ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    อารยธรรมตะวันออก ; อารยธรรมจีน ✔

    ลำดับตอนที่ #2 : อารยธรรมจีน :: แหล่งกำเนิดอารยธรรมจีน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 11.72K
      9
      16 ก.พ. 54

    แหล่งกำเนิดอารยธรรมจีน

                ประเทศจีน เป็นประเทศที่มีอารยธรรมยาวนานที่สุดประเทศหนึ่ง หลักฐานทางประวัติศาสตร์สามารถบ่งชี้ว่า อารยธรรมจีนมีอายุถึง 5,000 ปี รากฐานที่สำคัญของอารยธรรมจีนคือ การสร้างระบบภาษาเขียนและการพัฒนาแนวคิดลัทธิขงจื๊อ ประวัติศาสตร์จีนมีทั้งช่วงที่เป็นปึกแผ่นและช่วงที่แตกเป็นหลายอาณาจักรสลับกันไป

    อารยธรรมจีน ก่อกำเนิดขึ้นในบริเวณพื้นที่ราบอันกว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำหวางเหอ หรือแม่น้ำเหลืองในภาคเหนือของจีน จัดว่าเป็นอารยธรรมลุ่มแม่น้ำรุ่นแรกของโลก เช่นเดียวกับอารยธรรมลุ่มน้ำไนล์ในอียิปต์ อารยธรรมลุ่มแม่น้ำไทกรีสและยูเฟรทีสในเมโสโปเตเมีย และอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุในอินเดีย


               อารยธรรมจีนในสมัยเริ่มแรก เต็มไปด้วยนิยายและตำนาน บ้างก็เล่าถึงผู้สอนมนุษย์ให้ใช้ไฟด้วยการเอาไม้ 2 ท่อนมาเสียดสีกัน เล่าถึงผู้ที่สอนให้มนุษย์รู้จักตกปลา เลี้ยงสัตว์ และผู้สั่งสอนให้มนุษย์รู้จักการเพาะปลูก การแพทย์ และเล่าถึงพระเจ้าฮ่องเต้ผู้ที่สร้างความเจริญหลายอย่างให้แก่จีน เราไม่สามารถสันนิษฐานจากข้อมูลเหล่านี้ได้ว่ามีความจริงอยู่มากน้อยเพียงใด แต่เมื่อมีการขุดค้นโบราณวัตถุขึ้น จึงมีหลักฐานว่า "อารยธรรมจีนได้รุ่งเรืองมาแล้วแต่โบราณ"



    แม่น้ำเหลือง หรือแม่น้ำหวางเหอ

    ในบริเวณลุ่มแม่น้ำหวางเหอเป็นที่ราบอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากปกคลุมด้วยดินสีเหลืองที่เรียกว่า ดินเลิสส์ (loess) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเกษตร ในหน้าน้ำจะมีน้ำมากจนเอ่อล้นและจะพัดพาเอาดินตะกอนมาทับถมกัน ทำให้บริเวณนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ แต่ก็ทำให้เกิดน้ำท่วมเสมอ สภาพภูมิอากาศเป็นเขตอบอุ่น ปริมาณฝนในหน้าแล้งมีน้อยจึงมีน้ำไม่เพียงพอ ต้องอาศัยน้ำจากแม่น้ำเป็นสำคัญ ปัจจัยดังกล่าวทำให้ชาวจีนอยู่รวมกันเป็นชุมชนและสร้างระบบชลประทานขึ้น ด้วยการขุดคลองเพื่อระบายน้ำในขณะที่แม่น้ำมีน้ำเอ่อล้น และทดน้ำและเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง

    ทรัพยากรธรรมชาติลุ่มแม่น้ำหวางเหอมีป่าไม้และแร่ที่สำคัญ เช่น ถ่านหิน เหล็ก ตะกั่ว ทองแดง สังกะสี สภาพภูมิศาสตร์บริเวณลุ่มแม่น้ำทำให้ชาวจีนสร้างสรรค์อารยธรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อเอาชนะธรรมชาติ เช่น การคำนวณฤดู การควบคุมอุทกภัย ซึ่งชาวจีนได้นำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และก่อให้เกิดการรวมตัวเป็นชุมชน มีการเกณฑ์แรงงานเพื่อควบคุมระบบชลประทานภายใต้ผู้นำชุมชน ซึ่งต่อมากลายเป็นชนชั้นปกครองและระบบกษัตริย์



    แผนที่ทางภูมิศาสตร์ของจีน

    นอกจากนี้ลักษณะที่ตั้งของจีนซึ่งมีปราการธรรมชาติ คือ ทางตะวันออกมีมหาสมุทรแปซิฟิก ทางใต้เต็มไปด้วยภูเขาและป่าดิบร้อน ทางตะวันตกและทางเหนือเป็นทุ่งหญ้า ทะเลทรายและภูเขา มีส่วนช่วยให้อารยธรรมจีนคงอยู่มาต่อเนื่องยาวนานโดยได้รับอิทธิพลจากดินแดน อื่นๆ น้อยมาก


    ที่มารูป http://news.nipa.co.th/news.action?newsid=205845 - แม่น้ำเหลือง
    http://www.tripandtrek.com/map/show.php?Category=&No=313 - แผนที่ทางภูมิศาสตร์ของจีน

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×