ลำดับตอนที่ #11
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #11 : Chapter II: Little Canary 06
ช่วงเวลาแห่งความสนุกสนานกับเพื่อนๆ ที่ รร.เด็กกำพร้าได้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ในที่สุดก็เข้าสู่คืนที่สองที่ฉันต้องเผชิญหน้ากับโรคร้ายนี้ตามลำพัง
คนเราเกิดมาเพียงลำพัง ตายไปเพียงลำพัง จะหวังพึ่งใครได้นอกจากตัวเอง...
“ดีจังนะ เฟดริกมีกำลังจะได้แต่งงานกับลูกสาวของช่างไม้ใหญ่ที่เขาทำงานอยู่ด้วยในอีกสองเดือนข้างหน้า” หญิงสาวในกระจกพูดกับฉัน
“เลย์ล่าก็เหมือนกัน... ในที่สุดเธอก็ได้เป็นช่างทำขนมเค้กเต็มตัวเสียที”
เธอถอนหายใจ
“มีแต่ฉันนี่สิ ที่ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย”
สีหน้าของเธอซึมลงเล็กน้อย แต่ฉันรู้ดีว่าอีกไม่นานเธอจะกลับมายิ้มได้
... ... ...
หนึ่งเดือนหลังจากที่ฉันตั้งใจปฏิบัติตามที่อาจารย์อสิตาสอน ตอนนี้ฉันก็เริ่มคุ้นเคยกับการเจริญสติ และคอยรู้อารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบใจ
ทุกครั้งที่ฉันเจอราเฟล ฉันจะทักเขาโดยไม่หลบเลี่ยง และทักทายเจ้าความโกรธในใจฉันด้วย ฉันสังเกตว่าหน้าตาของเจ้าความโกรธนั้นเปลี่ยนไปทุกวัน เหมือนกับใบหน้าของเพื่อนๆ ที่บางวันก็ยิ้มแย้ม บางวันก็ซึม บางวันแก้มตอบ บางวันก็มีสิวเม็ดโต
แท้จริงแล้วไม่ได้มีเพียงสิ่งที่เป็นรูปธรรมเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่เป็นนามธรรมเช่นจิตใจของเราก็เช่นกัน หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าความโกรธของเราที่แวบขึ้นมาในแต่ละครั้งนั้นเป็นตัวใหม่อยู่เสมอ
ฉันไม่ได้เป็นเจ้าของความโกรธหรืออารมณ์ใดๆ ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นเป็นเพียงแขกที่ผ่านเข้ามา แล้วจากไป
“ให้ดูการไหลของจิต ไม่ใช่ไหลไปกับจิต”
จิตของฉันมีแขกแวะมาเยี่ยมเยียนไม่เคยขาด แต่ถ้าแขกที่มาสร้างความเดือดร้อนให้เจ้าของบ้าน แล้วเราจะรั้งเขาไว้ทำไม...
ความโกรธเกิดที่จิตของเรา และเราก็หวงแหนความโกรธนั้น ยอมให้มันเบียดเบียนเราต่อไปเรื่อยๆ ...
บ่อยครั้งที่เราเข้าใจ แต่จิตของเรากลับไม่ฟัง...
ครั้งหนึ่งเคยมีเพื่อนผู้ชายมาปรับทุกข์กับฉันตอนที่เขาอกหัก ฉันรู้ว่าเขาไม่ใช่คนโง่ เขารู้ว่าผู้หญิงไม่รักเขาแล้ว และควรจะตัดใจเสีย แต่เอาเข้าจริงกลับทำไม่ได้อย่างที่คิด
อาจารย์อสิตาบอกว่าให้หมั่นเจริญสติและคอยพิจารณาไป เมื่อถึงเวลาแล้วจิตจะเป็นผู้ละวางเอง
จิตก็ดื้อเหมือนเด็ก เราบอกว่าอะไรไม่ดีเขาก็ไม่ฟัง จนกว่าเขาจะเข็ด คือเห็นโทษของสิ่งเราคอยตักเตือนอยู่เสมอนั่นแหละ เขาถึงจะเข้าใจ แล้วเลิกทำไปเอง
เมื่อเจริญสติและพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่าทั้งสุขและทุกข์ มีผ่านมาและผ่านไป ใจของเราก็จะถอยห่างออกจากสุขและทุกข์ ไม่หวงแหนหรือวิ่งไล่คว้าสุขและทุกข์ให้เหนื่อยเปล่า เพราะท้ายที่สุดมันก็ต้องจากไปอยู่ดี
ใจจะสละทุกข์ออกก็ต่อเมื่อ เห็นโทษของทุกข์จึงไม่หวงแหนทุกข์ หรือไม่ก็เห็นประโยชน์ว่าการสละออก คือความสุขที่ยิ่งกว่า จึงเลิกดิ้นรนไขว่าคว้าทุกข์
("ทุกข์" ในที่นี้คือ สภาพที่ทนอยู่ได้ยากของสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าความสุข ความสนุก ความโกรธ ความโศร้า ความอยาก ฯลฯ สิ่งทั้งหลายมีสภาพเป็นทุกข์ เพราะเกิดแล้วตั้งอยู่ได้ไม่นาน)
(ความสุขแบบปุถุชนคืออามิสสุข เป็นสุขที่มีเครื่องล่อ เช่นความสุขจากความอร่อย ความสุขจากการได้อยู่กับคนที่รัก ฯลฯ ส่วน ความสุขที่ยิ่งกว่า ในที่นี้เป็นความสุขที่เกิดจากอาการที่จิตไม่หวงแหนอารมณ์ใดๆ ที่ผ่านเข้ามา ความสุขประเภทนี้เป็นความสุขที่เหนือกว่าอามิสสุข)
... ... ...
ฉันรู้ว่าอีกเดี๋ยวหญิงสาวในกระจกก็จะยิ้มออก เพราะเมื่อคืนเธอได้เห็นความโศกเศร้า ความกลัวตาย เห็นทั้งความยินดีและความเสียดายในชีวิตมาแล้ว
เธอกำลังจะรู้สึกดีขึ้น ไม่ใช่เพราะเธอทำใจได้แล้ว... หากแต่ตอนนี้เธอได้ร่วงลงมาถึงก้นเหวแห่งความสิ้นหวังแล้ว
เธอจึงไม่มีอะไรจะเสีย... ไม่มีอะไรต้องกลัวมากไปกว่านี้
เมื่อความสิ้นหวัง ความกลัวไม่อาจทำให้เธอเป็นทุกข์ได้มากกว่านี้ จิตใจของเธอก็เริ่มเบาสบายขึ้น
บัดนี้เธอเริ่มเข้าใจแล้วว่าความป่วยไข้เป็นโชคอย่างไร...
การถูกผลักลงสู่ก้นเหวนี่แหละคือโอกาส
ใช่... เธอไม่ได้เข้มแข็งกว่าใครๆ เพียงแต่ตอนนี้เธอถูกไล่ต้อนมาจนไม่มีทางหนีอีกต่อไปแล้ว เธอจึงไม่มีทางเลือกนอกจากเผชิญหน้ากับความทุกข์ คอยรู้และพิจารณาความทุกข์นี่ตรงๆ
... ... ...
คุณหมอนอร์แมนเข้ามาถามอาการของฉันอีกครั้งในวันที่สาม อันที่จริงฉันถามคุณหมอนอร์แมนอย่างตรงไปตรงมาตั้งแต่วันแรกแล้ว ซึ่งเขาก็ตอบคำถามเกี่ยวกับโรคของฉันทั้งหมดโดยไม่ปิดบัง
“คุณหมอคะ” ฉันว่า
“ว่าไงหนูเอริซ่า”
“คุณหมอกับชลรู้จักกันมาก่อนหรือคะ”
เขายิ้ม
“รู้จักสิ เขาเป็นลูกชายของเพื่อนเก่าหมอเอง”
ฉันจึงผูกมิตรกับคุณหมอนอร์แมนโดยที่ชลไม่รู้เรียบร้อยตั้งแต่วันนั้น
มาวันนี้จึงสบโอกาสถามเรื่องของชลจากเขาดู
“ตอนเด็กๆ ชลเขาเป็นยังไงบ้างคะ”
“ตอนนั้น ชลก็เข้าออกโรงพยาบาลนี้เป็นประจำ ไม่ใช่ว่าป่วยอะไรหรอก แต่เพราะน้องสาวของเขาพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนี้ล่ะนะ”
“ชลมีน้องสาวด้วยหรือคะ”
“มีสิ เธอชื่อรุณนะ เป็นเด็กที่น่ารัก ฉลาดและว่านอนสอนง่าย แต่โชคร้ายที่ป่วยเป็นโรคลูคีเมียและมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน”
“งั้นหรือ... ผิดกับชลเลยนะคะ” ที่ดื้อและทึ่ม...
คุณหมอหัวเราะเล็กๆ
“นั่นสินะ จะว่าไปชลก็มีนิสัยตรงกันข้ามกับรุณ โดยเฉพาะเรื่องที่ชอบทำอะไรเกินตัวจนทำให้คนรอบข้างใจหายใจคว่ำอยู่เรื่อย เหมือนถอดแบบมาจากพ่อของเขาเลย”
... ... ...
เย็นวันนั้นแอลลี่แวะมาเยี่ยมฉันอีกครั้ง เธอเล่าให้ฟังว่า การสอบหัวข้อวิจัยของชลผ่านไปได้ด้วยดี ซ้ำยังเป็นที่น่าประทับใจ จนสภาเวทย์มนต์แห่งอาณาจักรสแกนเดรียถึงกับเรียกให้ชลไปสาธิตเวทย์มนต์ต่อหน้าพวกเขาอีกครั้งในวันพรุ่งนี้
“การสอบจบของนักศึกษาคณะเวทย์มนต์ต้องทำต่อหน้าสภาเวทย์มนต์ก็จริง แต่น้อยคนมากที่จะถูกเรียกไปสาธิตให้ดูอีกครั้ง ทั้งที่ยังเป็นเพียง "สอบหัวข้อ" สงสัยงานวิจัยของชลคงโดนใจ ท่านๆ ในสภาเวทย์มนต์มากแน่ๆ เลย” เธอว่า
“เหรอ...”
“ไม่แน่ จบแล้วเขาอาจจะถูกเรียกตัวไปทำงานที่สภาเวทย์มนต์ก็ได้นะ”
“ให้มันจริงเถอะ”
อย่างชลนะเรอะ จะไปทำงานในสภาเวทมนต์อันทรงเกียรติ...
... ... ...
ชลเป็นคนที่ใช้สัญชาตญาณในการหาคำตอบ อย่างตอน ป.4 ในกรณีที่ใช้ 9 คูณกับเลขสองหลักขึ้นไปเขาสามารถหาวิธีคิดแบบลัดได้ด้วยการใช้สมการ n x 9 = (n x 10) – n ยกตัวอย่างเช่น 23 x 9 ก็ ให้คิดเป็น (23 x 10) - 23 = 207 แทน
แน่นอนว่าชลไม่ได้มีสมการอย่างนี้อยู่ในหัวหรอก เขาคงไม่เข้าใจวิธีคิดของตัวเองด้วยซ้ำ แต่เขาก็สามารถหาคำตอบได้อย่างถูกต้องแม่นยำกับเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องด้วยวิธีการเฉพาะตัวแบบนี้
มีอยู่วันหนึ่งคุณครูเฟมีนถามเราว่า “อะไรใหญ่ที่สุด”
เพื่อนๆ ต่างแย่งกันตอบว่า ยักษ์บ้าง มังกรบ้าง เทือกเขาแอลป์บ้าง บางคนหัวใสถึงขนาดตอบว่าจักรวาลก็มี
ฉันตอบว่า “ตา” ใหญ่ที่สุด เพราะสามารถบรรจุทุกอย่างที่เราเห็นไว้ข้างในนั้นได้แม้แต่จักรวาลก็เถอะ
คุณครูเฟมีนและเพื่อนๆ ต่างอึ้งไปครู่หนึ่ง แต่แล้วชลก็ตอบว่า
“ถ้าตาใหญ่ ความรู้สึกนึกคิดของเราก็น่าจะใหญ่กว่านะครับ เพราะถ้าเราเห็นสิ่งต่างๆ แต่ไม่คิดเปรียบเทียบ จะรู้ได้ยังไงว่าอะไรใหญ่กว่าอะไร”
สำหรับเพื่อนๆ แล้ว คำตอบของชลในตอนนั้นคงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการแซงฉันในโค้งสุดท้าย และรักษาตำแหน่ง “ราชาเพี้ยน” ไว้ได้อีกสมัย
ในวัยเด็กไอน์สไตน์ถูกหาว่าเป็นเด็กหัวทึบ ทั้งนี้เพราะเขาเป็นคนที่ไม่สามารถอธิบายวิธีทำได้ จนกว่าจะหาคำตอบเจอเสียก่อน
ทฤษฎีสัมพันธภาพที่ทำให้เขามีชื่อเสียงนั้น อธิบายว่าในจักรวาลไม่มีจุดคงที่ที่เที่ยงแท้แน่นอน แต่เราสามารถวัดค่าของสิ่งต่างๆ ได้ด้วยการกำหนดจุดคงที่ขึ้นมาจุดหนึ่ง เช่นเราไม่สามารถบอกได้ว่าเทือกเขาแอลป์สูงเท่าไร จนกว่าจะกำหนดจุดคงที่ขึ้นมาสักจุดหนึ่งอย่าง “ความสูงจากระดับน้ำทะเล” เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ถ้าเรายืนอยู่บนรถไฟสองขบวนที่แล่นขนานกันด้วยความเร็วเท่ากันโดยที่ทิวทัศน์ข้างนอกมืดสนิท เราก็จะเห็นเหมือนกับว่ารถไฟสองขบวนนี้จอดอยู่กับที่
“ถ้าตาใหญ่ ความรู้สึกนึกคิดของเราก็น่าจะใหญ่กว่านะครับ เพราะถ้าเราเห็นสิ่งต่างๆ แต่ไม่คิดเปรียบเทียบ จะรู้ได้ยังไงว่าอะไรใหญ่กว่าอะไร”
อาจารย์อสิตาเคยกล่าวถึงพุทธสุภาษิตบทที่ว่า
“สิ่งทั้งหลายทั้งปวง สำคัญที่ใจ ใจประเสริฐสุด สำเร็จมาจากใจ ถ้าใจไม่ดี การทำการพูดก็พลอยไม่ดีไปด้วย เพราะความไม่ดีนั้นเป็นเหตุ ความทุกข์ก็ติดตามมาเหมือนล้อเกวียนหมุนตามรอบเท้าโค”
ตราบใดที่เรายังมีความไม่รู้ก็จะหลงไปสมมุติว่า นี่ดี นั่นเลว นี่คน นั่นสัตว์ นี่ผู้ชาย นั่นผู้หญิง ฯลฯ
ฉันไม่คิดว่าชลจะฉลาดได้เท่าขี้เล็บของไอน์สไตน์หรืออาจารย์อสิตาหรอก แต่เมื่อนึกถึงคำตอบของตานั่นในวันนั้นแล้วก็รู้สึกขนลุกขึ้นมา...
... ... ...
โปรดติดตามตอนต่อไป
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น