใจและเป็นสาเหตุของการกรนขณะนอนหลับมีจำนวนลดน้อยลง
นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังทำให้การเผาผลาญพลังงานดีขึ้น ส่งผลดีต่อทั้งระบบประสาทและกล้ามเนื้อ รวมถึงส่งผลดีต่อการรักษาทางเดินหายใจ และในชีวิตจริง เด็กอ้วนที่ต้องการออกกำลังกายให้ได้ผลเท่ากับที่ทำให้การทดลองนี้อาจต้องออกกำลังกายเป็นเวลา 1 ชั่วโมงต่อวัน
ความคิดเห็น