ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เมืองซูโจว

    ลำดับตอนที่ #3 : วัดฉงหยวน เมืองซูโจว

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.26K
      0
      19 มี.ค. 54

     
    วัดฉงหยวน Chongyaun อยู่ที่ริมทะเลสาบหยางเฉิง (หู) ซึ่งช่วงฤดูหนาวของทุกปีจะมีทัวร์จากประเทศต่าง ๆ พาผู้คนไปกินปูขนกันแถว ๆ นี้ ทะเลสาบที่ว่านี้ถ้านั่งรถยนต์ออกจากเซี่ยงไฮ้ก็ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. แต่ถ้าออกจากเมืองซูโจวก็ใช้เวลาประมาณครึ่ง ชม. ในทะเลสาบจะเห็นกระชังเลี้ยงปูขนเรียงรายกันอยู่เต็มไปหมด อีกฝั่งหนึ่งของถนนก็จะมีร้านอาหารหรือภัตตาคารที่ขายปูขนตั้งเรียงรายกัน อยู่หลายร้าน ถ้าไปผิดฤดูกาลร้านแถวนี้ก็จะปิดดูร้าง ๆ และกลับมาคึกคักกันอีกทีก็ในช่วงที่มีเทศกาลกินปูขน
     
     
    ตรงลานจอดรถนี้มีแผ่นหินขนาดใหญ่ที่เอามาจัดเรียงต่อกัน แกะลายเป็นภาพของพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ คือ พระอมิตตาภพุทธเจ้า พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า และพระไภษัชยคุรุไวฑูรย์พุทธเจ้า ตามคติความเชื่อของพุทธศาสนานิกายมหายาน ในขณะที่ฝ่ายหินยาน หรือ เถรวาท จะให้ความสำคัญกับพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน
     
     
    กอไผ่ปลิวล้อลมอยู่ริมทางเดิน
     
     
    บริเวณลานหน้าซุ้มประตูปากทางเดินที่จะเข้าวัด ไม่ว่าจะเป็นวัดจีนหรือวัดไทยก็ชอบที่จะสร้างอะไรไว้ให้ดูยิ่งใหญ่อลังการเหมือน ๆ กัน
     

    เดินผ่านซุ้มประตูวัดเข้ามาแล้ว มองย้อนกลับออกไปทางด้านหน้าฝั่งถนนทางที่เข้ามา ด้านในของซุ้มประตูมีอักษรจีนเขียนไว้เยอะแยะ แต่อ่านไม่ออกสักตัวไม่รู้ว่ามีความหมายอย่างไรกันบ้าง บนพื้นกลางถนนตรงนี้มีแผ่นหินแกะสลักเป็นรูปมังกร 2 ตัว ไม่มีเจ๊หงส์มาเกี่ยวข้องด้วย
     
    ตรงเกาะกลางถนนมีเสาหินทำเป็นแท่งคล้ายเทียน ด้านบนก็เหมือนมีไฟเปลวเทียนอยู่ ส่วนฐานทำเป็นรูปดอกบัว
    แท่งเสาแบบนี้มีอยู่ด้วยกัน 7 เสา แกะสลักเป็นภาพเรื่องราวทางพุทธศาสนา ตั้งชื่อเรียกเอาเองว่า เสาอธิษฐาน
     
    เดินออกมาจากวัดมาที่ลานด้านหน้า ซึ่งฝั่งตรงข้ามวัดเป็นวิหารเจ้าแม่กวนอิมที่อยู่บนเกาะกลางทะเลสาบหยางเฉิง

     

    เป็นดินแดนที่ตั้งชื่อเรียกว่าเป็น ดินแดนแห่งพุทธะในผืนน้ำ

     

    สะพาน ที่ใช้เดินข้ามไปยังเกาะกลางน้ำนั้นเป็นสะพานมหากุศลแห่งการให้ที่มีชื่อ เรียกว่า สะพานมหาทาน หรือสะพานมหากรุณา เป็นสะพานที่มีวงโค้งของสะพานยาวถึง 19 โค้ง

     

    ทะเลสาบหยางเฉิงที่มีภาพความเจริญของตัวเมืองเป็นฉากหลัง บริเวณโดยรอบเกาะปลูกบัวไว้เป็นพุทธบูชา

     

    วิหาร เจ้าแม่กวนอิม หรือจะเรียกชื่อให้เป็นทางการก็ต้องเรียกว่า วิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์เป้นวิหารที่มีความสูงถึง 46 เมตร ถูกจัดว่าเป็นวิหารเจ้าแม่กวนอิมที่อยู่กลางทะเลสาบที่สูงที่สุดในประเทศจีน

     

    กำแพง โดยรอบเกาะสร้างเป็นรูปกลีบดอกบัว สิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่ใช้ประดับตกแต่งก็มักจะทำเป็นรูปดอกบัวด้วย พื้นที่บริเวณเกาะนี้บางทีก็เลยเรียกกันว่าเป็น ดินแดนแห่งดอกบัว

     

    ถึงจะเป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ แต่ก็ยังต้องอาศัยเทคนิคการก่อสร้างแบบจีนโบราณ

     

    นี่ เป็นตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยผสมผสาน บวกกับฝีมือในการจำลองสิ่งก่อสร้างแบบโบราณถ้าดูผ่าน ๆ ก็เหมือนเป็นอาคารเก่าที่สร้างมานานแล้ว หน้าตารุ่นราวคราวเดียวกับพวกพระราชวังโบราณของจีน

     

    ห้องด้านล่างโดยรอบวิหารใช้เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการ และพิพิธภัณฑ์

     

    มีภาพแกะสลักลวดลายลงบนแผ่นโลหะเป็นเรื่องราวทางพุทธศาสนาสวย ๆ ให้ชม

     

    รูปปูนปั้นโบราณที่นำมาจัดแสดง เห็นแล้วก็ชักไม่ค่อยแน่ใจว่าจะเป็นของเก่า ก็เพราะความมีฝีมือในการทำของจำลองได้เนียนแบบจีนนี่แหละ

     

    เจ้า แม่กวนอิมปางอุ้มเด็ก เคยได้ยินคนจีนเรียกว่า จุ้ยแซเนี้ย ถ้าฟังหรือจำมาผิดก็ต้องขออภัย เห็นคนที่มีบุตรยากจะไปอธิษฐานขอบุตรกัน หรือคนที่ตั้งท้องแล้วก็จะไปอธิษฐานขอให้ท่านช่วยปกป้องรักษาบุตร

     

    ขึ้นไปบนระเบียงชั้น 2 ของวิหาร ใช้เป็นจุดชมวิวได้รอบเกาะ

     

    ทางด้านนี้จะเห็นส่วนที่เป็นวัดฉงหยวน ซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือของวิหารเจ้าแม่กวนอิม

     

    สำหรับประตูทางเข้าตัววิหารที่จะไปกราบบูชาเจ้าแม่กวนอิมจะอยู่ทางด้านทิศใต้ โดยองค์เจ้าแม่กวนอิมจะยืนหันพระพักตร์ไปทางด้านทิศใต้

     

    องค์ เจ้าแม่กวนอิมที่นี่เป็นทองสำริดแล้วปิดทองให้ดูสวยงาม ขนาดความสูง 33 เมตร มีน้ำหนักถึง 80 ตัน ถือว่าเป็นรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมที่อยู่ภายในอาคารที่ใหญ่และหนักที่สุดใน ประเทศจีน

     

    เรื่อง ของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นี้ ทางฝ่ายหินยานไม่ได้มีการพูดถึงไว้เลย แต่ทางฝ่ายมหายานนั้นกลับปรากฏเรื่องราวที่มีความสำคัญ จนกลายเป็นที่รู้จักและเป็นที่บูชากราบไหว้กันทั่วไป ทางวิชาการจึงเชื่อว่าเรื่องราวของพระอวโลกิเตศวรนี้มีขึ้นหลังจากการเกิด ขึ้นของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานแล้ว ซึ่งก็คงเป็นในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 หรือ 7 พระนาม อวโลกิเตศวร มีความหมายถึง ผู้เป็นใหญ่ที่เฝ้าดูแลสรรพสัตว์ผู้ตกอยู่ในห้วงทุกข์ คนจีนเรียกว่า กวนซีอิม หรือ กวนอิม

    แรก เริ่มนั้นทั้งในอินเดียและจีนช่วงต้นที่ศาสนาพุทธเริ่มเผยแผ่เข้าไป พระอวโลกิเตศวรก็ยังมีเพศเป็นชาย ทางญี่ปุ่นเรียกท่านว่า กวานนอน หรือ กวันนอน ก็มีเพศเป็นชาย แต่ต่อมาว่ากันว่าช่างชาวจีนได้สร้างรูปบูชาที่เป็นหญิงขึ้น เพื่อแสดงออกถึงความเมตตากรุณาและความอ่อนโยน จนกลายเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันในนามของ เจ้าแม่กวนอิม

    ฝ่ายมหายาน นั้นเชื่อว่าพระอวโลกิเตศวรเป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งประทับอยู่ในแดนสุขาวดี คอยช่วยพระอมิตตาภพุทธเจ้า โปรดสรรพสัตว์ที่ยังตกอยู่ในห้วงทุกข์ และเมื่อพระอมิตตาภพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานแล้ว ก็จะเป็นผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปของแดนสุขาวดีนั้น

    ที่ผนังของวิหารยังมีเจ้าแม่กวนอิมองค์เล็ก ๆ ขนาดความสูง 33 เซนติเมตร เรียงอยู่โดยรอบอีก 9,999 องค์

    ลวดลายบนแท่นบูชาซึ่งทำจากโลหะ

     

    ภาย ในวิหารมีลิฟท์ขึ้นไปที่ชั้น 5 ไม่รู้ว่าเขาอนุญาตให้ขึ้นมาหรือเปล่า แต่ก็ขึ้นมาแล้ว ก็เลยมีโอกาสได้เห็นว่าฐานที่ประทับยืนของเจ้าแม่กวนอิมเป็นรูปดอกบัว

    ที่ชั้น 5 นี้ เป็นระดับเดียวกันกับช่วงพระเศียรของเจ้าแม่กวนอิม

    เดินดูโดยรอบได้ ซึ่งจะได้เห็นทั้งด้านหน้าพระพักตร์

     

    และลวดลายของผ้าคลุมพระเศียรทางด้านหลัง

     

    ในพระหัตถ์ซ้ายเป็นแจกันน้ำอมฤต ส่วนในพระหัตถ์ขวาเป็นกิ่งหลิว ซึ่งบางคนก็บอกว่าเป็นกิ่งทับทิม

    ลง จากวิหารมาที่ด้านล่าง เห็นตามต้นไม้มีผ้าแดงเขียนชื่อคนผูกอยู่เป็นจำนวนมาก น่าจะเป็นการมาอธิษฐานขอพรหรือขอความช่วยเหลือจากเจ้าแม่กวนอิม

     

    ทุก ครั้งที่ได้ไปไหว้เจ้าแม่กวนอิมไม่ว่าที่ไหน สิ่งที่มักจะนึกถึงได้ก็คือเรื่องราวของความเมตตากรุณาที่มากมายของท่าน จนได้รับเรียกขานว่าเป็น Goddess of Mercy ด้วยความที่ท่านทรงสามารถจะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อใดก็ได้ แต่ด้วยความที่ท่านยังมีความกรุณาสงสารทรงห่วงใยปวงสรรพสัตว์ ท่านก็เลยยับยั้งการบรรลุนั้นไว้


    ลิขสิทธิ์เรื่องและภาพในบทความนี้เป็นของ www.chaiyaprukthailand.com

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×