ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    กฎหมายต่างๆ

    ลำดับตอนที่ #6 : เรื่องทรัพย์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 7.18K
      2
      22 ก.พ. 50

     

    ทรัพย์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

    3.1 อสังหาริมทรัพย์ หมายถึง ที่ดินหรือทรัพย์ใดๆ อันติดอยู่กับที่ดิน นำไปไม่ได้ และทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรซึ่งไม่อาจเคลื่อนที่ได้ เช่น ที่ดิน สวน ตึกรามบ้านช่อง หรือทรัพย์อันประกอบเป็นอันเดียวกันกับที่ดินนั้น และให้หมายความรวมทั้งทรัพยสิทธิทั้งหลายอันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินด้วย เช่น สิทธิ ครอบครอง สิทธิอาศัย

     จากนิยามดังกล่าว อาจแบ่งอสังหาริมทรัพย์ออกได้ดังนี้

    ที่ดิน หมายถึง พื้นดินทั่วไป รวมทั้งภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และที่ชายทะเลด้วย

    ทรัพย์อันติดกับที่ดิน ได้แก่ ไม้ยืนต้น อาคาร โรงเรือน หรือสิ่งก่อสร้างบนที่ดิน

    ทรัพย์ซึ่งประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน ได้แก่ แม่น้ำ ลำคลอง แร่ธาตุ กรวด ทราย ที่มีอยู่ตามธรรมชาติหรือซึ่งมนุษย์นำมารวมไว้กับที่ดินจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นดินตามธรรมชาติ

    สิทธิทั้งหลายอันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ได้แก่ กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่มีโฉนด สิทธิครอบครองในที่ดินที่ไม่มีโฉนด ภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน เป็นต้น

     การกระทำดังต่อไปนี้เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ในระบบภาษีธุรกิจเฉพาะ
            "ขาย" คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาอสังหาริมทรัพย์นั้นให้แก่ผู้ขาย
            "สัญญาจะขาย" สัญญาจะขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้วจะนำไปฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้
            "ขายฝาก" คือ สัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่อสังหาริมทรัพย์นั้นคืนได้
    การขายฝากอสังหาริมทรัพย์ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นถือเป็นโมฆะ
            "แลกเปลี่ยน" คือ สัญญาซึ่งคู่กรณีต่างโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้กันและกัน
            "ให้เช่าซื้อ" คือ สัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนตามที่ตกลงกัน
            "ให้" คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ให้โอนอสังหาริมทรัพย์ของตนโดยเสน่หาให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับ และผู้รับยอมรับเอาอสังหาริมทรัพย์นั้น
            "จำหน่าย จ่าย โอนไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่" ได้แก่ การเวนคืนที่ดิน การโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ให้เช่าที่ดินเพื่อตอบแทนสิทธิการเช่า การบริจาค เป็นต้น

    การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
            การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่ การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้า หรือหากำไร ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยทางใด แบ่งเป็น 2 กรณี

     

    กรณีที่ 1 การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่ผู้ขายกระทำเป็นปกติธุรกิจ ดังต่อไปนี้ ผู้ขายต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ (ตามแบบ ภธ. 01) ภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มประกอบกิจการ (ได้แก่วันที่มีรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์)
            การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการจัดสรรที่ดิน ได้แก่ การจำหน่ายที่ดินติดต่อกันเป็นแปลงย่อย มีจำนวนตั้งแต่ 10 แปลงขึ้นไป โดยให้คำมั่นหรือการแสดงออกโดยปริยายว่าจะจัดให้มีสาธารณูปโภค หรือบริการสาธารณะ หรือปรับปรุงที่ดินนั้นให้เป็นที่อยู่อาศัย ที่ประกอบการพาณิชย์ หรือที่ประกอบการอุตสาหกรรม
            การขายอาคารชุดโดยเจ้าของโครงการซึ่งต้องจดทะเบียนเป็นอาคารชุดตามกฎหมายอาคารชุด
            การขายอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อขาย เช่น การขายบ้าน ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ อาคารสำนักงาน เป็นต้น ซึ่งปลูกสร้างเพื่อขาย โดยผู้ขายต้องนำมูลค่าขายที่ดินอันเป็นที่ตั้งอาคารดังกล่าวมารวมเสียภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีการแบ่งแยกหรือไม่
            การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะเป็นการจัดสรรที่ดิน หรือการขายอาคารชุด หรือสร้างอาคารเพื่อขายดังกล่าว แต่มีการแบ่งขายในลักษณะคล้ายคลึงกับการจัดสรรที่ดิน (เช่น สวนเกษตร การจัดสรรที่ดินที่ไม่มีโฉนดที่ดินหรือไม่ถึง 10 แปลง)

    กรณีที่ 2 การขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นทางค้าหรือ หากำไรที่ผู้ขายมิได้กระทำเป็นปกติธุรกิจ ดังต่อไปนี้ ผู้ขายไม่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ต้องยื่นแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ และเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเมื่อมีรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์นั้น
            การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ หรือธุรกิจทั่วไป ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ขายจะถือครองไว้กี่ปีก็ตามและไม่ว่าผู้ขายจะเป็นบุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น
            การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบการเกษตรกรรม และได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มา
            การขายอสังหาริมทรัพย์อื่นใดที่ไม่เข้าลักษณะ เป็นการจัดสรรที่ดิน หรือการขายอาคารชุด หรือสร้างอาคารเพื่อขาย หรือมีการแบ่งขายในลักษณะคล้ายคลึงกับการจัดสรรที่ดิน หรือขายอาคารชุด หรือการแบ่งขายอาคาร หรือแม้ไม่มีการแบ่งขาย แต่มีพฤติการณ์ของผู้ขายแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่าจะมีการแบ่งแยกภายหลังการขายตามกรณีที่ 1 ข้างต้น ทั้งนี้ ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มา
    การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
            การขายอสังหาริมทรัพย์กรณีดังต่อไปนี้ ไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
            การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ที่ไม่เข้าลักษณะเห็นการจัดสรรที่ดิน หรือการขายอาคารชุด หรือสร้างอาคารเพื่อขาย หรือมีการแบ่งขายในลักษณะคล้ายคลึงกับการจัดสรรที่ดิน หรือขายอาคารชุด หรือการแบ่งขายอาคาร หรือแม้ไม่มีการแบ่งขาย แต่มีพฤติการณ์ของผู้ขายแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่าจะมีการแบ่งแยกภายหลังการขาย หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ ได้แก่ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบการเกษตรกรรม อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เป็นต้น
            การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับมาโดยทางมรดก
            การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญ ที่ผู้ขายมีชื่อในทะเบียนบ้าน และได้อาศัยเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้มา

    การนับระยะเวลาการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์
            ในกรณีที่ที่ดิน และอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างได้มาไม่พร้อมกันกำหนดเวลาห้าปี ให้ถือตามระยะเวลาการได้มาซึ่งที่ดินหรืออาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้มาภายหลัง

    รายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์
            ผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นทางค้าหรือหากำไร ต้องคำนวณและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากราคาที่ตกลงซื้อขาย หรือราคาทุนทรัพย์เพื่อการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิหรือนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน อันเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า

    อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ
            ร้อยละ 3.0 ของยอดรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์และภาษีส่วนท้องถิ่นอีกร้อยละ 10 ของภาษีธุรกิจเฉพาะ รวมเป็นร้อยละ 3.3 ของยอดรายรับฯ

    การยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ
            กรณีผู้ขายจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ให้ยื่นแบบ ภธ. 40 เป็นรายเดือนภาษี ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ไม่ว่าจะมีรายรับหรือไม่ก็ตาม โดยให้ยื่น ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ หรือเขตท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
            กรณีมีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้ยื่นแบบ ภธ. 40 เป็นรายสถานประกอบการเว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ยื่นแบบ ภธ. 40 รวมกัน
            กรณีผู้ขายได้สิทธิไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ให้ยื่นแบบ ภธ. 40 เฉพาะของเดือนภาษีที่มีรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ โดยยื่นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ หรือเขตท้องที่ที่ผู้ขายมีภูมิลำเนาตั้งอยู่

    อากรแสตมป์
            ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียอากรแสตมป์สำหรับรายรับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ถ้าได้เสียอากรแสตมป์ไปในขณะที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมก็มีสิทธิขอคืนเงินค่าอากรแสตมป์ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ได้เสียอากรแสตมป์ต่อสรรพากรพื้นที่ หรือสรรพากรจังหวัดแล้วแต่กรณี
            เพื่อไม่ให้เป็นภาระต้องขอคืนเงินค่าอากรแสตมป์ในกรณีดังกล่าว ควรเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเสียก่อนแล้วนำหลักฐานไปแสดงต่อเจ้าพนักงานผู้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ก็จะไม่ถูกเรียกเก็บค่าอากรแสตมป์

     


    3.2 สังหาริมทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์สิน พัสดุทั้งหลายที่สามารถอาจขนส่ง เคลื่อนย้ายได้ นำพกพา เอาติดตัวไปได้จากที่แห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่งได้ ไม่ว่าเคลื่อนด้วยแรงเดินแห่งตัวทรัพย์นั่นเอง หรือเคลื่อนด้วยกำลังภายนอก กำลังแรงแห่งธรรมชาติ อันอาจถือเอาได้ เช่น น้ำตก แก้ว แหวน เงิน ทอง สัตว์เลี้ยง เตียง ตั่ง ถ้วย ชาม กระเป๋า รถยนต์ คอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งปากกา เป็นต้น บางอย่างก็มีชีวิต บางอย่างก็ไม่มีชีวิต รวมถึงสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นด้วย มีทั้งทรัพยสิทธิ์และบุคคลสิทธิ เช่น ถือหุ้น (แผงลอย เป็นสังหาฯ) ผู้ที่เป็นเจ้าของกฎหมายเรียกว่าเป็นผู้ทรงกรรมสิทธ์ บุคคลอื่นที่จะเอาทรัพย์สินของเราไปจะต้องได้รับอนุญาต หากเป็นการหยิบฉวยของที่เราทำตกหล่นหรือขอยืมแล้วไม่คืนเราก็มีสิทธิติดตามเอาทรัพย์ของเราคืนได้ หากผู้ที่เอาไปหรือเก็บได้ไม่คืนก็จะเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา เช่น ลักทรัพย์ หรือยักยอกได้

    สังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ ที่ต้องจดทะเบียนเมื่อมีการซื้อขาย ได้แก่
                  ก. เรือกำปั่น หรือเรือที่มีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป   เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ที่มี
    ระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป
                  ข. แพ
                  ค. สัตว์พาหนะ

     

     การซื้อขายทรัพย์ทั้งสองชนิดดังกล่าว จะต้องทำตามแบบ คือ
              (1) ต้องทำเป็นหนังสือ และ
              (2) จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่   โดยที่ดิน  ต้องจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดิน
    บ้านจดทะเบียนที่อำเภอ เรือต้องจดทะเบียนที่กรมเจ้าท่า   แพและสัตว์พาหนะจดทะเบียนที่
    อำเภอการซื้อขายทรัพย์ทั้งสองชนิดดังกล่าว ถ้าไม่ทำตามแบบแล้วย่อมตกเป็นโมฆะเสียเปล่า
    เท่ากับว่าไม่มีการทำสัญญาเลย (ป.พ.พ. มาตรา 456)
              (3) ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์  ซึ่งมีราคาซื้อขายตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ต้องมีหลักฐาน
    การซื้อขายเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบ  หรือวางมัดจำ
    หรือได้ชำระหนี้บางส่วน     ถ้าไม่ได้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง   ในสามอย่างที่กล่าวมาแล้ว
    กฎหมายห้ามมิให้ฟ้องร้องบังคับคดีต่อศาล (ป.พ.พ. มาตรา 456)
              ทรัพย์สินที่ซื้อขายกันไม่ได้
              1. สาธารณสมบัติแผ่นดิน เช่น  ที่ชายตลิ่ง  ทางน้ำ   ที่ดินที่รัฐบาลหวงห้าม เช่นที่
    ป่าสงวน เป็นต้น   ดังนั้น ถ้าผู้ใดจะซื้อที่ดินจากผู้ใดก็ตามต้องตรวจสอบให้แน่ชัดเสียก่อนว่า
    ที่ดิน ดังกล่าวเป็นป่าสงวนหรือไม่ ถ้าเป็นก็อย่าได้ซื้อไว้เป็นอันขาด เพราะจะเสียเงินเปล่าโดย
    ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่อย่างใด
              2. สิทธิซึ่งกฎหมายห้ามโอน เช่น  สิทธิที่จะได้รับมรดกของเจ้ามรดกที่ยังมีชีวิตอยู่
    สิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู
              3. ทรัพย์สินที่กฎหมายห้ามมีไว้ในความครอบครอง เช่น อาวุธปืนเถื่อน ฝิ่น เฮโรอีน
    กัญชา เป็นต้น
              4. วัดและที่ธรณีสงฆ์
              5. สิทธิที่จะได้รับบำเหน็จบำนาญจากทางราชการ
              6. ทรัพย์สินที่ได้มาโดยข้อกำหนดห้ามโอน
              ชนิดของสัญญาซื้อขาย
              สัญญาซื้อขายมี 2 ชนิด ด้วยกัน คือ
              1. สัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด
    คือ  สัญญาที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโอนไปยังผู้ซื้อทันทีอย่างเด็ดขาด   เมื่อการซื้อขายสำเร็จ
    บริบูรณ์   การซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์เมื่อใดนั้น   นอกจากการตกลงแล้ว      ต้องทำตามแบบที่
    กฎหมายกำหนดอีกด้วย
              2. สัญญาจะซื้อจะขาย คือ   สัญญาที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อ  ใน
    ขณะที่ทำสัญญาซื้อขายกัน แต่เป็นสัญญาซึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อ
    ในเวลาภายหน้า  เป็นการแลกเปลี่ยนกับเงินอันเป็นราคาของทรัพย์สินนั้น   มีผลผูกพันให้แก่คู่
    สัญญาต้องทำการซื้อขายให้สำเร็จตลอดไป
              การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขาย
              กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน  ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อทันทีตั้งแต่เมื่อตกลงทำสัญญาซื้อขายกัน
    โดยไม่ต้องคำนึงว่าได้มีการส่งมอบทรัพย์สินหรือชำระราคากันแล้วหรือไม่
             ข้อยกเว้น ในกรณีดังต่อไปนี้แม้ว่าจะได้ทำสัญญาซื้อขายกันแล้วก็ตาม   กรรมสิทธิ์ใน
    ทรัพย์สินก็ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อ คือ
             1. สัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลา
             2. การซื้อขายทรัพย์สินซึ่งยังไม่ได้กำหนดไว้แน่นอน
             3. การซื้อขายทรัพย์สินเฉพาะสิ่ง ถ้าผู้ขายยังจะต้องทำการนับ  ชั่ง  ตวง วัด หรือทำ
    การอย่างอื่น หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สิน เพื่อให้รู้กำหนดราคาทรัพย์สินนั้น แน่
    นอนเสียก่อน
             ผลของการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขาย
             เมื่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายได้โอนไปยังผู้ซื้อแล้ว เมื่อเกิดภัยพิบัติใด ๆ ขึ้นแก่
    ทรัพย์สินที่ซื้อขายกันแล้ว ย่อมตกเป็นพับแก่ผู้ซื้อ ส่วนผู้ขายย่อมพ้นจากความรับผิด  แม้ว่าจะ
    ยังมิได้มีการส่งมอบหรือชำระราคากันเลยก็ตาม      เว้นแต่ว่าจะได้มีการตกลงในภัยพิบัตินั้น
    ผู้ขายยังต้องรับผิดชอบอยู่จนกว่าจะได้มีการชำระราคาและ
    ส่งมอบทรัพย์สินกันแล้ว
            หน้าที่ของผู้ขาย
            1. ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ
            2. ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายในสภาพที่เรียบร้อย หากมีความชำรุดบกพร่อง เป็น
    เหตุให้เสื่อมราคา หรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ ในการที่จะใช้ประโยชน์ตามสัญญา
    แล้วผู้ขายต้องรับผิดชอบเมื่อมีผู้มารอนสิทธิของผู้ซื้อ
            การรอนสิทธิ   คือ   การที่ผู้ซื้อถูกบุคคลภายนอกซึ่งมีสิทธิดีกว่าในเวลาที่มีการซื้อขาย
    เรียกร้องทรัพย์คืน ผู้ขายต้องรับผิดชอบ
            หน้าที่ของผู้ซื้อ   ต้องรับมอบทรัพย์สินที่ตนซื้อและชำระราคาให้แก่ผู้ขายตามสัญญา
    ซื้อขาย
            อายุความในการฟ้องร้อง
            1. ในกรณีที่ผู้ขายส่งมอบทรัพย์น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ตกลงตามสัญญา ผู้ซื้อต้องฟ้อง
    ภายใน 1 ปี นับแต่วันส่งมอบทรัพย์สิน
            2. ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นชำรุดบกพร่อง ผู้ซื้อต้องฟ้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่
    ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง
            3. ในกรณีที่เป็นการรอนสิทธิผู้ซื้อ   ถ้าผู้ขายไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิมหรือถ้าผู้ซื้อได้
    ประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอก หรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง  ต้องฟ้อง
    คดีภายในอายุความ 3 เดือน  นับแต่วันที่คำพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุด  หรือนับแต่วันที่มีการ
    ประนีประนอมยอมความ หรือวันที่ผู้ซื้อยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง
            4. ผู้ขายซึ่งเป็นพ่อค้าฟ้องเรียกค่าสินค้าจากผู้ซื้อ  ต้องฟ้องภายในกำหนดอายุความ 2
    ปี นับแต่วันที่ส่งมอบ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×