ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เที่ยวทั่วไทยไปได้ทุกที่

    ลำดับตอนที่ #3 : จังหวัดชลบุรี(ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล)

    • อัปเดตล่าสุด 21 มี.ค. 50


    ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล

     

     

    ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ

    หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง

    อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี  20180

     

     

       

    เปิดให้เยี่ยมชมตั้งแต่ เวลา 08.30-16.00 น.ทุกวัน

    ไม่เว้นวันหยุดราชการ

    เพื่อเป็นการสะดวกต่อทุกท่านในการเยี่ยมชม

    กรุณาแจ้งล่วงหน้า ตามที่อยู่  ดังนี้

    สำนักงาน 038245736 - 65  ต่อ 066-3809 และ 066-6178

     

    กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ 

    พระราชวังเดิม 

    บางกอกใหญ่  กรุงเทพ ฯ  10600

    โทร. 0  2466  0336

    ฝ่ายกิจการพลเรือน

    หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง

    อำเภอสัตหีบ  จังหวัดชลบุรี  20180

     โทร. 0  3843  1477 

    หรือ  038245736 - 65  ต่อ 066-3809 และ 066-6178


    ประวัติความเป็นมา

    ๑. แต่เดิม กรมประมง  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์   ได้ให้สัมปทานเอกชนดำเนินการเก็บไข่เต่าทะเล ตามชายหาดและเกาะต่าง ๆ

    ๒. พ.ศ.๒๔๙๓  กองทัพเรือ ได้ออกประกาศตามพระราชบัญญัติว่าด้วยเขตปลอดภัยทางราชการ และให้สงวนบริเวณสถานีทหารเรือสัตหีบบางส่วน   ไว้เป็นเขตปลอดภัย   ดังนั้นกรมประมง     ได้มอบการเก็บไข่เต่าทะเลในบริเวณเขตปลอดภัย  ให้กองทัพเรือเป็นผู้ดำเนินการ กองทัพเรือจึงได้ดำเนินการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลดังนี้

                      ๒.๑  ตั้งแต่ปี  พ.ศ.๒๔๙๓ กองทัพเรือ มอบหมายให้ กรมอุทกศาสตร์เป็นหน่วยแรกที่ดำเนินการ 

                      ๒.๒ จนถึงปี  พ.ศ.๒๕๐๑  กรมอุทกศาสตร์  จึงได้โอนให้ สถานีทหารเรือสัตหีบ  เป็นผู้ดำเนินการแต่เนื่องจากผู้บัญชาการสถานี      ทหารเรือสัตหีบ  ในขณะนั้น ได้แก่  พล.ร.ต.อนันต์  เนตรโรจน์  ดำรงตำแหน่ง  ผู้บังคับการกองการฝึก กองเรือยุทธการ อีกตำแหน่งหนึ่ง  จึงได้  ลงคำสั่งให้ กองการฝึก  กองเรือยุทธการ เป็นผู้ดำเนินการ           

                      ๒.๓ พ.ศ. ๒๕๒๒   สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ        ทรงมีพระราชดำริให้กรมประมง   จัดตั้ง    “ โครงการสมเด็จอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล  “     ซึ่งตั้งอยู่ที่เกาะมันใน  อำเภอแกลง  จังหวัดระยอง   สถานีอนุรักษ์เต่าทะเลของกรมประมงแห่งนี้  ได้ส่งเจ้าหน้าที่  จำนวน  ๒  นาย  มาร่วมดำเนินการเพาะฟักและเพาะเลี้ยงพันธุ์เต่าทะเล  ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือ  และกองทัพเรือได้ให้การสนับสนุน   โครงการ   สมเด็จอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล  ด้วยการส่งลูกเต่าทะเลปีละ  ๔,๐๐๐ ตัว ( ลูกเต่าตนุ  ๓,๐๐๐  ตัว และ ลูกเต่ากระ  ๑,๐๐๐  ตัว ) ไปให้สถานีอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล  ของกรมประมง      ต่อมาในปี  พ.ศ. ๒๕๓๔         กองทัพเรือได้ส่งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เต่าทะเล    จำนวน   ๙   ตัว    ให้สถานีอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล  เกาะมันใน  ไปเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์ด้วย

                      ๒.๔ พ.ศ.๒๕๓๒ กองทัพเรือได้อนุมัติให้  ฐานทัพเรือสัตหีบโดย กรมต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง  รับผิดชอบการดูแลเกาะครามแทน  กองการฝึกกองเรือยุทธการ 

                      ๒.๕ ตั้งแต่ปี    พ..๒๕๓๕   กองทัพเรือได้มุ่งเน้นและขยายผลการดำเนินงานอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งให้กว้างขวางยิ่งขึ้น  โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งกองทัพเรือขึ้น มี รองผู้บัญชาการทหารเรือ   เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง   มอบหมายให้มีหน้าที่สำคัญคือ   กำหนดเป้าหมาย   นโยบาย รวมทั้งอำนวยการประสานงานและกำกับดูแลการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมในทะเลและชายฝั่ง ทั้งด้านอ่าวไทยและทะเลอันดามันให้เกิดผลดีมีประสิทธิภาพ   ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง  รวมทั้งคำสั่ง นโยบาย     ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของกองทัพเรือ     ได้กำหนดให้        งานอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลอยู่ในความรับผิดชอบของ  คณะกรรมการอำนวยการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ทะเล   โดยมี หน่วยบัญชาการ ต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง  เป็นหน่วยปฏิบัติ

                      ๒.๖  เมื่อ ๑๗ ต.ค.๔๔  กองทัพเรือ ได้ยกเลิกคณะกรรมการอนุรักษ์ต่าง ๆ และได้จัดงานการอนุรักษ์ทั้งหมดที่กองทัพเรือเกี่ยวข้อง   เข้าไว้เป็นสายงานปกติของกองทัพเรือ  โดยมีกรมกิจการพลเรือนทหารเรือ    เป็นฝ่ายอำนวยการ     สำหรับงานด้านการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลโดยตรงนั้น    มี     หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง    เป็นหน่วยดำเนินการ  ทั้งนี้เป็นไปตามการปฏิบัติของ ทร.   ตามแผนปฏิบัติการอนุรักษ์   และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล        ภายใต้นโยบายความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล  ตามมติคณะรัฐมนตรี   เมื่อ   ๒๒ มิ.ย.๔๔     ในเรื่องนโยบายความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล  ที่  กำหนดให้   กองทัพเรือเป็นหน่วยปฏิบัติหน่วยหนึ่งของรัฐ

                      ๒.๗  พ.ศ.๒๕๓๗ กองทัพเรือ ได้ยกเลิกการจำหน่ายไข่เต่าทะเล  ซึ่งเคยจำหน่ายบางส่วนที่เหลือจากการนำมาเพาะฟัก มาดำเนินการเพาะฟักทั้งหมด

                      ๒.๘ พ.ศ.๒๕๓๘   กองทัพเรือได้ขยายการอนุรักษ์เต่าทะเล ไปยังด้านฝั่งทะเลอันดามัน  โดยให้อยู่ในความรับผิดชอบของ กองเรือภาคที่  ๓  กองเรือยุทธการ มีศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลอยู่ที่ ชายหาดสนงาม แหลมปอ ฐานทัพเรือพังงา อ.ท้ายเหมือง  จ.พังงา

     

     

    การเพาะฟักและการเพาะเลี้ยงในอดีต

              นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๓  เป็นต้นมา  กองทัพเรือได้จัดตั้งศูนย์เก็บและเพาะฟักไข่เต่าทะเลขึ้นที่หาดหน้าบ้าน  เกาะคราม  ลักษณะของอาคารเป็นเรือนไม้ ๒  ชั้น การดำเนินงานเก็บไข่เต่าทะเลนำจำหน่ายตามที่ได้รับสัมปทาน  และส่วนหนึ่งไม่น้อยกว่า  ๑๐ เปอร์เซ็น  จะดำเนินการเพาะฟักและปล่อยลูกเต่าทะเลลงสู่ธรรมชาติตั้งแต่เกิด  โดยไม่ได้นำมาอนุบาลเหมือนปัจจุบัน

     

     

     

    การเพาะฟักและเพาะเลี้ยงในปัจจุบัน

              ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗  ขณะนั้น   พล.ร.อ.ประเจตน์  ศิริเดชเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ  ได้มอบหมายให้   พล.ร.อ.วิญญาน  สันติวิสัฏฐ์   รองผู้บัญชาการทหารเรือ      เป็นประธานกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง ดูแลโครงการอนุรักษ์ต่าง ๆ  ของกองทัพเรือ( ๓ โครงการ  )โดยเฉพาะการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล  ซึ่งท่านได้ให้ความสนใจเป็นกรณีพิเศษ   สืบเนื่องจากกองทัพเรือ  ได้ดำเนินการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล         มาก่อนหน่วยงานอื่น ๆ   แต่ขาดการประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมสร้างจิตสำนึกให้ทุกคน

    เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล  พล.ร.อ.วิญญาน ฯ ได้สั่งการให้งดการจำหน่ายไข่เต่าทะเล  และนำมาเพาะฟักทั้งหมด  พร้อมทั้งดำเนินการอนุบาลลูกเต่าทะเลจนกระทั่งมีอายุ   ๓  -  ๖  เดือน จึงนำปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ  โดยมีการจัดกิจกรรมตามที่ต่างๆ เพื่อสร้างจิตสำนึก  ตามระยะเวลาและโอกาสที่อำนวยต่อไป  

               เมื่อมีการประชาสัมพันธ์ในเรื่อง      งานอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลของกองทัพเรือเพิ่มขึ้น  ทำให้มีผู้ขอเยี่ยมชมที่เกาะครามเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อความสะดวกและปลอดภัย    และไม่เป็นการรบกวนแม่เต่าทะเลที่ขึ้นวางไข่บริเวณรอบ  เกาะคราม   หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง  จึงได้สร้างศูนย์เพาะเลี้ยงเต่าทะเลที่บริเวณชายหาดของหน่วย  และสร้างอาคารบรรยาย  เพื่อให้ความรู้แก่บุคคล และคณะต่าง ๆ  ที่ขอเยี่ยมชม        ปัจจุบันศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง ของกองทัพเรือ ในจังหวัดชลบุรี

     

     

    การดำเนินงาน  ที่เกาะคราม

               นธต. ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าตรวจและเก็บไข่เต่าทะเลตามหาดต่าง ๆ  บนเกาะคราม  เกาะอีร้าและเกาะจาน เพื่อป้องกันการลักลอบเก็บไข่เต่าทะเล  การทำลายแหล่งแพร่ขยายพันธุ์  การทำประมงบริเวณชายฝั่งในรัศมี ๓กม. ไข่เต่าทะเลที่เก็บได้จะนำมาเพาะฟักให้เป็นตัวในบริเวณพื้นที่ที่เตรียมไว้ ที่ชายหาดหน้าเป็นบ้านพักของเจ้าหน้าที่ เมื่อเกิดเป็นตัวแล้ว จะส่งไปอนุบาลต่อที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ  ชายหาดของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งจนมีอายุได้ประมาณ เดือน  ก็จะนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป 

     

     

     ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล    

              เป็นแหล่งให้ความรู้ทางด้านชีววิทยา  เกี่ยวกับวงจรชีวิตของเต่าทะเลโดยจัดนิทรรศการและจัดวิทยากรนำชมศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล  เพื่อให้ประชาชนทั่วไป  โดยเฉพาะเยาวชนได้สัมผัสกับวงจรชีวิตของเต่าทะเล    เพื่อเกิดความรู้สึกหวงแหน   ในทรัพยากรเต่าทะเลของไทย

     

    ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเต่าทะเล

    กล่าวทั่วไป

                     เต่าทะเลเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ ที่เคยมีหลักฐานพบว่าอาศัยอยู่ทั่วไปในสมัย ๑๓๐ ล้านปีก่อน นอกจากนั้นยังมีหลักฐานว่าเคยพบซากโบราณ (Fossil) ก่อนหน้านั้นไม่น้อยกว่า ๒๐๐ ล้านปี   การแพร่กระจายของเต่าทะเลพบเฉพาะในเขตร้อนและเขตอบอุ่นเต่าทะเลจะขึ้นมาบนฝั่งเฉพาะเพศเมีย  เพื่อวางไข่แพร่พันธุ์เท่านั้น เต่าทะเลทั่วโลกที่พบมีอยู่ ๗ ชนิด ได้แก่ เต่ามะเฟือง เต่ากระ เต่าตนุ  เต่าตนุหลังแบน เต่าหัวฆ้อน เต่าหญ้า และเต่าหญ้าแอตแลนติก

    ประเทศไทย  มี ๔ ชนิดที่พบ คือ เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า และเต่ามะเฟือง

                       เต่าทะเลในน่านน้ำไทยที่เคยพบและรายงานไว้มีทั้งหมด ๕ ชนิด  จัดเป็น  ๒ วงศ์ (Family)

     

    วิธีการจำแนกชนิดของเต่าทะเล ใช้ลักษณะกระดอง จำนวนเกล็ดบนกระดอง และจำนวนเกล็ดระหว่างจะงอยปากกับตา

     

    ๑. วงศ์ CHELONIIDAE

     

    เต่าตนุ  ชื่ออังกฤษ GREEN  TURTLE   

    ชื่อวิทยาศาสตร์ CHELONIA  MYDAS

     

              ลักษณะเด่น : เกล็ดบนส่วนหัวตอนหน้า ( Prefrontal Scale )  มีจำนวน ๑ คู่  เกล็ดบนกระดองแถวข้าง   ( Costal Scale ) จำนวน ๔ เกล็ด ลักษณะขอบของเกล็ดจะเชื่อมต่อกัน    ไม่ซ้อนกัน สีสันและลวดลายสวยงาม  โดยมีกระดองสีน้ำตาลอมเหลือง มีลายริ้วสีจางกว่ากระจายจากส่วนกลางเกล็ด  มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า   เต่าแสงอาทิตย์

              ขนาด : โตเต็มที่ความยาวกระดอง ประมาณ ๑๕๐ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๒๐๐ กิโลกรัม ขนาดโตถึงแพร่พันธุ์ ความยาวประมาณ ๘๐ เซนติเมตร

              อาหาร : เต่าตนุเป็นเต่าชนิดเดียวที่กินพืชเป็นอาหาร เมื่อพ้นวัยอ่อนแล้ว  อาหารหลัก     ได้แก่ พวกหญ้าทะเล และสาหร่ายชนิดต่าง ๆ เต่าตนุในวัยอ่อนจะกินทั้งพืชและเนื้อสัตว์เป็นอาหาร

              แหล่งที่พบ : แหล่งวางไข่เต่าตนุในอ่าวไทย พบที่เกาะคราม จ.ชลบุรี และพบประปรายทางฝั่งอันดามัน ทางชายทะเลตะวันตกของ จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต รวมทั้งบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน

     

     

     

    เต่ากระ ชื่ออังกฤษ HAWKSBILL TURTLE

    ชื่อวิทยาศาสตร์ ERETMOCHELYS IMBRICATA 

     

              ลักษณะเด่น : จะงอยปากค่อนข้างแหลมงุ้มคล้ายปากเหยี่ยว เกล็ดบนส่วนหัวตอนหน้า  มี ๒ คู่ เกล็ดบนกระดองแถวข้างมี จำนวน ๔ เกล็ด ลักษณะเด่นชัด คือเกล็ดบนกระดองมีลวดลายริ้วสีสวยงาม และลักษณะของเกล็ดซ้อนกันเห็นได้ชัด ลักษณะค่อนข้างคล้ายเต่าตนุ

              ขนาด : โตเต็มที่ยาวประมาณ ๑๐๐ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๑๒๐ กิโลกรัม ขนาดโตถึงขั้นแพร่พันธุ์ได้ประมาณ ๗๐ เซนติเมตร

               อาหาร : เต่ากระอาศัยอยู่ตามแนวปะการัง โดยเฉพาะเมื่อขนาดเล็ก จะอาศัยตาม    ชายหาดน้ำตื้น กินสัตว์จำพวกฟองน้ำ หอย และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดต่าง ๆ เป็นอาหาร

              แหล่งที่พบ : แหล่งวางไข่เต่ากระในอ่าวไทย พบที่ เกาะคราม จ.ชลบุรี และพบกระจัดกระจายตามหมู่เกาะต่าง ๆ ทางทะเลอันดามัน รวมทั้งแนวหาดทราย จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต

     

     

     

    ต่าหญ้า ชื่ออังกฤษ OLIVE RIDLEY TURTLE

    ชื่อวิทยาศาสตร์ LEPIDOCHELYS OLIVACEA  

     

              ลักษณะเด่น : กระดองเรียบ สีเทาอมเขียว สีสันของกระดองไม่สวยงามเท่า เต่ากระและเต่าตนุ ส่วนหัวค่อนข้างโต จงอยปากมนกว่าเต่าตนุ ที่แตกต่างกันชัดเจน คือ เกล็ดบนส่วนหัวตอนหน้า    มีจำนวน ๒ คู่ และเกล็ดบนกระดองแถวข้างมีจำนวน ๖  - ๘ แผ่น  ในขณะที่เต่าตนุและเต่ากระมีเพียง     ๕ แผ่น  และลักษณะพิเศษของเต่าหญ้า คือกระดองส่วนท้องแถวกลาง   ( Inframarginal Scale ) มีรูสำหรับขับถ่าย หรือรูเปิดสำหรับประสาทรับความรู้สึก (ยังไม่ทราบระบบการทำงานที่ชัดเจน) จำนวน ๕ คู่

              ขนาด : เต่าหญ้าเป็นเต่าทะเลที่มีขนาดเล็กที่สุดในจำพวกเต่าทะเล ขนาดโตเต็มที่ประมาณ ๗๕ ๘๐ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๘๐ กิโลกรัม ขนาดโตเต็มที่สามารถแพร่พันธุ์ได้ความยาวกระดองประมาณ ๖๐ เซนติเมตร

              อาหาร : เต่าหญ้ากินพวก หอย ปู ปลา และกุ้งเป็นอาหาร จึงอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลทั่วไป  มีจงอยปากใหญ่คมและแข็งแรง สำหรับกัดหอยที่มีเปลือกเป็นอาหาร

              แหล่งวางไข่ : พบมากทางฝั่งทะเลอันดามัน ตามหาดทรายฝั่งตะวันตกของ จ.ภูเก็ต พังงา และหมู่เกาะในทะเลอันดามัน ไม่พบเต่าหญ้าขึ้นวางไข่ฝั่งอ่าวไทย

     

     

     

     

    เต่าหัวฆ้อน ชื่ออังกฤษ  LOGGERHEAD TURTLE

    ชื่อวิทยาศาสตร์ CARETTA CARETTA 

     

              ลักษณะเด่น : ลักษณะเด่นทั่ว ๆ ไปคล้ายเต่าหญ้าและเต่าตนุมาก ต่างกันที่เกล็ดบน   ส่วนหัวตอนหน้ามี จำนวน ๒ คู่ เท่ากับเต่าหญ้า แต่เกล็ดบนกระดองหลังแถวข้างมีจำนวน ๕ แผ่นซึ่งต่างจากเต่าทะเลชนิดอื่น ๆ และรูปทรงของกระดองจะเรียวเล็กลงมาทางส่วนท้าย

               อาหาร : กินอาหารจำพวก หอย หอยฝาเดียว และปู เป็นอาหาร

              แหล่งวางไข่ : ปัจจุบันไม่มีรายงานการพบเต่าหัวฆ้อนขึ้นวางไข่ ในแหล่งวางไข่เต่าทะเลของไทยอีกเลยตลอดระยะเวลา ๒๐ ปีที่ผ่านมา ซึ่งเข้าใจว่าคงจะสูญพันธุ์ไปจากน่านน้ำไทยแล้ว

     

     

    ๒.วงศ์ DERMOCHELYIDE

     

     

    ต่ามะเฟือง ชื่ออังกฤษ LEATHERBACK TURTLE

    ชื่อวิทยาศาสตร์ DERMOCHELYS CORIACEA

     

               ลักษณะเด่น : เต่ามะเฟืองแตกต่างจากเต่าทะเลชนิดอื่นอย่างชัดเจน ตรงที่มีขนาดใหญ่มากนอกจากนั้นกระดองไม่เป็นเกล็ด มีลักษณะเป็นแผ่นหนังหนามีสีดำ อาจมีสีขาวแต้มประทั่วตัว กระดองเป็นสันนูนตามแนวความยาวจากส่วนหัวถึงส่วนท้าย จำนวน ๗ สัน ไม่มีเกล็ดปกคลุมส่วนหัว จะงอยปากบนมีลักษณะเป็นหยัก ๓ หยัก                               

               ขนาด : ขนาดโตเต็มที่มีความยาวกระดอง ประมาณ ๒๕๐ ซม. น้ำหนักกว่า ๑,๐๐๐ กก.  ขนาดที่พบขึ้นมาวางไข่ไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ ซม.

               อาหาร : เต่ามะเฟืองอาศัยอยู่ในทะเลเปิด กินอาหารจำพวกพืชและสัตว์ที่ล่องลอยตามน้ำ โดยอาหารหลักได้แก่ แมงกะพรุน                               

              แหล่งวางไข่ : เต่ามะเฟืองปัจจุบันมีจำนวนน้อยมาก พบขึ้นวางไข่บ้างบริเวณหาดทรายฝั่งอันดามัน  จ.พังงา ภูเก็ต และหมู่เกาะต่าง ๆ ปัจจุบันไม่พบเต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ในอ่าวไทย

     

     

       

           ในอดีตเคยมีเต่าทะเลชุกชุม ทั้งทางอ่าวไทยและทะเลอันดามัน บริเวณที่เคยพบเต่าทะเลขึ้นมา วางไข่ทางฝั่งอ่าวไทยได้แก่  ชายหาดตามเกาะต่าง ๆ ของจังหวัดชลบุรี  ตราด   ประจวบคีรีขันธ์ เกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัตตานี และนราธิวาส ส่วนทางฝั่งอันดามันพบเต่าทะเลขึ้นวางไข่บริเวณ   ชายหาดฝั่งตะวันตก ของจังหวัดภูเก็ต พังงา และหมู่เกาะใกล้เคียง  นอกจากนี้พบบ้างที่จังหวัดตรัง  และสตูล

     

           ปัจจุบันเต่าทะเลในพื้นที่อ่าวไทยเหลือน้อยมาก ชายหาดและเกาะที่ยังพบเป็นแหล่งวางไข่ตามธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอทุกปี เหลือเพียงเกาะบริเวณอ่าวสัตหีบ ซึ่งอยู่ในเขตรักษาความปลอดภัยทางทหารเรือ    ที่สำคัญได้แก่  เกาะคราม  เกาะอีร้า และ เกาะจาน จังหวัดชลบุรี เป็นต้น ส่วนทางพื้นที่ทะเลอันดามัน ยังคงปรากฏการขึ้นวางไข่ ที่หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา บริเวณหาดในยาง จังหวัดภูเก็ต และหมู่เกาะต่าง ๆ ที่ยังอยู่ห่างไกลจากฝั่ง ได้แก่ หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน

    แผนที่การเดินทางไปปล่อยเต่าครับ (จากเว็บ http://www.sattahipbeach.com/ )

    ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.navy.mi.th/turtles/ และ http://www.sattahipbeach.com/ 

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×