L@k$Am0Ln
ดู Blog ทั้งหมด

ใครอ่านและชอบนิยายแนวนี้บ้าง "ศิวาราตรี" ของอาจารย์พนมเทียน

เขียนโดย L@k$Am0Ln

ศิวาราตรี

Shivaratri



ประพันธ์กรชั้นครู “พนมเทียน” ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า สุดยอดนิยายการผจญภัยในป่าดงดิบ “เพชรพระอุมา” นั้น เปรียบเสมือนตัวของ “พนมเทียน” เอง เป็นเสมือนทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเขาที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์กว่าครึ่งหนึ่งของชีวิต แต่หากจะถามต่อไปว่า “พนมเทียน” รักและภูมิใจนิยายเรื่องใดมากที่สุดในชีวิตการเขียนหนังสือที่ผ่านมา คำตอบที่ได้รับกลับเป็น “ศิวาราตรี” 

แล้วยอดนักประพันธ์ก็ให้คำอรรถาธิบายต่อไปว่า การเขียน “ศิวาราตรี” นั้น เขาได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ได้ร่ำเรียนมาด้านภาษาศาสตร์ และโบราณคดี บรรจุความไพเราะแห่งถ้อยคำ ผนวกกับความรู้ทางประวัติศาสตร์แห่งดินแดนชมพูทวีปลงไปในจินตนิยายเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ยิ่งกว่าเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น 

และความจริงก็เป็นดังนั้น “พนมเทียน” ใช้ความงดงามแห่งภาษาศาสตร์เขียน “ศิวาราตรี” ขึ้นมา แทบจะเรียกได้ว่า ทุกวรรค ทุกตอน แม้แต่การเอ่ยนามของนางเอกในเรื่อง “พนมเทียน” เขียนไว้ว่า 

“เจ้าหญิงยามาระตี ยุพดีขวัญฟ้า นายิกาแห่งดาราพราย” 

ผู้อ่านจะมีความรู้สึกคล้อยตามทันทีว่าองค์หญิงยามาระตีนั้นทรงความงดงามสักปานใด 

นี่คือความสามารถในเชิงภาษาของ “พนมเทียน” ที่บรรจุไว้ในจินตนิยายเรื่องยิ่งใหญ่นี้ นอกจากความงดงามดังกล่าวแล้ว เค้าโครงเรื่อง “ศิวาราตรี” ยังเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ประทับใจไม่รู้เลือน ไม่ว่าจะเป็นฉากรบที่ยิ่งใหญ่เหนือท้องทุ่งเชิงผาสิงห์คำรน ความผูกพันที่แนบแน่นแห่งสามหน่อมิลักขะ คือ ทุษยันต์ เวชยันต์ และ ทัสสยุ สามฝาแฝดที่มีชะตาชีวิตซึ่งแตกต่างกันมาก 

คนโตคือ “ทุษยันต์” ถูกอารยันอันเป็นชนชาติศัตรูนำไปชุบเลี้ยงไว้และต้องมาห้ำหั่นโรมรันกับ “เวชยันต์” น้องชายคนกลางผู้เป็นกำลังสำคัญในการกอบกู้เอกราชของมิลักขะ และ “ทัสสยุ” น้องชายคนเล็ก ผู้พยายามทุกวิถีทางที่จะประสานสัมพันธ์ของพี่ชายทั้งสองเข้าด้วยกันให้จงได้ ความเสียสละอันยิ่งใหญ่ในรูปแบบที่ต่างกัน ได้ปรากฏชัดในเรื่องนี้อยู่หลายครั้งหลายหน ไม่ว่าจะเป็นการเสียสละชีพเพื่อกู้ชาติของเหล่ามิลักขะ การเสียสละของ “ทุษยันต์” ที่มีให้แก่น้องชายและเชื้อชาติ การเสียสละของ “โรหิตา” หญิงผู้อาภัพเพื่อชัยชำนะแห่งองค์พิษณุมหาราช จอมกษัตริย์แห่งอารยันและการเสียสละอันยิ่งใหญ่ของผู้เป็นบิดา ที่จำต้องประหารลูกสุดที่รัก ด้วยน้ำมือตนเอง 



นี่คือ ความยิ่งใหญ่อลังการแห่ง “ศิวาราตรี” จินตนิยายที่สมบูรณ์แบบที่สุดในชีวิตการเขียนของ “พนมเทียน” ผู้ได้รับการยกย่อง ประกาศเกียรติคุณให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาวรรณศิลป์ ปีพ.ศ.2540
 
จินตนิยายที่ผู้เขียนถึงกับลั่นวาจาออกไปว่า จะไม่เขียนเรื่องทำนองนี้อีกต่อไป เพราะทุกสิ่งทุกอย่างได้ถูกบรรจุไว้ใน “ศิวาราตรี” จนไม่สามารถที่จะเขียนเรื่องทำนองเดียวกันนี้ออกมาได้งดงาม ยิ่งใหญ่เท่ากับเรื่องนี้อีกแล้ว 
นอกจากที่กล่าวถึงมาแล้ว “ศิวาราตรี” ยังเปี่ยมด้วยฉากรักที่ประทับใจ ฉากความทารุณโหดร้ายที่ผู้ชนะกระทำเอากับผู้อยู่ใต้เบื้องบาทแห่งตน จนเป็นชนวนเหตุแห่งสงครามเลือดนองแผ่นดิน 

“พนมเทียน” เคยเขียนเรื่องแนวจินตนิยายที่มีเค้าโครงเรื่องผูกพันกับดินแดนภารตะมาก่อนหน้า “ศิวาราตรี” สองเรื่องด้วยกัน คือ “จุฬาตรีคูณ” และ “ปฐพีเพลิง” แต่หากจะรวมความยิ่งใหญ่ งดงาม และประทับใจของจินตนิยายสองเรื่องนี้เข้าด้วยกัน ก็คงไม่อาจทัดเทียมได้กับ “ศิวาราตรี” เพียงเรื่องเดียว 

มาเถิด ภราดา…บัดนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะเปิดพลิกไปพบกับจินตนิยายจากปลายปากกาที่แหลมคมเพริศแพร้วของนักเขียนนามอุโฆษ “พนมเทียน” ผู้ซึ่งบรรจงสร้างสรรค์จินตนิยายเรื่องนี้ไว้อย่างชนิดฝากฝีมือให้ลือลั่นในปฐพี 

มาเถิด ภราดา…บัดนี้ เรื่องราวแห่งความสนุกสนานประทับใจและงดงามด้วยศิลปะแห่งภาษาศาสตร์ของ “ศิวาราตรี” ได้รอคอยการพิสูจน์จากท่านอยู่ในมือแล้ว ตามเรามาเถิด…ไปสู่ดินแดนรูปดอกบัวแห่งชมพูทวีปในยุคก่อนพุทธกาลโน้น แลดื่มด่ำอรรถรสอันแสนประทับใจแห่ง “ศิวาราตรี” ณ บัดนี้…

เรื่องย่อ


เริ่มต้นด้วยการยกทัพมาของชนเผ่าอารยัน (คนขาว) นำโดยพิษณุมหาราช ที่สามารถเอาชนะปราบดินแดนต่างๆได้อย่างกว้างขวางจนสามารถเอาชนะชนเผ่ามิลักขะ (คนดำ)ได้อย่างราบคาบ แล้วขึ้นปกครองเป็นกษัตริย์แทนกษัตริย์องค์ก่อนที่เสียชีวิตขณะกำลังหลบหนีศัตรู โดยพระโอรสฝาแฝดทั้งสามคือ ทุษยันต์ เวชยันต์ และทัสสยุได้ถูกคนสนิทช่วยกันลักลอบพาหนี โดยทัสสยุถูกนักมายากลฝีมือดีนำไปเลี้ยง ขณะที่เวชยันต์เกือบตายด้วยหอกแห่งพิษณุมหาราชแต่บังเอิญตกไปในน้ำที่กำลังกระทำพิธีลอยบาปบูชาเทพกันอยู่ และถูกนางสิงห์อัวรานำไปเลี้ยงที่ผาสิงห์คำรน โดยมีนายโจรนกุลาคอยเลี้ยงดู และจะเกิดวิปลาสคลุ้มคลั่งทุกวันที่พระจันทร์เต็มดวง ขณะที่ทุษยันต์พี่คนโต ถูกนักบุญสุภัททะนำไปเลี้ยงดู ดังนั้นทั้งสามคนจึงเติบโตมาโดยไม่รู้จักกัน และมีนิสัยที่ต่างกัน มีเพียงรอยสักพระนามและตราราชวงศ์เท่าแผ่นหลังเท่านั้นที่เหมือนกัน ด้านนางเอก ยามาระตี เป็นธิดาของพิษณุมหาราช แต่เกลียดชังความโหดร้ายทารุณ และเห็นใจชาวมิลักขะ ต้องการให้เกิดแต่ความสันติสุขระหว่างสองเผ่าพันธุ์ แต่ความสมานฉันท์ย่อมไม่สามารถบังเกิดได้ขึ้นง่ายๆ เมื่อฝ่ายหนึ่งจะเต็มไปด้วยความแค้น ส่วนอีกฝ่ายก็ไม่ต้องการสูญเสียอำนาจ (คล้ายๆบ้านเราตอนนี้ไงไม่รู้) จึงนำไปสู่มหายุทธครั้งใหญ่ และกลศึกมากมายระหว่างสองเผ่า ทั้งมีตัวละครอื่นๆเข้ามามีบทบาทเสริมความสนุกและความซาบซึ้งให้กับเรื่องอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นขุนโจรนกุลา, แม่มดวาชิกา, อัสกรรณฑ์กษัตริย์ใจโฉด, ชนเผ่าทมิฬ, ดุสิตาสาวงามนักฆ่าแห่งมิลักขะ, สินธุพ่อค้าลูกสัตว์, ขุนพลวัชระ องครักษ์ผู้ภักดีต่อราชวงศ์มิลักขะ และอีกมากมายที่ชวนให้เราไปติตตามอ่าน

ต้องยอมรับว่าสนุกและติดมาก อ่านจบเล่มหนึ่งก็ต้องรีบไปยืมอีกเล่มต่อทันที เพราะเนื้อหาทุกตอนน่าติดตาม คาดเดาได้ยาก และภาษาก็สวยงาม เหมือนอ่านร่ายที่ไม่ได้ร้อยกรองอย่างจงใจตลอดทั้งเรื่อง นอกจากนี้เรื่องราวยังมีความเข้มข้นทั้งแง่การยุทธและในแง่ของความรัก พระเอกทั้งสามก็ต่างมีบุคลิกที่แตกต่างและโดดเด่น ชวนให้รักทั้งสามคน อย่างตอนแรกก็รักทัสสยุ อ่านๆไปเริ่มปลื้มทุษยันต์ และจนสุดท้ายเรื่องกลับรักและลุ้นไปกับเวชยันต์ซะอย่างนั้น

เอาเป็นว่าไม่อยากโฆษณามากแต่ขอให้ลองไปอ่านกันดูเองดีกว่า รับรองได้ว่าสนุกแน่นอน แม้ว่าเรื่องจะยาวมาก อย่างตอนนี้ที่ ณ บ้านวรรณกรรมตีพิมพ์อยู่มีทั้งหมด 8 เล่ม แบ่งเป็น 2 ตอน 
4 เล่มแรกคือตอนยุพดีขวัญฟ้า และ 4 ตอนหลังคือ มหายุทธการ รวมทั้งสองตอนก็สนนราคาไม่มากประมาณ 1,200 - 1,400 บาท (ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นลดราคากี่เปอร์เซนต์ แนะนำให้หาซื้องานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเพราะลดราคาเยอะทีเดียว หรือไม่ก้สมัครสมาชิก สนพ. ณ บ้านวรรณกรรมไปเลยดีกว่า - ราคาไม่มากแต่ขนหน้าแข้งและน้ำตาร่วงได้ทีเดียว) กล่องสวยงามน่าสะสม

แต่ทว่าคุ้มค่าจริงๆ คอหนังสืออย่าได้พลาด หนังสือในเครือสำนักพิมพ์นี้ คุณภาพจริงๆ รวมถึงใครที่อ่านแล้ว อย่าลืมมาแชร์กันหน่อย ชอบเรื่องนี้มาก อยากเม้าท์ๆๆ ชอบใคร รักใคร ในเรื่อง เม้าท์กันได้นะ จะรอแฟนหนังสือเรื่องนี้และแฟนอาจารย์พนมเทียน

อ่านความคิดเห็นแฟนนิยายเรื่องนี้
http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K6344599/K6344599.html

ประวัติผู้แต่ง

นายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ (เกิด 23 พฤศจิกายน 2474 ที่จังหวัดปัตตานี) นักเขียนนวนิยายที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของไทย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2540 เป็นเจ้าของนามปากกา พนมเทียน ผู้แต่ง เพชรพระอุมา, มัจจุราชสีรุ้ง, ภูติสีชมพู, ละอองดาว, มัสยา, รัตติกาลยอดรัก, รัตติกัลยา, กัลปังหา, ก่อนอุษาสาง, จับตาย, ทางเสือผ่าน, กว่าชีวิตนี้จะสิ้น, ชั่วฟ้าดินดับ, ทิวาถวิล, คิมหันต์สวรรค์หาย, ฆาตกรในเสื้อกาวน์, วีนัสกับศพเปลือย, ไม่มีเสียงจากสวรรค์, ทูตนรก, นางสิงห์, พรายพิฆาต, เด็กเสเพล, รัศมีแข, ล่าพระกาฬ, ล่ามัจจุราช, สกาวเดือน, เห่าดง, เหล็กไหล, อาถรรพณ์ป่า, แววมยุรา, เล็บครุฑ, สิงห์สั่งป่า, ปฐพีเพลิง, ศิวาราตรีและจุฬาตรีคูณ







ขอบคุณที่มา:http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=tudsthai&date=23-04-2009&group=4&gblog=3
สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม
วิกิพีเดีย ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ

ความคิดเห็น

khaijio
khaijio 21 ม.ค. 53 / 08:02
เข้ามาเยี่ยมเยียนเฉยๆ เรื่องนิยายไม่คุยแล้วกันนะพี่
ความคิดเห็นที่ 2
เป็นคนหนึ่งที่ชอบอ่านนิยายตั้งแต่เป็นวัยรุ่น เคยอ่านเรื่องเพชรพระอุมา สนุกมากๆๆๆ
venelin
venelin 7 มี.ค. 54 / 18:05
 ชอบมากค่ะ  ศิวาราตรี  แต่เราเพิ่งอ่านแค่ยุพดีขวัญฟ้า  ยังไม่ได้อ่าน  มหายุธการ
2551
2551 18 มี.ค. 54 / 15:33

เป็นนิยายที่ประทับใจมากค่ะเรื่องนี้ (โดยส่วนตัว)ชอบมากกว่าเพชรพระอุมาอีก
มีหลายๆมุมมองนะคะที่คุณพนมเทียนสอดแทรกเข้าไปในเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นด้านมนุษยธรรม การปกครอง ความรู้สึกของการถูกกดขี่เป็นเบี้ยล่าง และสุดท้ายคือความงามของภาษาที่วิจิตรไพเราะมาก

ปล. ดีใจจังที่มีคนชอบเรื่องนี้หลายคน^^

ความคิดเห็นที่ 5
เป็นนวนิยายที่ชอบมากอีกเรื่องหนึ่งจนต้องไปสอยมาสะสม
ปล.แต่ตอนจบแอบนอยด์คุณพนมเทียนไปหลายวันเลย T^T
ความคิดเห็นที่ 6
เคยเห็นมีเป็นม้วนวิดีโอด้วย ศิวาราตรี
แต่นานมากแล้ว เคยเห็นบ้างมั๊ย
อยากได้จัง
ความคิดเห็นที่ 7
เคยอ่านหลายจบเลยหละ สมัยเป็นวัยรุ่นเรียน ม. ปลาย ตอนนี้อยู่วัยร่วง
ก็ยังพอจะจำได้ ไม่เห็นมีใครสร้างเป็นหนังบ้างเลย
ความคิดเห็นที่ 8
อ่านแล้วชอบมาก
จุไรพร
จุไรพร 2 มี.ค. 57 / 00:59
ศิวาราตรี อ่านสนุกมากค่ะเคยอ่านเมื่อสมัยเรียนมหาลัย ติดงอมทีเดียว ภาษาสวยมากๆ จนฝันอยากจะเป็นนักเขียนเลยทีเดียว
Lorr kodd
Lorr kodd 27 พ.ค. 57 / 16:17
“เวชยันต์”  ผมก็ชื่อ เวชยันต์ เป็นลูกคนกลางเหมือนกัน พ่อมีลูกชายสามคน  อืม
พีพี
พีพี 2 ก.ย. 57 / 09:51
อ่านอยู่จ้า...........อ่านทุกเล่มที่เป็นของลุงพนมเทียน..จ้า...สนุกในสามโลก