ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    * งานเขียนสารคดี *

    ลำดับตอนที่ #7 : เด็กดี...ลานสานฝัน # Dr.pop

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 73
      0
      17 ก.ย. 52

    6
                    วันนี้พวกเรามีนัดสัมภาษณ์พี่ป๊อบ ฐาวรา สิริพิพัฒน์ หรือที่รู้จักกันดีในนามปากกาว่า Dr.pop (ดร.ป๊อบ) ที่โอ บอง แปง สยามดิสคัพเวอรี่ ถึงจะเป็นช่วงเย็นคนพลุกพล่านแต่ที่ร้านนี้กลับมีคนไม่มากนัก บรรยากาศก็ดี มีเพลงคลอเบาๆ เหมาะแก่การพูดคุยกัน ในระหว่างรอนั้น เราก็นั่งกินขนมไปพรางๆ พร้อมกับช้อนพลาสติกห่วยๆ ที่ไม่เหมาะกับราคาขนม ถาดที่หมุนได้รอบทิศ และเสียงเครื่องครัวบรรเลงเพลงคร้งเคร้ง แทรกมาเป็นระยะๆ ให้เราได้ฟังกัน... ขนมยังไม่ทันหมดคนที่เรากำลังรอก็มาถึง พี่ป๊อบสั่งขนมมานิดหน่อย แล้วก็ได้ฤกษ์สัมภาษณ์
                    พี่ป๊อบบอกเราว่าเริ่มเขียนตั้งแต่อายุ 14 ตอนนั้นแค่วางโครงเรื่องยังไม่ได้ใส่รายละเอียดอะไร แค่อยากเขียน อยากลองเปลี่ยนจากภาพเป็นตัวหนังสือ เพราะชอบวาดการ์ตูนตั้งแต่ประถม มาจริงจังตอนอายุ 16 จนตอนนี้ 24 เข้าไปแล้ว ถ้าพูดถึงแรงบันดาลใจคงมาจากการดูหนังและเล่นเกมเยอะ มันเหมือนอยากมีโลกของตัวเอง จึงลองเขียนดูบ้าง แล้วหลังจากนั้น พอคิดที่จะเอางานเขียนไปลงในเว็บกลับไม่รู้ว่าจะเอาไปลงที่ไหนดี เพราะไม่รู้จักเว็บอะไรมากนัก เพื่อนก็แนะนำให้เอาไปลงในเว็บเด็กดี
    “ทำไมพี่ป๊อบถึงเลือกเขียนหนังสือล่ะ?” ฉันถาม
    “มันเหมือนกับว่าเรามีจินตนาการเยอะ เราก็ต้องหาทางถ่ายทอดออกมา ป๊อบรู้สึกว่าการเขียนหนังสือมันง่าย ไม่ต้องใช้ต้นทุนอะไรมากมาย” เขาตอบ
    “กับงานเขียนพี่ป๊อบวางเป้าหมายหรือหวังอะไรไว้บ้าง?” เราอยากรู้
    “ตอนแรกไม่หวังเลย ไม่เคยคิดว่างานเขียนจะสร้างรายได้มหาศาลเพราะรู้สึกว่า แค่ได้มีหนังสือเล่มหนึ่งมันดูเท่ แล้วในความคิดป๊อบพอมันออกมาแล้วประสบความสำเร็จก็ต้องมีการคาดหวังต่อไปว่าเราต้องทำมันให้ดีขึ้น ต้องทำให้คนที่ติดตามๆ ตลอดไป ต้องดีกว่านี้ เพราะคนอ่านก็หวังที่จะเห็นงานของเรามีการพัฒนา มันเป็นการคาดหวังที่มีต่อไปเรื่อยๆ และเราเองก็หวังที่จะพัฒนาให้มากขึ้นด้วยหมือนกัน” เราอึ้ง ไม่คิดว่าเขาจะใส่ใจกับคนอ่านมากขนาดนี้
    “แล้วพี่ป๊อบพัฒนาไปมากไหม” เราถามต่อ
    “มากนะ หลายคนบอกว่าเหมือนคนละคนเขียนเลย ป๊อบรู้สึกดีใจที่ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ อีกอย่างก็ไม่ค่อยสนใจกระแสวิพากษ์วิจารณ์ คิดว่าหมามันเห่า มันไม่ทำอะไรเราเท่าไหร่ แทนที่เราจะเสียเซลฟ์ สู้เอาแง่ดีที่เค้าพูดมาปรับปรุงแก้ไขงานดีกว่า เพราะคำวิจารณ์นั้นต้องมีคำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์ แล้วงานก็จะพัฒนาไปเอง มันก็เป็นผลดีกับเรา เค้าติมาเราก็รับไว้” เขาตอบพร้อมกับหัวเราะอย่างอารมณ์ดี
    “ส่วนตัวป๊อบเอง จะไม่พยายามไปวิจารณ์งานคนอื่นเพราะรู้สึกว่าตัวเองก็ไม่ได้แน่” เขาบอก
    “ถ้าเราเชื่อว่ามันจะเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวมันก็เป็นอย่างนั้นเอง เมื่อคุณเชื่อว่ามันจะยิ่งใหญ่ มันต้องยิ่งใหญ่” พี่ป๊อบให้ข้อคิดกับเรา
    นอกจากนั้นยังคาดหวังให้งานเขียนถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษอีกด้วย โดยจะเริ่มแปลต้นปีหน้า เขาบอกกับเราว่าถึงจะคาดหวังให้งานไปสู่ต่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะประสบความสำเร็จอะไรมากมาย เป็นเพราะระดับ Worldwide นั้น วรรณกรรมก็มีมากอยู่แล้ว
    ตอนนี้พี่ป๊อบเขียนแนวแฟนตาซีน้อยลง หันมาเป็น sci-fi ดราม่า ตลกร้าย มากขึ้น ที่หันมาเขียนแนวนี้ก็เพราะโตขึ้นและมุมมองของ sci-fi มันดูอลังกาลได้มากกว่า แฟนตาซีเดี๋ยวนี้ก็มีแต่ซ้ำๆ พ่อมด แม่มด เทพนิยาย สัตว์นิยาย มันเป็น Original ของมันเอง ซึ่งใครก็ทำได้ มันเกร่อแล้ว แต่คำว่า ‘sci-fi’ มันสามารถคิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้มาก จะวัดกันที่จินตนาการ การสร้างสรรค์ ความนอกโลกนอกราว และลึกลับ ตรงนี้เองที่เป็นเสน่ห์ น่าค้นหา...
    เขายังบอกอีกว่า ไม่อ่านวรรณกรรมเยาวชนและแฟนตาซีเลย เพราะรู้สึกว่ามันมาเป็นอิทธิพล จะอ่านก็แค่ Harry Potter เรื่องเดียว ส่วนใหญ่อ่านแต่หนังสือแปลเสียมากกว่า
    “คิดแค่ว่าฉันได้ทำสิ่งที่ฉันอยากทำ ไม่ต้องแคร์อะไรทั้งนั้น”
    “อย่าไปแคร์ว่าคนอ่านจะชอบมั้ย ต้องแคร์ว่าฉันชอบมั้ย งานเขียนต้องสนองตัวเอง คนอื่นต้องการจะรู้ความคิดของนักเขียน ดังนั้นนักเขียนต้องถ่ายทอดความเป็นตัวเอง ความเป็นตัวเองของป๊อบคือ สลับซับซ้อนและหักมุม คุณเดาไม่ได้หรอกครับ การเดาไม่ได้มันสนุกนะ คุณต้องการอะไร? นิยายที่อ่านแล้วรู้สึกว่าตัวเองฉลาดเหรอ... การที่คนเขียนทำตามตัวเอง มันเป็นการ Challenge คนอ่าน” เขาพูดอย่างรวดเร็ว
    อย่างที่พี่ป๊อบบอกเรานั่นแหละ เขียนเพื่อตัวเอง อย่าแคร์คนอื่นให้มากนัก เพราะจริงๆ แล้วเมื่อแรกเริ่มที่คิดจะเขียน ทุกคนก็เขียนเพราะอยากเขียนและมีความสุขมิใช่หรือ...  มันเป็นตัวของเราเองใช่มั้ยล่ะ
    “มีวิธีทำให้นิยายน่าสนใจอย่างไร?” ฉันยิงคำถามต่อไป
                    “นิยายที่เป็นที่สนใจคือนิยายที่ต้องเป็นตัวเองที่สุดคนอ่านอ่านแล้วรู้ได้เลยว่านี่คืองานเขียนของคนๆ นี้ ของป๊อบมั่นใจว่ามีลายเซ็นในงานเขียน อ่านแล้วก็รู้ได้ทันที” เขาตอบด้วยน้ำเสียงมั่นใจ
                    “การเขียนคือเขียนอะไรก็เขียน ไม่ต้องไปกังวล นักเขียนบางคนจะเขียนตามกันหรือเขียนด้วยอีโก้สูงว่าชั้นอยากจะเขียนงานโดยมีคุณค่าทางวรรณศิลป์ มันไม่ใช่ มันเป็นความคิดบ้าๆ ป๊อบเขียนไม่เคยนึกถึงหลักภาษา อย่างป๊อบไม่ได้จบภาษาศาสตร์ จะเขียนอย่างไรก็ได้ ไม่มีผิดไม่มีถูก มันออกมาจากสัญชาติญาณข้างใน มันเลยสนุก คนอ่านก็รู้ว่ามันสนุก” เขาได้แสดงออกถึงความเป็นตัวเองอย่างมาก
                    “แล้วอีกอย่างคือเราต้องหาเอกลักษณ์ในงานของเราให้ได้ งานของป๊อบมีความเป็น sci-fi ความตลกร้าย มีจินตนาการที่เพ้อฝันอยู่เยอะ ซึ่งมันเป็น original เนื้อเรื่องต้องแปลกใหม่ หลายเรื่องที่ป๊อบเขียนเนื้อเรื่องจะไม่ซ้ำกันเลย มันไม่ซ้ำกับแนวที่มีอยู่ในตลาด เลยเป็นจุดที่ดึงดูดให้คนมาอ่าน เพราะฉะนั้นคุณต้องพยายามคิดอะไรใหม่ๆ เหมือนเพลง ศิลปินที่ดังมาก ถ้าเขาร้องเพลงแนวเดิมๆ ตลอดมันก็ดูย่ำกับที่ และการที่เรามีงานเขียนใหม่ๆ เราก็ต้องคิดอะไรที่มันใหม่ๆ ตลอดเวลา คนถึงจะสนใจเรา” เขาสอนเรา
                    “งานเขียนที่ดีคือ ดัง แตกต่าง และลอกเลียนแบบไม่ได้” เขาสรุป
                    มาถึงคำถามต่อไปเราถามถึงเรื่องการลอกลิขสิทธิ์ เขาบอกว่าอันนี้ไม่เคยโดน รอดูอยู่เหมือนกันว่าใครจะกล้าทำรึเปล่า ถ้าอยากลอกก็ลอกไปเลย อยากรู้เหมือนกันว่าถ้ามีเรื่องมีราวขึ้นมา บรรยากาศในศาลจะเป็นอย่างไร พี่ป๊อบบอกว่าชอบท้าทายอำนาจมืด เขาหัวเราะไปกับคำตอบของตัวเอง ส่วนอันไหนที่เอาแนวไปเขาถือว่าเป็นแรงบันดาลใจ มันไม่ผิด เพราะไม่ได้เอามาทุกประโยค ตัวเขาเองก็ได้แรงบันดาลใจมาเหมือนกัน ถ้าไม่มีแฮรี่พ็อตเตอร์ก็อาจจะไม่มีไวท์โรดก็ได้ พี่ป๊อบบอก
                    สำหรับงานเขียนเขาคนนี้เลือกที่จะให้มันเป็นเพียงงานอดิเรก ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่เขาอยากจะทำ ตอนนี้ก็ทำงานเพลงอยู่ ถ้าให้เลือกคงเลือกเพลงก่อนเพราะเป็นความฝันตั้งแต่เด็ก จริงๆแล้วไม่ได้อยากเป็นนักเขียน แต่พอได้เป็นและประสบความสำเร็จ จะด้วยอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งโชค โอกาส ดวง และการสนับสนุนจากหลายๆ ฝ่าย ก็ต้องทำมันให้ดีที่สุดในเมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว คงทิ้งไม่ได้ก็เขียนอยู่ทุกวัน งานเยอะ ชีวิตไม่เคยได้พัก ฉันต้องขอแอบบอกว่าเหมือนพวกเราตอนนี้เลย เราถามต่อถึงช่วงเวลาที่เขาใช้สร้างสรรค์ผลงาน
                    “ป๊อบไม่ฟิคตัวเองเรื่องการเขียนเลยนะ บางคนบ้าระเบียบจัด เด็กรุ่นใหม่คิดว่าการเขียนต้องมีวินัย แล้วการที่จำกัดกฎเกณฑ์ตัวเองในการเขียน การเขียนมันเป็นอาร์ต งานอาร์ตขึ้นอยู่กับ Emotion ขึ้นอยู่กับความรู้สึก ไปสั่งตัวเองให้เขียนมันเขียนไม่ออกหรอก งานที่ถูกบังคับทำดีก็ไม่ดีที่สุด งานเขียนอย่าบังคับ เหมือนงานศิลปะเวลาเร่งๆ ก็ทำไม่ได้ ถ้าทำได้แล้วมันดีหรือ... ต้องมีบ้างที่ส่งไม่ทันกำหนด ไม่ทันก็คือไม่ทัน ไม่เป็นไร เจเค โรลลิ่ง ก็เขียนไม่ทัน ใช่ว่าจะออกตามสัญญาเสมอ ถ้าตะบี้ตะบันเขียน เรื่องออกมาก็ชุ่ย จะดีจะเลวนักเขียนก็โดน” มันโดนใจพวกเรา
                    มาถึงคำถามอีกคำถามที่พลาดไม่ได้คือการวางโครงเรื่องนั่นเอง พี่ป๊อบเล่าให้ฟังว่าจะวางโครงเรื่องละเอียดมาก บทนี้จะต้องพูดถึงอะไร หัวข้อนี้จะเขียนอย่างไรมีอะไรบ้าง แต่ละบทต้องมีจุดที่ส่งไปบทต่อไป จะต้องคิดว่าตอนต่อไปเป็นอย่างไร แต่ก่อนอื่นต้องเห็น Scope ทั้งหมดก่อน เรื่องนี้เราพูดถึงอะไร เริ่มที่ไหนแล้วจบลงตรงไหน จากนั้นจึงมาจัดรายละเอียดปลีกย่อย มีตัวละครอะไรบ้างที่จะอยู่ในแต่ละบท บทนี้เราจะเน้น Theme อะไร ต้องตีความให้แตกในแต่ละบท นี่เป็นสิ่งที่เขาทำมาตั้งแต่เด็ก
    “การวางโครงเรื่องต้องวางขนาดนี้แต่อย่าไปยึดติดเด็ดขาด วันนี้เราวางโครงเรื่องแบบนี้ แต่อีกวันนึงเราคิดได้อีกแบบ ก็ช่างมันเป็นไร ถ้าคิดว่ามันดีกว่า ก็เปลี่ยนไปเลย แล้วถ้าคิดอะไรใหม่ๆได้ก็ใส่ไป เวลาป๊อบเขียนจะต้องมีการกลับไปแก้บทก่อนหน้าเพื่อให้มันสอดคล้อง เพิ่มรายละเอียดหรือจับผิดงานตัวเอง ถ้ามีบางอย่างส่งผลต่อโครงเรื่องทั้งหมด ก็แก้เลย ช่างมัน อย่าซีเรียส อย่ากลัว คุณพิมพ์คอมนะไม่ใช่พิมพ์ดีด มันแก้ได้” เขาเลือกที่จะแก้งานทั้งหมด แม้จะส่งต้นฉบับไปแล้วก็ตาม
    “ป๊อบเป็นคนไม่เสียดายงาน ถ้าสมมุติเราปล่อยมันออกไปแล้วต้องทนไปเห็นหนังสือที่มันไม่ใช่ จะต้องไปคิดว่าทำไมฉันไม่เปลี่ยนตรงนี้ อันนั้นทรมานกว่าอีกนะ ออกมาเป็นรูปเล่มแล้วด้วย มันจะอยู่เป็นอมตะไปตลอด ชื่อหนังสือเล่มนี้จะอยู่ในหมายเลข ISBN ของหอสมุดแห่งชาติ เป็นตราบาปไปเลย เราต้องเคารพความคิดตัวเอง นักเขียนต้องมีอีโก้ทางความคิดระดับหนึ่ง ใช่ไม่ใช่ วางทิ้งแล้วอย่าเสียดาย” มันเป็นแง่คิดดีๆ ที่พี่ป๊อบบอกเรา ฉันคิดว่างั้นนะ
    การวางคาแร็คเตอร์ตัวละคร อันดับแรกต้องตีโจทย์ความเป็นคนให้แตกก่อน ตัวหลักต้องคิดว่าจะเป็นตัวละครแบบไหนที่คนจะจดจำได้ และต้องมีเอกลักษณ์ด้วย
    “สิ่งที่ตัวละครคิดกับสิ่งที่ตัวละครพูดหรือกระทำ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน” เขาว่า
    หลังจากวางคาแร็คเตอร์ ก็จะเป็นเรื่องการแทรกข้อคิด ทัศนคติต่างๆ เข้าไปในงานเขียน เรื่อง Girls & A Doll จะชัดเจน มีข้อคิดเป็น Theme ของแต่ละบท แต่ White Road จะแฝงอยู่กับเนื้อเรื่อง อย่างข้อคิดง่ายๆ ตอนสุดท้ายของพอล เมื่อคุณมีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ คุณก็ต้องเสียสละได้อย่างยิ่งใหญ่ แสดงให้เห็นว่าเมื่อคุณมีอำนาจมาก คุณจะใช้มันเพื่ออะไร ริชาร์ดใช้มันเพื่อตัวเอง เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้ตนเอง ขณะที่พอลใช้มันเพื่อรักษาชีวิตคนหมู่มาก อันนี้เป็นประเด็น เป็นสัจธรรม โลกเรามีคนที่ยิ่งใหญ่หลายคน แต่คนเหล่านั้นจะใช้พลังในรูปแบบต่างๆ กัน และก็มีน้อยคนที่จะใช้พลังเพื่อคนอื่น...
    ด้านการหาข้อมูลก็แล้วแต่กรณี ถ้าเป็นแฟนตาซีแทบไม่ต้องหาข้อมูลเลย ทุกอย่างขึ้นอยู่กับจินตนาการ จะไม่มีคำว่าถูกผิด แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับ Fact มันจะต้องมี Detail มาก เพราะว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
    ส่วนอุปสรรค จะเป็นเรื่องสมาธิสั้นและเบื่อง่าย ความสนใจจึงพุ่งตลอดเวลา เขาจะอยู่ในห้องทั้งวัน ไม่เปิดรับสื่อหรือข่าวสาร เมื่ออยู่ในช่วงเขียนหนังสือ และต้อง Concentrate มีอารมณ์กับตัวเอง ถ้ามันหลุดก็ต้องดึงกลับมาให้ได้
    ฉันถามออกนอกเรื่องไปบ้าง แต่ก็คงไม่ผิดนักถ้าฉันจะหยิบมาใส่ในงานเขียนนี้ด้วย เพราะหลายสิ่งหลายอย่าง เป็นอะไรที่มีข้อคิดและแง่มุมดีๆ ที่ฉันอยากให้คุณได้รับรู้ไปกับฉันด้วย ฉันไม่สามารถทำใจที่จะตัดมันทิ้งออกไปได้ ถึงบางอย่างแม้จะเป็นส่วนเล็กๆ แต่มันก็มีความสำคัญในตัวมันเอง อย่างเช่น การกล่าวถึง White Road ซึ่งเป็นผลงานเรื่องแรกของพี่ป๊อบ
    ฉันสงสัยมาตลอดว่าทำไม White Road ภาค 3 ถึงมีลีลาการนำเสนอที่ต่างกับภาคก่อนหน้านั้นนัก โดยเฉพาะการนำเสนอแบบตัดสลับตัวละครไปมา ทีละคนจนครบทุกตัว วันนี้ฉันก็เลยจัดการไขข้อสงสัยนี้เสียเลย
    พี่ป๊อบบอกว่าเป็นเพราะต้องการให้เห็นโลกที่กว้างใหญ่ ในภาค 3 นี้โลกของ White Road มันใหญ่มาก ไปทุกโลกเลย ทั้งโลกมนุษย์ อวกาศ และมิติต่างๆ ต้องการให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ว่าเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นหลายที่พร้อมกัน ถ้าเป็นเรื่อง Harry Potter คุณจะอยู่กับแฮรี่คนเดียว จะรู้แต่สิ่งที่เกิดใน Hogwarts แต่ความจริงในขณะที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นใน Hogwarts นั้นนอก Hogwarts ก็เกิดอะไรที่เราไม่รู้ขึ้นตั้งหลายอย่าง นี่แหละคือใจความของ White Road ภาคนี้
    “ป๊อบต้องการให้เห็นว่าโลกใบนี้ เกิดทุกอย่างขึ้นพร้อมกันและทุกคนก็เป็นพระเอกในชีวิตของตัวเอง” เขาย้ำกับเรา
    คำถามสุดท้ายแล้วสำหรับวันนี้ ความรู้สึกที่มีต่องานเขียน ฉันเชื่อว่ามันก็มีอยู่ในตัวของทุกคนนั่นแหละ จะต่างก็ว่ารู้สึกอย่างไรก็เท่านั้น
                    “ป๊อบชอบนะ งานเขียนทุกชิ้น ป๊อบสนิทกับมัน เพราะว่าป๊อบต้องแก้มันเยอะ งานเขียนหนึ่งเล่มกว่าจะออกมาได้แก้กันเป็นร้อยรอบ มันจะเกิดความผูกพันกับงานของเรา ถามว่าจำบทได้หมดมั้ย คงจำไม่ได้ แต่จะรู้สึกภูมิใจทุกครั้งที่มันออกมาเพราะรู้สึกว่ามันมาจากน้ำพักน้ำแรง มันมาจากความตั้งใจ ทุกครั้งที่อ่านงานที่ออกใหม่ของตัวเองก็ติดนิสัยอยากจะแก้ตรงนั้นตรงนี้ ป๊อบเป็นคนที่แก้อะไรตลอดเวลา งานจะไม่หยุดนิ่ง เพราะฉะนั้นความรู้สึกต่องานป๊อบคือจะผูกพันและรักมันมาก”
                    นั่นคือความรู้สึกที่พี่ป๊อบบอกกับเรา ฉันเพิ่งรู้ว่างานเขียนมันสามารถผูกพันกับเราได้มากขนาดนี้เลยหรอ คงใช่ เพราะแค่ฉันเป็นเพียงคนอ่าน ยังรู้สึกว่ามีความผูกพันกับเรื่องนั้นๆ เลย จะมากจะน้อยก็ตามความชอบที่มีให้กับแต่ละเรื่องนั่นละ
                    ตลอดระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เรามักจะได้ยินเสียงหัวเราะ โทนเสียงแปลกๆ ที่เขาใช้ และท่าทีสบายๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้การพูดคุยมีสีสัน มีความเป็นกันเอง อีกทั้งการตอบคำถามที่ใช้ไทยคำอังกฤษคำ ก็ทำให้เรางงอยู่บ้างเหมือนกัน แต่จากการสัมภาษณ์ในครั้งนี้เราได้อะไรเยอะมาก ครอบคลุมและค่อนข้างจะครบถ้วน ได้รู้จักมุมมองและตัวตนของเขามากขึ้น และยังได้อัพเดทผลงานต่อไปของเขาด้วย แม้ว่าเราอาจจะพูดคุยในเรื่องอื่นๆที่นอกเหนือไปบ้าง แต่ฉันก็รู้สึกว่ามันเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์อยู่ดี จึงเป็นการยากมากในขั้นตอนถอดเทปสัมภาษณ์และการเรียบเรียง
     

    PS. จากแก้วและโบ*
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×