Peter F Grandelneriet
ดู Blog ทั้งหมด

อเมริกากับสงครามโลกครั้งที่ 1

เขียนโดย Peter F Grandelneriet
 ภูมิหลังของสงครามโลกครั้งที่ 1

                สงครามโลกครั้งที่ 1 (World War I) เป็นสงครามที่เกิดขึ้นในช่วง ค.ศ. 1914 - ค.ศ. 1918 ระหว่างฝ่ายพันธมิตร (Allied Powers) คืออังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, อิตาลี และ สหรัฐอเมริกา กับฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers) คือ เยอรมนี, ออสเตรีย-ฮังการี และ จักรวรรดิออตโตมานโดยพบว่ามีทหารกว่า 70 ล้านคนมีส่วนร่วมในการรบ ผลจากสงครามทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและสูญหาย รวมกันไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคน สาเหตุหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็คือ การลอบปลงพระชนม์อาร์คดุยค ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์รัชทายาทของบัลลังก์จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี โดยกัฟรีโล ปรินซีป ชาวเซิร์บบอสเนีย ซึ่งเป็นสมาชิกของแก๊งมือมืด และการแก้แค้นของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีต่อราชอาณาจักรเซอร์เบียก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ก่อให้เกิดสงครามครั้งใหญ่ปะทุขึ้นในทวีปยุโรป ภายในหนึ่งเดือน ทวีปยุโรปส่วนมากก็อยู่ในสภาวะสงคราม

สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 1

                1. การเกิดลัทธิชาตินิยม ทำให้เกิดรัฐชาติ สร้างระบบรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ต่างแสวงหาความเป็นมหาอำนาจทั้งทางด้านการทหารและเศรษฐกิจ นำไปสู่การแข่งขันอำนาจกัน

                2. ลัทธิจักรวรรดินิยม ลัทธิจักรวรรดินิยมเริ่มจากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้ต้องการวัตถุดิบและตลาดระบายสินค้า มหาอำนาจยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ ต่างแข่งขันกันขยายอำนาจในการครอบครองดินแดนในทวีปเอเซียอเมริกากลางและแอฟริกา

                3. การแบ่งกลุ่มอำนาจและการแตกแยกของชาติมหาอำนาจ กลุ่มไตรพันธมิตร ( Triple Alliance) และกลุ่มไตรภาคี (Triple Entente)

                4. ปัญหาในคาบสมุทรบอลข่าน การขัดแย้งระหว่างออสเตรีย-ฮังการีกับเซอร์เบียในเรื่องการสร้างอิทธิพลในคาบสมุทรบอลข่าน

                5. การแข่งขันทางด้านกำลังและอาวุธ การแข่งขันสะสมอาวุธทางนาวี (Naval Arms Race) โดยอังกฤษและเยอรมัน

                ฉนวนของสงครามเกิดขึ้นเมื่อ กัฟรีโล ปรินซีป นักเรียนชาวเซิร์บบอสเนีย ได้ลอบปลงพระชนม์ อาร์คดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์แห่งออสเตรีย รัชทายาทแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1914 ที่เมืองซาราเยโว ผู้ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมลับชื่อว่ามือมืด โดยมีเป้าหมายที่จะรวมชาวยูโกสลาฟ หรือสลาฟใต้เข้าไว้ด้วยกัน และประกาศเอกราชจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เหตุการณ์การลอบสังหารนี้ได้ก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ลุกลามต่อมาจนกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ เมื่อจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีต้องการให้เซอร์เบียลงโทษผู้กระทำผิดแต่เซอร์เบียปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับการกระทำใด ๆ ที่เกิดขึ้นในวันนั้น จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีจึงประกาศสงครามต่อเซอร์เบีย ทำให้มหาอำนาจยุโรปจำนวนมากต้องเข้าสู่สงครามภายในหนึ่งสัปดาห์เนื่องจากข้อตกลงการป้องกันร่วมกัน และการเข้าแทรกแซงสงครามของประเทศพันธมิตรของตน

สาเหตุที่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1

                1. ความผูกพันใกล้ชิดระหว่างอังกฤษและสหรัฐอเมริกา อังกฤษและสหรัฐอเมริกามีความผูกพันทางด้านภาษาและวัฒนธรรม ตลอดจนธุรกิจการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับอังกฤษได้ดำเนินมาด้วยดีในหมู่ชนชั้นสูงด้วย

                2. ความต้องการจะรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของคนอเมริกันเอง หากสหรัฐอเมริกาไม่ร่วมมือกับพันธมิตรเยอรมันอาจมีชัยและเป็นใหญ่ในยุโรป ซึ่งจะมีผลกระทบกระเทือนถึงสวัสดิภาพของสหรัฐอเมริกาอย่างยิ่ง

                3. การโฆษณาชวนเชื่อในสหรัฐอเมริกาได้ผลเป็นอย่างดี คนอเมริกันได้รับการชักชวนให้เชื่อว่าฝ่ายพันธมิตรต่อสู้เพื่อเสรีภาพ อิสรภาพ และสันติภาพของโลก และเยอรมันเป็นผู้ก่อสงครามอันหฤโหดครั้งนี้ขึ้นมา

                4. ความไม่พอใจต่อเยอรมันที่ทำสงครามเรือดำน้ำอย่างไม่มีขอบเขต

                5. เนื่องจากอเมริกามีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่เยอรมันมีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังนั้นอเมริกาจึงยอมไม่ได้ที่จะให้เยอรมันเป็นฝ่ายชนะในสงคราม ทั้งนี้เพื่อเป็นการปกป้องลัทธิประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการทหารแบบเยอรมัน

บทบาทของสหรัฐอเมริกาในสงครามโลกครั้งที่ 1

สงครามเรือดำน้ำ

                ในขณะที่สหรัฐอเมริกาประกาศตนเป็นกลางในระยะต้นของการสงคราม อังกฤษได้ล้อมปิดอ่าวและเมืองท่าในยุโรปเพื่อป้องกันมิให้สินค้าตกไปถึงมือข้าศึก ทำให้สหรัฐอเมริกาเดือดร้อนในการค้าทางทะเลเป็นอันมาก ในเวลาเดียวกันเนื่องจากเยอรมันได้ถูกปิดล้อมทางทะเลทำให้เกิดการขาดแคลนเสบียงอาหารและวัตถุดิบ เยอรมันจึงเริ่มใช้เรือดำน้ำ (U-boat) โจมตีเรือฝ่ายพันธมิตรรวมทั้งเรือของทุกประเทศที่เข้ามาในเขตน่านน้ำที่เยอรมัน เพราะถือว่าเป็นเขตสงคราม ในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1915 เรือเดินสมุทรไม่ได้ติดอาวุธของอังกฤษ ชื่อว่า ลูซิตาเนีย (Lusitania) ถูกเรือดำน้ำของเยอรมันโจมตีจมลงใกล้ๆ ชายฝั่งทะเลของไอร์แลนด์ มีผู้โดยสารเสียชีวิตราว 1,198 คน รวมทั้งชาวอเมริกันที่โดยสารไปกับเรือลำดังกล่าวด้วยราว 128 คน การสูญเสียชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมากทั้งเด็กและสตรีเร้าอารมณ์คนอเมริกันให้เกิดความโกรธแค้น ประธานาธิบดีวิลสันจึงได้ยื่นสาสน์ประท้วงต่อเยอรมัน สหรัฐอเมริกาประท้วงรุนแรงยิ่งขึ้นจนเยอรมันต้องยอมลดท่าทีลงโดยยอมรับรองว่า ก่อนที่เรือดำน้ำของตนจะโจมตีเรือโดยสารหรือเรือสินค้าจะเตือนให้รู้ตัวเสียก่อนและจะช่วยชีวิตคนโดยสารไว้

สหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงคราม

                 ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1917 นั้น เยอรมันต้องเผชิญกับสภาวะขาดแคลนอย่างหนักจากการถูกปิดล้อมของอังกฤษ เยอรมันจึงประกาศใช้เรือดำน้ำให้จมเรือทุกลำไม่ว่าจะติดอาวุธหรือไม่ หากเห็นอยู่รอบๆ เกาะอังกฤษและในท้องทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอีก ประธานาธิบดีวิลสันโต้ตอบการล้อมปิดเกาะอังกฤษของเยอรมันด้วยการตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับเยอรมัน ในขณะเดียวกัน ในต้นเดือนมีนาคม มติมหาชนก็หันไปเป็นศัตรูกับฝ่ายมหาอำนาจกลางอย่างเต็มที่เนื่องจากหน่วยสืบราชการลับทางนาวีของอังกฤษแอบดักจับโทรเลขลับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมัน ซิมเมอร์มาน แจ้งให้ทูตเยอรมันประจำเม็กซิโกทราบถึงการตัดสินใจของรัฐบาลที่จะเปิดฉากสงครามเรือดำน้ำอย่างไม่มีขอบเขตของเยอรมัน และสั่งว่าถ้าหากเยอรมันทำสงครามกับสหรัฐอเมริกา ทูตเยอรมันประจำเม็กซิโกจะต้องซักชวนให้เม็กซิโกกับญี่ปุ่นเข้าข้างฝ่ายมหาอำนาจกลาง ร่วมกันต่อสู้กับสหรัฐอเมริกา แล้วเยอรมันจะสนับสนุนให้เม็กซิโกได้ดินแดนนิวเม็กซิโก เทกซัส และแอริโซนาคืนจากสหรัฐอเมริกา มหาชนอเมริกันต่างพากันโกรธแค้นเยอรมันเป็นอย่างมากและต่างเรียกร้องให้ประกาศสงครามกับเยอรมัน ดังนั้นวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 1917 ประธานาธิบดีวิลสันได้อ่านสาส์นประกาศสงครามต่อรัฐสภาและสรุปท้ายสาส์นอันเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ฟังยิ่งนักว่า “เราจะต้องทำให้โลกนี้ปลอดภัยเพื่อธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย สันติภาพของโลกจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งเสรีภาพทางการเมืองที่ได้ผ่านการทดสอบกันมาแล้ว เรามิได้มีจุดมุ่งหมายที่เห็นแก่ตัว ไม่ปรารถนาชัยชนะ ไม่ปรารถนาอาณานิคม ไม่ต้องการค่าไถ่ถอนชดเชยให้ตนเอง ไม่ปรารถนาการชดเชยด้วยวัตถุต่อการเสียสละทั้งหลายแหล่ที่เราจะทำให้โดยไม่หวังค่าตอบแทน” อีกสองวันต่อมารัฐสภาได้ลงมติให้ความเห็นชอบการประกาศสงครามของประธานาธิบดีวิลสันด้วยคะแนนเสียงในวุฒิสภา 82 ต่อ 6 และในวันที่ 6 เมษายน สภาผู้แทนราษฏรก็ลงคะแนนเสียงให้วิลสัน 373 ต่อ 50 สหรัฐอเมริกาได้เข้าสู่สงครามนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1917 เป็นต้นมา การเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายพันธมิตรทำให้สหรัฐอเมริกาต้องกระทำสิ่งที่ตนไม่เคยกระทำมาก่อนสองประการ คือ การส่งคนจำนวนมหาศาลข้ามมหาสมุทรถึง 3,000 ไมล์ ไปรบกับมหาอำนาจฝ่ายมหาอำนาจกลาง และจะต้องระดมเศรษฐกิจของทั้งทวีปเพื่อสนับสนุนฝ่ายพันธมิตร

สงครามในยุโรป

                สหรัฐอเมริกาได้ส่งทหารถึง 2 ล้านคนเข้าไปร่วมรบในสมรภูมิยุโรปภายใต้การนำของนายพลจอห์น เจ. เปอร์ชิง (John J. Pershing) การเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 ของสหรัฐอเมริกาถือว่าเป็นส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้ฝ่ายพันธมิตรได้รับชัยชนะในที่สุด เนื่องจากในปลายปี ค.ศ. 1917 นั้นจักรวรรดิรุสเซียได้พ่ายแพ้แก่เยอรมันอันเป็นผลทำให้ฝ่ายพันธมิตรอ่อนกำลังลงเป็นอย่างมาก และทหารเยอรมันจากแนวรบด้านตะวันออกได้ถูกย้ายมาทางแนวรบด้านตะวันตก ซึ่งเยอรมันได้ทุ่มกำลังทั้งหมดเข้าทะลวงแนวป้องกันของฝ่ายพันธมิตรเพื่อเข้าตีกรุงปารีสในต้นปี ค.ศ. 1918 แต่ไม่เป็นผลสำเร็จและกองทัพของฝ่ายพันธมิตรสามารถตีโต้กลับไปได้ในเวลาต่อมา ครั้นเมื่อสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามจึงเข้าไปเสริมกำลังทางแนวรบด้านตะวันตก นอกจากนั้นรัฐบาลสหรัฐอเมริกายังให้เงินกู้แก่ฝ่ายพันธมิตรเป็นเงินจำนวนมาก เพื่อให้ฝ่ายพันธมิตรสามารถซื้อเสบียงอาหารและอาวุธยุทธโธปกรณ์ไว้ใช้ในการรบต่อไป และในเวลาเดียวกันนั้นกองทัพเรือของสหรัฐอเมริกาก็ได้เข้าร่วมในการปิดล้อมเยอรมันอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนได้ช่วยเหลือในการไล่ล่าเรือดำน้ำของเยอรมันมิให้ออกอาละวาดได้อีกต่อไป และมีการใช้เรือพิฆาตในการคุ้มกันเรือสินค้าต่างๆ เพื่อมิให้ถูกเรือดำน้ำของเยอรมันโจมตีได้อีก ในที่สุดกองทัพฝ่ายพันธมิตรรวมทั้งทหารกว่าล้านคนของสหรัฐอเมริกาก็สามารถเจาะแนวรับฮินเดนเบิร์กของเยอรมันได้เป็นผลสำเร็จในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1918 และต่อมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน เยอรมันก็ยอมจำนนในที่สุด สหรัฐอเมริกาเสียชีวิตทหารของตนไปในสนามรบ 48,000 คน หายสาบสูญไปในการรบ 2,900 คน เสียชีวิตเพราะโรคภัย 56,000 คน เมื่อเทียบกับการสูญเสียของฝ่ายพันธมิตรในยุโรปแล้ว นับว่าเป็นจำนวนน้อยมาก เพราะฝ่ายพันธมิตรต้องสู้รบมาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1914 รุสเซียเสียชีวิตทหารไปในการรบ 1,700,000 คน เยอรมัน 1,800,000 คน ฝรั่งเศส 1,385,000 คน อังกฤษ 947,000 คน ออสเตรีย-ฮังการี 1,200,000 คน แต่หากคำนึงถึงระยะเวลาอันสั้นเพียง 18 เดือนที่กองทัพอเมริกันทำการรบอยู่ในสมรภูมิแล้ว ก็จะต้องยอมรับว่าสหรัฐอเมริกาได้สูญเสียทั้งชีวิตทหารและทรัพยากรของชาติไปในการสงครามครั้งนี้อย่างมหาศาลเกินกว่าที่คนอเมริกันคาดไว้มากมาย

United States Of America Pointer

ความคิดเห็น

leole
leole 7 ก.พ. 54 / 22:51
 สถานการณ์ในสหรัฐอเมริการะหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1

ลัทธิอเมริกันและการเตรียมกำลังรบ

                การสงครามยิ่งเนิ่นนานคนอเมริกันก็ยิ่งเพิ่มความหวาดหวั่นวิตกยิ่งขึ้น แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะอยู่ห่างไกลจากสงครามก็ตาม ในภาวะเช่นนี้คนอเมริกันได้ไขว่คว้าหาสัญลักษณ์ที่คิดว่าจะเอาไว้ช่วยคุ้มครองตนให้พ้นจากสิ่งรบกวนรอบๆ ตัวได้ “ลัทธิอเมริกัน”(Americanism) จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ต่อต้านหรือทำลายสิ่งที่ตนหวาดระแวง ไม่ว่าจะเป็นนิโกร หรือคาทอลิก หรือยิว หรือพวกที่เรียกร้องให้สตรีมีสิทิออกเสียงเลือกตั้งทางการเมือง หรือการทดสอบคนเข้าเมืองด้วยวิธีการทดสอบว่าอ่านออกเขียนได้หรือไม่ ล้วนแต่มีข้ออ้างว่าทำไปเพื่อพิทักษ์ความเป็นอเมริกัน หรือเพื่อลัทธิอเมริกันทั้งสิ้น ประธานาธิบดีวิลสันได้หันไปสนับสนุนการขยายกำลังทัพบก ทัพเรือ และเรือพาณิชย์ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1916 รัฐบาลอเมริกันออก กฎหมายป้องกันชาติ (The National Defense Act) เพิ่มกำลังกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทหารรักษาการณ์แห่งชาติ จัดตั้งวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยการทหาร ออกกฎหมายจัดตั้งสภาพาณิชย์นาวีแห่งสหรัฐอเมริกา อนุมัติเงิน 50 ล้านดอลลาร์ ซื้อหรือสร้างเรือเดินสมุทรพาณิชย์ ในขณะเดียวกันประธานาธิบดีวิลสันก็จัดตั้ง สภาป้องกันชาติ (Council of National Defense) เตรียมไว้ในยามสงคราม

การเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1916

                วิลสันเสนอนโยบายสามประการในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ คือ สันติภาพ เตรียมพร้อม และลัทธิโพรเกรสซีฟ(Progressivism) พรรครีพับลิกันส่ง ชาร์ลส์ อีแวนส์ ฮิวส์ ผู้พิพากษาศาลสูงสุด อดีตผู้ว่าการนครนิวยอร์กผู้มีชื่อเสียงเข้ารับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ฮิวส์เสนอนโยบายให้สหรัฐอเมริกาวางตนเป็นกลาง และโจมตีนโยบายของวิลสันในด้านแรงงาน และการสร้างความสัมพันธ์กับเม็กซิโกว่าตนสามารถทำได้แข็งกร้าวกว่าวิลสัน การหาเสียงของฮิวส์ไม่น่าตื่นเต้นนัก ปัญหาเรื่องสงครามเป็นประเด็นใหญ่ที่ประชาชนสนใจว่ารัฐบาลใหม่จะทำสงครามหรือไม่   ผลของการเลือกตั้งของทั้งสองพรรคใกล้เคียงกันมาก พรรครีพับลิกันคิดว่าตนจะเป็นฝ่ายมีชัยในขั้นแรก แต่เมื่อภาคใต้ทั้งภาคและภาคตะวันตกเปลี่ยนใจมาเลือกพรรคเดโมแครท พรรครีพับลิกันจึงปราชัยอย่างหวุดหวิด พวกโพรเกรสซีฟ สังคมนิยม กรรมกร ชาวนา และนักต่อต้านสงครามลงคะแนนเสียงให้แก่พรรคเดโมแครท

การปรับตัวให้เข้ากับสภาวะสงครามของคนอเมริกัน และการเรียกระดมพล

                ขณะที่ประกาศสงคราม สหรัฐอเมริกามีทหาร 378,000 คนที่เข้าประจำการในกองทัพและกองทหารรักษาการณ์แห่งชาติ รัฐสภาออกกฎหมายเกณฑ์ทหาร ชายฉกรรจ์อายุตั้งแต่ 21 ถึง 30 ปี (ต่อมายืดออกเป็น 18 ปี ถึง 45 ปี) จะต้องขึ้นทะเบียนเป็นทหาร ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ชั้นด้วยกัน ชั้นที่หนึ่งได้แก่ชายดสดไม่มีพันธะต้องเลี้ยงดูผู้ใด จำนวน 2,810,000 คน ทำหน้าที่รับใช้ในกองทัพบก ชั้นต่อๆ ไป ได้แก่ ชายที่มีพันธะมากขึ้นเป็นลำดับ จนถึงชั้นที่เป็นผู้สูงอายุ และมีพันธะต้องเลี้ยงดูครอบครัวมากที่สุด

การจัดการเงิน

                ค่าใช้จ่ายในยามสงครามสูงมาก ชั่วระยะเวลาจากเดือนเมษายน ค.ศ. 1917 ถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1920 คิดเป็นจำนวนเงินถึง 32.8 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1917 รัฐบาลของประธานาธิบดีวิลสันออก กฎหมายกู้เงินยามฉุกเฉิน (Emergency Loan Act) และอาศัยอำนาจตามรัฐบัญญัตินี้ขายพันธบัตรเงินกู้ เรียกกันว่า พันธบัตรเสรีภาพ (The Liberty Bonds) จำนวน 5,000 ล้านดอลลาร์ โดยจ่ายดอกเบี้ยอัตราต่ำกว่าปกติ คือ ร้อยละ 3 ครึ่ง รัฐบาลได้นำเงินนี้ไปให้ฝ่ายพันธมิตรและชาติอื่นๆ ที่เข้าข้างฝ่ายพันธมิตรกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 รวมหนี้ที่ให้ต่างประเทศกู้เป็นเงินจำนวนถึง 7 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 รัฐบาลออก รัฐบัญญัติเงินรายได้ยามสงคราม (The War Revenue Act) เก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยทุกชนิดเพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์ บัตรภาพยนตร์ หมากฝรั่ง น้ำหอม เครื่องเพชรพลอย เครื่องดนตรี ตลอดจนยารักษาโรค บริษัทประกันชีวิตและทรัพย์สินก็ถูกเก็บภาษีสูงขึ้นโดยถูกจัดว่าอยู่ในรายการสินค้าประเภทที่แข่งขันกับพันธบัตรของรัฐบาล นอกจากนี้ยังเพิ่มอัตราภาษีรายได้สูงขึ้น โดยเก็บถึงสองในสามของผู้มีรายได้ 2,000,000 ดอลลาร์

การเร่งผลิตและการควบคุมอาหารและสิ่งจำเป็นในยามสงคราม

                รัฐบาลได้เร่งการผลิตทั้งด้านอาหารและยุทธสัมภาระให้ทันความต้องการของฝ่ายพันธมิตร นักอุตสาหกรรม เกษตรกร และนักธุรกิจต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี รัฐบาลจัดตั้ง สภาอุตสาหกรรมยามสงคราม ภายใต้การควบคุมของ เบอร์นาร์ด บารุช (Bernard Baruch) สภานี้ได้ใช้อำนาจเผด็จการจัดการเศรษฐกิจของคนอเมริกันโดยทำหน้าที่ตัดสินใจเสียเองว่า ควรจะใช้หรือไม่ควรใช้วัสดุประเภทใดในการผลิต ดูแลการผลิตโดยประหยัดแรงงานและวัสดุ และผลิตให้ได้ตามขนาดมาตรฐานที่ใช้กันอยู่ทั่วไป    ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1917 รัฐบาลเข้าควบคุมรถไฟทุกสาย และลดอัตราค่าโดยสารอย่างต่ำสุด ยกเลิกการแข่งขันในทางการค้า การจราจรทางน้ำก็เช่นเดียวกันถูกรัฐบาลเข้าควบคุม ไม่มีการเพิ่มทุน กำไรที่ได้ต้องจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นโดยตรงไม่ให้บริษัทนำไปลงทุนอีก คนอเมริกันกล่าวว่าครั้งนี้เป็นการก้าวก่ายในธุรกิจของเอกชนที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของคนอเมริกัน แต่ก็มิได้มีใครต่อต้านเพราะเห็นว่าเป็นยามสงคราม รัฐบาลได้จัดตั้ง สภาการพาณิชย์ในยามสงคราม เข้าควบคุมการค้ากับต่างประเทศ และคอยป้องกันมิให้สินค้าอเมริกันตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูอีกด้วย ชาวนาได้รับการสนับสนุนให้ปลูกมากขึ้น โดยรัฐบาลขึ้นราคาข้าวสาลีและผลิตผลทางการเกษตรชนิดอื่นๆ เป็นการล่อใจ เช่นเดียวกับการผลิตถ่านหิน และน้ำมัน ราคาข้าวสาลีขึ้นจากบุชเชลละ 1.43 ดอลลาร์ ใน ค.ศ. 1916 เป็น 2.16 ดอลลาร์ ใน ค.ศ. 1919

เครดิตๆ

http://gotoknow.org/blog/tsuhistory491011180/341547

goldfish-shin
goldfish-shin 8 ก.พ. 54 / 21:20
โอ้ =o= ความรู้แน่น ละเอียดมากเลยค่ะ
leole
leole 8 ก.พ. 54 / 21:44
 หุๆ=v="
เดวกะจะตั้งเกี่ยวกับนาซี แต่..ขี้เกียจหาข้อมูล= =+