ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รัชทายาท

    ลำดับตอนที่ #2 : ปัญหาเรื่องรัชทายาท

    • อัปเดตล่าสุด 24 มี.ค. 50



    บัดนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว  ขอสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจงทรงพระเจริญ

     

    ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว  บรรดาเจ้านายผู้ชายได้เสด็จลงจากชั้น  3  ของพระที่นั่งอัมพรสถาน  มาประชุมหารือเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน  และการเตรียมงานพระบรมศพที่ห้องแป๊ะเต๋ง  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  ซึ่งบัดนี้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน  แม้จะทรงพระกรรแสงอย่างมากกับการสวรรคตของพระราชบิดา  แต่ก็ต้องทรงหักห้ามพระราชหฤทัย  ข่มพระอารมณ์ไว้เพื่อเป็นประธานในการปรึกษาข้อราชการแผ่นดินท่ามกลางที่ประชุมของเจ้านายชั้นสูง  ในที่สุดเมื่อข้อราชการต่างๆ  เป็นที่ตกลงเรียบร้อย  สมเด็จวังบูรพาผู้ทรงพระชนมายุสูงสุดในหมู่เจ้านายนั้น  จึงทรงนำเจ้านายทุกพระองค์ทรุดลงคุกเข่าถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  3  หน  เพื่ออัญเชิญเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา

     

    ขอสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจงทรงพระเจริญ

     

    เช้าวันที่  23  ตุลาคม  2453  เป็นเช้าแห่งความมืดมน  และสับสนมากที่สุดวันหนึ่งของสยาม  ราชสำนักออกประกาศถึงการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั่วพระราชอาณาจักร  ทั้งยังได้ประกาศว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ  มีพระบรมราชโองการสั่งว่า  มิให้ราษฎรต้องโกนผมไว้ทุกข์แก่พระเจ้าแผ่นดินทั่วประเทศตามระบบประเพณีโบราณอีกต่อไป

     

    จากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา  พระบรมราชเทวี  เสด็จเป็นองค์ประธานในการถวายน้ำสรงพระบรมศพในส่วนของเจ้านายฝ่าย  เวลาบ่ายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีสรงน้ำพระบรมศพในส่วนของเจ้านายฝ่ายหน้า  และขุนนางข้าราชบริพาร  จากนั้นเจ้าพนักงานถวายเครื่องทรงพระบรมศพอย่างบรมขัตติยาธิราช  แล้วเชิญพระบรมศพลงสู่พระโกศทองใหญ่  แล้วจึงอัญเชิญพระบรมศพจากพระราชวังสวนดุสิต  ไปประดิษฐาน    พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  ในพระบรมมหาราชวัง  เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลตามราชประเพณี

     

    25  ตุลาคม  2  วันหลังจากรัชกาลที่  5  เสด็จสวรรคต  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการเรียกประชุมพิเศษเจ้านายชั้นสูง  ซึ่งประกอบไปด้วยสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์  , กรมขุนสรรพสิทธิ์, กรมหลวงเทววงศ์, กรมขุนสมมต, กรมหลวงดำรง, และกรมหมื่นนครชัยศรี  เพื่อปรึกษากิจการบางเรื่อง  และทรงนำปัญหาเรื่องตั้งรัชทายาทเสนอในที่ประชุมด้วย  โดยทรงมีพระราชปรารภกับในที่ประชุมความว่า

                    1.  ความมั่นคงของพระราชวงศ์  คือ  ความมั่นคงของกรุงสยาม

                    2.  พระราชวงศ์จักรีจะมั่นคงอยู่ได้ก็โดยมีทายาทมั่นคงที่จะได้เป็นผู้ดำรงวงศ์ตระกูลสืบไป

                    3.   ในขณะนี้พระองค์ยังไม่ทรงมีพระมเหสี  และพระราชโอรส  ฉะนั้นเพื่อตั้งอยู่ในความไม่ประมาทพระองค์ควรจะตั้งใครคนหนึ่งเป็นรัชทายาทไปพลางก่อน

                    4.  การจะเลือกผู้ใดขึ้นเป็นรัชทายาทนั้นก็ต้องเป็นไปตามพระบรมราโชบายของพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ  ซึ่งเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จกลับจากการศึกษาที่ประเทศยุโรปในปี  2445  รัชกาลที่  5  ได้พระราชทานพระชัยนวโลหะประจำรัชกาลที่  5  ให้พระองค์เป็นผู้รักษา  ต่อหน้าเจ้านาย  และขุนนางข้าราชการ  พร้อมกับมีพระราชดำรัสว่า


                                   
    “…บัดนี้ได้ทรงตั้งแต่งให้ฉันเปนพระยุพราชรัชทายาทแล้ว จึ่งพระราชทานพระชัยองค์นั้นไว้ให้เปนสวัสดิมงคลสืบไป, แต่ทรงกำชับว่าให้พึงเข้าใจว่าพระราชทานไว้สำหรับพระราชโอรสของเสด็จแม่ทุกคน, เมื่อใครเปนผู้มีอายุมากที่สุดในพวกพี่น้องก็ให้เปนผู้รักษาพระชัยองค์นั้นไว้จนกว่าจะสิ้นอายุ, แล้วจึ่งให้รับรักษากันต่อๆลงไป...

     

                    5.  ฉะนั้นตามพระบรมราโชบายดังกล่าว  จึงมีพระราชประสงค์จะแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ  กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ  พระอนุชาองค์รองเป็นรัชทายาท

     

               

    ...ฉันจะขอสารภาพเสียก่อนที่จะถูกผู้อื่นทัก ว่าการที่ปัญหาเรื่องการตั้งรัชทายาทได้เกิดเป็นเรื่องเร่งร้อนขึ้นนั้น เพราะน้องชายเล็กเธอรบเร้าฉันนัก, และเสด็จแม่ก็ได้ทรงช่วยรบเร้าด้วย โดยมีพระดำรัสว่า ตัวฉันเองก็ยังมิได้มีมเหษี, ฉนั้นถ้าฉวยว่ามีเหตุการณ์อันไม่พึงปรารถนา ฉันล้มตายลง ก็อาจจะเกิดแย่งชิงราชสมบัติกันขึ้นได้...

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×