คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #12 : อารยธรรมจีน :: อารยธรรมจีนสมัยประวัติศาสตร์ ; ราชวงศ์หมิง (50%)
ราชวงศ์หมิง
ราชวงศ์หมิงเป็นราชวงศ์ของจีนสถาปนาโดยจูหยวนจาง(จักรพรรดิหงหวู่)ซึ่งในสมัยราชวงศ์หมิงมีการส่งกองเรือออกเดินทางจากจีนแผ่นดินใหญ่ไปจนถึงแอฟริกา
ปี พ.ศ. 1911 จูหยวนจาง หรือจักรพรรดิหงหวู่ องค์ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ครองราชย์ที่เมืองนานกิง และได้สถาปนาราชวงศ์หมิงขึ้น 31ปีแห่งการครองอำนาจ จักรพรรดิหมิงไท่จู่ได้เสริมสร้างระบอบรวมศูนย์อำนาจรัฐเผด็จการแบบศักดินาให้เข้มแข็งขึ้นอย่างสุดความสามารถ จักรพรรดิหมิงไท่จู่ประหารขุนนางผู้มีคุณูปการ ฆ่าผู้คนที่มีความเห็นที่ไม่เหมือนพระองค์ เพิ่มอำนาจของจักรพรรดิให้มากขึ้น ปราบปรามอิทธิพลที่ต่อต้านพระองค์ หลังจากจักรพรรดิหมิงไท่จู่สวรรคตแล้ว จักรพรรดิเจี้ยนเหวินซึ่งเป็นพระราชนัดดาองค์หนึ่งได้ขึ้นครองราชย์ ต่อมาไม่นาน จูตี้ ผู้เป็นปิตุลาของจักรพรรดิเจี้ยนเหวินซึ่งเป็นได้ลุกขึ้นต่อสู้และโค่นอำนาจรัฐของจักรพรรดิเจี้ยนเหวินลง จูตี้ได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิหมิง เฉิงจู่หรือจักรพรรดิหย่งเล่อ ในปี ค.ศ. 1421 จักรพรรดิหย่งเล่อได้ย้ายเมืองหลวงจากเมืองหนานจิงไปยังกรุงปักกิ่ง
แม้รัฐบาลของราชวงศ์หมิงจะเสริมระบอบรวมศูนย์อำนาจรัฐให้มากขึ้นก็ตาม แต่มีจักรพรรดิหลายองค์ไม่ทรงพระปรีชาหรือไม่ก็ทรงพระเยาว์ ไม่สนพระทัยการบริหารประเทศ อำนาจจึงตกอยู่ในมือของเสนาบดีและขันที พวกเขาทุจริตคดโกงและขู่เข็ญรีดเอาเงิน ทำร้ายขุนนางที่ซื่อสัตย์ กิจการบริหารบ้านเมืองเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ ความขัดแย้งในสังคมรุนแรง ช่วงกลางสมัยราชวงศ์หมิงจึงเกิดการลุกขึ้นต่อสู้ของชาวนาหลายครั้งหลายหนแต่ถูกปราบปรามลงได้
ในสมัยราชวงศ์หมิง เคยมีนักการเมืองที่มีชื่อเสียงชื่อจางจวีเจิ้ง สามารถคลี่คลายความขัดแย้งกันทางสังคมและกอบกู้การปกครองของราชวงศ์หมิงด้วยวิธีดำเนินการปฏิรูป เขาปรับปรุงระบบขุนนาง พัฒนาการเกษตร ซ่อมแซมแม่น้ำและคูคลอง และได้รวมภาษีอากรและการกะเกณฑ์บังคับต่างๆเป็นหนึ่งเดียวได้ช่วยลดภาระของประชาชนลงไปได้บ้างระดับหนึ่ง
ในสมัยราชวงศ์หมิง การเกษตรพัฒนามากขึ้นกว่ายุคก่อน การทอผ้าไหมและการผลิตเครื่องเคลือบดินเผามีความก้าวหน้ารุ่งเรือง การทำเหมืองเหล็ก การหล่อเครื่องทองเหลือง การผลิตกระดาษ การต่อเรือเป็นต้นก็มีการพัฒนาอย่างมาก การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างประเทศมีบ่อยครั้ง เจิ้งเหอซึ่งชาวไทยเรียกกันว่าซำเปากงได้นำกองเรือจีนไปเยือนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกาทั้งหมดกว่า30ประเทศถึง 7 ครั้งตามลำดับ แต่หลังช่วงกลางราชวงศ์หมิงเป็นต้นมา จีนถูกการรุกรานจากหลายประเทศรวมทั้งญี่ปุ่น สเปน โปรตุเกส และเนเธอร์แลนด์เป็นต้น
ในสมัยราชวงศ์หมิง เศรษฐกิจการค้าก็ได้พัฒนาเริ่มปรากฏเป็นเค้าโครงของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ในช่วงต้นราชวงศ์หมิง จีนมีที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ไม่มีเจ้าของจำนวนมากมาย จักรพรรดิหมิงไท่จู่ได้รวบรวมคนพเนจร ลดและงดภาษีอากรให้พวกเขา ทำให้จำนวนชาวนามีที่นาทำเองเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆทางเกษตรเช่นใบยาสูบ มันเทศ ข้าวโพดและถั่วลิสงเป็นต้นก็ได้มีการนำเข้ามาในจีน ในสมัยราชวงศ์หมิงงานหัตถกรรมประเภทต่างๆเช่น เครื่องเคลือบดินเผาและสิ่งทอเป็นต้นได้พัฒนาถึงระดับค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกิจการทอผ้าไหม มีเจ้าของโรงงานผลิตสิ่งทอที่มีเครื่องปั่นด้ายจำนวนหลายสิบเครื่อง และ”ช่างปั่นทอ”มีฝีมือที่รับจัดตามสั่งโดยเฉพาะขึ้นแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเริ่มต้นขึ้นแล้ว ในสมัยราชวงศ์หมิงมีสินค้าหลากหลายชนิด การแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าเป็นไปอย่างคึกคัก ในสถานที่ที่มีผลผลิตอุดมสมบูรณ์และการคมนาคมสะดวกได้ก่อรูปขึ้นเป็นศูนย์การค้าทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เกิดเมืองใหญ่ที่มีความเจริญรุ่งเรืองเช่น ปักกิ่ง นานกิง ซูโจว หางโจว กว่างโจว เป็นต้น
ในสมัยราชวงศ์หมิง ระบอบสอบจอหงวนนิยมสอบการเขียนบทความแบบแปดตอน วรรณกรรมเรื่องยาวในสมัยราชวงศ์หมิงมีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงต่างๆเช่น ”ซ้องกั๋ง” “สามก๊ก” “ไซอิ๋ว” “จินผิงเหมย” หรือเรื่อง ”บุปผาในกุณฑีทอง” เป็นต้น นอกจากนี้ ข้อเขียนและบทประพันธ์ที่มีลักษณะคลาสสิคต่างๆเช่นสารคดี”บันทึกการท่องเที่ยวของสวี เสียเค่อ”ในด้านภูมิศาสตร์ “ตำราสมุนไพร”ของหลี่ สือเจินในด้านแพทยศาสตร์ “ชมรมหนังสือวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตร”ของสวี กวางฉี นักเกษตรศาสตร์ “ “เทียนกุงไคอู้”หรือ”สารานุกรมเทคโนโลยีด้านการเกษตรและหัตถกรรม”ของนายซ่งอิ้งซิง นักวิชาการด้านหัตถกรรม “สารานุกรมหย่งเล่อ”ซึ่งเป็นชุมนุมรวมเอกสารและวิทยานิพนธ์เป็นต้นก็ล้วนประพันธ์ขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงทั้งสิ้น
ช่วงปลายราชวงศ์หมิง สภาพการผูกขาดที่ดินรุนแรงมาก พระราชวงศ์และบรรดาเจ้านายที่ได้รับการแต่งตั้งมีที่ดินกระจายอยู่ทั่วประเทศ ภาษีอากรของรัฐบาลก็นับวันมากขึ้น ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นต่างๆของสังคมก็นับวันรุนแรงขึ้น มีเสนาบดีและขุนนางบางคนพยายามจะคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมให้เบาบางลง และเรียกร้องให้ยับยั้งสิทธิ พิเศษของเสนาบดีขันทีและเชื้อพระวงศ์ทั้งหลาย เสนาบดีเหล่านี้เทียวบรรยายวิชาการและวิพากษ์วิจารณ์การเมืองจึงถูกเรียกกันว่าเป็น”พรรคตงหลินตั่ง” แต่แล้วพวกเขาก็ต้องถูกเสนาบดีขันทีและขุนนางที่มีอำนาจโจมตีและทำร้าย ซึ่งยิ่งทำให้สังคมวุ่นวายมากยิ่งขึ้น การต่อสู้ในชนบทก็ทวีความรุนแรงขึ้น ในปี ค.ศ. 1627 มณฑลส่านซีเกิดทุพภิกขภัย แต่ข้าราชการยังคงบีบบังคับให้ประชาชนจ่ายภาษี จนทำให้เกิดการลุกขึ้นต่อสู้ ประชาชนที่ประสบภัยเป็นพันเป็นหมื่นรวมตัวขึ้นเป็นกองทหารชาวนาหลายกลุ่มหลายสาย ปี ค.ศ. 1644 กองทหารชาวนา นำโดยหลี่จื้อเฉิง บุกเข้าไปถึงกรุงปักกิ่ง จักรพรรดิฉงเจินซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์หมิงต้องผูกพระศอสิ้นพระชนม์
ความคิดเห็น