ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เรียนต่อนอก

    ลำดับตอนที่ #34 : ครูเคท กับปริญญาเอกที่ University of South Australia

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.22K
      2
      18 ก.พ. 50

    ครูเคท กับปริญญาเอกที่ University of South Australia
    โดย บอกอตัวอ้วน

    ครูเคท
    บรรยากาศในกรุงเทพฯ วันนี้ก็เดิมๆ ร้อน ชื้น แดดแรง แต่พอดวงอาทิตย์คล้อยลงต่ำ ท้องฟ้าช่วงเย็น ในย่านประดิพัทธิ์เริ่มเปลี่ยนสี บรรยากาศ ดูเงียบลง แต่ที่ "บ้านครูเคท" หรือที่โรงเรียนสอนภาษาครูเคท ยังคงมีนักเรียนเดินเข้าออกอยู่ขวักไขว่ หลายต่อหลายคนคงรู้จัก ครูเคทดีในฐานะของคุณครูสอนภาษาอังกฤษ ที่มีแบบฉบับของเธอเองคือ เน้นให้ฟังและพูดได้ก่อน ในแบบธรรมชาติ หนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คของเธอ ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าท่ามกลางกระแสวิจารณ์ทั้งแง่บวก และแง่ลบ ทั้งที่เธอก็สอนภาษาอังกฤษ ของเธอในแนวนี้มากว่า 15 ปีแล้ว วันนี้ครูเคท ซึ่งปัจจุบันเธอกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกกับ University of South Australia จะมาเปิดอกกับออสซี่ทิปดอทคอม ถึงเรื่องราวที่มาที่ไป ของการสอนภาษาอังกฤษ และมุมมองของเธอในการศึกษา แน่นอนว่ารวมถึงการศึกษาที่ออสเตรเลียด้วย

    ที่มาที่ไปก่อนที่จะมาเป็นครูเคท คุณสนใจเรื่องภาษาอังกฤษ ตั้งแต่เด็กหรือเปล่า?

    สนใจหรือเปล่า? ภาษาอังกฤษ ก็ไม่ได้สนใจอะไรมากมายนะคะ แต่ว่าก็เป็นเด็กตั้งใจเรียน ภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ก็จะได้เกรดเอ แกรมม่าใช้ได้ พอตอนไปเรียนต่อปริญญาโทที่อเมริกา ภาษาอังกฤษที่เราว่าเราเก่ง เราว่าเราแน่ และเราก็มีพื้นฐานภาษาที่ดี มันกลับไม่ได้ช่วยเลย เทอมแรกที่ไปเรียนหนังสือเนี่ย ก็เกิดอาการพูดไม่ได้ฟังไม่ออก อ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง อ่านแล้วเปิดดิคชันนารีแล้วทุกวัน วันละเป็นชั่วโมงก็ยังไม่รู้เรื่อง และที่เลวร้ายที่สุดก็คือ เขียนข้อสอบตอบไป อาจารย์ก็อ่านไม่รู้เรื่องคือ ไม่ใช่อ่านไม่รู้เรื่อง แต่ภาษาของเรานี่มันใช้ไม่ได้เลยทั้งๆ ที่แกรมม่าเราดี คือเวลาเขียนเราก็ตรวจสอบของเราอย่างดีนะ อย่างให้เพื่อนฝรั่งดูเปเปอร์เขาจะ โห.......แก้ทั้งหน้าคือไม่ใช่มาแก้ s ตก ed เขาบอกว่าไม่จำเป็น จะต้องเขียน ต้องพูดแบบนี้เลย แก้ทั้งหน้าเลย เราเนี่ยคิดเป็นภาษาไทย แล้วแปลออกไป แต่มันไม่ใช่ sense ที่ฝรั่งเขาจะพูดกัน และนี่คือปัญหาที่เจอ เราก็มานั่งคิดว่าภาษาอังกฤษของเราที่ว่าดี รู้สึกจะใช้ไม่ได้ เทอมแรกพี่เรียนติดโปรเลย เพราะได้ C วิชากฎหมายไงคะ ทีนี้วิชา management พี่ได้ A ลงไปสองตัว เฉลี่ยออกมามันก็ต่ำกว่า B มันก็ไม่ได้เพราะว่า ปริญญาโทมันต้อง B ขึ้นไป พี่ก็เดินไปหาอาจารย์บอกเขาว่า "อาจารย์ขา หนูจะลาออกแล้ว" หนูไม่สู้แล้ว มันไม่ไหว

    ท้อขนาดนั้นเชียวหรือครับ?

    โห....ก็พี่ตั้งใจเรียนมาก อ่านหนังสือหนัก อยู่ในห้องสมุดทั้งวัน ไม่เกเรอะไรเลย ก็มีความรู้สึกว่า ความพยายามที่เราทำไป เหมือนสูญเปล่าหรือเปล่า เพราะเวลาไปเรียนหนังสือ ก็เอาเทปไปอัด เอาเทปมาถอดทุกคำพูด เอาไปให้เพื่อนฝรั่งดู มันยังบอกเลยว่า เอ็งแกะอะไรออกมา อ่านไม่รู้เรื่อง แกะแทบจะทุกตัว

    แล้วจุดหักเห ที่ทำให้เรา หันมาใช้สำเนียงอเมริกัน อย่างถูกต้องคืออะไร?

    ก็ตอนนี้นพอติดโปร พี่ก็คิดจะลาออก ก็ไปหาอาจารย์คณบดี เขาก็พูดขึ้นมาคำหนึ่ง ทำให้พี่ได้คิดว่า พี่น่ะไม่โง่หรอกนะ แล้วพี่เนี่ยจบแน่ๆ MBA เนี่ย แต่พี่มีปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษอาการหนัก นี่เป็นคำพูดแรก ที่ทำให้พี่แยกปัญหา คือเดิมเนี่ยพอติดโปรก็คิดว่า เราโง่เรียนไม่ได้หรอก พออาจารย์พูดอย่างนี้ปั๊บ พี่ก็มานั่งนึกว่า ถ้าเราแก้ปัญหาภาษาได้ ทำไมเราจะเรียนไม่จบ เพราะฉะนั้น ก็วิ่งไปหาอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ที่สอน English as a second language (ESL) ไปนั่งสังเกตุการณ์ก่อนว่า เขาเรียนเขาสอนกันอย่างไรบ้าง ตรงนี้อยากจะบอกน้องๆ คนไทยทุกๆ คนว่าไอ้ที่พี่เรียนจากจุฬาฯ สมัยปริญญาตรีเนี่ย เหมือนกันทุกประการ เหมือนอาจารย์ ESL สอนเรานั่นแหละ

    แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรล่ะครับ?


    ก็นั่นน่ะสิ พี่ก็เลยมีความรู้สึกว่า คนไทยที่ไปเทคคอร์ส ESL ก่อนเรียนปริญญาเนี่ย มันไม่ได้ช่วยคุณหรอกนะ เรียนมาแล้ว ที่มหาวิทยาลัยในบ้านเรา มีประสิทธิภาพเท่าๆ กันเลย แล้วพี่ก็ A แล้ว พี่ก็คิดว่าวิชา ESL นี่คงจะไม่ได้เรื่องแล้วล่ะ ก็เลยหาเพื่อนๆ ฝรั่งน่ะแหละ มาติวมาเทรนเราหน่อย พี่ก็บอกว่า Can you teach me to speak English? (พูดสำเนียงไทยๆ) ฝรั่งมันก็งง ก็บอกว่าสอนอะไรวะ ก็เนี่ยคบกันมาตั้งเทอมแล้ว เอ็งก็พูดภาษาอังกฤษได้ ก็เหมือนคนไทยทั่วๆ ไป คือพูดภาษาอังกฤษได้ แต่พี่บอกไม่ใช่ มันไม่ใช่สิ่ง
    ที่พี่ต้องการ ถ้าพี่พูดได้ พี่ก็ต้องฟังเล็คเชอร์ออกสิ แล้วพี่จะต้อง Participate ในห้องเรียนได้สิ

    ในที่สุดพี่ก็คิดว่า ในเมื่ออาจารย์ฝรั่งสอนไม่ได้ เพื่อนฝรั่งก็ไม่เก็ต ก็ลงข้ามคณะ เลยหาอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ ก็ไปเจอบูลเลอทินวิชา Public Speaking แหม......... วิชานี้ฉันต้องได้พูดแน่นอน พี่ก็ไปเทคคอร์สปรากฏว่า แกก็ไม่ได้สอนภาษาอังกฤษเลย สอนแต่ว่า วิธียืนอยู่หน้าชุมชนไม่ให้ขาสั่นทำอย่างไร วิธีกำหนดเรื่องราวนำเสนออย่างไร ไม่ให้คนเขาหลับ อะไรอย่างนี้ มันก็ยังไม่เกี่ยวกับที่เราต้องการ ปัญหาของพี่คือ พี่พูดไม่ได้พี่ฟังไม่ออก พี่เขียนแล้วอาจารย์อ่านไม่รู้เรื่อง ในที่สุดพี่ก็เลยกลับมาบอกตัวเองว่า เอาล่ะวะคงจะไม่มีใคร เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริงของเรา เพราะฉะนั้นหาเองก็ได้วะ

    ค้นพบด้วยตนเองทีนี้ ในระหว่างนั้นพี่ก็เป็น Babysitter เลี้ยงดูลูกฝรั่งเขาไง พี่น่ะชอบเด็กฝรั่ง เพราะมันคุยรู้เรื่องดี เด็กที่บ้านพี่อายุ 11 ขวบ พี่รู้สึกว่าพูดกับเด็กรู้เรื่อง แต่พี่พูดกับพ่อแม่เขาไม่รู้เรื่อง เวลานั้นพี่ก็มานั่งมองว่าเอาล่ะ! ถ้าเราเริ่มแบบเด็กๆ สักวันเราก็เริ่มโตตามน้องนี่แหละ ถ้าเด็กมันเก่งขึ้น เราคงเก่งขึ้น ทีนี้มีอยู่บ้านหนึ่งที่พี่ไปเลี้ยงเด็ก เด็กคนนี้อายุ 2 ขวบก็ยังพูดไม่ค่อยได้ เป็นคำๆ แล้ววันหนึ่งมีการ์ตูน กระต่ายบั๊กบันนี่มันออกมา เด็กคนนี้ก็พูดกับแม่เขา "Mama, wapbit wapbit" พี่ก็เฮ้ยๆ ลูกฝรั่งเสียงเพี้ยนเว้ย..... พี่ก็ดูว่าฝรั่งมันจะสอนอย่างไร แม่ก็วิ่งออกมาจากครัวถาม "what's that honey? Oh! It's a rabbit" (ออกเสียงอย่างชัดเจน) พี่ก็นั่งดูเฮ้ยๆ เสียงแม่มันเพราะเว้ย ทำไมเสียงลูกมันเพี้ยน พี่ก็แอบสังเกตดู แม่ก็เล่นกับลูกไปเรื่อยๆ เขาก็ไม่ได้สอนแบบ ลูกต้องยื่นปากแบบไหนนะ เล่นกันไปเรื่อยๆ แม่ก็พูด rabbit ลูกพูด wapbit

    พี่ก็เลยถึงบางอ้อว่า เราจะต้องเรียนภาษา แบบเด็กๆ! แล้วเด็กๆ ก็คือหัดเลียนเสียงก่อนอย่าข้ามขั้น เราข้ามขั้นมาคำส่งคำศัพท์แกรมม่าประสาทเสียแล้ว อย่างนั้นถ้าพี่เลียนแบบเสียงเด็กๆ พี่ก็จะโตไปพร้อมๆ กับเขา ดังนั้นพี่ก็กลับบ้าน นั่งดูทีวีจีบปากจีบคอพูด เหมือนตัวละครเลย แต่พี่ฟังไม่ออกนะ แต่พี่ไม่รู้สึกผิดนะ

    เพราะว่าลูกฝรั่งก็ฟังไม่ออก เขาฟังไม่ออก แม่พูดมา 50 ประโยค ลูกฟัง 3 ประโยค เขาก็เก็ตของเขาน่ะ พี่ก็เลยยึดหลักเด็กว่า ฟังออกไม่ออกช่างมันก่อน แต่เลียนเสียงให้เหมือนก่อน พี่ก็เลยพูดตามหน้าจอทีวี พอบ้าๆ บอๆ อยู่เดือนหนึ่ง เสียง accent ไทยๆ ของพี่ก็เริ่มเปลี่ยนเป็น accent ฝรั่งแบบ California เลย คือจากการลอยหน้าลอยตา หน้าจอทีวีมันก็ได้ผล เสร็จแล้วพี่รู้สึกว่า เสียงพี่ดีขึ้นแล้ว....ถามว่าพี่รู้ได้อย่างไร คือเมื่อก่อนเวลาพูดกับฝรั่งปุ๊บ ฝรั่งมันจะถามเรา What? เพราะมันฟังเราไม่ออก พอหลังๆ นี่แหม.....สุ้มเสียงเราดีขึ้นนะ เดี๋ยวนี้ไม่มีคนถาม what? เลยแสดงว่า ฝรั่งเริ่มฟังเรารู้เรื่องแล้ว เทียบกับเมื่อก่อน เวลาไปซื้อของต้องพูดซ้ำสอง รอบสามรอบ อยู่อย่างนั้น แต่ตอนหลังพูดปุ๊บมันเก็ตเลย ทำให้พี่เริ่มกล้าที่จะพูด กับเพื่อนฝรั่งมากขึ้น ในขณะที่พี่ก็ยังบ้า อยู่หน้าจอทีวีเหมือนเดิมพูดแล้ว แอคติ้งตามๆ จนพี่รู้สึกว่า ทำไมพี่พูดอังกฤษไปแล้ว พี่ไม่ต้องคิดจากไทยแปลเป็นอังกฤษ เพราะเราเอามาจากหนังเรื่องนั้น เพลงนั้น

    ในที่สุดพี่ก็คิดว่า การเรียนภาษาที่ถูกต้อง ควรเรียนไต่ตามขั้นตอน แบบเด็กทารกนั่นแหละ แล้วพี่ก็เริ่มสังเกตุว่าลูกฝรั่งเด็กๆ เขาจะพูด tense ไม่ได้ ได้แค่ present tense แถมเติม s ไม่เป็นด้วย พี่ก็เลยรู้สึกว่า เราไปเรียนเรื่อง tense เรื่อง grammar ทำไมในเมื่อลูกฝรั่งมันยังพูดผิดเลย ดังนั้นอาศัยยว่า พูดทุกวันจนชินปาก จนกระทั่ง tense มันเริ่มได้เอง เพราะว่าพี่เริ่มเชื่อม tense กับความรู้สึกไม่ใช่ tense กับ เหตุการณ์ยังไม่เกิด เกิดไปแล้ว มันไม่ใช่ คือพี่รู้ว่าพอจะพูด อารมณ์แบบนี้ tense แบบนี้มันจะออกไป พี่ก็ค่อยๆ เรียนรู้แบบลูกฝรั่งนี่แหละ ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเหมือน miracle เลย

    เพียง 3 เดือนเสียงพี่เหมือนฝรั่งเพี้ยะ แล้วพี่ก็เริ่มพูดภาษาอังกฤษออกไป โดยไม่คิดไทย นี่พูดออกไปตามความรู้สึก ที่เคยได้ยินได้ฟัง ไม่ได้ create ประโยคใหม่ ฝรั่งเคยพูดแบบนี้พี่ก็พูดแบบนี้

    เหมือนฝรั่งไม่พูด How are you แต่จะพูด How are you going? How are you doing?

    ใช่ พี่ก็พูด How are you doing? ไม่มาฮาว อ๊า หยู่ อีกอย่างหนึ่งเวลาโทรศัพท์ในบ้านดัง เราก็จะวิ่งไปแย่งรับโทรศัพท์ กับลูกฝรั่งในบ้าน พอเขาแย่งได้เขาก็จะตะโกน "I'll get it" ตอนแรกพี่สารภาพนะฟังมันไม่ออก มันพูดอะไรเก็ตอิทๆ แปลไม่ออก ก็มั่วตาม วันต่อมาพอแย่งโทรศัพท์ได้ ก็ตะโกนมั่ง "I'll get it" พี่พูดก่อนน่ะ พอพี่พูดก่อน ทุกคนก็จะนั่งนิ่งปล่อยให้พี่ไปรับ ในที่สุดเขาก็รู้ว่า พี่พูดไปทั้งที่ ไม่รู้ความหมายหรอก จนมาเข้าใจว่าเขาพูดว่า ไอ-วิล-เก็ต-อิท พี่ก๊อบเขาทั้งประโยค ก๊อบมาแล้วก็หัดพูดกับตัวเอง ก๊อบจากภาพยนตร์ แล้วประโยคเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นประโยคอัตโนมัติในหัวพี่ พี่ก็เรียนแบบลูกฝรั่งเลย คือค่อยๆ แทรกเข้ามาในหัวเลย

    ในการใช้ชีวิตในแต่ละวัน คุณหลีกหนีสังคมคนไทยไหม?


    ใช่แล้วค่ะ ในมหาวิทยาลัย พี่ก็มีคนไทยนะ ตอนแรกๆ พี่ก็คบคนไทยนะ ไม่รู้จะคบกับใคร คบไปคบมา ก็สังเกตุได้ว่า เฮ้ยพวกนี้อยู่ก่อนเราตั้งหลายปีนะ ทำไมภาษามันห่วยล่ะ พวกเพื่อนๆ พี่เนี่ย accent ห่วย เฮ้ยแล้วถ้าอยู่กับมัน ก็คงแย่แบบมันนั่นแหละ ก็เลยคบเพื่อนฝรั่งก็แล้วกัน ตอนแรกๆ ก็ไม่กล้าคบฝรั่งก็เลยคบพวกฮ่องกง ฟิลิปปินส์ อินเดีย ที่สนิทกันอย่างน้อย มันทำให้เราได้อ้าปาก พูดภาษาอังกฤษบ้าง หลังๆ ภาษาเราดีขึ้น ก็มาคบเพื่อนฝรั่งมากขึ้น คือพี่กะว่าพี่อยู่แผลบเดียวไง พี่ไม่อยู่นานหรอกปริญญาโทเนี่ย สองปีสามปีมันต้องจบ เพราะฉะนั้นพี่ต้องได้ภาษา ถ้าพี่มัวแต่คบคนไทยภาษา ก็ไม่ได้อะไรก็ไม่ได้ใช่ไหม พี่ก็เลยตัดใจ ตอนหลังอยู่แต่กับฝรั่ง

    เห็นว่าทำงานด้วย นอกจากเป็น Babysitter สมัยอยู่อเมริกา ทำงานอะไรบ้างครับ?


    ตอนนั้นเขาห้ามทำงาน แอบไปเสริฟอะไรนี่โดนจับ วันดีคืนดีอิมมิเกรชั่นไปตรวจ เราแย่เลย ครูก็เลยทำงานที่มันปลอดภัยคือ Babysitter ก็อาศัยตีซี้อาจารย์ อยากจะบอกนักเรียนไทยว่า พยายามตีซี้อาจารย์ หรือชาวบ้านชาวเมืองเขาเอาไว้ เพราะเราจะได้อะไรหลายๆ อย่าง แต่ถ้าเราอยู่เฉยๆ หรือคบอยู่แต่กับเด็กๆ หรือเฉพาะคนไทย เราจะไม่มีโอกาสอะไรอื่นๆ ในชีวิตน่ะ อย่างพี่ไปคุยกับอาจารย์ อาจารย์บอกว่า อ้าว........อยากทำงานเหรอ เรามีตำแหน่ง research assistant ว่างลองทำไหม พี่ก็เอา มีปากอยู่กับตัวกลัวอะไร เจรจาเข้าไป แล้วเวลาเราไปช่วยอาจารย์หาข้อมูล คือเขาทำปริญญาเอก เราก็ช่วยเขา เขาก็ให้ค่าขนมด้วย บางทีเราไปหาข้อมูลมาชิ้นหนึ่ง แกให้ทีละ 10 เหรียญ โห .... พี่หาสุดใจขาดดิ้นเลย พี่ก็ยังไปคุยกับ Dean อาจารย์ขา อาจารย์มีทุนไหมคะ อาจารย์บอกทุนเป็นเงินคงไม่มี แต่เป็น assistantship มี หนูมาทำงานในออฟฟิศ เทอมหนึ่งได้เรียนฟรี 3,000-4,000 เหรียญ พี่ก็ไม่ลงเยอะ เทอมนึงลง 3,000-4,000 เหรียญ สรุปว่าพี่เรียนฟรีหมดเลย จ่ายแค่เทอมแรกเทอมเดียว ก็สรุปคือได้เรียนฟรี ทำงานในออฟฟิศ MBA แล้วก็เวลาว่างก็ช่วยอาจารย์ทำ research

    ทั้งหมดนี่กี่ Semester?


    พี่เรียนทั้งหมดสองปีครึ่ง รวมซัมเมอร์ด้วย ลงไปเทอมละสองตัวสามตัว ให้มันพอดีเงินที่เขาจะให้ไงคะ

    รู้สึกว่าการที่ตัวเองได้ accent มาเป็นเรื่องมหัศจรรย์ไหม เพราะเขาบอกกันว่า accent มันต้องได้มาตั้งแต่เด็ก แต่คนโตมันจะลิ้นแข็ง?


    ไม่ค่ะ คนไทยลิ้นอ่อนที่สุดในโลกนะคะ ที่ทำไม่ได้คือหัวแข็งค่ะ ไม่มีความพยายามที่จะทำ ไม่ตั้งใจที่จะเปลี่ยน ถ้าเราตั้งใจจะเปลี่ยนอะไรบางอย่าง ลงมือทำอะไรบางอย่าง มันต้องทำได้ เหมือนเร็วๆ นี้พี่ลดน้ำหนักลงไป 5 กิโลกรัม ทั้งๆ ที่ไม่รู้จะลดไปทำไม แต่เมื่อตั้งใจว่า จะลดแล้วก็ลงมือทำ คือคนเราจะทำอะไร ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คุณจะต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนนิสัย แต่ทีนี้คนไทย ไม่ค่อยยอมรับการเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนนิสัย มัวแต่เพ้อฝัน ว๊ายอยากมีเสียงเพราะๆ เหมือนครูเคทจังเลย อยากโน่นอยากนี่แต่ไม่ลงมือทำมันก็ไม่เกิดอะไรขึ้นน่ะ แต่ลูกศิษย์ของครูเคทบางคน ที่เขาลงมือทำ คุณมาดูสิเขาพูดเก่งกว่านักเรียนนอกบางคนอีก โดยที่ไม่ต้องไปเมืองนอก เพราะอะไร..... เพราะเขาลงมือทำ โอ๊ย ฝึก ฝึกเหมือนคนบ้าเลยวันละ 5-6 ชั่วโมง แล้วเขาทำได้จริงๆ เขาก็พูดภาษาอังกฤษได้ ภายในสามเดือน เหมือนที่ครูทำได้ในอเมริกา ครูถือว่าคนเหล่านี้ เก่งกว่าครูเยอะนะ เพราะครูถือว่า ครูไปอยู่ในสภาพแวดล้อมใช่ไหม แต่นี่นักเรียนไทยๆ ทั้งนั้นทำไมเขาทำได้ เขามีความตั้งมั่นมาก แต่ก็มีอีกหลายส่วนเลยไม่สำเร็จ พวกนี้ขี้เกียจ เพ้อฝัน

    ถ้าพูดถึงความสำเร็จ กับความไม่สำเร็จ ในการออกเสียง คุณคิดอย่างไร กับการที่ถูกโจมตีทางอินเตอร์เน็ตว่า Accent ไม่สำคัญหรอก ขอให้ออกเสียงให้ถูกต้องก็พอ สื่อสารให้รู้เรื่องก็พอ คุณคิดว่านี่เป็นข้อแก้ตัวหรือเปล่า?

    อันนี้เป็นข้อแก้ตัว ของคนที่ทำไม่ได้ไง ก็เลยองุ่นเปรี้ยวไง พอกินไม่ได้ก็เอ้ย องุ่นเปรี้ยว ไม่กินหรอก ครูถามคำเดียวว่า ในเมื่อเรามีศักยภาพที่จะทำอะไรได้สมบูรณ์แบบแล้ว ทำไมไม่ทำครูไม่เข้าใจ ในเมื่อคนไทยลิ้นอ่อนมาก อ่อนกว่าชาติอื่นๆ มีเสียงก็มีมากกว่าชาติอื่น เสียงสระก็มีมากกว่าชาติอื่น ทำไมคุณไม่ทำให้มันเหมือนล่ะ

    มันไม่ใช่ว่า การทำ accent ให้มันเหมือนฝรั่งแล้วเป็นขี้ข้าเขามันไม่เกี่ยว มันเป็นการแสดงศักยภาพของตนเองว่า ฉันเก่ง ฉันทำได้แล้ว ทำไมคุณไม่ทำ ทีนี้คนบางคนอาจจะโลกทัศน์แคบไปนิดนึงบอกว่า การเปลี่ยน accent นี่ไม่สำคัญ บังเอิญว่า พี่เรียนปริญญาเอกกำลังทำ ปริญญานิพนธ์ในเรื่องของ Country Image น่ะ แล้วมันมี research paper เป็นร้อยเป็นพันชิ้นว่า Country Image มันมีจริงๆ แล้วมันไม่สามารถไปลบล้างได้ คือมนุษย์เรามันจะมีความคิดที่เป็น stereotype ว่าจะกินไวน์ต้องฝรั่งเศส แม้ว่าปัจจุบันไวน์ฝรั่งเศสผลิตใน South Africa แต่คนก็ยังยึดติดอยู่ ดังนั้นมันช่วยไม่ได้ว่า ถ้าคนเขาได้ยินคนพูดอังกฤษ accent อื่นๆ เช่น เอเชีย ยุโรป เขาก็บอกได้แล้ว แล้วมันก็ช่วยไม่ได้ใช่ไหม ที่เขาจะมี stereotype อยู่ในใจเขาแล้ว ครูเนี่ยทำงานกรมส่งเสริมการส่งออก

    ดังนั้นครูจะสัมผัสกับ ผู้ส่งออกนำเข้าเยอะมาก แล้วก็ข้อมูลที่เขาชอบโจมตีครู แต่เขาไม่เคยสัมผัสน่ะอะไรรู้ไหม ผู้นำเข้าต่างประเทศเนี่ยนะคะ เขามาบอกครูว่าเขาไปสั่งสินค้าไทย จากคนสิงคโปร์ ครูก็บอกว่ามาซื้อกับคนไทยสิ ราคาถูกกว่าอีก เดี๋ยวจะพาไปรู้จักคนไทยเลย เขาก็บอกว่าไม่ล่ะ ไอยินดีซื้อจากสิงคโปร์ เพราะไอไม่เชื่อมั่นคนไทย เพราะเกรงว่าพูดกันไม่รู้เรื่อง ดังนั้นยอมจ่ายแพงกว่า เซนต์สองเซนต์ ไปซื้อกับสิงคโปร์ไม่ดีกว่ารึ เพราะเชื่อมั่นในภาษาไง นี่ไงสิ่งเหล่านี้ครูได้พบได้เห็น ครูจึงยืนยันฟันธงว่า Accent ยังสำคัญ และความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ก็ยังสำคัญอยู่ แต่พี่ไม่โกรธพวกคนที่เขาโจมตีหรอกนะ เพราะคนเรามีประสบการณ์ต่างกัน ได้รับข้อมูลต่างกัน เขาเองก็ข้อมูลที่พี่ไม่มี เขาก็มองในมุมที่พี่ไม่ได้มอง

    งั้นกระทู้แรงๆ ที่เว็บใหญ่ๆ ล่ะครับ คิดอย่างไร?


    ไม่เป็นไรเลย ไม่ Mind เพราะดีเสียอีกที่คนไทยตื่นตัว ในเรื่องการพูดภาษาอังกฤษ คือพี่ยึดหลักว่าใครจะทำอะไรก็ได้ แต่พี่เบลมเขานะว่า ทำไมเขาต้องมาโจมตีพี่ ทำไมเราไม่มาช่วยกันทำให้ลูกหลานเราพูดอังกฤษได้สิ มาแขวะอะไรพี่ล่ะ อิจฉาเหรอ! เพราะว่าลูกศิษย์พี่พูดได้ ลูกศิษย์ตัวเองพูดไม่ได้เหรอ อันนี้พี่พูดแบบภายในนะ แต่พี่ก็จะไม่ไปแขวะอะไรเขาในกระทู้ แต่อาจารย์พวกนี้เขาอิจฉาหรือเปล่า คือมีโรงเรียนภาษาอีกหลายแห่ง ที่เขาสอนได้ผล เขาไม่เคยแขวะพี่เลย มาช่วยกันทำมาหากิน แต่ตานี่นี่อะไรไม่รู้ที่มาแขวะเนี่ย

    บางคนบอกว่า ไม่ต้องเป็นสำเนียงอเมริกันก็ได้?

    เรื่องของ accent นี่เลือกได้ไงคะ เท่าที่ประสบการณ์ของพี่ อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะคะ ถ้าทำงานวงการทูต ระหว่างประเทศ accent อังกฤษจะได้รับการยอมรับ เหมือนคุณได้รับการฝึกมาดี ถ้าในวงการธุรกิจก็ต้อง accent อเมริกัน มัน efficient มากกว่าน่ะ

    แล้วออสเตรเลียนล่ะครับ?


    ออสเตรเลียนนี่คงคล้ายๆ กับอังกฤษน่ะค่ะ คือยังมองว่าค่อนข้าง Conservative แต่ว่าพี่เองนี่ ไม่คอขาดบาดตายกับ accent ทั้งหลายเลยนะ นักเรียนชอบถามว่า ไปเรียนที่ออสเตรเลียแล้ว accent ติดมาแล้วจะทำอย่างไร ก็จะเป็นอย่างไร พูดให้เหมือนนี่ก็ perfect แล้ว ไม่ใช่อุตส่าห์ไปเรียนอเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ กลับมาสำเนียงเป็นไทย ไปเรียนทำบ้าอะไรใช่ไหม ขอให้ accent เราเหมือนกับเจ้าของถิ่นนี่ perfect แล้ว

    ถ้าอย่างนั้น ยกตัวอย่าง ผมกลับมาสำเนียงไทยนี่ ต้องเรียนกับครูเคทไหมครับ?

    ครูเคทไม่ใช่เทวดา คุณจะมาเรียนกับครูเคททำไม Accent ของคุณจะเหมือนใครมันอยู่ที่ว่า คุณจะเปิดใจทำให้เหมือนไหม และลงมือฝึกให้เหมือนไหม คือ...ถ้าคุณทำไม่ได้ คุณมาเรียนกับครูเคท ครูก็จะจัดการให้คุณ Accent เป็นอเมริกัน แต่ถามว่าครูเคทไม่ได้แก้อะไรคุณ คุณจะต้องไปเรียนจากทีวี ลูกศิษย์ของครูเคทก็เรียนจากทีวี จากหนังฝรั่ง ครูก็ไม่ได้บอกว่าครูเก่ง แต่คุณต้องยึดต้นแบบคือชอบ accent อังกฤษก็ไปหาหนังอังกฤษมาดู ชอบ accent ออสเตรเลียก็ไปหาหนังออสเตรเลียมาดู ชอบอเมริกันก็ดูหนังอเมริกัน แล้วมันมีอีกตั้งหลายสำเนียง เคนตั๊กกี้ก็มี บ้านนอกหน่อย นิวยอร์คหน่อย แคลิฟอร์เนียหน่อย ใช่ไหม มันก็ต่างกัน คุณชอบแบบไหนก็ไปเรียนแบบนั้น

    พูดแบบนี้ก็ลำบากนะครับ เพราะเมืองไทย หาที่ฝึกได้ยากเหลือเกิน?


    ไม่ยากเลยค่ะเพราะว่า หนังมีฉายทั้งประเทศไทยนะคะ ทั้งวีซีดี ทั้งวีดีโอ เคเบิลทีวี ภาพยนตร์เป็นการฝึกภาษา ที่เหมาะที่สุด ข่าวก็ฝึกยากหน่อย เพราะภาพยนตร์เป็นภาษาพูด มนุษย์ต้องฝึกภาษาพูดก่อน แล้วพอฝึกภาษาพูดแล้วจึงค่อยไปฝึกภาษาระดับสูง ภาษาเขียน ภาษาข่าว เพราะมันผ่านการเกลามาแล้วระดับหนึ่ งจึงมาอ่านให้ฟังใช่ไหมคะ แต่หนังมันเป็นภาษาชาวบ้าน พอชาวบ้านคล่องแล้วค่อยไปภาษา Textbook ภาษาวิชาการ ขึ้นไปทีละสเต็ปค่ะ

    ทราบว่า กำลังต่อปริญญาเอก ที่ออสเตรเลีย อยากทราบถึงที่มาที่ไป?

    ก็คือจริงๆ บอกจริงๆว่าไม่สนใจออสเตรเลีย ก็จบอเมริกาก็สนใจอเมริกา ระบบมันจะได้ต่อกัน ทีนี้พอ shop around แล้วเป้าของพี่คืออยากเรียนอะไร ที่มันอยู่ในเมืองไทย โดยที่ไม่ต้องไปเมืองนอก เพราะพี่มีงานการ มีครอบครัวที่จะต้องดูแลใช่ไหมคะ พี่ก็เลยหาไปจนมาเจอหลักสูตรของจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ นิด้าที่มา join กับมหาวิทยาลัยที่แคนาดา ก็บังคับเรียน full time คือต้องลางานมาเรียน นอกนั้นก็เป็นของอเมริกา long distance เล่นอีเมลอย่างเดียวเลย ไม่เจอหน้าอาจารย์ ไม่เจอมนุษย์ ก็เลยมาเรียนที่ University of South Australia นี่แหละค่ะ

    ก็คือเรียนทางไกลนี่แหละ แต่อาจารย์จะบินมาเป็น Workshop 3 วันแล้วเราก็จะถกเครียดกับอาจารย์ ตอนอาจารย์ไม่อยู่ เราก็ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง มีตำหรับตำราให้เป็นกะตั้กๆ ทุกๆ วิชาเราจะได้ workshop กับอาจารย์ พี่คิดไปคิดมา สรุปแล้วก็คือเอาที่นี่ คือคิดว่าคนเราถ้าเรียนหนังสือ ไม่เจออาจารย์นี่เราคงไม่จบเหมือนกัน ก็เลยคิดว่าน่าจะดี ก่อนจะตัดสินใจ พอดีอาจารย์คณบดี เขาบินมาพี่ก็เลยไปคุยกับเขา ก็เพิ่งทราบว่า คืออาจารย์เขาวิเคราะห์ให้ดูว่า การเรียนแบบอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลียจะเป็นแบบ
    ไหนต่างกันอย่างไร อเมริกานี่เข้ายากจบง่ายใช่ไหม เพราะคัดหัวกระทิไปก่อน ต้องสอบ TOEFL GMAT ไปก่อน แล้วพอเข้าไปเรียนแล้วจบง่าย เพราะอาจารย์จะป้อนเนื้อหาที่มันเนื้อๆ เลย อาจารย์ก็จะเล็คเชอร์ให้ฟัง

    ในขณะที่อังกฤษ กับออสเตรเลียเขาจะไม่อย่างนั้น เขาจะเน้นไปที่การสอนให้เราเป็นคนที่คิดอ่านเป็นระบบ คุณอยากจะเก่งด้านไหน คุณก็เอาความคิดความสามารถของคุณ ลงลึกไปในรายละเอียด ที่ต้องการเอาเอง พี่ก็มาคิด เออ มันก็ดีเหมือนกัน เพราะพี่ไปดูหลักสูตร DBA ของอเมริกามันก็ใกล้เคียงกับหลักสูตร MBA ที่พี่เรียน คือเนื้อหามันคล้ายกันมาก พี่จบ International marketing มาใช่ไหม การต่อ DBA ในสายเดิมก็คล้ายกับจะเรียนซ้ำ

    พี่ก็มองว่าออสเตรเลียเขาเน้นว่า ระบบวิธีคิดมีกี่แนว วิธีการทำ Research มีกี่ประเภท ทำกันอย่างไร พี่ว่ามันก็น่าสนใจเหมือนกัน พอพี่เรียนวิธีการคิดก็เออ รู้สึกว่าตัวเองฉลาดขึ้นนะ อย่างเวลามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เราก็จะคิดได้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร โยงปัญหาอย่างไร แล้วพี่ก็เริ่มทำ dissertation แล้วเพื่อนๆ ในห้องพี่นี่จะไม่เหมือนกันเลยนะ บางคนเชี่ยวชาญด้านการจัดองค์กร เขาก็ลงลึกไปด้านนั้นเลย ของพี่นี่ก็การตลาดระหว่างประเทศ อย่างที่พี่ก็ทำงานอยู่แล้วที่กรมฯ ก็คือการสร้าง Country Image ไงคะ พี่ก็เลยทำ dissertation เรื่อง Country Origin ตอนนี้พี่ก็ได้ลงลึกกับมันน่ะ คือมันยากมาก เพราะพี่คาดว่า อาจารย์แกจะมาเล็กเชอร์ไงปรากฏไม่มีเลย

    คิดอย่างไรกับค่านิยมนักเรียนไทยไปเรียนนอก ที่เป็นการสร้างบุคลากร ที่มีโอกาสมากว่าการสร้างบุคลากร ที่มีความสามารถ?

    เห็นด้วยกับที่คุณพูดนะ คือพี่ว่าคนไทย ค่อนข้างหลงประเด็นนะ คือคิดว่าไปเมืองนอก เพื่อที่จะมายกระดับของตนในประเทศ แต่ลืมไปว่าที่จริงจบในหรือนอก ความสามารถที่มี มันไม่สามารถนำไปโกหกตอแหล หลอกชาวบ้านเขาได้ คนที่เก่งจบในประเทศ หรือนอกประเทศ มันเก่งมันก็เก่งวันยังค่ำ คนไปอยู่เมืองนอกบางคนกลับมาก็ยังโง่เหมือนเดิม คุณอย่าคิดนะว่าไอ้ใบปริญญานั่น มันจะช่วยเป็นใบเบิกทางได้นะ มันใช้ได้แค่สเต็ปแรกเท่านั้นเอง คุณเริ่มต้นตอนแรกโอเค ปริญญาเมืองนอก มันดูดีกว่าปริญญาเมืองไทย แต่ว่าความสามารถที่แท้จริงล่ะ? ดังนั้นพี่อยากจะบอกว่า คนที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ ให้มองใหม่นะ อย่าคิดว่าไปเอาปริญญา มาเป็นใบเบิกทาง แต่ให้คิดว่าไปพิสูจน์ตนเอง ไปเปิดโอกาสแห่งการเรียนรู้ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะอยู่เมืองนอกมันเรียนหนังสือสนุกนะ You are on your own นะ พี่เรียนหนังสือมา ไม่เคยเรียนที่ไหนสนุกเท่าเมืองนอกมาก่อนเลย อยู่เมืองไทยพี่ก็เรียนมั่งโดดมั่ง เหมือนชาวบ้านนั่นแหละ พี่เพิ่งเข้าใจว่าการเข้าใจอะไร ลึกๆ มันสนุกอย่างไรนะ คนบ้าเรียนมันเรียนกันขนาดนั้นทำไม แต่ตอนนี้พี่ต่อเอก พี่ก็บ้าเรียนแต่พี่ไม่ต้องไปเมืองนอก เพราะพี่รู้ทักษะนั้นแล้ว พี่จะเรียนอย่างไรให้สนุก ให้ลึก ทำอย่างไรถึงจะจบ

    เห็นเขียนในหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ค ที่ออกวางขายว่า การเรียนภาษาอังกฤษเรียนเมืองไทยก็ได้ ไม่ต้องไปนอก ดังนั้นหมายความว่า การไปเมืองนอก คือการบินไปหาองค์ความรู้ และประสบการณ์ชีวิตเท่านั้น ใช่หรือเปล่า?

    ถ้าตัดสินใจไปเรียนเมืองนอกให้ไป เพราะอยากได้องค์ความรู้ ไม่ใช่อยากได้ภาษา แน่นอนว่าไปเมืองนอก มันได้ภาษาก็ดีอยู่แล้ว แต่ที่เขียนไปอย่างนั้น เพราะอยากจะเตือนสติคนไทยบางคน ที่ไม่มีความจำเป็น หรือไม่มีความพร้อมถึงกับต้องขายไร่ขายนาไปเรียน อะไรกันขนาดนั้น อยู่ในเมืองไทยก็ทำสำเร็จได้ ถ้าจะเอาแค่ภาษาน่ะนะ แต่ถ้าจะเอาความรู้น่ะ ขายไปเถอะไร่นาน่ะ ไปเทรนตนเองให้มีความสามารถ อย่าไปมองว่าภาษาอังกฤษมันสำคัญ ที่เขียนไปอย่างนั้นคืออยากจะเตือนคนไทยนะคะว่า คนไทยบางกลุ่มต้องบอกว่า พ่อแม่มีปมด้อยตัวเองพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็มาลงกับลูก ตัวเล็กตัวน้อยส่งมันไปเมืองนอก พี่ไม่รู้ว่าส่งไปทำบ้าอะไร ส่งไปให้มันเก่งภาษาน่ะมันคุ้มแล้วหรือ อย่างลูกพี่น่ะพี่ไม่ส่งมันหรอก! ถ้ามันไม่บรรลุนิติภาวะ ส่งไปให้มันไปตกเหวที่ไหนล่ะ แต่บางบ้านบอกว่าส่งไปเถอะตั้งแต่เล็กๆ ภาษาจะได้ดีๆ ส่งไปตอนไฮสคูล ก็ตอนวัยรุ่นนี่แหละค่ะ เด็กสุดหัวเลี้ยวหัวต่อ เขาต้องการคนรักคนเข้าใจ ถ้าเด็กมีสามัญสำนึกที่ดีก็รอดตัวไป เด็กคนไหนไม่มี ก็พบกันอยู่เป็นประจำว่าติดยงติดยา ท้องเท้องกันไปตามเรื่องน่ะ พี่ก็ไม่เข้าใจว่าพ่อแม่คิดได้ไงน่ะ โอเคลูกพี่ก็ต้องเรียนต่างประเทศ เพราะพี่อยากให้เขาได้ประสบการณ์อย่างที่พี่ได้ แต่ต้องโตก่อนสิ แล้วพี่ไม่คิดว่า ส่งไปตอนโตจะทำให้ภาษาไม่ดี เพราะพี่ดูตัวพี่เองแล้วพี่ก็ไปตอนโตๆ แล้ว ความรู้เราก็มีแล้ว พี่ก็รอดปากเหยี่ยวปากกามาได้ เพราะพี่โตแล้ว คือต้องดูที่ตัวเด็กว่า เขามีความสามารถในการปรับตัว ด้วยหรือเปล่าด้วย อย่าเพิ่งรีบส่งเลย แต่อย่างไรก็แล้วแต่มุมมองนะคะ

    ลูกศิษย์ของครูเคทบ่นกันมาว่า เวลาสอนเข้มงวดมาก ดุมาก และวิจารณ์แบบตรงไปตรงมาขนาดดุว่า พูดอังกฤษสำเนียงไทยแบบนี้ ฝรั่งเขาฟังไม่รู้เรื่องหรอก?

    (
    หัวเราะ) ก็ใช่ไหมล่ะคะ ครูเคทเป็นคนตรงไปตรงมาค่ะ สาเหตุที่ใช้วิธีดุเนี่ย ไม่ใช่ดุให้เขาเกลียดภาษาอังกฤษ แต่ดุให้เขาได้ละอายใจ และก็เปลี่ยนนิสัยลงมือพัฒนาตนเองไม่พึ่งคนอื่นค่ะ ทีนี้คนส่วนใหญ่มาคาดหวังว่า อาจารย์ต้องสอนต้องบอกต้องอย่างนั้น อย่างนี้ โรงเรียนครูเคทจะไม่ แต่คนที่ตั้งใจฝึก เขาจะรักครูเคทมากที่สุดในโลกเลย แต่คนที่ไม่ตั้งใจฝึกจะกลัว เพราะครูเคทจะจับผิดได้ทุกครั้ง เพราะครูเคทจะจับได้เลยว่า ฝึกมาหรือเปล่า รู้ทันที ดังนั้นพวกที่ไปบ่นๆ ก็คือคนที่ไม่ได้ฝึก แล้วก็สมควรที่เขาจะเกลียดครูด้วย แต่คนที่รักครูมีมากกว่า ก็คนพวกนี้เก่งจัง ตั้งใจจัง คนที่ไม่ฝึกก็ดุค่ะ ถ้าอ้าปากรอครูป้อนอย่างเดียวไม่ได้หรอก คุณต้องหากินเองฝึกเอง

    คาดหวังอะไร กับเด็กที่จะมาเรียน?


    ไม่คาดหวังมาก จากสถิติสอนมา 15 ปีนะคะ เรียน 30 คน จะสำเร็จ 10 คน 30% คือส่วนใหญ่จะแพ้ภัยตนเองไง คือละอายใจตนเอง ลาออกไป หลักสูตรนาน 3 เดือนจะพูดได้ อย่างในการพูด น้องชายครูเคทไปอยู่ฝรั่งเศส 3 เดือนพูดได้ทั้งที่ไม่มีพื้น ครูเคทไปอยู่ญี่ปุ่น 2 เดือนกว่า ก็พูดเป็นประโยคจ่ายกับข้าวทั่วไป คือครูเชื่อว่ามนุษย์สามารถ pick up ภาษาได้ในระยะเวลา 3 เดือนค่ะ คนไทยก็ต้องทำได้

    ท้ายนี้มีอะไรจะฝากชาวออสซี่ทิป ที่กำลังจะไปเรียน ออสเตรเลียบ้างครับ?


    คนที่อยากจะไปต้องไป อย่างมีวัตถุประสงค์นะคะ ไม่ใช่ไปอย่างยังไม่รู้ว่าจะเรียนอะไร ก่อนไปก็สำรวจ ตรวจตราตลาดแรงงานในบ้านเรา และความต้องการของตัวเองว่า มีความสนใจในวิชาอะไร อย่างตอนครูเอง สนใจเรื่องการตลาดระหว่างประเทศ ก็ไปเรียนด้านนั้นเลย ตัวคุณตอนนี้ก็ดูสิว่า สนใจด้านอะไรก็เรียนด้านนั้น มีระเบียบวินัยในตนเอง อย่าไปหวังพึ่งคนอื่น คนที่หวังพึ่งคนอื่น ก็จะไม่จบเช่นเดียวกัน ต้องดูแลตัวเองเป็น เป็นผู้ใหญ่เพียงพอ

    และนี่คือบทสัมภาษณ์เปิดใจของครูเคท ครูสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งขึ้นชื่อมากที่สุดคนหนึ่ง ทุกวันนี้เธอยังคงเปิดสอนภาษาอังกฤษ ในแบบของเธอที่บ้านย่านประดิพัทธิ์ เธอเปิดเวบไซต์ของเธอเองที่ชื่อว่า www.krukate.com ว่างๆ ลองแวะเข้าไปรู้จักเธอเพิ่มอีกสักนิดสิครับ

    http://www.aussietip.com/interview/index.php?topicid=49

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×