ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    สถานภาพพันธุ์พืช

    ลำดับตอนที่ #2 : ค้อเชียงดาว มณฑาป่า เพกาผู้ อูนต้น

    • อัปเดตล่าสุด 14 ธ.ค. 49




    ค้อเชียงดาว

    ชื่อพฤกษศาสตร์: Trachycarpus oreophilus Gibbons & Spanner

    วงศ์ : PALMAE (ARECACEAE)

    ปาล์ม ขึ้นเป็นต้นเดี่ยว สูง 5-10 เมตร ลำต้นนูนเป็นคลื่นคล้ายวงข้อ มีเยื่อหุ้มพันรอบคอต้นคล้ายร่างแหสีน้ำตาล ใบเดี่ยว ตั้งแผ่ รูปมนกลมคล้ายพัด ด้านล่างมีนวลขาว แผ่นใบมีจีบประมาณ 60 พับ

    เขตกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา : ในประเทศไทยพบเฉพาะที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และดอยภูคา ภูแว จังหวัดน่าน ขึ้นกระจายบนที่โล่งตามสันเขาของภูเขาหินปูนที่ลาดชัน ที่ระดับความสูง 1,700 - 2,150 เมตร

    สถานภาพ : พืชถิ่นเดียวและพืชหายาก



    เพกาผู้

    ชื่อพฤกษศาสตร์: Radermachera glandulosa (Blume) Miq.

    วงศ์ : BIGNONIACEAE

    ชื่ออื่น : แคชาญชัย หูวัว

    ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 4-8 เมตร ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ปลายคี่ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบย่อย 2-4 คู่ รูปรีถึงรูปใบหอกกลับ ปลายเรียวแหลม โคนสอบเบี้ยว ขอบเรียบ มีต่อมขนาดใหญ่ สีม่วงคล้ำ 1 กลุ่ม ที่โคนใบด้านล่าง ก้านใบย่อยยาว ดอก ออกเป็นช่อโปร่งตามปลายกิ่ง กลีบดอกติดกันเป็นหลอดทรงแคบ สีขาวอมชมพู ส่วนปลายแยกเป็น 5 แฉกมีขนครุยปกคลุม ผล เป็นฝักยาวเรียว เมล็ด แบน บาง มีปีกบางใสทางด้านข้างทั้งสองด้าน

    เขตกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา : ภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ของไทย ต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ลาว จีนภาคใต้ มาเลเซีย สุมาตรา และชวา ขึ้นในป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ที่ระดับความสูง 50-1,100 เมตร

    สถานภาพ : พืชหายาก



    มณฑาป่า

    ชื่อพฤกษศาสตร์: Manglietia garrettii Craib

    วงศ์ : MAGNOLIACEAE

    ชื่ออื่น : มณฑาดอย มะองนก

    ไม้ต้น ไม่ผลัดใบ สูง 15-25 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทรงกลมสูงแน่นทึบ ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีเทาปนขาว ใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับเป็นกลุ่มใกล้ปลายกิ่ง รูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนมน หรือแหลม ใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ดอก ออกเดี่ยวๆ ที่ปลายกิ่ง ขนาดใหญ่ สีชมพูแกมม่วง กลีบรวมชั้นนอกและชั้นในมีขนาดไม่เท่ากัน เกสรเพศผู้จำนวนมาก เรียงเวียนถี่ๆ ซ้อนกันแน่น รังไข่แยกกันและรวมกันบนแกนยาว ผล เป็นกลุ่ม มีผลย่อยจำนวนมากอัดแน่นอยู่บนแกนยาว รูปไข่ป้อม เมื่อสุกสีน้ำตาล เมล็ดรูปไข่แบน สีแดง

    เขตกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา : พบเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย พบในป่าดิบเขาริมลำธารหรือหุบเขาที่ชุ่มชื้น ที่ระดับความสูง 1,000 - 2,000 เมตร ออกดอกเดือนมีนาคม - พฤษภาคม

    สถานภาพ : พืชถิ่นเดียวและพืชหายาก



    อูนต้น

    ชื่อพฤกษศาสตร์: Cornus oblonga Wall. var. siamica Geddes

    วงศ์ : CORNACEAE

    ต้นไม้ขนาดเล็ก สูง 4-8 เมตร ใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปรี ปลายและโคนใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีนวล ดอกเล็ก มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อแตกแขนงสั้นๆ ที่ปลายกิ่ง กลีบดอก 4 กลีบ สีขาว เกสรเพศผู้ยื่นเหนือกลีบดอก ผลสดทรงกลม สีเขียวอมเหลือง ส่วนบนมีรอยวงแหวนของกลีบเลี้ยงที่ติดทน

    เขตกระจายพันธุ์และถิ่นกำเนิด : พบเฉพาะในป่าดิบเขาที่ม่ร่มเงา บนภูเขาหินปูนของดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ระดับความสูง 1,800 - 2,100 เมตร ออกดอกและผลเดือน ธันวาคม - มกราคม

    สถานภาพ : พืชถิ่นเดียว และพืชหายาก


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×