ใต้ปีกรัก
นวนิยาย “ใต้ปีกรัก” เกิดขึ้นตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ที่ต้องการหาต้นแบบที่เป็นศิษย์เก่าอาชีวะดีเด่น มาเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กอยากเรียนสายอาชีวะ
ผู้เข้าชมรวม
1,090
ผู้เข้าชมเดือนนี้
0
ผู้เข้าชมรวม
ข้อมูลเบื้องต้น
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
คำนำ...นักเขียน
นวนิยาย “ใต้ปีกรัก” ให้คุณค่าแก่ผู้เขียนหลายประการด้วยกัน อย่างแรกสุดที่เห็นได้ชัด คือ การได้เปิดโลกทัศน์ของตัวเอง ทำให้เข้าใจและเข้าถึงความเป็นเด็กอาชีวะมากขึ้นและที่สำคัญได้เรียนรู้องค์กรใหม่ๆ และได้รู้ถึงการทำงานวิจัยของกองทัพเรือและสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ มากขึ้น
ผู้เขียนขอขอบคุณ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ที่เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดในการใช้นวนิยายมาเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการที่จะสร้างแรงบันดาลใจและแรงจูงใจให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหันมาเรียนสายอาชีวะมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการพัฒนาประเทศที่ยังขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะฝีมืออีกมาก ขอขอบคุณดร.อกนิษฐ์ คลังแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา คุณชไมพร ตุ้มพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ตลอดจนผู้บริหารท่านอื่นๆ และคณะกรรมการชุดต่างๆ ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน
ขอขอบคุณ "คุณกษมา ถาวร" กรรมการผู้จัดการบริษัทกษมา เฮลิคอปเตอร์ จำกัด ที่ผู้เขียนใช้เป็นอิมเมจของพระเอกในเรื่อง คุณกษมา เป็นผู้พัฒนาเฮลิคอปเตอร์วิทยุบังคับสัญชาติไทยและเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่ผลิตเฮลิคอปเตอร์วิทยุบังคับแบบครบวงจร ซึ่งเฮลิคอปเตอร์วิทยุบังคับรุ่นสีหมอก ๙๐ คว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันในเรื่องความเร็วจากประเทศออสเตรเลีย มาแล้ว คุณกษมามีดีลเลอร์หรือตัวแทนจำหน่ายเฮลิคอปเตอร์วิทยุบังคับรุ่นสีหมอก มากถึง ๑๔ บริษัทจาก ๑๓ ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ตุรกี อังกฤษ เยอรมัน ออสเตรีย ออสเตรเลีย เดนมาร์ก นอร์เวย์ สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ สวีเดน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ ๒ บริษัทในสหรัฐอเมริกา ผลงานจากการผลิตเฮลิคอปเตอร์วิทยุบังคับ ทำให้คุณกษมาคว้ารางวัล SME Thailand Inno Awards ๒๐๑๒ รวมถึงได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานกิตติมศักดิ์ชมรมผู้ใช้โปรแกรม Inventor (โปรแกรมเขียนแบบสามมิติของบริษัท Autodesk USA) และมูลนิธิเอสซีจีคัดเลือกให้เป็นไอดอล(ต้นแบบ)เด็กอาชีวะในโครงการ “ฝีมือชน คนสร้างชาติ”
ปัจจุบันคุณกษมา ได้ร่วมกับกองทัพเรือ และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม วิจัยโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบอากาศยานไร้นักบินแบบขึ้น-ลงทางดิ่ง (Vertical Take Off and Landing - Unmanned Aerial Vehicle : VTOL - UAV) เป็นผลสำเร็จซึ่งผู้เขียนนำมาใช้เดินเรื่องในนวนิยายเรื่องนี้ และจากการที่เทคโนโลยีในเฮลิคอปเตอร์วิทยุบังคับมีคุณภาพสูงจนสามารถเป็นต้นแบบในการพัฒนาไปสู่อากาศยานไร้คนขับ VTOL-UAV ทำให้บริษัทล็อกฮีด มาร์ติน(Lockheed Martin) ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้กับกองทัพสหรัฐฯ สนใจในเทคโนโลยีของเฮลิคอปเตอร์ เพื่อนำไปสร้างโปรดักส์(products) เพื่อจัดจำหน่ายไปทั่วโลก จึงเป็นที่มาที่ทำให้บริษัทล็อกฮีด มาร์ติน ทำพันธะสัญญาความร่วมมือกับบริษัทกษมาในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘
คุณกษมา เป็นลูกชาวนา เกิดในจังหวัดสุพรรณบุรี จบประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.)สาขาช่างยนต์ จากวิทยาลัยเทคนิคกาญจนบุรี ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.)สาขาช่างยนต์ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ (ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ)และความสามารถตลอดจนผลงานเป็นที่ประจักษ์นี่เอง ทำให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิศวกรรมเครื่องกล) ให้ คุณกษมาถือเป็นผลผลิตจากสายช่างโดยตรง ผู้เขียนจึงนำประวัติจริงมาใช้ โดยดัดแปลงและเปลี่ยนแปลงบางส่วน อาทิ สภาพแวดล้อม ปีพ.ศ.ตามประวัติจริง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดอรรถรสของความเป็นนวนิยายและไม่เกิดข้อจำกัดในการสร้างจินตนาการ ดังนั้นจึงไม่เหมือนประวัติจริง ๑๐๐% นัก อย่างไรก็ตามนวนิยายเรื่องนี้ จะทำให้น้องๆ ได้เห็นลู่ทางว่าเมื่อเรียนจบสายช่างแล้ว ก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ข้อมูลประวัติของคุณกษมา มาจากการสัมภาษณ์ วารสาร ข่าว ตลอดจนบทความต่างๆ ที่เป็นบทสัมภาษณ์ซึ่งต้องขอบคุณคุณกษมา อีกครั้งที่ยอมให้กะเทาะเปลือกทุกซอกทุกมุมของชีวิต
ขอขอบคุณกองทัพเรือโดยเฉพาะพลเรือเอกยุทธนา ฟักผลงาม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ประธานโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบ VTOL-UAV ที่ผู้เขียนหยิบยกมาเป็นบิดาของนางเอกในเรื่อง ขอบคุณที่ให้สัมภาษณ์อย่างเป็นกันเองและยอมให้นำบทสัมภาษณ์ตามสื่อต่างๆ มาใช้ในนวนิยายได้ และที่สำคัญท่านกรุณาช่วยอ่านตรวจทานนวนิยายเรื่องนี้และให้คำชี้แนะที่เป็นประโยชน์อย่างมาก ขอขอบคุณอีกครั้งค่ะ
ขอขอบคุณพลเอกสมพงศ์ มุกดาสกุล ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งผู้เขียนได้นำข้อมูลในวารสารเทคโนโลยีป้องกันประเทศ(DTech) ตลอดจนบทความและบทสัมภาษณ์ในเว็บไซต์ของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศและเว็บไซต์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาประกอบข้อมูลเกี่ยวกับ VTOL-UAV อาทิ รู้จักกับอากาศยานไร้คนขับหรือยูเอวี (Unmanned Aerial Vehicle : UAV) โดยนาวาโทหญิง อาภรณ์ พลเสน, สัมภาษณ์พิเศษพลตรีหญิง พงษ์รุจี ศิริวัฒนะ : UAV กับการบริหารงาน บริหารคน (ตำแหน่งในขณะนั้น), บทความของกัปตันวีระพันธุ์ มีวรรณสุขกุล และเกษม ศรีเลิศชัยพานิช ที่แปลและเรียบเรียงจาก ROBINSON HELICOPTER เป็นต้น นอกจากนี้ขอขอบคุณนายสมศักดิ์ วาทะยา กรรมการตัดสินและครูฝึกสอนโรงเรียนกีฬาทางอากาศและการบิน เขาหว้าเอน จังหวัดปราจีนบุรี ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกีฬาพาราไกลดิ้ง
ท้ายสุดนี้ขอขอบคุณพี่จ๋า ที่เป็นที่ปรึกษาตลอดจนตรวจทานนวนิยายเรื่องนี้ รวมถึงทุกรายชื่อที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ผู้เขียนอาจเอ่ยนามมาไม่หมด ผู้เขียนขอขอบคุณอีกครั้งค่ะ
คณิตยา
๑ กันยายน ๒๕๕๘
---------------------------
ผลงานอื่นๆ ของ คณิตยา/คีตฌาณ์ ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ คณิตยา/คีตฌาณ์
ความคิดเห็น