ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    สถานภาพพันธุ์พืช

    ลำดับตอนที่ #3 : ความรู้พื้นฐานดอยเชียงดาว

    • อัปเดตล่าสุด 14 ธ.ค. 49



    นิทานเชียงดาวเคยลงในมติชนรายวันเมื่อแปดหรือเก้าเดือนก่อน...ต้อนรับบิ๊กไอเดียเมื่อนายกนั่งค็อปเตอร์ผ่านเชียงดาว ขอย้อนมาเล่าให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง....เพราะตอนนี้โครงการกระเช้าเริ่มเป็นรูปธรรมแล้วครับ

    กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ราวหนึ่งแสนถึงหนึ่งหมื่นปีก่อนโลกของเราถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง พืชที่เกิดขึ้นในเวลานั้นได้แก่“พืชน้ำแข็ง” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชล้มลุกและไม้พุ่มเตี้ยๆที่ทนต่อสภาพอากาศที่หนาวเย็น กองทัพของพืชน้ำแข็งได้แผ่ขยายอาณาเขตออกไปทั่วทุกหนแห่งและครอบครองโลกเอาไว้

    ในเวลาต่อมาเมื่อโลกมีอากาศอบอุ่นขึ้น เหล่าพืชน้ำแข็งก็เริ่มพ่ายแพ้ต่อภูมิอากาศมันค่อยๆร่นถอยแตกทัพออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในเขตหนาวบริเวณละติจูดสูงใกล้ขั้วโลก[ระหว่าง 60-90 องศาเหนือและใต้] อากาศที่หนาวเย็นได้ช่วยปกป้องให้พืชน้ำแข็ง ดำรงเผ่าพันธุ์ต่อมาโดยไม่ถูกรังแกจากต้นไม้ใหญ่ที่มาทีหลัง เขตละติจูดสูงที่พวกมันอาศัยอยู่เรียกว่า เขตทุนดรา ซึ่งแปลว่าที่ราบที่ปราศจากต้นไม้ใหญ่

    พืชน้ำแข็งอีกกลุ่มหนึ่ง ถอยร่นหนีอากาศอบอุ่นไปยังเขตทุนดราไม่ทันมันจึงตกค้างอยู่ตามภูเขาสูงทั่งโลก อากาศที่หนาวเย็นบนภูเขาได้ช่วยปกป้องให้พืชน้ำแข็งกลุ่มนี้ สืบทอดสายพันธุ์ต่อมาโดยที่ต้นไม้ใหญ่ไม่สามารถขยายอาณาเขตเข้าไปยึดครองพื้นที่ได้ เขตที่ปราศจากต้นไม้ใหญ่บนภูเขาสูงทั่วโลกเรียกว่า เขตอัลไพน์

    ห้วงเวลาต่อมาอีกหลายหลายพันปีเป็นห้วงเวลาแห่งวิวัฒนาการ พืชน้ำแข็งในเขตละติจูดสูงใกล้ขั้วโลกได้วิวัฒนาการ เป็นพืชชนิดใหม่ที่อาศัยอยูในสภาพอบอุ่นกว่าสมัยก่อนกลายเป็น“พืชทุนดรา” และพืชน้ำแข็งที่อาศัยอยู่บนภูเขาสูงทั่วโลกได้ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นขึ้น และมีพื้นที่การกระจายพันธุ์ที่จำกัดราวกับติดอยู่บนเกาะ การอยู่อย่างโดดเดี่ยวเช่นนี้ ยิ่งเป็นพลังขับดันให้การวิวัฒนาการทำงานได้ดียิ่งขึ้น พืชน้ำแข็งบนภูเขาจึงกลายมาเป็นพืชชนิดใหม่ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมเรียกว่า“พืชอัลไพน์”ในปัจจุบัน

    ในประเทศไทยบรรดาแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นภูเขาเช่น ดอยอินทนนท์ ดอยผ้าห่มปก ดอยเชียงดาว ภูหลวง ภูกระดึง ฯลฯ ได้รับการขนานนามว่ามีภูมิประเทศและพรรณพืชธรรมชาติที่สวยงาม แต่ไม่มีที่ใดที่จะโดดเด่นไปกว่าดอยเชียงดาว ซึ่งเป็นแหล่งรวมพรรณพืชที่เป็นพืชเฉพาะถิ่นไว้มากมาย และยังเป็นที่แห่งเดียวในประเทศไทยที่ปกป้องพืชน้ำแข็งเมื่อหลายหมื่นปีก่อน ให้อยู่รอดปลอดภัยผ่านกระบวนการวิวัฒนาการมาเป็นพืชอัลไพน์มาจนถึงปัจจุบัน

    ทั้งดอยอินทนนท์และดอยผ้าห่มปกที่มีความสูงอันดับหนึ่งและสองของไทย ไม่สามารถปกป้องพืชน้ำแข็งได้สำเร็จมันจึงสูญพันธุ์ไป แต่ดอยที่สูงเป็นอันดับสามอย่างดอยเชียงดาวกลับทำได้ เนื่องมาจากความลงตัวอย่างเหมาะเจาะหลายประการคือ ดอยเชียงดาวเป็นภูเขาหินปูนเพียงลูกเดียวในประเทศไทยที่มีความสูงเกินกว่า 2000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ความสูงนี้เพียงพอที่จะรักษาอุณหภูมิให้เย็นตลอดปี และความสูงนี้เพียงพอที่จะจับเมฆบนฟ้ามาเป็นละอองเย็นหล่อเลี้ยงพรรณพืชบนดอย การอยู่*งจากเส้นศูนย์สูตรพอสมควรทำให้อากาศไม่ร้อน และประการสุดท้ายด้วยสภาพที่เป็นหินปูนของดอยเชียงดาว ช่วยทำให้เกิดซอกหินเว้าแหว่งให้ร่มเงาแก่พรรณพืช มีชั้นดินไม่ลึกและเมื่อผุพังก็กลายเป็นดินที่มีสภาพเป็นด่าง ซึ่งเอื้ออำนวยแก่พืชบางชนิดที่ปรับตัวเก่ง และในขณะเดียวกันก็เป็นอุปสรรคขวางกั้นต้นไม้ใหญ่ไม่ให้ขยายอาณาเขตเข้ามา

    ความลงตัวอย่างเหมาะเจาะนี้ ทำให้ดอยเชียงดาวกลายเป็นสถานที่พิเศษเพียงแห่งเดียวที่มี”สังคมพืชกึ่งอัลไพน์ เกิดขึ้น ตลอดเทือกดอยบริเวณความสูงราว1800-1900 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป จะพ้นแนวเขตของต้นไม้ใหญ่และมีลักษณะเป็นสวนหินธรรมชาติที่มีไม้พุ่มขึ้นเคียงคู่กับไม้ล้มลุก ในช่วงปลายฝนต้นหนาวซึ่งเป็นฤดูกาลที่พรรณพืชเหล่านี้ ออกดอกพร้อมๆกันจะเป็นเวลาที่ดอยเชียงดาวสวยงามน่าหลงใหลที่สุด

    ทายาทของพืชน้ำแข็งเมื่อหลายหมื่นปีก่อน ผ่านวิวัฒนาการอันยาวนานมาเป็นพรรณพืชเชียงดาวในปัจจุบัน ทำให้พวกมันกลายเป็นพืชสายพันธุ์พิเศษที่ไม่พบในที่แห่งอื่นใดในโลก นอกจากดอยเชียงดาวเพียงแห่งเดียวเท่านั้น เราเรียกพรรณพืชพิเศษนี้ว่า“พืชเฉพาะถิ่น” จากการสำรวจอย่างต่อเนื่องของคณะนักพฤกษศาสตร์ชั้นนำของไทยนำโดย ศ.เต็ม สมิตินันท์ เมื่อหลายสิบปีก่อนพบพืชเฉพาะถิ่นที่ดอยเชียงดาวมากกว่า 60 ชนิด ในจำนวนนี้เกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นพืชที่อยู่ในสังคมพืชกึ่งอัลไพน์บริเวณยอดดอยและเป็นพืชที่ให้ดอกสวยงาม เช่น

    กลุ่มที่ให้ดอกสีสดใสอย่างเทียนนกแก้ว[Impatiens psittacina Hk.f.], เทียนนางคาร์ [Impatiens kerriae Craib.], เทียนเชียงดาว[Impatiens chiangdaoensis Shimizu.], หรีดเชียงดาว[Genntiana leptoclada spp.], ชมพูเชียงดาว[Pedicularis siamensis Tsoong.] กลุ่มที่ให้ดอกสีอ่อนหวานอย่างขาวปั้น[Scabiosa siamensis Criab.], ฟ้าคราม[Ceratostigma stapfianum Hoss.], พิมพ์ใจ[Luculia gratissima[Wall.] Sweet.], กุหลาบพันปีเชียงดาว [Rhododendron ludwigianum Hoss.] และยังมีต้นค้อเชียงดาวหรือปาล์มรักเมฆ[Trachycarpus oreophilus Gibbons&Spanner] ที่เป็นไม้ใหญ่มีรูปทรงลำต้นสวยงาม

    ความงามแปลกตาของสภาพภูมิประเทศที่เป็นหินปูน ผสมผสานกับไม้พุ่มและไม้ล้มลุกที่ออกดอกทั่วทั้งหุบเขา เติมด้วยเสียงร้องและการปรากฏตัวของนกสีสันสดใสนานาชนิด แถมด้วยการทิ้งร่องรอยให้เห็นของสัตว์ป่าขนาดใหญ่ที่หายากอย่างเลียงผา นับเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมายังดอยเชียงดาวอย่างไม่ขาดสาย และเป็นความทรงจำอันยากจะลืมเลือนของนักเดินทางทุกผู้ทุกนาม จนหลายคนขนานนามให้เส้นทางเดินเท้าจากเด่นหญ้าขัดสู่ยอดดอยเชียงดาว เป็นเส้นทางเดินป่าท่องเที่ยวที่สมบูรณ์แบบที่สุด เพราะมันมีทั้งความเหนื่อยความโหดในระดับพอดีๆ แต่มีรางวัลคือความสวยงามของธรรมชาติเป็นโบนัสที่แสนจะคุ้มค่า

    ความงามของดอยเชียงดาวนี่เอง ที่กำลังจะกลายเป็นดาบสองคมที่หันคมด้านหนึ่งมาบาดตัวเอง จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่การมองหาแนวทางการจัดการที่เหมาะสม เพื่อรักษาให้สถานที่วิเศษแห่งนี้ยั่งยืนต่อไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เช่น การให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวถึงความเปราะบางของระบบนิเวศน์ก่อนการเดินทาง การนำรูปแบบการจัดการที่จำกัดจำนวนของนักท่องเที่ยว ให้พอเหมาะกับความสามารถที่ธรรมชาติจะรับได้ การจำกัดจำนวนขยะที่นักท่องเที่ยวนำขึ้นไป และหลีกเลี่ยงการพัฒนาที่ให้ความสะดวกจนเกินไป ซึ่งจะมีผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น จนเกินขีดจำกัดของธรรมชาติจะรับได้[ยกตัวอย่างเช่นการสร้างกระเช้าไฟฟ้า เป็นต้น]

    การมีอยู่ของพรรณพืชดอยเชียงดาวที่เป็นหนึ่งเดียวในโลก นับเป็นพรอันวิเศษที่ธรรมชาติมอบให้แก่คนไทย ความสวยงามและอันวิเศษนี้จะหมดไปในทันที ถ้าเราไม่ปกปักรักษาและพิจารณาแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบ บางทีลูกหลานของเราอาจไม่ได้เห็นในสิ่งที่เราเห็น เพราะพวกเขาจะเห็นเพียงแต่ในรูปถ่ายหรือซากอบแห้งที่เป็นตัวอย่างพืชในหอพรรณไม้เท่านั้น

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×