ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ป่าหิมพานต์ (โลกาครุฑา นาคา)

    ลำดับตอนที่ #6 : สระอโนดาด

    • อัปเดตล่าสุด 13 ส.ค. 55



    ถัดจากเขาสุทัสสนะ หรือติดเขาสุทัสสนะ จะเป็นป่าหิมพานต์ ซึ่งป่าหิมพานต์ เป็นรอยต่อแห่งมิติ ส่วนหนึ่งของป่าหิมพานต์เป็นแดนทิพย์ ส่วนหนึ่งเป็นแดนมนุษย์ และส่วนหนึ่งเป็นแดนรอยต่อระหว่างโลกทิพย์กับโลกมนุษย์

    ในป่าหิมพานต์ จึงมีพืชพันธุ์แปลกๆ มากมาย สัตว์พันธุ์แปลกๆ มากมาย ทั้งสัตว์กึ่งเทพ สัตว์กายสิทธิ์ ก็อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ นี่เอง

    ป่าหิมพานต์ ความจริงเป็นภูเขา เรียกว่าภูเขาหิมพานต์ หรือ หิมวันตบรรพต เมื่อมองลักษณะรูปร่างแล้ว เรียกภูเขาหิมพานต์ แต่เมื่อมองในลักษณะมีต้นไม้มากแล้ว ก็คือป่าหิมพานต์

    เขาหิมพานต์ ยังประกอบด้วยยอดเขาย่อยๆ อีกมากมาย
    เขาหิมพานต์ มีสระสำคัญๆ อยู่ ๗ สระ คือ

    ๑. สระอโนดาต
    ๒. สระกรรณมุณฑะ
    ๓. สระรถการะ
    ๔. สระฉัททันต์
    ๕. สระกุณาละ
    ๖. สระมันทากินี
    ๗. สระสีหปปาตะ

    สระอโนดาต เป็นสระที่ได้ยินชื่อบ่อยที่สุด ธารน้ำทั้งหลาย ย่อมไหลลงมาที่สระอโนดาต พื้นสระอโนดาต เป็นแผ่นหินกายสิทธิ์ ชื่อมโนศิลา บริเวณที่เป็นดิน ก็เป็นดินกายสิทธิ์ชื่อหรดาล (ใช้ถูตัวได้ดี) น้ำใสแจ๋วสะอาด ท่าอาบน้ำ มีมากมาย เป็นที่สรงสนานแห่งพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย รวมถึงเหล่าผู้วิเศษผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย เช่น ฤๅษี วิทยาธร ยักษ์ นาค เทวดา เป็นต้น
    รอบสระอโนดาต มียอดเขารายรอบอยู่ ๕ ยอดเขาได้แก่

    ยอดเขาสุทัสสนะ (สุทัสสนกูฏ)
    ยอดเขาจิตตะ (จิตรกูฎ )
    ยอดเขากาฬะ (กาฬกูฎ)
    ยอดเขาคันธมาทน์ (คันธมาทนกูฏ)
    ยอดเขาไกรลาส (ไกรลาสกูฏ)


    ยอดเขาสุทัสสนะ เป็นทองคำ รูปทรงโค้งตามแนวสระอโนดาต และปลายยอดเขา มีสัณฐานโค้งงุ้มดังปากกา โอบปิดด้านบนสระอโนดาตไว้ ไม่ให้โดนแสงอาทิตย์ แสงจันทร์ตรงๆ

    ยอดเขาจิตตะ เป็นรัตนะ รูปทรงคล้ายยอดเขาสุทัสสนะ

    ยอดเขากาฬะ เป็นแร่พลวง หินแห่งยอดเขาสีนีล รูปทรงคล้ายยอดเขาสุทัสสนะ

    ยอดเขาคันธมาทน์ รูปทรงคล้ายยอดเขาสุทัสสนะ ด้านบนยอดเขา เป็นพื้นราบเรียบ (เหมือนภูกระดึง) อุดมไปด้วยไม้หอมนานาพันธุ์ ทั้งไม้รากหอม ไม้แก่นหอม ไม้กระพี้หอม ไม้เปลือกหอม ไม้สะเก็ดหอม ไม้รสหอม ไม้ใบหอม ไม้ดอกหอม ไม้ผลหอม ไม้ลำต้นหอม ทั้งยังอุดมไปด้วย ไม้อันเป็นโอสถนานาประการ ในวันอุโบสถ(วันพระ) ข้างแรม ยอดเขานี้จะเรืองแสงเหมือนถ่านไฟคุ ข้างขึ้น แสงยิ่งเปล่งรัศมีโชติช่วงกว่าเดิม... ภายในเขาคันธมาทน์ มีถ้ำบนยอดเขาชื่อว่าถ้ำนันทมูล เป็นที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ประกอบไปด้วยถ้ำทอง ถ้ำแก้ว และถ้ำเงิน

    ยอดเขาไกรลาส เป็นภูเขาเงิน รูปทรงคล้ายยอดเขาสุทัสสนะ วิมานฉิมพลีแห่งพญาครุฑ ก็อยู่ที่เขาไกรลาสนี้


    ยอดเขาทั้ง๕ ตั้งตระหง่านรายล้อมสระอโนดาตไว้ และมีเทวดารวมถึงนาค เป็นผู้ดูแลรักษา ธารน้ำทั้งหลาย จากเขาหิมพานต์ ทุกสารทิศ จะไหลมาผ่านยอดเขา๕ลูกนี้ (ลูกใดลูกหนึ่ง) จากนั้น ก็จะไหลรวมลงสู่สระอโนดาต
    (เหตุที่ได้ชื่อว่าอโนดาต ก็เพราะ มีเงื้อมผาโค้งงุ้มดังปากกา โอบบังแสงไว้ด้านบน ทำให้แสงอาทิตย์และแสงจันทร์ ไม่สามารถส่องผ่านไปโดนน้ำตรงๆ ได้ แสงเพียงลอดเข้าด้านข้าง ในแนวเหนือใต้ ตรงระหว่างรอยต่อยอดเขากับยอดเขา เท่านั้น สระนี้ จึงได้ชื่อว่า “อโนดาต”...แปลว่า ไม่ถูกแสงส่องให้ร้อน..)

    จากสระอโนดาต... จะมีปากทางให้น้ำไหลระบายออกอยู่สี่แห่ง ทิศละแห่ง คือ

    สีหมุข... ปากแม่น้ำแดนราชสีห์ (เป็นถิ่นที่ราชสีห์อาศัยอยู่มาก)
    หัตถีมุข... ปากแม่น้ำแดนช้าง (เป็นถิ่นที่ช้างอาศัยอยู่มาก)
    อัสสมุข... ปากแม่น้ำแดนม้า (เป็นถิ่นที่ม้าอาศัยอยู่มาก)
    อุสภมุข... ปากแม่น้ำแดนโคอุสภะ (เป็นถิ่นที่โคอาศัยอยู่มาก)


    เกิดเป็นแม่น้ำใหญ่สี่สาย ไหลล่อเลี้ยงรอบนอกของเขาหิมพานต์ ก่อนลงสู่มหาสมุทร...


    ด้านทิศตะวันออก จากสระอโนดาต เลี้ยวขวาสระอโนดาตสามเลี้ยว ไม่ข้องแวะกับแม่น้ำอีกสามสาย ไหลผ่านถิ่นอมนุษย์ทางภูเขาหิมพานต์ ด้านทิศตะวันออก ลงสู่มหาสมุทร

    ด้านทิศตะวันตก จากสระอโนดาต เลี้ยวขวาสระอโนดาตสามเลี้ยว ไม่ข้องแวะกับแม่น้ำอีกสามสาย ไหลผ่านถิ่นอมนุษย์ทางภูเขาหิมพานต์ ด้านทิศตะวันตก ลงสู่มหาสมุทร

    ด้านทิศเหนือ จากสระอโนดาต เลี้ยวขวาสระอโนดาตสามเลี้ยว ไม่ข้องแวะกับแม่น้ำอีกสามสาย ไหลผ่านถิ่นอมนุษย์ทางภูเขาหิมพานต์ ด้านทิศเหนือ ลงสู่มหาสมุทร
    (ที่แม่น้ำทุกสาย ไหลวนรอบสระอโนดาตเหมือนกัน แต่ไม่ข้องแวะกัน เพราะ ไหลลอดอุโมงค์หิน ไหลลอดภูเขา ออกไป)

    ด้านทิศใต้ จากสระอโนดาต เลี้ยวขวาสระอโนดาตสามเลี้ยว แล้วไหลตรงไปทางใต้ประมาณ ๖๐ โยชน์ โผล่ออกมาใต้แผ่นหิน ตรงบริเวณหน้าผา กลายเป็นน้ำตกสูงใหญ่ยิ่ง ความสูงสายน้ำตกประมาณ ๖๐ โยชน์ สายน้ำตกอันรุนแรงนั้น ตกกระทบแผ่นหินเบื้องล่าง จนหินแตกกระจายออก ในที่สุดกลายเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ รองรับสายน้ำตกนั้น แอ่งน้ำนี้มีชื่อเรียกว่า “ติยัคคฬา” เมื่อน้ำมากขึ้น ได้พังทำลายหินอันโอบล้อมอยู่ออกไปได้ทางหนึ่ง เจาะกระแทกหินที่ไม่แข็ง เป็นอุโมงค์ ไหลไป จนถึงส่วนที่เป็นดิน ก็เจาะทะลุดิน เป็นอุโมงค์ และไหลลอดตามอุโมงค์ดินนั้นไป จนถึงภูเขาหินขวางอยู่ (ติรัจฉานบรรพต=ภูเขาขวาง) ภูเขานี้เรียกว่า วิชฌะ เมื่อน้ำกระทบหินเข้า ก็ไปต่อไม่ได้โดยง่าย แรงน้ำได้ดันจุดที่อ่อนแอที่สุดออกไปได้ ๕ จุด เกิดเป็นทางแยก ๕ แยก และกลายเป็นต้นน้ำสำคัญแห่งมนุษย์ ๕ สาย ด้วยกัน คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำอจิรวดี แม่น้ำสรภู แม่น้ำมหิ และแม่น้ำทั้ง๕ นี้ นอกจากผู้ตาทิพย์แล้ว ไม่มีใครบอกได้ว่า ของจริงอยู่ที่ไหน ...

     

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×