ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    *~สาระน่ารู้~*

    ลำดับตอนที่ #18 : พิมเสน..มากคุณค่า

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 3.04K
      1
      18 มิ.ย. 50

    พิมเสน..มากคุณค่า

    ราคาสบายๆ หาได้ง่ายในบ้านเรา

     

    เมื่อพูดถึงพิมเสน ทุกคนคงจะนึกถึงกลิ่นหอมๆ ของสมุนไพร แต่บางคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าพิมเสนคืออะไร มีลักษณะอย่างไร ในสัปดาห์นี้ทางมูลนิธิฯ จึงนำความรู้ดีๆ มาฝากท่านผู้อ่านให้ได้รู้จักพิมเสนดีขึ้น และยังมีวิธีการทำมาแนะนำท่านผู้อ่านที่สนใจอยากจะทำไว้ใช้เอง หรือทำขายหารายได้เข้ากระเป๋าก็ทำได้สบายๆ ไม่ยุ่งยาก

    พิมเสน เป็นชื่อของต้นพืช มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pogostemon calslin (Blanco) Benth. ในวงศ์ Labiatae ลักษณะเป็นพืชขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง ใบเดี่ยวออกตรงข้าม ใบรูปไข่ ขอบใบจักเป็นซี่ มีขนหนาแน่น ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบและที่ยอด ผลแข็ง รูปรี ขนาดเล็ก บางถิ่นเรียกว่าผักชีช้าง ภาคใต้เรียกว่าใบหลม หรือใบอีหรม

    เนื่องจากภาษาอังกฤษเรียกว่า patchouli น้ำมันพิมเสนได้จากการกลั่นกิ่งและใบต้นพิมเสน จึงมีชื่อเรียกว่า น้ำมันแพตชูลี นิยมใช้ปรุงเป็นน้ำหอม แต่งกลิ่นสบู่ ใช้ผสมน้ำอาบเพื่อระงับกลิ่นตัว โบราณใช้แต่งกลิ่นขี้ผึ้งสีปาก ในทางยาใช้ทาแก้ปวด ต้นพิมเสนเป็นส่วนผสมหนึ่งในตำรับยาหอม ตำรับยาแก้ไข้ ใบสดต้มน้ำดื่มแก้ปวดประจำเดือน ยาชงจากยอดแห้งและรากดื่มเป็นยาขับปัสสาวะและขับลม ผงใบใช้เป็นยานัตถุ์และเป็นยาทำให้จาม กิ่งและใบแห้งใส่ไว้ในตู้เสื้อผ้าทำให้มีกลิ่นหอมและช่วยป้องกันแมลงมากัดเสื้อผ้า

    นอกจากนี้ยังมีพิมเสนอีกชนิดหนึ่ง คือพิมเสนในธรรมชาติที่พบแทรกอยู่ในเนื้อไม้ของพืช เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงได้ถึง 70 เมตร มีกิ่งก้านสาขา ใบเป็นใบเดี่ยว ใบที่อยู่ตอนบนของต้นเรียงแบบสลับ ส่วนใบที่อยู่ตอนล่างออกตรงข้าม ใบรูปไข่ ขอบใบเรียบ ใบอ่อนสีแดง ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งและซอกใบ ผลเป็นผลแห้งมีปีก มี 1 เมล็ด พิมเสนที่พบมีลักษณะเป็นเกล็ดเล็กๆ สีขาวขุ่นหรือแดงเรื่อๆ มีกลิ่นหอมเย็น ฉุน พิมเสนบริสุทธิ์จะเป็นรูปหกเหลี่ยม ละลายในปิโตรเลียมอีเทอร์ เบนซิน

    ตามตำราประมวลหลักเภสัชฯ ท่านจัดพิมเสนเป็นธาตุวัตถุ ได้จากการนำการบูรมาหุงกับยาอื่นๆ ได้เป็นเกล็ดแบนๆ สีขาว หรือสีแดงเรื่อๆ แต่ปัจจุบันได้จากการสังเคราะห์ซึ่งจะมีรสเผ็ดกัดลิ้น ถ้าเป็นของแท้จากธรรมชาติจะไม่กัดลิ้นแต่จะทำให้เย็นปากคอ สมัยก่อนใส่ในหมากพลู แพทย์แผนโบราณใช้เป็นยาขับเหงื่อ ขับเสมหะ กระตุ้นการหายใจ กระตุ้นสมอง บำรุงหัวใจ ใช้เป็นยาระงับความกระวนกระวาย ทำให้ง่วงซึม ถ้าใช้เกินขนาดอาจทำให้อาเจียน

    การอบสมุนไพรใช้พิมเสนเป็นส่วนประกอบในตัวยา พิมเสนซึ่งระเหิดเมื่อถูกความร้อน มีกลิ่นหอม ใช้แต่งกลิ่น บำรุงหัวใจ แก้โรคผิวหนัง ผสมในลูกประคบเพื่อช่วยแต่งกลิ่น มีฤทธิ์แก้พุพอง แก้หวัด นอกจากนี้ยังผสมอยู่ในยาหม่อง น้ำอบไทย ในยาหอมจะมีใบพิมเสนและพิมเสนผสมอยู่ด้วย สมัยก่อนพิมเสนเป็นยาที่หายาก มีราคาแพง จึงมีคำพูดที่ว่า อย่าเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ

    ในตำรายาไทยบอกไว้ว่า พิมเสนการบูรช่วยให้นอนหลับสนิท แต่คนชอบเอาไปใส่ในรถ นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รถชนกัน ดังนั้นห้ามใช้ในรถเด็ดขาด พิมเสนน้ำใช้ดมแก้หวัด บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ เมารถ เมาเรือ บรรเทาอาการบวมจากแมลงสัตว์กัดต่อย แก้ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก

    วิธีทำพิมเสนน้ำ

    วัสดุอุปกรณ์และส่วนผสมต่างๆ มีขายแถวสี่แยกวัดตึก (ถนนจักรวรรดิตัดกับถนนเจริญกรุง) ย่านเสาชิงช้า และย่านเยาวราช

    อุปกรณ์ที่ต้องใช้ ก็มี ไซริงจ์ฉีดยาพลาสติก (ไม่ต้องมีเข็ม) จาน ขวดแก้วใสมีฝาปิด (ใช้ขวดกาแฟเปล่าล้างน้ำสะอาดแล้วก็ได้) ขวดบรรจุพิมเสนน้ำ

    วิธีทำ

    1.เมนทอล การบูร และพิมเสน 3 อย่างนี้มาเทรวมกันในจาน คนคลุกเคล้า จากนั้นกรอกลงขวดแก้วปิดฝาแล้วเขย่า ส่วนผสมจะค่อยละลายจนน้ำใส เขย่าไปจนเข้ากันดี

    2.กรณีที่กลิ่นของพิมเสนน้ำฉุนเกินความต้องการ ให้ผสมยูคาลิปตัสลงไปเพื่อให้กลิ่นอ่อนชวนสูดดม ค่อยๆ เติมทีละน้อยแล้วเขย่าไปดมไปเรื่อยๆ จนแน่ใจว่ากลิ่นอ่อนขนาดนี้ละใช่เลยก็หยุดเติม

    3.บรรจุขวด ซึ่งมี 2 วิธีคือ บรรจุขวดแบบใส่สำลี โดยปั้นสำลีใส่ในขวดพอประมาณ ใช้ไซริงจ์ดูดพิมเสนน้ำหยดใส่ขวด ขวดละประมาณ 1 ซีซี อีกวิธีคือ บรรจุแบบน้ำมันหม่องน้ำ โดยใส่พิมเสนน้ำลงไปในขวด ขวดละประมาณ 1.5 ซีซี สำหรับสารประกอบอย่างอื่น เช่น น้ำมันระกำ น้ำมันเปปเปอร์มินต์ หรือน้ำหอม ถ้าต้องการจะใส่ก็ใส่ในขั้นตอนนี้

    จะเห็นได้ว่าประโยชน์ของพิมเสนมีมากมายหลากหลาย จะทำขายก็ได้ทำแจกก็ดี เพราะราคาไม่แพงสามารถทำเป็นของที่ระลึกในเทศกาลต่างๆ ได้ ถ้าให้คนที่พิเศษหรือผู้สูงอายุที่ให้ความเคารพ ก็อาจจะตกแต่งขวดที่ใส่ให้สวยงามยิ่งขึ้น ด้วยการผูกโบหรือติดริบบิ้นที่มีสีสัน ซึ่งหาซื้อได้ง่ายตามตลาดจตุจักร ตลาดสำเพ็ง เพียงเท่านี้ก็จะได้ของขวัญปีใหม่ที่ไม่ซ้ำแบบใคร

    แถมยังให้ได้ทั่วถึงเพราะราคาสบายๆ และยังมีคุณค่าทางจิตใจอีกด้วยค่ะ แต่หากจะทำขาย เพื่อความปลอดภัยของผู้ซื้อและของคนขายเอง ต้องติดต่อขอ อย.ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กองยา โทร.0-2590-7200

    ขอใบอนุญาตการผลิตยานำไปขึ้นทะเบียนตำรับยา เพื่อแสดงว่าออกจำหน่ายได้อย่างถูกกฎหมายเพราะเป็นสินค้ามีคุณภาพผ่านการรับรองจาก อย.แล้ว

     




    ข้อมูลจาก


    ที่มา thaihealth

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×