ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ของดีทั่วเมืองไทย

    ลำดับตอนที่ #9 : "การ์ตูนไทย" กับเรื่องราวมากมาย ที่ไม่จบตรง “5 บาท”

    • อัปเดตล่าสุด 30 มิ.ย. 49


    "การ์ตูนไทย" กับเรื่องราวมากมาย ที่ไม่จบตรง “5 บาท”
    โดย ผู้จัดการรายวัน 27 มิถุนายน 2549 21:41 น.

    กับรูปแบบที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อน

    คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
    ชาย ชาตรี กับการตรวจเช็คหน้าปก

    กับหน้าปกสไตล์ไทยๆที่สีสันสดใส

    กับรูปแบบการอ่านของคนไทยที่เปลี่ยนไป

    หนังสือการ์ตูนยังคงครองใจเด็กอยู่เสมอ

           เมื่อโลกนี้เต็มไปด้วยจินตนาการของผู้คน การ์ตูนคงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยถ่ายทอดจินตนาการให้พวกเราได้รับรู้อย่างไม่ยากเย็นนัก โดยเฉพาะการเข้าไปมีบทบาทในชีวิตของเด็กๆซึ่งกลายเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยต่อเติมจินตนาการของพวกเขาไปอย่างขาดเสียไม่ได้
           
           แต่บนความน่าหลงใหลของบรรดาการ์ตูนต่างๆ กลับเหลือพื้นที่เล็กๆให้การ์ตูนของคนไทยได้เข้ามาแย่งชิงเพียงลมหายใจที่รวยริน นั่นคือวิถีชีวิตของการ์ตูนไทย ที่ต้องปากกัดตีนถีบมาจนถึงปัจจุบัน
           

           วันนี้ที่ "5 บาท"

           
           หลายคนเกิดและเติบโตควบคู่มากับการอ่านหนังสือการ์ตูนเล่มละบาท อาจเพราะด้วยกลวิธีที่เรียบง่ายในการดำเนินเรื่อง บวกกับเส้นสายสไตล์ไทยๆ ไม่แปลกใจที่มันจะมีราคาย่อมเยาเหมาะแก่การซื้อหามาอ่านตั้งแต่ไหนแต่ไร หากมีโอกาสแวะเวียนไปแผงหนังสือเมื่อใด เด็กๆหลายคนย่อมซื้อหนังสือการ์ตูนเหล่านี้ควบคู่ไปกับหนังสืออื่นๆ ซึ่งถือเป็นวิถีชีวิตของคนอ่านหนังสือการ์ตูนสมัยก่อน แต่ก็มีบางคนที่พร้อมจะร่วมทางไปกับหนังสือการ์ตูนเหล่านี้ เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว
           
           "ผมเริ่มเขียนมาตั้งแต่อายุสิบเจ็ด ก้าวมาจากแนวกำลังภายใน ตอนนั้นก็เขียนในระดับสามสิบสองหน้าจบ ลงในหนังสือเล่มละสามบาทห้าสิบ ในตอนนั้นถือเป็นหนังสือการ์ตูนเล่มใหญ่มาก แต่ตอนหลังก็ไม่มีใครทำแล้ว เพราะต้นทุนสูง จึงกลายมาเป็นเล่มละบาทเมื่อตอนอายุยี่สิบ ตอนนั้นวาดเองลงสีเองหมด จนมาถึงวันนี้ วันที่พี่ทำเป็นกิจการของตัวเอง ควบคุมการผลิตเอง แต่ก็ยังไม่ทิ้ง ยังเขียนหน้าปกอยู่ เรื่องก็ยังคงมีเขียนให้อ่านอยู่เรื่อยๆ แต่จะคอยอ่านงานของนักเขียนในค่ายมากกว่า เพราะปัจจุบันผลงานที่ส่งกันมาก็มีประมาณสิบกว่าคน ราคาค่างวด ตกเรื่องละไม่เกินพันสองร้อยบาท สูงสุดก็สองพัน โดยเกณฑ์ในการวัดค่าต้นฉบับจะเกิดจากความนิยมของผู้อ่าน ทุกผลงานที่เราเลือกตีพิมพ์จะต้องเป็นงานที่ให้ข้อคิด และมีสาระ ไม่ได้ต้องการที่จะมอมเมาเยาวชน แนวญี่ปุ่นเราไม่เอา ลามกยิ่งไม่ได้ใหญ่ เพราะเราถือว่าการ์ตูนไทยในตอนนี้กลายเป็นศิลปะที่ควรแก่การรักษาเอาไว้แล้ว ตรงนี้เองที่ทำให้เราต้องช่วยกันดูแลให้มันคงอยู่ต่อไป"
           

           ด้วยสุ่มเสียงที่นุ่มลึกตามแบบฉบับนักเขียนรุ่นใหญ่ เจ้าของนามปากกา "ชาย ชาตรี" หรือในชื่อจริง สมศักดิ์ เจสกุล ที่ปัจจุบันดำเนินกิจการเกี่ยวกับการ์ตูนไทยแบบเต็มรูปแบบ เพราะด้วยใจรักในงานเขียนการ์ตูน ทำให้ปัจจุบัน เขาถือเป็นแกนหลักๆในชุมชนการ์ตูนเส้นสายในสไตล์ไทยๆ ที่ทุกวันนี้แทบจะเรียกได้ว่า "เหลือน้อยเต็มที"
           
           "เมื่อก่อนมีแฟนหนังสือการ์ตูนหลายๆคนที่รักและสนใจในการเขียนการ์ตูนไทย พยายามส่งจดหมายมาขอให้เราจัดสอนการวาดการ์ตูน ตอนนั้นเราก็มีจัดเรียนฟรี แต่บางคนมีความตั้งใจสูง แต่ไม่มีพรสววรค์ หัดยังไงก็หัดไม่ได้ หรือบางคน พยายามเอางานมาเสนอให้ แต่ก็กลายเป็นสไตล์ญี่ปุ่นไปหมด เราก็พยายามบอกเหตุผลในการที่จะรับผลงาน บางคนก็ยังเขียนมาเหมือนเดิม ทำให้ไม่ค่อยมีนักเขียนหน้าใหม่มากนัก แต่แฟนๆของเราก็มีมากมายทั่วประเทศ จะเห็นได้จากปกในที่จะมีผู้อ่านส่งรูปมาหาเพื่อน ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีอยู่ เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เรารู้ว่ายังมีแฟนๆที่ให้ความสนใจซึ่งเราก็ยินดีลงรูปให้ฟรีๆ เคยมีบางคนที่สวยมากๆแล้วมาลงหาเพื่อน ต้องโทรศัพท์กลับมาหาเราบอกว่ามีคนโทร.มาหาจนไม่ได้หลับได้นอนก็เคยมี สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเสน่ห์ของการ์ตูนเล่มเล็กๆเล่มนี้" นักเขียนใหญ่กล่าวด้วยรอยยิ้มเมื่อเล่าย้อนถึงอดีต
           
           แม้แรงบันดาลใจจากนักเขียนผู้ล่วงลับไปแล้วอย่าง "จุก เบี้ยวสกุล" จะยังคอยแต่งแต้มสีสันให้เขาโลดแล่นอยู่บนเวทีนี้ได้อย่างไม่ท้อแท้ แต่ในบางครั้งกระแสต่างๆจากการ์ตูนในปัจจุบัน ทั้งการ์ตูนญี่ปุ่น การ์ตูนจากฝั่งอเมริกา หรือแม้กระทั่ง การ์ตูนแอนิเมชัน ก็ส่งผลให้ยอดขายหรือความน่าสนใจลดลงอย่างมากจนน่าใจหาย จนมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ครอบครัวเขาถูกโกงจากการลงทุนทำการ์ตูนไทยจนเกือบจะล้มเลิกการทำงานทางด้านนี้ไป
           
           "เมื่อก่อนในยุครุ่งเรืองจำนวนหน้าก็เยอะ ทำให้การแข่งขันตอนนั้นสูง หลายสำนักพิมพ์แข่งขันกันดุเดือด เริ่มจากเขียนสิบหกหน้า จนขยับไปสามสิบสองหน้า ทำให้ตอนนั้นในท้องตลาดมีหนังสือการ์ตูนให้เลือกอ่านเยอะมาก มันรุ่งเรืองสุดๆคนที่ทำกิจการนี้ก็รวยกันไปเลย แต่ก็มีพวกฉวยโอกาสหาผลประโยชน์ด้วยการทำงานชุ่ยๆหรือนำงานมาทำซ้ำๆ ก็เลยวุ่นวายอยู่พักหนึ่ง แต่พอมาถึงปัจจุบัน เด็กไทยไม่อ่านหนังสือการ์ตูนแบบนี้แล้ว แทบจะเรียกได้ว่าไม่มองกันเลย ขนาดลูกชายที่พี่เลี้ยงมาด้วยการ์ตูนพวกนี้ เขายังอ่านการ์ตูนอย่างอื่นเลย ทำให้เราเราต้องไปหากลุ่มเป้าหมายใหม่ ซึ่งก็กลายเป็นสาวโรงงาน แม่บ้าน แม่ค้าแทน แต่มันก็ยังขายได้ดีตามหมอชิต สายใต้ใหม่ หรือแม้แต่ร้านสะดวกซื้อต่างๆที่ทางสายส่งเขาไปวางไว้ แม้บางครั้งก็นึกน้อยใจตรงที่ ร้านหนังสือบางร้าน มองหนังสือของเราด้วยสายตาที่ไม่ดี มีอคติ ทั้งๆที่มันก็ทำเงินให้เยอะกับทางร้านเช่นกัน"
           
           บนชีวิต "16 หน้า"
           
           หากจะมองว่านักเขียนการ์ตูนไทย ดูจะ "ไส้แห้ง" ในสายตาของคนในสังคม ก็คงไม่ผิดนัก จนแทบจะเรียกได้ว่ากลายเป็นอาชีพที่แทบจะไม่ค่อยมีใครยึดมาเป็นอาชีพกันแล้วในปัจจุบัน ธวัชชัย ขาวสะอาด หรือ ในนามปากกา "ธวัชชัย" ในวัย 50 ปี ที่ยังคงยึดอาชีพวาดการ์ตูนไทยอยู่ และยังส่งผลงานให้กับสำนักพิมพ์ในเครือของ "ชาย ชาตรี" ถือเป็นอีกหนึ่งคนที่ยังคงไม่เคยทิ้งสิ่งที่ตนเองรัก ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับแวดวงนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
           
           "ก็เขียนมา 20 ปีแล้ว ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้องแฟนอยู่เลย คือเราชอบพวกวาดๆเขียนๆอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เรียนก็เรียนที่วิจิตรศิลป์ ซึ่งผลงานการ์ตูนที่เราเขียนก็เป็นประเภทแนวชีวิต มันเป็นเรื่องราวที่ผู้อ่านชอบอ่านเพราะเข้าถึงง่าย เป็นเรื่องที่เห็นกันอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่ก็รู้สึกไม่ดีเหมือนกันที่หลายๆคนมองว่ามันเป็นแค่เพียงการ์ตูนขยะ พอซื้อหามาอ่านเสร็จ ก็โยนมันทิ้งลงถังขยะ ไม่ได้มองเป็นผลงาน แต่มันต่างจากความรู้สึกของผู้เขียนอย่างสิ้นเชิง เพราะผลงานทุกๆชิ้นที่เขียนไปมันมีคุณค่ากับเรามากๆไม่ได้มองว่าเป็นงานรายวันเลย หรือแม้แต่งานที่เขียนออกมาแล้ว ในหลายๆครั้งจะมีคนบอกว่าลายเส้นไม่สวยบ้างล่ะ วาดไม่ตั้งใจบ้างล่ะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นสไตล์หรือรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละคน หรือถ้าให้พูดกันตรงๆคือ ยังไม่เข้าใจอารมณ์ของศิลปินที่มันออกมาในรูปแบบนั้น ตรงนี้เองที่จะมองให้เห็นถึงความแตกต่างของการทำงานในแบบของคนไทยมันแตกต่างกันมากกับของเมืองนอก คนไทยเราเขียนเอง ลงสีเอง คิดโครงเรื่องเอง คือพูดง่ายๆ ทำทุกอย่างเองหมด ไม่เหมือนกับเมืองนอกที่เขาวางระบบแบ่งคนกันอย่างเรียบร้อย ทำให้มันเขียนออกมาได้ต่อเนื่องน่าติดตาม เพราะมีคนเขียนบทให้นั่นเอง แต่ถึงแม้เงินเดือนในตอนนี้จะตกอยู่ประมาณสามพันกว่าบาทต่อเดือน ก็ไม่ได้ทำให้ลำบากอะไร หากถามว่าจะเลิกเขียนเมื่อไหร่ ก็คงจะตอบได้คำเดียวว่า 'คงตายคาน้ำหมึก' ดูจะต้องใช้คำนี้ตอบจริงๆ"
           
           ถึงแม้วันนี้รูปแบบการเขียนจะยังคงเหมือนเดิม ดูแล้วไม่แตกต่างไปจากเมื่อครั้งที่เรามีโอกาสได้สัมผัสเหมือนในอดีตก็ตาม แต่ทางทีมงานนักเขียนการ์ตูนไทยเปิดเผยกับเราว่าเป็นเพราะการแข่งขันทางด้านการขายในปัจจุบันสูง ความนิยม ความน่าอ่านก็สูง นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องมีการปรับทั้งรูปแบบปก จากแต่ก่อนที่มีเพียงทรงผมแบบดาราไทยสมัยก่อนที่มีลักษณะคล้ายกับกะบังหรือที่หลายคนรู้จักกันในทรง "หมาแหงน" ปัจจุบันก็ปรับเปลี่ยนให้ดูทันสมัยขึ้น มีผมหลากหลายสไตล์มากขึ้นพร้อมๆกับสีผมที่ดูฉูดฉาด หน้าตาที่ดูมีความหวานมากขึ้น พระเอกก็ดูหล่อในแบบชายไทยแบบฉบับปัจจุบัน แต่ก็ยังคงคุณลักษณะที่ดีของการ์ตูนไทยแบบดั้งเดิมไว้สิ้น รวมไปถึงการมีจรรยาบรรณในด้านอาชีพด้วยการไม่นำเอาเรื่องที่เคยพิมพ์ซ้ำลงมาตีพิมพ์ขึ้นอีก ก็พอจะเป็นทางออกที่จะยังคงรักษาแฟนคลับไม่ให้ทอดทิ้งกันไป
           
           นานาทัศนะ
           
           เมื่อภาพความรู้สึกที่ปรากฏอยู่ตั้งแต่เมื่อครั้งอดีตจนถึงปัจจุบันของการ์ตูนไทยที่มีต่อคนในสังคมดูจะไม่ค่อยสวยงามนักในความรู้สึกของหลายๆคน โดยเฉพาะความรู้สึกที่ยังมีอยู่ในแง่ความคิดที่ว่ายังมีการนำเสนอในเชิงลามกอนาจาร หรือคำครหาในรูปแบบที่เชย สิ่งเหล่านี้ทำให้กระแสในปัจจุบันของการ์ตูนไทยดูจะหดหายลงไปทุกที ซึ่งทางทีมงานได้มีโอกาสไปสอบถามถึงบรรดาร้านหนังสือที่ยังคงมีหนังสือการ์ตูนเหล่านี้วางจำหน่ายอยู่บนแผง โดยรวมๆแล้วหนังสือการ์ตูนไทยในปัจจุบันแทบจะวางแผงอยู่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนหนังสือการ์ตูนอื่นๆที่ยังคงวางกลาดเกลื่อนเต็มทั่วแผงหนังสือ
           
           ทางผู้จำหน่ายบอกว่า แม้ปัจจุบันยอดหนังสือที่สั่งมาจะมีจำนวนน้อย แต่ก็ยังคงขายได้อยู่เรื่อยๆ ไม่หวือหวา ส่วนมากกลุ่มลูกค้าที่มาซื้อจะเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน หรือในบางครั้งเด็กๆก็มีหยิบไปอ่านบ้างประปราย จะแตกต่างจากเมื่อครั้งสิบกว่าปีก่อน ที่ถึงขนาดจะมีแผงสำหรับการ์ตูนชนิดนี้ขึ้นโดยเฉพาะ ผู้อ่านที่มาซื้อก็จะเข้ามาซื้อทีละหลายๆเล่ม แต่เป็นเพราะหลังๆมีกระแสการ์ตูนชุดจากต่างประเทศเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อเมริกา รวมไปถึงหนังสือเกม ทำให้แรงดึงดูดในการอ่านน้อยลง จนยุบมาเหลือรวมๆกับหนังสือจำพวกนิยายไทยๆต่างๆนั่นเอง
           
           คณิตา ใจบุย (ไก่)นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ปี 4 ถือเป็นเด็กยุคใหม่ที่ยังคงอ่านหนังสือการ์ตูนเล่มละ 5 บาท อยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งไก่ให้ความเห็นว่า การที่ตนยังอ่านหนังสือการ์ตูนแบบนี้อยู่นั้น เป็นเพราะยังคบชอบเรื่องผีๆสางๆรวมไปถึงเนื้อหาที่กะทัดรัดอ่านง่ายนั่นเอง
           
           "แถวบ้านยังมีร้านหนังสือที่ขายหนังสือการ์ตูนพวกนี้อยู่ ก็ไม่ได้มองว่าแปลกที่จะซื้อมาอ่าน คงเป็นเพราะยังมีขายให้เห็นอยู่ เคยพกไปอ่านบนรถเมล์ เพื่อนๆก็มักจะถามว่า "อ่านอะไร" กันเป็นประจำ เมื่อก่อนเล่มละบาท แต่รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้แพงขึ้น โดยส่วนมากที่ซื้อ ก็เพราะมีเศษเหรียญพอดีราคาหนังสือ แต่ที่บ้านยังมีหนังสือเก่าๆอยู่เยอะ ก็ไม่ได้ทิ้ง ถือว่าสามารถเอากลับมาอ่านใหม่ได้ พอหยิบมาอ่านก็จะนึกถึงตอนเด็กๆ ที่ตอนนั้นจะซื้อเยอะมาก 5-6 เล่ม แต่เดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนไป ใครอ่านถือว่าบ้านนอกไปเลยก็มี"
           
           ถึงตรงนี้เรายังคงไม่มีข้อสรุปให้ได้ว่า อนาคตบนเส้นทางสายน้ำหมึกของการ์ตูนลายเส้นไทยๆ ที่ ณ เวลานี้ จะกลายเป็นงานที่ถูกกลืนกินไปกับกระแสโลกที่หลั่งไหลเข้ามาบดบังผลงานของคนไทยไปจนหมดสิ้น ก็คงไม่มีทางไหนจะช่วยส่งเสริมผลงานของนักเขียนได้ดีเท่ากับช่วยกันสนับสนุนผลงานไทยๆ ให้พวกเขามีกำลังใจสร้างสรรค์ผลงานให้คู่กับกลิ่นอายสไตล์ท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป...
           

           * * * * * * * * * *
           

           เรื่อง – สันติภาพ ชุ่มมี
           ภาพ – นุชนารถ กระโจมทอง

    http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9490000083281
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×