หมามุ่ยพืชอนุรักษ์ดินและน้ำ |
หมามุ่ย เป็นพืชตระกูลถั่วอายุข้ามปี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mucuna pruriens L. (พันธุ์พื้นเมือง) Mucuna capitata (พันธุ์ไม่มีขนคัน) ขึ้นเป็นแถวคลุมไม้อื่นจนแน่นทึบ โดยเฉพาะในไร่ร้างจะพบหมามุ่ยขึ้นเต็มไปหมด จนกลายเป็นพืชที่มีปัญหา แต่ละเถาจะติดก้านใบขนาดใหญ่ยาว ประกอบด้วยใบย่อย 3 ใบ ใบหนานุ่มมีขนอ่อน ติดดอกปลาย ฤดูฝนเป็นช่อ กลีบดอกสีม่วงอ่อนดูเด่น ยอมรับว่าหมามุ่ยให้ดอกช่อดอกยาวใหญ่ทยอยกันบานจากโคนถึงปลายช่อ ต่อมาก็ติดฝักถ้าเป็นพันธุ์ใหญ่ฝักจะแบน ส่วนพันธุ์เล็กฝักจะกลม ฝักจะมีขนอ่อนคลุม ฝักแก่นี้เองจะกลายเป็นพืชที่มีพิษ เพราะขนจะปลิวว่อนไปตอนต้นลมตั้งแต่ฤดูหนาวถึงฤดูแล้ง ถ้ามีดงหมามุ่ยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง จะคันยุบยับไปทั้งตัว ยิ่งเหงื่อตกยิ่งรู้สึกคันยิ่งขึ้น แก้โดยถูกับผมหรือใช้เทียนขี้ผึ้ง หรือใช้ข้าวเหนียวสุกนวดให้เป็นก้อน กลิ้งเบา ๆ บริเวณที่คัน
โชคดีที่นักพฤษศาสตร์ปรับปรุงพันธุ์พื้นเมืองให้เป็นสายพันธุ์ใหญ่ ใบเล็ก ฝักไม่มีขนพิษและอายุสั้น โดยนำมาปลูกเป็นปุ๋ยพืชสด หรือปลูกคลุมพื้นที่ว่างเปล่า เมื่อประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา มีนักวิชาการได้นำเมล็ดพันธุ์หมามุ่ยไม่มีพิษมาจากโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอาจจะนำพันธุ์มาจากไต้หวันและได้นำมาขยายพันธุ์ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.พนมสารคาม จ. ฉะเชิงเทรา ต่อมาได้กระจายนำพันธุ์ไปทั่วทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีการนำหมามุ่ยไม่คันมาปลูกข่มหญ้าขจรจบ ดอกเหลืองในกระถางทดสอบ พบว่าสามารถข่มวัชพืขได้ดีเช่นเดียวกับถั่วพร้าและถั่วแปบในระยะแรกเพราะเป็นพืชที่มีเมล็ดใหม่ เปลือกบาง จึงงอกได้รวดเร็วมีใบใหญ่บังแสงได้มากพอ จนวัชพืชไม่สามารถจะงอกได้ แต่หมามุ่ยชนิดนี้เป็นพืชล้มลุกอายุสั้นโทรมเร็วไม่สามารถข่มวัชพืชข้ามปีได้
การใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์ดิน ควรปล่อยให้ขึ้นคลุมพื้นที่ลาดเทซึ่งปล่อยทิ้งไม่ใช้ประโยชน์ จะช่วยยึดดินไม่ให้พังทลายในฤดูฝน ถ้าเป็นหมามุ่ยพันธุ์พื้นเมือง ไม่ควรเข้าไปใกล้ ขณะติดฝักแก่ในฤดูแล้ง เพราะขนจะปลิวมาแตะผิวหนังทำให้ผื่นคันได้ส่วนพันธุ์ต่างประเทศใช้ปลูกคลุมดินเหมือนพืชคลุมดินทั่ว ๆ ไป
กาง
ความคิดเห็น