คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #4 : แผนพัฒนาฯ กับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชีวภาพไทย 2000++
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540-2544) แตกต่างจากแผนฯ
ฉบับที่ 1-7 ที่ผ่านมา จึงนับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการวางแผนพัฒนาประเทศ
ทั้งในด้านแนวคิดใหม่ที่เปลี่ยนมาเน้นให้ " คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา" และใช้เศรษฐกิจ
เป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาให้คนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
และในด้านกระบวนการทำแผนที่เปิดโอกาสให้คนไทยทุกสาขาอาชีพทั้งในส่วนกลางและ
ส่วนภูมิภาคทั่วประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการทำแผนเพื่อพัฒนาไปสู่สังคมไทยที่พึงปรารถนา
ในอนาคต ขณะเดียวกันก็มีการวางแนวคิดและยุทธศาสตร์ใหม่ในการพัฒนาประเทศ
แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ได้กำหนดยุทธศาสตร์ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ที่ครอบคลุมถึงการฟื้นฟูบูรณะ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ และทะเล รวมทั้งป้องกันสภาวะแวดล้อมในชนบทและในเมือง เมื่อแผนฯ ฉบับที่ 8 ได้ผ่านไปครึ่งทาง
เราพบว่า สถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ มีดังต่อไปนี้
1. ทรัพยากรดินเพื่อการเกษตรเสื่อมโทรมลง
นอกจากดินที่มีสภาพธรรมชาติไม่เหมาะต่อการเพาะปลูก เช่น ดินเค็ม ดินทราย
ดินเปรี้ยว และดินตื้น ซึ่งมีจำนวนถึง 182 ล้านไร่ หรือ ร้อยละ 57
ของพื้นที่ประเทศแล้วความอุดมสมบูรณ์ของดินยังถูกทำลาย
จากการชะล้างพังทลายถึง 40.4 ล้านไร่ หรือ ร้อยละ 13 ของพื้นที่ประเทศ
และดินถูกทำลายจากการใช้เพาะปลูกพืชอย่างต่อเนื่อง
โดยขาดการปรับปรุงบำรุงดินอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีการนำ
พื้นที่ดินที่มีคุณสมบัติเหมาะกับการเพาะปลูกพืชไปใช้เพื่อกิจกรรมอื่น
แทน เช่น ที่อยู่อาศัยและโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
2. ทรัพยากรน้ำมีแนวโน้มขาดแคลนมากขึ้น
การขยายตัวของประชากรจนมีมากถึง 60 ล้านคนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ
ทำให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น นอกจากนี้นิสัยการใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือยของประชาชน
และภาวะฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานส่งผลให้สภาพการขาดแคลนน้ำมีแนวโน้ม
รุนแรงขึ้น จากการศึกษาข้อมูลและศักยภาพการพัฒนาลุ่มน้ำทั่วราชอาณาจักร
ทำให้คาดได้ว่า การขาดแคลนน้ำจะเพิ่มขึ้นจาก 5700 ล้านลูกบาศก์เมตร/ ปีในปี 2536
เป็น 6240 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปีในปี 2549 นอกจากนี้ การนำน้ำบาดาลมาใช้อย่างมาก
ได้ก่อให้เกิดการทรุดตัวของแผ่นดินและการแทรกซึมของน้ำเค็ม โดยเฉพาะ
ในเขตจังหวัดสมุทรปราการและสมุทรสาครมีอัตราการทรุดตัวลงถึง 3 เซนติเมตรต่อปี
และบริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหงทรุดไปแล้ว 1 เมตร และยังคงลดต่ำลงปีละ 1 เซนติเมตร
3. ป่าไม้และป่าชายเลนเสื่อมโทรมลงอย่างต่อเนื่อง
พื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายและลดลงจากจำนวน 171.0 ล้านไร่ หรือ ร้อยละ 53.3 ของพื้นที่ประเทศ
ในปี 2504 เหลือเพียง 81.1 ล้านไร่ หรือร้อยละ 25.3 ของพื้นที่ประเทศในปี 2541
ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่อยู่ในขั้นเสี่ยงอันตรายต่อการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ
ที่ควรมีพื้นที่ป่าไม้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด
สำหรับป่าชายเลน มีพื้นที่ลดลงจาก 2.23 ล้านไร่ในปี 2504 เหลือ 1.05 ล้านไร่ในปี 2539
หรือลดลงถึงร้อยละ 50 เนื่องจากถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ
อาทิ การเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ การทำนาเกลือ และเป็นที่ตั้งของชุมชน ส่งผลกระทบต่อ
ระบบนิเวศชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำขนาดเล็กที่เป็นห่วงโซ่อาหาร
ของสัตว์ทะเลต่างๆ
4. มลพิษทางน้ำ อากาศ และเสียง มีแนวโน้มสูงขึ้น
จากการสำรวจในปี 2541 พบว่า คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำโดยรวมทั้งประเทศ ประมาณ
ร้อยละ 19 อยู่ในเกณฑ์ดี เหมาะแก่การดำรงชีวิตของสัตว์น้ำหรืออุปโภคตามปกติ
ร้อยละ 53 อยู่ในเกณฑ์พอใช้เพื่อการเกษตรหรืออุปโภคทั่วไป ที่เหลืออีกร้อยละ 28 เป็น
แหล่งน้ำที่มีคุณภาพต่ำ จำเป็นต้องผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำทั่วไปก่อนนำมาใช้
คุณภาพอากาศในเขตเมืองใหญ่ๆ เมืองอุตสาหกรรม เมืองที่มีการก่อสร้างและที่มี
การจราจรหนาแน่น โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครมีฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10
ไมครอน ที่สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจชั้นในได้ มีปริมาณสูงสุด 225
ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงเป็น 1.9 เท่าของมาตรฐาน (120 ไมโครกรัม/ลบ ม.)
ส่วนก๊าซโอโซนพบว่าเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานเพียงเล็กน้อย สำหรับก๊าซคาร์บอน-
มอนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
ส่วนในพื้นที่ปริมณฑลและต่างจังหวัดนั้น ฝุ่นละอองเป็นปัญหาหลัก รองลงมาคือ ก๊าซโอโซน
มลพิษทางเสียง บริเวณชุมชนใกล้ถนนและที่มีการจราจรหนาแน่นหลายแห่ง
ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเกินมาตรฐาน
70 เดซิเบล ส่วนในภูมิภาคระดับเสียงส่วนใหญ่ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน
5. ของทิ้งเสียมีปริมาณมากขึ้น ขณะที่ขีดความสามารถในการกำจัดมีจำกัด
ในปี 2541 ขยะมูลฝอยจากชุมชนมีปริมาณ 13.6 ล้านตัน หรือ 37,250 ตัน/วัน โดย
ในหลายๆ พื้นที่ยังคงมีปัญหาขยะตกค้างไม่สามารถกำจัดหมด ของเสียอันตรายจาก
อุตสาหกรรม มีจำนวน 1.4 ล้านตัน ถูกส่งไปกำจัดที่ศูนย์บริการกำจัดกากอุตสาหกรรม-
มาบตาพุด จังหวัดระยอง และศูนย์วิจัยและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแสมดำ
ราชบุรี เป็นหลัก ซึ่งสามารถกำจัดได้เพียงร้อยละ 14.8 ของของเสียทั้งหมด
ของเสียอันตรายจากชุมชนมีปริมาณ 332,000 ตัน ส่วนใหญ่ถูกทิ้งอยู่รวมกับ
ขยะมูลฝอยทั่วไป แม้จะมีการรณรงค์ให้คัดแยกของเสียอันตรายทิ้งในถังขยะอันตราย
ที่กรุงเทพมหานครจัดไว้ตามแหล่งชุมชนต่างๆ แต่มาตรการดังกล่าวยังไม่ประสบ
ผลสำเร็จเท่าที่ควร ส่วนมูลฝอยติดเชื้อจากสถานพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ
มีการกำจัดโดยเตาเผามูลฝอยติดเชี้อประจำโรงพยาบาลต่างๆ ที่ได้จัดสร้างแล้ว 770 แห่ง
สามารถกำจัดได้ร้อยละ 91 ของปริมาณ
จากการพัฒนาในระยะ 3 ปีของแผนฯ ฉบับที่ 8 ได้มีการสรุปถึงสถานการณ์ภาพรวมและ
ผลกระทบการพัฒนาที่สำคัญในด้านต่างๆ แต่ที่ขอนำมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้จะนำมาเฉพาะเรื่อง
ที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง
สถานการณ์ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ได้เป็นอย่างดี
ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนไทยยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่อง เช่น
คุณภาพน้ำของแหล่งน้ำโดยรวมยังมีปัญหาอยู่ คุณภาพอากาศเริ่มดีขึ้นแต่ยังมีความรุนแรง
เกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานโดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ ปัญหาขยะลดลงแต่ปริมาณของเสียอันตราย
จากอุตสาหกรรมและชุมชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ปัญหาที่สำคัญ คือ พื้นที่ป่าไม้ถูกทำลาย
และลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือเพียงร้อยละ 25 ของพื้นที่ทั้งประเทศ จนกล่าวได้ว่าอยู่ในขั้นวิกฤต
ที่เสี่ยงต่อการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ที่มีผลโดยตรง
ต่อคุณภาพชีวิตของคนและชุมชนโดยรอบ
การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังดำเนินการได้ช้ามาก
ไม่ทันกับปัญหาความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในช่วงปี 2538-2541 พื้นที่ป่าไม้ลงลง
เฉลี่ยปีละประมาณ 3 แสนไร่ แต่การปลูกป่าทำได้เพียงปีละประมาณ 127,500 ไร่ สำหรับการ
ฟื้นฟูทรัพยากรประมง ผลดำเนินงานยังไม่ชัดเจนและยังคงมีปัญหาความขัดแย้งระหว่าง
ชาวประมงขนาดใหญ่และชาวประมงพื้นบ้าน ส่วนเรื่องป่าไม้ได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติ
ป่าชุมชน ซึ่งเป็นกฏหมายแม่บทให้ชุมชนมีสิทธิในการบริหารป่าชุมชนและสนับสนุนการฟื้นฟู
ป่าไม้ มีการระงับเลี้ยงกุ้งกุลาดำในเขตน้ำจืด และการยกร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ
รวมทั้งการอนุมัติแผนปฏิบัติการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ
อย่างยั่งยืน พ.ศ.2541-2545 ซึ่งยังไม่ดำเนินการเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร ในขณะที่ท้องถิ่น
ชุมชน และประชาชนเริ่มตื่นตัวให้ความสำคัญ และมีบทบาทในการจัดการสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดผลทางปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะการลดความขัดแย้งของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
และการเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดมลพิษ
เพราะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง
ในการดำรงชีวิตของประชาชน มีแนวโน้มที่จะเสื่อมโทรมและขาดแคลนมากขึ้น
รวมทั้งมีการใช้ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในการกีดกันทางการค้ามากขึ้น
หรือ แนวโน้มการค้าโลกจะผลักดันเงื่อนไขเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อมเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศมากขึ้น
ความคิดเห็น