ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ~สายใยของธรรมชาติ คือ สายใยของชีวิต~

    ลำดับตอนที่ #3 : โวหารที่ใช้ในงานเขียน

    • อัปเดตล่าสุด 9 ม.ค. 54


    โวหารที่ใช้ในการเขียนสารคดีประกอบด้วยโวหาร 5 โวหารด้วยกันคือ

    1.             บรรยายโวหาร

    2.             พรรณนาโวหาร

    3.             เทศนาโวหาร

    4.             สาธกโวหาร

    5.             อุปมาโวหาร

     

    1.             บรรยายโวหาร คือ โวหารที่ใช้เล่าเรื่อง หรืออธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ตามลำดับเหตุการณ์ การเขียนบรรยายโวหารจะมุ่งความชัดเจน เขียน ตรงไปตรงมา รวบรัด กล่าวถึงแต่สาระสำคัญไม่จำเป็นต้องมีพลความ หรือความปลีกย่อยเสริม ในการเขียนทั่ว ๆ ไปมักใช้บรรยายโวหาร เพราะเหมาะในการติดต่อสื่อสารเนื่องจากสำนวนประเภทนี้มุ่งสาระเขียนอย่างสั้น ๆ ได้ความชัดเจน งานเขียนที่ควรใช้บรรยายโวหาร ได้แก่ การเขียนอธิบายประเภทต่าง ๆเช่น เขียนรายงานวิทยานิพนธ์ ตำรา บทความ การเขียนเพื่อเล่าเรื่อง เช่น บันทึก จดหมายเหตุ การเขียนเพื่อแสดงความคิดเห็นประเภทบทความเชิงวิจารณ์ ข่าว เป็นต้น

    2.             พรรณนาโวหาร มีจุดมุ่งหมายในการเขียนต่างจากบรรยายโวหาร คือ มุ่งในเรื่องของความแจ่มแจ้งละเอียดลออ เพื่อให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ซาบซึ้งเพลิดเพลินไปกับข้อความนั้นและเห็นภาพได้ชัดเจน การเขียนพรรณนาโวหารจึงยาวกว่าบรรยายโวหารมาก แต่ไม่ใช่การเขียนแบบเยิ่นเย้อ เพราะพรรณนาโวหารจะมุ่งให้ภาพ และอารมณ์ ดังนั้นจึงมักใช้การเล่นคำ เล่นเสียง การใช้ภาพพจน์ และถึงแม้ว่าเนื้อความที่เขียนจะน้อยแต่ก็จะเต็มด้วยสำนวนโวหารที่ไพเราะ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพได้

    3.             เทศนาโวหาร หมายถึง โวหารที่มีจุดหมายแสดงความแจ่มแจ้งเพื่อให้ผู้อ่านคล้อยตามหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการชักจูงให้ผู้อ่านคิดเห็นหรือคล้อยตามความคิดเห็นของผู้เขียน เทศนาโวหารจึงยากกว่าบรรยายโวหารและพรรณนา เพราะเทศนาต้องใช้กลวิธีในการชักจูงใจ

    4.             สาธกโวหาร หมายถึง โวหารที่มุ่งให้เห็นความชัดเจน โดยการยกตัวอย่างเพื่ออธิบายให้แจ่มแจ้งหรือสนับสนุนความคิดเห็นที่เสนอให้มีความหนักแน่น น่าเชื่อถือ สาธกโวหารเป็นโวหารเสริมของบรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร และเทศนาโวหาร การเลือกยกตัวอย่างนั้นควรเลือกให้เข้ากับเนื้อความ อาจยกตัวอย่างสั้น ๆ ในบรรยายโวหารหรืออาจยกตัวอย่างที่มีรายละเอียดประกอบในพรรณนาโวหาร และเทศนาโวหาร เป็นต้น

    5.             อุปมาโวหาร หมายถึง โวหารเปรียบเทียบ โดยการยกตัวอย่าง สิ่งที่คล้ายคลึงกันมาเปรียบเพื่อให้เกิดความชัดเจนด้านความหมาย ด้านภาพ และเกิดอารมณ์ ความรู้สึกมากยิ่งขึ้น อุปมาโวหารนั้นใช้เป็นโวหารเสริมของบรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร และเทศนาโวหาร เพื่อให้เกิดความชัดเจนน่าอ่านโดยอาจเปรียบเทียบอย่างสั้น ๆ หรือเปรียบเทียบอย่างละเอียดก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุปมาโวหารนั้นจะนำไปเสริมโวหารประเภทใด  อุปมาโวหารนี้อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า โวหารภาพพจน์ซึ่งสามารถแบ่งออกมาได้เป็น 8 ประเภท ได้แก่

    5.1  อุปมา

    อุปมา คือ การเปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับสิ่งหนึ่งโดยใช้คำเชื่อมที่มีความหมายเช่นเดียวกับ คำว่า "เหมือน" เช่น ดุจ ดั่ง ราว ราวกับ เปรียบ ประดุจ เฉก เล่ห์   ปาน ประหนึ่ง เพียง พ่าง ปูน  เป็นต้น

    ตัวอย่าง

    §  ปัญญาประดุจดังอาวุธ

    §  ไพเราะกังวานปานเสียงนกร้อง

    §  ท่าทางหล่อนราวกับนางพญา

    5.2  อุปลักษณ์

    อุปลักษณ์  ก็คล้ายกับอุปมาโวหารคือเป็นการเปรียบเทียบเหมือนกัน แต่เป็นการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง อุปลักษณ์จะไม่กล่าวโดยตรงเหมือนอุปมา แต่ใช้วิธีกล่าวเป็นนัยให้เข้าใจเอาเอง แบะอุปลักษณ์นี้จะไม่มีคำเชื่อมเหมือนอุปมา

    ตัวอย่าง

    §  ขอเป็นเกือกทองรองบาทา    ไปจนกว่าชีวันจะบรรลัย

    §  ทหารเป็นรั้วของชาติ

    §  เธอคือดอกฟ้าแต่ฉันนั้นคือหมาวัด

    5.3  ปฏิพากย์

    ปฏิพากย์ คือการใช้ถ้อยคำที่มีความหมายตรงกันข้าม หรือขัดแย้งกันมากล่าว อย่างกลมกลืนกันเพื่อเพิ่มความหมายให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น

     

     

    ตัวอย่าง

    §  เลวบริสุทธิ์  

    §  บาปบริสุทธิ์ 

    §  สวยอย่างร้ายกาจ

    5.4  อธิพจน์

    อธิพจน์ คือโวหารที่กล่าวเกินความจริง เพื่อเน้นความรู้สึก ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกที่ลึกซึ้ง ภาพพจน์ชนิดนี้นิยมใช้กันมากแม้ในภาษาพูด  เพราะเป็นการกล่าวที่ทำให้เห็นภาพได้ง่ายและแสดงความรู้สึกของกวีได้อย่างชัดเจน 

    ตัวอย่าง

    §  คิดถึงใจจะขาด  

    §  คอแห้งเป็นผง 

    §  ร้อนตับจะแตก  

    5.5  บุคลาธิษฐาน

    บุคลาธิษฐานหรือบุคคลวัต คือ การกล่าวถึงสิ่งต่างๆที่ไม่มีชีวิต ไม่มีความคิด ไม่มีวิญญาณ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ อิฐ ปูน หรือสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น ต้นไม้ สัตว์ โดยให้สิ่งต่างๆเหล่านี้แสดงกิริยาอาการและความรู้สึกได้เหมือนมนุษย์ (บุคลาธิษฐานมาจากคำว่าบุคคล + อธิษฐาน หมายถึง อธิษฐานให้กลายเป็นบุคคล)

    ตัวอย่าง

                                                            มองซิ..มองทะเล             เห็นลมคลื่นเห่จูบหิน

                              บางครั้งมันบ้าบิ่น                               กระแทกหินดังครืนครืน

                              ทะเลไม่เคยหลับไหล               ใครตอบได้ไหมไฉนจึงตื่น

                              บางครั้งยังสะอื้น                                ทะเลมันตื่นอยู่ร่ำไป

    5.6  สัญลักษณ์

    สัญลักษณ์ เป็นการเรียกชื่อสิ่งๆหนึ่งโดยใช้คำอื่นมาแทน  ไม่เรียกตรงๆ ส่วนใหญ่คำที่นำมาแทนจะเป็นคำที่เกิดจากการเปรียบเทียบและตีความ ซึ่งใช้กันมานานจนเป็นที่เข้าใจและรู้จักกันโดยทั่วไป     

    ตัวอย่าง

    §  เมฆหมอก  แทน  อุปสรรค

    §  สีดำ  แทน ความตาย  ความชั่วร้าย

    §  สีขาว  แทน  ความบริสุทธิ์

    §  กุหลาบแดง  แทน  ความรัก

     

    5.7  นามนัย 

    นามนัย  คือการใช้คำหรือวลีซึ่งบ่งลักษณะหรือคุณสมบัติของสิ่งใดสิ่งหนึ่งแทนอีกสิ่งหนึ่ง  คล้ายๆสัญลักษณ์   แต่ต่างกันตรงที่  นามนัยนั้นจะดึงเอาลักษณะบางส่วนของสิ่งหนึ่งมากล่าว  ให้หมายถึงส่วนทั้งหมด 

    ตัวอย่าง

    §  เมืองโอ่ง  หมายถึง  จังหวัดราชบุรี

    §  เมืองย่าโม  หมายถึง  จังหวัดนครราชสีมา

    §  ทีมเสือเหลือง  หมายถึง  ทีมมาเลเซีย

    §  ทีมกังหันลม หมายถึง  ทีมเนเธอร์แลนด์

    5.8  สัทพจน์

    สัทพจน์  หมายถึงภาพพจน์ที่เลียนเสียงธรรมชาติ  เช่น  เสียงดนตรี  เสียงสัตว์  เสียงคลื่น  เสียงลม   เสียงฝนตก เสียงน้ำไหล ฯลฯ การใช้ภาพพจน์ประเภทนี้จะทำให้เหมือนได้ยินเสียงนั้นจริง ๆ

    ตัวอย่าง

    §  ลุกนกร้องจิ๊บๆๆ  

    §  ลูกแมวร้องเหมียว ๆ ๆ

    §  เปรี้ยง ๆ  ดังเสียงฟ้าฟาด     

    §  ตะแลกแต๊กแต๊กตะแลกแต๊กแต๊ก      กระเดื่องดังแทรกสำรวลสรวลสันต์

    §  คลื่นซัดครืนครืนซ่าที่ผาแดง

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×