ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    *~สาระน่ารู้~*

    ลำดับตอนที่ #27 : สูตรสุขภาพดีตามฤดู ร้อน ฝน หนาว

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.94K
      1
      18 มิ.ย. 50

    การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอเป็นสิ่งที่ดีเพื่อป้องกันการเกิดโรค บรรเทาอาการของโรค ตลอดจนการมีชีวิตที่เป็นปกติสุข แต่ท่ามกลางสภาวะการดำรงชีวิตที่เร่งรีบและบีบคั้นร่างกายตลอดจนจิตใจอย่างทุกวันนี้ เราจะมีวิธีการดูแลตัวเองแบบง่ายๆได้อย่างไร
           


                  ในหลักของการแพทย์แผนไทยถือว่าการจะมีสุขภาพที่ดีได้ต้องประกอบทั้งสุขภาพกายและจิตใจ ที่สำคัญคือเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและการสร้างความสมดุลให้กับร่างกายและจิตใจ ขณะเดียวกันเวลาและฤดูกาลก็มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญด้วย
           
           อ.วุฒิ วุฒิธรรมเวช แพทย์แผนไทยจากคลินิกธรรมเวชแพทย์แผนไทย อธิบายว่า ในหลักการแพทย์แผนไทยกล่าวถึงมูลของโรคหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมี 8 ประการ และ 6 ประการ การที่พยายามหลีกห่างจากมูลของโรคก็เป็นหนทางที่สามารถป้องกันโรคได้
           
           ทั้งนี้ มูลของโรค 8 ประการ ก็คือความประพฤติของมนุษย์ที่จะทำให้โรคบังเกิดขึ้น ซึ่งจัดไว้ 8 ประการ คือ 1.อาหาร การทานอาหารมากหรือน้อยกว่าที่เคย ทานอาหารไม่ตรงกับเวลา อาหารบูดเสีย อาหารรสแปลก 2.อิริยาบถ ควรใช้อิริยาบถให้ผลัดเปลี่ยนกันตามปกติ 3.ความร้อนและเย็น เมื่อถูกความร้อนความเย็นมากเกินไป ทำให้ธาตุวิปริตแปรปรวน 4.อดนอน อดข้าว อดน้ำ 5.กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะ 6.ทำงานเกินกำลัง 7.ความเศร้าโศกเสียใจ และ 8.โทสะ
           

           ส่วนมูลเหตุของการเกิดโรค 6 ประการ ตามพระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์ คือ 1.กินอาหารผิดเวลาและอิ่มนัก 2.เสพเมถุนมาก 3.กลางวันนอนมาก 4.กลางคืนนอนไม่หลับ 5.โทสะมาก 6.กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะ
           
           “ปัจจุบันฤดูกาลเปลี่ยนแปลงคลาดเคลื่อนไปมาก ฤดูกาลในแต่ละภาคก็แตกต่างออกไป ไม่ค่อยตรงกันนัก หากจะให้ละเอียดจริงๆ ต้องพิจารณาสมุฏฐานอื่นประกอบด้วย เช่น ธาตุเจ้าเรือน หรือสภาพของร่างกายในปัจจุบัน พิจารณาตามอายุ ถ้าจะให้แน่นอนก็ควรตรวจชีพจรว่ามีลักษณะอย่างไร ซึ่งมีรายละเอียดมาก แต่ในที่นี่จะกล่าวถึงภาพรวมโดยทั่วไปในเรื่องการรักษาสุขภาพตามฤดูกาลเป็นหลัก”
           
           อ.วุฒิ ชี้แจงว่า ฤดูหลักที่มีประจำในประเทศไทยคือ ฤดู 3 อย่างไรก็ตามยังมีฤดู 4 และฤดู 6 ด้วย แต่จะขอกล่าวถึงภาพรวมใน ฤดู 3 เท่านั้น นั่นก็คือ คิมหันตฤดู หรือฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 4 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 วสันตฤดู หรือฤดูฝน ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 และ เหมันตฤดู หรือฤดูหนาว ตั้งแต่งวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4

                  “การรักษาสุขภาพในฤดูร้อนนั้น รวมระยะเวลา 4 เดือน ในระยะเวลานี้เป็นเวลาที่พื้นโลกมีความร้อนสูงขึ้น ร่างกายของคนเรากระทบกับความร้อน ทำให้ธาตุไฟ โดยเฉพาะย่างยิ่งไฟสำหรับอบอุ่นร่างกายพลอยกำเริบมากขึ้น ถ้าจะเกิดโรคก็มักเกิดเนื่องจาก ธาตุไฟ น้ำดี และโลหิต กำเริบหรือพิการ ดังนั้น การป้องกันและรักษาสุขภาพในช่วงฤดูร้อน คือ การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดโรคหรืออาการที่ทำให้เพิ่มอุณหภูมิของร่างกายจนถึงขั้นผิดปกติ ซึ่งสามารถทำได้หลายทางด้วยกัน เช่น หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค 8 และ 6 ประการ หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ในที่ที่มีความร้อนสูงเป็นเวลานาน ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีรสร้อน รสมันมากเกินไป ควรรับประทานอาหารที่มีรสเย็น และรสขม”
           
           ส่วนอาหารที่เหมาะสมสำหรับฤดูร้อนนั้น อ.วุฒิ แนะนำว่า ในประเภทพืชผัก เช่น ถั่วพู แตงกวา แตงร้าน แตงไทย ถั่วฝักยาว ถั่วแขก ผักกาดขาว ผักบุ้ง กะหล่ำปลี ใบบัวบก กระเจี๊ยบมอญ สายบัว ผักกะเฉด ผักกูด ผักโขม ผักชีฝรั่ง ดอกแค ยอดแค ขี้เหล็ก สะเดา ตำลึง มะระ คึ่นฉ่าย ผักกาด แครอท หัวผักกาด ฟัก น้ำเต้า ผักกะสัง ผักหวาน หัวปลี หยวกกล้วย เตยหอม กระถิน ชะอม ฟักทอง เหง้าหวาย หัวลูกตาลอ่อน ยอดมะพร้าว ย่านาง ยอดฟักทอง ใบยอ ถั่วงอก มะเขือ มะเขือพวง ผักปลัง ดอกขจร หัวลูกมะพร้าวอ่อน ใบมะยม ฝักเพกา ใบกรุงเขมา(หมาน้อย) กระพังโหม ถั่วเขียว บวบ
           
           ส่วนผลไม้ เช่น แตงโม ชมพู่ มะละกอ แตงไทย ลูกตาลอ่อน สาลี่ แอปเปิล ฝรั่ง แก้วมังกร รากบัวหลวง เม็ดบัว กระจับ มังคุด ซึ่งการปรุงอาหารนั้นควรปรุงให้ครบถ้วน หาใช่ใช้แต่รสใดรสหนึ่งเท่านั้น เพียงแต่เน้นส่วนปรุงตามหลักฤดูกาล นอกจากอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศแล้ว ยังมีโรคที่มาพร้อมกับความแห้งแล้ง เช่น โรคท้องร่วง อหิวาตกโรค เป็นต้น
           
           สำหรับการรักษาสุขภาพในฤดูฝนนั้น อ.วุฒิ อธิบายว่า ช่วง 4 เดือนของฤดูฝนเป็นช่วงที่มีภูมิอากาศร้อนอบอ้าว มีความชื้นสูง บางครั้งมีความหนาวเย็นผสมด้วย ทำให้ร่างกายมีความร้อนและความชื้นสะสมสูงขึ้น อากาศถูกแทรกด้วยไอน้ำมากขึ้น ทำให้การหมุนเวียนของเลือดลมในร่างกายมาเป็นไปตามปกติที่เคย ทำให้ธาตุไฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิกัดลมพัดในท้องแต่อยู่นอกลำไส้พลอยหวั่นไหวกำเริบขึ้น การเกิดโรคมักเกิดขึ้นเนื่องจากธาตุลมกำเริบหรือพิการ

                  “ดังนั้นการป้องกันรักษาสุขภาพในหน้าฝนจึงควรหลีกเลี่ยงสาเหตุต่างๆที่ทำให้เกิดโรค ได้ เช่น หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค 8 และ 6 ประการ อย่ากรำแดดกรำฝน หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อับชื้น ที่มีละอองฝน ที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เมื่อร่างกายเปียกชื้น ควรอาบน้ำเช็ดตัวให้แห้ง อย่าสวมเสื้อผ้าเปียกชื้น ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีรสแสลงกับโรคลม เช่น รสเย็น รสเมาเบื่อ รสขม รสหอมเย็น อาหารย่อยยาก และควรรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน”
           
           อาหารที่เหมาะสำหรับฤดูฝน ได้แก่ ขิง ข่า ตะไคร้ ใบกะเพรา กระชาย แมงลัก สะระแหน่ ช้าพลู ขมิ้นขาว ขมิ้นชัน ผักชีฝรั่ง ผักชีหอม ผักชีลาว โหระพา หอม กระเทียม ใบมะกรูด พริกไทย พริกหยวก พริกชี้ฟ้า ผักแพรว หมุย(สมัด) ดอกกะทือ ดอกกระเจียว ใบมะตูม ผักไผ่ หน่อไม้ งา เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เปราะหอม ผักแขยง กุยฉ่าย ส่วนผลไม้ ได้แก่ ทุเรียน ละมุด ลำไย ลิ้นจี่ ขณะเดียวกันให้ระวังโรคที่มักระบาดในหน้าฝนด้วย เช่น โรคฉี่หนู โรคไข้เลือดออก โรคไข้มาลาเรีย เป็นต้น
           
           ส่วนการรักษาสุขภาพในฤดูหนาวนั้น อ.วุฒิ ระบุว่า 4 เดือนนี้มีการเปลี่ยนแปลงของอากาศอย่างรวดเร็ว ความชุ่มชื่นในฤดูฝนที่เกิดจากลมใต้เปลี่ยนไป เมื่อลมเหนือพัดพาเอาความหนาวเย็นและความแห้งแล้งเข้ามาแทนที่ การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน ถ้าร่างกายไม่แข็งแรง อาจเกิดการเจ็บป่วยได้ ส่วนใหญ่มักทำให้ธาตุน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิกัดเสมหะพลอยหวั่นไหว กำเริบหย่อนหรือพิการได้

                  “จะมีเสมหะมากขึ้น เกิดการอักเสบในคอ ร่างกายปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือได้รับเชื้อโรคที่ปลิวมากับลม ที่มากับสัตว์ย้ายถิ่น เช่น ไข้หวัด ไข้กำเดา ที่มากับนกเป็ดน้ำที่มาจากไซบีเรีย เป็นต้น นอกจากเสมหะแล้ว ธาตุน้ำอื่นๆในร่างกายก็อาจกำเริบ หย่อน หรือพิการ ได้เช่นกัน เช่น ไขข้อ มันเหลว มันข้น เลือด โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ใกล้ผิวหนังจะกระทบมากที่สุด”
           
           ดังนั้น ในการป้องกัน นอกจากหลีกเลี่ยงการเกิดโรค 8 และ 6 ประการแล้ว ควรดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ สวมเสื้อผ้าให้เหมาะสม นอนในห้องที่ให้ความอบอุ่น ไม่ควรผึ่งลม ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่แสลงกับเสมหะ เช่น อาหารรสเย็น รสหวาน รสมัน และรสเค็ม ซึ่งอาจทำให้เสมหะกำเริบได้ ส่วนผู้สูงอายุหรือผู้ที่ร่างกายผอม ไขมันน้อย อาจมีปัญหาเรื่องผิวหนังแห้ง แตกระแหง ทำให้คันหรือติดเชื้อได้ง่าย ควรใช้สบู่ที่มีสรรพคุณรักษาผิว ทำให้ผิวชุ่มชื่น เช่น ชะเอมเทศ ชะเอมไทย เปลือกกล้วยหอม ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ว่านนางคำ เป็นต้น หรือใช้สบู่อ่อน เช่น สบู่สำหรับเด็ก
           
           ทั้งนี้ อาหารที่เหมาะสำหรับฤดูหนาวนั้น อ.วุฒิ แนะนำว่า สิ่งที่ควรทำในฤดูหนาวคือ การกระตุ้นให้ร่างกายมีความอบอุ่นอยู่เสมอ ความจริงแล้วอาหารที่ใช้ในฤดูฝนส่วนใหญ่ที่มีรสเผ็ดร้อนก็สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารฤดูหนาวได้ดี และควรเพิ่มอาหารดังนี้เข้าไปด้วย เช่น มะเขือเทศ มะขามสด ยอดมะขาม ผักติ้ว มะละกอ ผลไม้ เช่น ส้มต่างๆ มะนาว มะเฟือง มะไฟ และให้ระวังโรคที่มากับลมหนาวตามนกที่ย้ายถิ่นหรือเกสรดอกไม้ที่ปลิวมา เช่น ไข้เปลี่ยนฤดู ไข้หวัดนก ไข้ดอกสัก เป็นต้น
           
           “จะเห็นได้ว่า การดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทยตามฤดูกาลนั้น มีเนื้อหาสาระเป็นจำนวนมาก สามารถแยกออกได้หลายแขนง เช่น ด้านโภชนาการ ด้านสมุนไพร ด้านการประพฤติตน ในที่นี้สามารนำมากล่าวได้เพียงแนวทางเพื่อนำไปขยายผลตามควรต่อไปเท่านั้น หวังว่าคงสามารถจุดประกายในการพัฒนาการแพทย์แผนไทยให้เจริญก้าวไกล สามารถนำมาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันต่อไป” อ.วุฒิสรุปทิ้งท้าย

    ที่มา thaifitway
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×