ลำดับตอนที่ #10
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #10 : Chapter II: Little Canary 05
ตอนปี 3 เทอมปลาย ฉันตัดสินใจจะลงเรียนวิชาวิปัสสนาของอาจารย์อสิตา
ตอนนั้นฉันยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับท่าน เพื่อนๆ ที่เคยเรียนวิชานี้บอกฉันว่าน่าเบื่อมากและที่ลงเรียนวิชานี้ก็เพื่อจะเก็บหน่วยกิจเท่านั้น แต่ฉันยังไม่ปักใจเชื่อเช่นนั้น
ครั้งหนึ่งฉันเคยลงเรียนวิชาดนตรีกับสุนทรียศาสตร์กับ อาจารย์เวสเตอร์ ...
“ประวัติศาสตร์ดนตรีคลาสสิก มีพัฒนาการมาตลอดนับแต่ยุคบาโรก คลาสสิก โรแมนติก มาจนถึงปัจจุบัน นักประพันธ์เพลงในยุคนั้นต่างเชื่อว่าโครงสร้างของบทเพลงต้องมีแก่นสาร บางอย่างนั่นคือโทนอลลิตี้ (Tonality)
หมายความว่าในแต่ละเพลงหรือแต่ละท่อนของเพลงจะต้องมีแก่นคือบันไดเสียง (Scale) ซึ่งส่วนมากจะประกอบด้วยโน้ตเจ็ดตัว ส่วนโน้ตนอกเหนือจากนั้นที่ถูกนำมาใช้ก็เป็นเพียง “โน้ตยืม” ซึ่งท้ายที่สุดก็ต้องผันกลับมาสู่โน้ตในบันไดเสียงใดบันไดเสียงหนึ่งเสมอ”
ในคาบแรก อ.เวสเตอร์ ได้เกริ่นนำถึงประวัติศาสตร์แนวคิดของดนตรีกระแสหลักซึ่งพัฒนามาจากดนตรีคลาสสิก
“จนกระทั่งคริสตศตวรรษที่ 20 นักแต่งเพลงชาวออสเตรียนที่ชื่อ อาโนลด์ โชนเบิร์กได้คิดระบบโน้ตสิบสองตัว (Twelve-Tone System) หรือซีเรียลลิสซึม (Serialism) ซึ่งเป็นลักษณะการประพันธ์เพลงที่ไม่มีโทนอลลิตี้ ไม่อิงอาศัยอยู่กับบันไดเสียงใดบันไดเสียงหนึ่ง เพราะเป็นการใช้โน้ตที่มีอยู่ในดนตรีคลาสสิกทั้งหมดสิบสองตัวเล่นวนไปโดยไม่ซ้ำกันจนครบ”
“ระบบโน้ตสิบสองตัวของ โชนเบิร์กจึงสร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการดนตรีคลาสสิก โดยการทำลายความเชื่อดั้งเดิมที่มีมาตลอดนับตั้งแต่ยุคบาโรกมาจนถึงโรแมนติก ว่าโครงสร้างของบทเพลงต้องมีโทนอลลิตี้”
มาถึงตรงนี้อาจารย์ก็บอกว่า อย่างไรก็ดีระบบโน้ตสิบสองตัวของโชนเบิร์กยังต้องอาศัยทฤษฎีดนตรีคลาสสิก เพราะต้องมองความสัมพันธ์ของตัวโน้ตเป็นขั้นคู่ (Interval) ยิ่งไปกว่านั้นระบบนี้ก็ยังไม่ได้หลุดไปจากแก่นสารของดนตรีคลาสสิกที่ประกอบขึ้นจากโน้ตทั้งหมดสิบสองตัวซึ่งห่างกันโน้ตละครึ่งเสียง ฉันนึกถึงแป้นเปียโนซึ่งมีคีย์ออคเทป (octave) ละสิบสองตัวเรียงกันเป็นชุดๆ
“แต่มีหลักฐานจาก บันทึกของชาวตะวันตกที่เคยเดินทางไปประเทศไทยตั้งแต่คริสตวรรษที่ 17 ว่าเมื่อเทียบกับมาตรฐานของดนตรีคลาสสิกซึ่งโน้ตแต่ละตัวจะมีความยาวห่างกัน ครึ่งเสียงกับหนึ่งเสียงแล้ว โน้ตในดนตรีไทยกลับมีความยาวห่างกันตัวละสามส่วนสี่เสียง หมายความว่าโน้ตในดนตรีไทยก็จะไม่มีขั้นคู่สองไมเนอร์ (ซึ่งห่างกันครึ่งเสียง) สองเมเจอร์ (ซึ่งห่างกันหนึ่งเสียง) และขั้นคู่อื่นๆ อีกหลายตัวตามระบบของดนตรีคลาสสิก”
“ในขณะเดียวกันระบบโน้ตของดนตรีอินเดียที่มีมาช้านานนั้นกลับมีความละเอียดสูงกว่าดนตรีคลาสสิก เพราะโน้ตแต่ละตัวห่างกันหนึ่งส่วนสี่เสียง ระบบบันไดเสียงของอินเดียจึงสามารถรองรับบันไดเสียงของดนตรีไทยได้”
จบตรงนี้อาจารย์จึงสรุปให้ฟังว่าแม้ระบบโน้ตสิบสองตัวของโชนเบิร์กจะเป็นวิวัฒนาการอันน่าทึ่งของประวัติศาสตร์ดนตรีคลาสสิก แต่ก็ยังเป็นทฤษฎีที่ตั้งขึ้นมาบนฐานของดนตรีคลาสสิก ในขณะที่บางครั้งดนตรีของชาติอื่นๆ นอกเหนือจากดนตรีคลาสสิกกลับฉีกออกจากกฎเกณฑ์ของดนตรีคลาสสิกโดยสิ้นเชิง
“ดังนั้นไม่ว่าเราจะมีความสนใจเรื่องอะไร จงเปิดใจให้กว้าง ระวังอย่ายึดติดกับความรู้เดิม และใช้ความรู้ที่มีอยู่เป็นไม้บรรทัดไปตัดสินคุณค่าทุกอย่าง โดยไม่พิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน ไม่เช่นนั้นเราจะกลายเป็นกบในกะลา”
ท้ายที่สุดอาจารย์คนนั้นก็ได้ยกคำคมของ มาร์ก ทเวน นักเขียนเลื่องชื่อขึ้นมาปิดท้ายการบรรยายวันนั้นว่า
“สิ่งที่คุณไม่รู้ไม่ ได้สร้างปัญหาให้คุณ สิ่งที่คุณมั่นใจว่ารู้แต่กลับรู้ไม่จริงต่างหากที่เป็นปัญหา”
ไม่ว่าเพื่อนฉันจะคิดอย่างไรกับวิชาวิปัสสนาของอาจารย์อสิตา ฉันก็เคารพความเห็นของพวกเขาเพราะสิ่งนั้นมาจากประสบการณ์ของพวกเขาเอง แต่ถ้าฉันด่วนสรุปว่าวิชาวิปัสสนาเป็นอย่างไร โดยไม่ทดลองเรียนดูก่อน ก็เป็นการไม่ยุติธรรมต่อตัววิชาและครูผู้สอน
สิ่งที่ฉันควรทำจึงมีเพียงไม่ลงเรียน และไม่ด่วนสรุป ไม่เช่นนั้นก็ลงเรียนแล้วลองพิสูจน์ดูด้วยตัวเองเสีย
... ... ...
ฉันนึกขอบคุณตัวเองที่ตอนนั้นตัดสินใจลงวิชาวิปัสสนา เพราะชีวิตของฉันได้เปลี่ยนไปนับแต่วันนั้น...
คาบแรกของวิชาวิปัสสนาเป็นวันถัดจากที่ฉันโดนผู้หญิงคนนั้นตบหน้า แล้วก็เหมือนโชคชะตาได้เล่นตลกกับฉันเพราะราเฟลก็ลงวิชานี้เช่นกัน
ห้องเรียนวิชาวิปัสสนา เป็นห้องโล่งๆ ไม่มีเก้าอี้ มีเพียงเบาะปูไว้ให้นั่งคนละเบาะ ฉันจึงเลือกที่นั่งให้ห่างจากราเฟลเท่าที่จะทำได้
อาจารย์อสิตาก็เกริ่นนำว่า การทำวิปัสสนาคือ การเปิดตาใจ
ในชีวิตประจำวันเราคุ้นเคยกับการใช้ตามองสิ่งต่างๆ จนสามารถแยกแยะสิ่งที่เห็นได้อย่างรวดเร็วว่านั่นเป็นคน นี่เป็นนก นั่นเป็นคนรู้จักหรือคนแปลกหน้า เป็นผู้ชายหรือผู้หญิงได้ในทันที
แต่เรากลับไม่คุ้นเคยที่จะใช้ ตาใจ มองจิตของตัวเองว่าขณะนี้กำลังสุข ทุกข์ โกรธ เศร้าหรือดีใจ กำลังต้องการอะไร หรือไม่ต้องการอะไร ทั้งที่ในความเป็นจริงจิตของเราทำงานอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะในขณะที่กินข้าว ทำงาน นั่งนิ่งๆ หรือแม้แต่ตอนที่นอนหลับ
จากนั้นท่านจึงให้เรานั่งตามท่าที่ถนัด แต่ก็แนะนำว่าถ้านั่งขัดสมาธิได้ ก็ให้ทำดู เพราะท่านั่งขัดสมาธิมีฐานในการทรงตัวที่ดี ไม่ล้มง่ายๆ ทำให้เรารู้สึกมั่นคง และมีสมาธิ
ท่านบอกว่าวันแรกยังไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ให้เราลองสังเกตจิตของตัวเอง จะหลับตาหรือลืมตาก็ได้
ฉันเลือกหลับตาเพื่อจะได้ไม่ต้องคิดอะไร แต่พอหลับตาลงฉันกลับเห็นหน้าราเฟลชัดเจน เห็นรอยยิ้มเย้ยหยันของเขา เห็นใบหน้าของผู้หญิงคนนั้น ฉันทั้งโกรธแค้น ทั้งเสียใจ จนอยากจะลุกขึ้นไปบีบคอเจ้าราเฟลเดี๋ยวนี้เลย ไม่เช่นนั้นก็เดินออกไปจากห้องนี้ ไปที่ไหนก็ได้ให้ไกลๆ จากเขาเสีย...
“จงดูการไหลของจิต ไม่ใช่ไหลไปกับจิต”
น้ำเสียงอันอบอุ่นของอาจารย์อสิตากังวานเข้ามาในห้วงความคิด ความโกรธแค้นเสียใจของฉันมลายสิ้นไปในทันที ฉันวางความคิดที่จะลุกออกจากห้องหรือเข้าไปบีบคอราเฟลลง แล้วลองทำตามที่ท่านว่าดู
อะไรคือการไหลของจิต...
เมื่อใบหน้าของราเฟลแวบขึ้นมา จู่ๆ ฉันก็รู้สึกร้อนวูบในอก...
คราวนี้เป็นใบหน้าของหญิงสาวคนนั้น และฉันก็ร้อนวูบขึ้นมาอีกครั้ง...
ในขณะทีสังเกตจิตของตัวเองอยู่นั้น ฉันก็ค้นพบว่า ตนไม่ได้โกรธราเฟล หรือโศกเศร้าอยู่ตลอดเวลา เพราะบางขณะที่ฉันคิดถึงเพื่อนคนอื่นๆ ใจก็กลับรู้สึกยินดีขึ้นมา
สรุปก็คือขณะใดฉันไม่ได้นึกถึงราเฟล ความโกรธที่ฉันมีต่อเขาก็จะไม่เกิดขึ้น
ราเฟลจึงไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของฉัน ความโกรธแค้นที่ฉันมีต่อเขาก็เช่นกัน...
เมื่อนึกได้เช่นนี้ความโกรธก็กลับดูเล็กลง ฉันรู้สึกราวกับว่าตัวเองได้ถอยห่างออกจากความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่ทำให้จิตใจสับสนว้าวุ่น บัดนี้ฉันเป็นเพียงผู้ดูละครชีวิตฉากหนึ่งของผู้หญิงที่ชื่อ "ใจ" เท่านั้นเอง...
เช่นนี้บทเรียนวิชาวิปัสสนาของอาจารย์อสิตาในวันแรกจึงไม่ได้ช่วยให้จิตใจของฉันนิ่งสงบ ตรงกันข้ามมันทำให้ฉันรู้ตัวว่า “จิตใจของฉันมันไม่สงบเลยสักนิด"
ใช่... ใจของฉันมันอยู่ไม่สุขจริงๆ ประเดี๋ยวก็คิดนู่น ประเดี๋ยวก็คิดนี่ ซนยิ่งกว่าลูกแมวเสียอีก ทั้งที่ฉันอยู่กับมันมาตลอด แต่ทำไมถึงไม่เคยเอะใจเลยสักนิดนะ...
หลังจากนั้นฉันก็ตั้งใจปฏิบัติตามที่ท่านสอนจนถึงคาบสุดท้าย ในที่สุดฉันก็เข้าใจว่าเหตุใดเพื่อนๆ จึงไม่ประทับใจวิชานี้
มองเผินๆ แล้ว สิ่งที่ได้จากวิชาวิปัสสนาไม่สามารถนำมาใช้กับเวทย์มนต์ได้โดยตรง แต่ฉันกลับเห็นต่างจากพวกเขา เพราะวิชานี้ทำให้ฉันได้หัวข้อวิจัยเรื่อง “The Magic of Now & Here” อีกทั้งยังได้อาจารย์อสิตาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาด้วย
... ... ...
เมื่ออาจารย์อสิตาออกจากห้องไป ฉันก็ทบทวนคำสอนทั้งหมดของท่าน และทำวิปัสสนาในห้องคนไข้ ทันใดนั้นก็มีมารโผล่มา...
“หวัดดีใจ เป็นยังไงบ้างเช้านี้”
ชลเปิดประตูเข้ามา หลังจากที่เมื่อวานหายหัวไปทั้งวัน
“ก็สบายดีจนกระทั่งได้เห็นหน้านาย...”
“ฉันเอาเค้กมาฝาก” เขาว่า
“เป็นเวียนนาช็อกโกแลตมอคค่าเค้กจากร้านที่เลย์ล่าทำงานอยู่”
“จริงเหรอ!!”
“ฉันไปบอกพวกเพื่อนเก่าของเราแล้ว เดี๋ยวเย็นนี้พวกเขาจะแวะมาเยี่ยมเธอ ถือเป็นมีตติ้งรุ่นของพวก รร.เด็กกำพร้าฯ ด้วยเลย”
“แน่ใจนะว่าเป็นมีตติ้งรุ่น... แค่ฉันป่วยนิดหน่อย ถึงขนาดต้องป่าวประกาศให้เพื่อนๆ ทุกคนมาเยี่ยม อย่างกับจะเรียกมาดูใจยังงั้น”
ฉันลองจี้ใจดำดู ปรากฏว่าสีหน้าของเขาเปลี่ยนไปทันที
“ล้อเล่นน่า... ดูจงดูใจอะไรกัน” เขาหัวเราะกลบเกลื่อน
ใบหน้าของชลมักทรยศเจ้าตัว ด้วยการแสดงอารมณ์ออกมาอย่างซื่อตรงเช่นนี้เสมอ จนฉันอดขำไม่ได้
มาคิดดูอีกที ในเมื่อเขาแบกความเครียดเรื่องอาการป่วยของฉันถึงขนาดนี้แล้ว ฉันจะแบกมันแข่งกับเขาอีกทำไม...
“แค่พูดเล่นนา ไม่ขำหน่อยเหรอ...” ฉันหัวเราะ
ว่าแล้วก็ลงมือแกะเค้กกินซะ...
เวียนนาช็อกโกแลตมอคค่าเค้กฝีมือเลย์ล่า ที่เนื้อนุ่มเหมือนปุยเมฆ สอดไส้ด้วยมูสมอคค่าที่หอมกลิ่นอัลมอนด์
ขณะที่ตักเข้าปากช็อกโกแลตเยิ้มๆ ที่เคลือบอยู่ก็จะละลาย กลิ่นและรสชาติเข้มข้นของช็อคโกแล็ตก็จะกระจายออกมา ให้ความรู้สึกอบอุ่นราวกับกำลังเดินอยู่ในทุ่งธัญพืชที่หอมกลิ่นไอแดดจางๆ จ้างให้ก็ไม่แบ่งชลแม้แต่คำเดียวเด็ดขาด
“ได้กินเค้กของเลย์ล่าแล้ว ถึงตายก็ไม่เสียดาย...”
“ใจอย่าพูดเรื่องตายสิ!!”
... ... ...
โปรดติดตามตอนต่อไป
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น