ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ของดีทั่วเมืองไทย

    ลำดับตอนที่ #8 : “ผีตาโขน”เสน่ห์เมืองเลยที่ไม่ควรเลยผ่าน

    • อัปเดตล่าสุด 30 มิ.ย. 49


    “ผีตาโขน”เสน่ห์เมืองเลยที่ไม่ควรเลยผ่าน
    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 21 มิถุนายน 2549 17:49 น.
    วันที่ 1-3 ก.ค.นี้ ผีตาโขนที่อ.ด่านซ้ายจะมาวาดลวดลายให้นักท่องเที่ยวชมอีกครั้ง (ภาพโดย : จินตนาภรณ์ สายเบาะ)
                  “ผี”ใครว่ามีแต่ความขนพองสยองเกล้า
           
           อันที่จริงผีที่น่ารักน่าชมก็มีอยู่ไม่น้อย อย่างเช่น ผีน้อยแคสเปอร์ ผีจอมกวนบีทเทิ้ลจุ๊ยซ์ หรือที่“ผู้จัดการท่องเที่ยว”ชอบมากเป็นพิเศษก็เห็นจะเป็น ผีสาวโปเยโปโลเยในเวอร์ชั่นหวังจู่เสียนที่แสนจะน่ารักเจ้าเสน่ห์ดูกี่ครั้งกี่ภาคก็ไม่มีเบื่อ
           
           ส่วนผีตามธรรมชาติที่น่าดูก็คงหนีไม่พ้น“ผีเสื้อ”สัตว์ปีกงามที่มากไปด้วยสีสันและลวดลาย หรือหากจะพูดถึงผีที่น่ารักแบบไทยๆ ก็ต้องนี่“เอ๊ดดี้ ผีน่ารัก”(ซึ่งบางคนก็ว่าน่ารัก ส่วนบางคนก็ว่าน่ารักเฉพาะนามสกุลเท่านั้น) แต่ถ้าหากจะพูดถึงผีแบบไทยๆที่น่ารักน่าไปเที่ยวชมและมากันเป็นมวลหมู่มากแล้วละก้อ “ผู้จัดการท่องเที่ยว”ขอยกให้“ผีตาโขน”มาเป็นอันดับหนึ่ง(ในเมืองไทย)
           
           ผีตาโขน ถือเป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในงาน“บุญหลวง”(งานบุญใหญ่ประจำปี) ซึ่งได้รวมงาน“บุญพระเวส”(หรือบุญผะเหวด)และงาน“บุญบั้งไฟ”เข้าไว้ด้วยกัน

    แบร่!!! ผีตาโขนหลอก
                  อันความเป็นมาของผีตาโขนนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด เพราะต่างฝ่ายต่างก็สันนิษฐานกันไปคนละอย่าง 2 อย่าง แต่สำหรับข้อสันนิษฐานที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางที่สุดก็เห็นจะเป็น เรื่องเกี่ยวกับตำนานทางพุทธศาสนาที่กล่าวไว้ว่า เมื่อพระเจ้ากรุงสัญชัยกับพระนางผุสสดีไปเชิญพระเวสสันดรและพระนางมัทรีกลับเข้าเมือง ในขบวนแห่เข้าเมืองนอกจากจะมีคนร่วมมาด้วยแล้ว ยังมีผีป่าและวิญญาณของคนตายแล้วที่เคยปรนนิบัติและจงรักภักดีต่อพระเวสสันดรเข้าร่วมขบวนมาส่งด้วย
           
           นับแต่นั้นเป็นต้นมาผู้ที่เลื่อมใสต่างก็พากันระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วยการจัดงานเฉลิมฉลองโดยแต่งกายและใส่หน้ากากให้คล้ายกับภูตผีปีศาจ นอกจากนี้ยังเป็นการแฝงไว้ด้วยความเชื่อในเรื่องของการกระตุ้นให้ฝนตกตามฤดูกาล และเป็นการให้ศีลให้พรแก่พืชผลทางการเกษตร ซึ่งเดิมชาวบ้านเรียกประเพณีนี้ว่า“ผีตามคน”ก่อนที่จะเพี้ยนเป็น“ผีตาโขน”ในกาลต่อมา

    ผีตาโขนกับอาวุธชวนสาวๆกรี๊ด
                  อนึ่งการละเล่นผีตาโขนในอำเภอด่านซ้ายนั้น แม้ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าเริ่มมีในยุคสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะมีขึ้นก่อน พ.ศ.2438 เพราะในบันทึกของ เอเจียน เอมอร์นิเย นักเดินทางชาวฝรั่งเศสได้ระบุว่า ที่อำเภอด่านซ้ายมีการจัดงานใหญ่ในวันเพ็ญเดือน 7 ซึ่งก็น่าจะเป็นงานผีตาโขนนั่นเอง
           
           สมัยก่อนผีตาโขนถือว่าเป็นการละเล่นพื้นบ้านจริงๆ แต่ละปีวันจัดงานจะไม่ตรงกัน ขึ้นอยู่กับร่างทรงของ “เจ้าพ่อกวน”หรือ “เจ้ากวน”ที่ชาวบ้านนับถือ ซึ่งส่วนมากจะตกอยู่ในช่วงเดือน 7 ไทย โดยชาวบ้านเชื่อว่าหากปีใดไม่จัดผีตาโขน ปีนั้นจะเกิดภัยพิบัติ ส่วนชาวบ้านพอถึงช่วงงานก็จะพากันแต่งเป็นผีตาโขน พร้อมร้องรำทำเพลงและออกลีลาท่าเต้นกันอย่างสนุกสนาน
           
           แต่ว่างานผีตาโขนก็กร่อยไปอยู่พักหนึ่งเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เพราะทางภาครัฐได้นำแนวคิดราชการนิยมไปไปใช้กับงานนี้ จากผีตาโขนที่ออกลีลาท่าเต้นอย่างสนุกสนานออกแนวทะเล้นทะลึ่งนิดๆกลับต้องถูกจับไปยืนเข้าแถวเป็นระเบียบเรียบร้อยเพียงเพื่อรอประธานมาเปิดงาน(ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่)จนเด็กบางคนที่สวมชุดผีตาโขนถึงกับลมจับ เรียกว่าแนวคิดราชการนิยมทำเอาเสน่ห์ของผีตาโขนหดหายไปมากโข
           
           มาในปัจจุบันนี้ผีตาโขนก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามสมัยนิยม จากเดิมที่เจ้าพ่อกวนเป็นคนกำหนดก็เปลี่ยนมาเป็นในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์หลังวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ทั้งนี้ก็เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวชมงานและให้เด็กนักเรียนได้มาร่วมการละเล่นผีตาโขนสร้างสีสันให้กับงาน

    เบื้องหลังผีตาโขนตัวน้อย
                  สำหรับขบวนแห่ผีตาโขนและบรรดาเหล่าผีตาโขนที่ถือเป็นสีสันและไฮไลท์ทางการท่องเที่ยวของงานนั้น ประกอบไปด้วย ผีตาโขนใหญ่และผีตาโขนเล็ก
           
           ผีตาโขนใหญ่แต่ละปีจะทำกันไม่กี่ตัวและจะทำเฉพาะบ้านของผู้ที่ทำมาหลายปี ขนาดรูปร่างนั้นก็ใหญ่กว่าคนธรรมดาประมาณ 2 เท่า
           
           ส่วนผีตาโขนเล็กหรือผีตาโขนทั่วไป จะมีหน้ากากผีที่ทำจากหวดนึ่งข้าวเหนียว แล้วเขียนหน้าตาตามความชอบของแต่ละคน พร้อมทำจมูกยื่นยาวออกมา ส่วนชุดแต่งกายของผีก็จะเน้นที่สีฉูดฉาดบาดตาแต่ต้องปิดร่างกายให้มิดชิด สำหรับชุดของผีตาโขนยุคใหม่นั้นถือว่ามากไปด้วยสีสันลวดลาย หรือบางครั้งก็เป็นการนำผ้าพื้นเมืองมาแต่งตัวเป็นผี ที่ก็ดูกิ๊บเก๋ไปอีกแบบ ซึ่งไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ชายหรือหญิงต่างก็สามารถเข้าร่วมสนุกได้ งานนี้หนุ่มๆเวลาไปเที่ยวงานก็อย่าเผลอสุ่มสี่สุ่มห้าไปสวมกอดผีตาโขนโดยไม่พินิจพิจารณา เพราะบางทีอาจไปเจอผีตาโขนสาวเข้าก็เป็นได้
           
           นอกจากนี้ผีตาโขนยังมีอาวุธประจำตัวคือ คือ “หมากกะแหล่ง”ที่ดูคล้ายกระดึงผูกคอวัว มีทั้งที่เป็นกระพรวนหรือกระป๋องนมเล็กๆใส่ก้อนหิน เพื่อให้เกิดเสียงดังเวลาเดิน ผีตาโขน(ชาย)ยังมีดาบและกระบองที่มองดูคล้ายอวัยวะเพศชายที่หนุ่มๆในร่างผีมักจะนำไปแหย่ล้อสาวๆที่มาชมงาน เล่นเอาสาวๆอายม้วนกรี๊ดหน้าแดงกันไปหลายคน ในขณะที่สาวประเภทสองก็กรี๊ดตาโตเช่นกันยามที่เห็นอาวุธของผีตาโขน
           
           ทางด้านงานบุญและการละเล่นนั้นจะเป็นการผสมผสานกันระหว่างวิถีเก่ากับวิถีใหม่
           
           วันแรกเรียกว่า“วันรวม”หรือ “วันโฮม”เป็นวันประกอบพิธีเบิกพระอุปคุตจากลำน้ำหมัน ขบวนอัญเชิญพระอุปคุต และขบวนบายศรีสู่ขวัญเจ้ากวนและนางเทียม และพิธีเปิดงานโดยมีผีตาโขนเข้าร่วมขบวนแห่อย่างสนุกสนาน รวมถึงการแสดงแสงสีเสียง
           
           วันที่สอง เป็นพิธีแห่ขบวนแห่พระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง ขบวนแห่บั้งไฟขอฝน
           
           ส่วนวันที่สามวันนี้ไม่มีขบวนแห่ผีตาโขน แต่เป็นวันทำบุญฟังเทศน์จากนั้นก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี พร้อมๆกับความประทับใจที่นักท่องเที่ยวพกติดตัวกลับไป

    พระธาตุศรีสองรักศูนย์รวมจิตใจของด่านซ้าย(ด้านล่างองค์พระธาตุคือต้นผึ้งที่ชาวบ้านนำมาถวาย)
                  สำหรับ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” มองว่าหากใครไปเที่ยวชมงานผีตาโขนแล้วหากเวลาและงบประมาณเหลือ ก็น่าที่จะเที่ยวต่อในอำเภอด่านซ้ายสักหน่อย เพราะไหนๆก็ดั้นด้นไปถึงที่นั่นแล้ว
           
           จุดแรกที่น่าไปเป็นอย่างยิ่งก็คือการไปไหว้“พระธาตุศรีสองรัก”พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเลย สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2103 สมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อเป็นสักขีพยานในการช่วยเหลือกันระหว่างพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา และพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง เนื่องจากยุคนั้นกรุงศรีอยุธยาถูกพม่ารุกรานบ่อยครั้ง กษัตริย์ทั้งสองจึงเห็นว่าควรจับมือกันเพื่อความมั่นคง โดยได้กระทำสัตยาธิษฐานว่าจะไม่ล่วงล้ำดินแดนของกันและกัน
           
           นับได้ว่าพระธาตุศรีสองรัก เป็นพระธาตุแห่งสัจจะไมตรีและศูนย์รวมจิตใจของชาวอำเภอด่านซ้ายอย่างแท้จริง
           
           ในทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (วันเพ็ญ วิสาขบูชา)ของทุกปี ชาวอำเภอด่านซ้ายจะจัดงานสมโภชพระธาตุศรีสองรักขึ้น โดยจะนำต้นผึ้ง ที่ทำจากไม้ไผ่ทรงสามเหลี่ยมกรุด้วยลวดลายการแทงหยวกและประดับด้วยดอกผึ้ง(ทำจากเทียน)ดอกไม้ มาถวายองค์พระธาตุ ซึ่งแต่ละปีจะมีชาวด่านซ้ายและชาวเลยมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก นับเป็นประเพณีที่เปี่ยมไปด้วยศรัทธายิ่งนัก
           
           ในส่วนขององค์เป็นศิลปกรรมแบบล้านช้าง ฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส ย่อมุมไม้สิบสอง องค์ระฆังทรงคล้ายพระธาตุพนม สีขาวเด่นเป็นสง่า ที่ด้านหน้าองค์พระธาตุมีศาลาให้พุทธศาสนิกชนเข้าไปจุดธูปเทียน ดอกไม้ บูชาแด่องค์พระธาตุ โดยมีส่วนปิดทองที่ผู้หญิงห้ามขึ้นไป
           
           นอกจากองค์พระธาตุแล้ว ในวัดพระธาตุศรีสองรักยังมีพระพุทธรูปปางนาคปรกศิลปะทิเบตให้สักการะบูชา มีพิพิธภัณฑ์รวบรวมโบราณวัตถุ พระพุทธรูป และข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านไว้ให้ชม รวมถึงมีภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จประทับบนหลังช้าง(พลายคำหมื่น) เมื่อคราวเสด็จประพาสภูกระดึงในพ.ศ. 2498 ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งภาพคลาสสิคที่หากดูได้ยากมาก(อยู่ในศาลาไหว้พระธาตุ)

    พระพุทธชินราชจำลองกับบรรยากาศเปี่ยมศรัทธาภายในโบสถ์วัดเนรมิตวิปัสสนา
                  ใครที่อิ่มบุญจากการไหว้พระธาตุศรีสองรักแล้ว ก็อย่างเพิ่งรีบจรลีหนีหายจากอำเภอด่านซ้าย เพราะใกล้ๆกับพระธาตุศรีสองรักมีวัดเนรมิตวิปัสสนา(หัวนายูง) ถือเป็นอีกหนึ่งจุดน่าสนใจในอำเภอด่านซ้าย
           
           วัดแห่งนี้สงบงามและดูโดดเด่นไปด้วยสถาปัตยกรรมที่สร้างด้วยศิลาแลง ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ ซุ้มประตู หอระฆัง รวมถึงอาคารอนุสรณ์พระครูภาวนาวิสุทธิญาน(หลวงพ่อมหาพัน) ผู้ก่อสร้างวัด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเกจิแห่งภาคอีสานที่คนนับถือกันมาก โดยภายในอนุสรณ์มีหุ่นขี้ผึ้ง รูปหล่อ และรูปถ่ายของหลวงพ่อมหาพันจัดแสดงอยู่รวมถึงโลงทองด้วย
           
           ส่วนภายในโบสถ์นั้นก็ดูขรึมขลังเปี่ยมศรัทธาไปด้วย องค์พระพุทธชินราชจำลอง(พระประธาน)ที่ตั้งเด่นเป็นสง่า และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติอันน่าชม รวมถึงลวดลายลงรักปิดทองตามมุมโบสถ์ที่ประณีตงดงาม นอกจากนี้ภายในโบสถ์ยังมีหุ่นขี้ผึ้งของหลวงพ่อมหาพันประดิษฐานไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชา

    สงบงามและสะอาดเป็นระเบียบที่วัดเนรมิตวิปัสสนา วัดที่โดดเด่นไปด้วยศิลาแลง
                  ส่วนบริเวณด้านหน้าโบสถ์นั้นมีต้นสาละ ต้นไม้สำคัญทางพุทธศาสนาออกดอกสวยงามให้ผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายรูปได้หยิบกล้องมากดชัตเตอร์กันคนละแชะ 2 แชะ หรือหลายๆแชะ
           
           สำหรับสิ่งน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในวัดเนรมิตวิปัสสนาก็คือการจัดสวนที่เป็นระเบียบสวยงามและความสะอาดสะอ้าน ที่เมื่อเข้าไปแล้วทำให้จิตใจสัมผัสได้ถึงความสะอาดและบริสุทธิ์แห่งพุทธศาสนาไปด้วย ทั้งนี้ใครที่ไปเที่ยวชมงานผีตาโขนในอำเภอด่านซ้ายในช่วงวันที่ 1-3 ก.ค.นี้ ยังไงๆก็อย่าลืมแวะไปไหว้พระธาตุศรีสองรักเพื่อเสริมสิริมงคลและแวะไปชมความสงบงามของวัดเนรมิตวิปัสสนากันด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในเสน่ห์แห่งเมืองเลยที่ไม่ควรเลยผ่านด้วยประการทั้งปวง

                  ******************************************
           
           ในปีนี้งานบุญหลวงและประเพณีผีตาโขนจะมีขึ้นในวันที่ 1-3 ก.ค.
           
           พระธาตุศรีสองรักตั้งอยู่ที่ ต.ด่านซ้าย อ.ด่านซ้าย อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย 2 กิโลเมตร สามารถไปได้จากตัวอำเภอ ผ่านตลาดด่านซ้าย ผ่านวัดโพนชัย พอถึงสี่แยกให้เลี้ยวขวาไป แล้วเลี้ยวซ้ายอีกครั้งจะถึงทางหลวงหมายเลข 2014 พระธาตุศรีสองรัก จะอยู่ทางขวามือ
           
           สำหรับข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการไปไหว้องค์พระธาตุศรีสองรักก็คือ ไม่ควรแต่งกายด้วยชุดสีแดงขึ้นไปนมัสการ ไม่ควรนำสิ่งของหรือดอกไม้สีแดงขึ้นบูชา เพราะองค์พระธาตุสร้างขึ้นเพื่อสัจจะและไมตรี สีแดงถือเป็นสัญลักษณ์ของเลือดและความรุนแรง นอกจากนี้ยังไม่ควรกางร่ม สวมหมวกและรองเท้าขึ้นไป ไม่ควรนำเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีขึ้นไปนมัสการ และถ้าเราจะทำพิธีใดๆควรที่จะปรึกษาเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าองค์พระธาตุก่อน
           
           ส่วนวัดเนรมิตวิปัสสนา จากพระธาตุศรีสองรักเลี้ยวขวาไปจะเจอ 4 แยก ให้เลี้ยวขวาขึ้นเนินไปอีก 200 เมตร ก็จะถึงยังวัดเนรมิตวิปัสสนา
           
           ทั้งนี้ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดงานผีตาโขนและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในเมืองเลย ได้ที่ สำนักงาน ททท. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 5 โทร. 0-4232-5406-7 หรือที่ ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดเลย โทร. 0-4281-2812

    http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9490000080531

    เลย
    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 18 มกราคม 2548 15:19 น.
    1 | 2 | 3 | 4
    หน้าถัดไป
                  สถานที่ท่องเที่ยว
           
           อำเภอเมือง
           
           ศาลหลักเมืองเจ้าพ่อกุดป่อง เป็นศาลเก่าแก่เชื่อกันว่าเป็นที่สถิตดวงวิญญาณเจ้าพ่อทองคำองค์เสาหลักเมืองทำด้วยไม้ราชพฤกษ์ ความสูงจากฐานถึงยอด 179 เซนติเมตร ยอดเสาแกะสลักลงรักปิดทองทั้งองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุหร่ายและทรงเจิมศาลเมื่อ พ.ศ. 2525 มีประชาชนเคารพนับถือเป็นจำนวนมาก
           
           สวนสาธารณะกุดป่อง อยู่ด้านหลังศาลเจ้าพ่อกุดป่อง มีคูน้ำล้อมรอบ ภายในสวนสาธารณะตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับต่าง ๆ อย่างสวยงาม ดูร่มรื่น ใช้เป็นที่พักผ่อนและออกกำลังกาย
           
           สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติฯ ป่าเลิงใหญ่ เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ อยู่ตรงข้ามเทศบาลเมืองเลย มีการจัดสวนไม้ดอกไม้ประดับ พื้นที่รอบสวนสาธารณะติดแม่น้ำเลย นักท่องเที่ยวสามารถเดินผ่านสะพานแขวนเข้าไปเที่ยวชมได้

    ผีตาโขน อ.ด่านซ้าย
                  ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเลย ตั้งอยู่ในสถาบันราชภัฏเลย เป็นอาคาร 2 ชั้น รวบรวมและเผยแพร่เรื่องราวทางด้านศาสนา ประเพณี และวิถีชีวิตของชาวเลยในหลาย ๆ ด้าน ภายในตัวอาคารศูนย์วัฒนธรรมมีการจัดแสดงแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรก ห้องประชุมและฉายสไลด์เกี่ยวกับเมืองเลยและแสดงข้าวของเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในอดีต ส่วนที่สอง ห้องนิทรรศการชั่วคราวจัดแสดงเกี่ยวกับพระพุทธรูปเก่าที่ทำมาจากไม้ หินทราย ดินเผาและเงิน หน้ากากผีตาโขน ข้าวของเครื่องใช้โบราณ ซึ่งของทั้งหมดได้มาจากชาวบ้านในท้องถิ่นเมืองเลย
           
           นอกจากนี้ยังมีส่วนนิทรรศการหมุนเวียนทุก 3 เดือนโดยจัดแสดงเรื่องราวต่างๆของเมืองเลยตามเทศกาลประเพณี ส่วนที่สาม มีห้อง “เบิ่งไทเลย” เป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรถือเป็นส่วนสำคัญและจัดแสดงได้โดดเด่นที่สุดภายในห้องขนาดใหญ่นี้จัดแสดงเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับจังหวัดเลย เนื้อหาของนิทรรศการครอบคลุมในทุกด้านทั้งธรณีวิทยา ภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ ประเพณีและกลุ่มชาติพันธุ์
           
           ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเลย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30-15.30 น. ถ้าต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้าเพื่อความสะดวกในการเข้าชม ติดต่อที่ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเลย สถาบันราชภัฎเลย ถนนเลย-เชียงคาน อำเภอเมือง จังหวัดเลย 42000 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร.0 4283 5223-8 ต่อ 1132 การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 201 (เลย-เชียงคาน)
           
           อำเภอเชียงคาน
           

           เชียงคานเป็นอำเภอเล็กๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขงสงบเงียบ มีที่พัก ร้านอาหารและบริการล่องเรือชมทิวทัศน์สองฝั่งโขง นอกจากนี้ยังมีของที่ระลึกที่ขึ้นชื่อของอำเภอคือผ้านวม มะพร้าวแก้ว ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนไม่ควรพลาดที่จะซื้อเป็นของฝากและยังมีแหล่งท่องเที่ยวให้นักเดินทางได้สัมผัสอีกด้วย
           
           วัดศรีคุณเมือง อยู่ที่ถนนชายโขง ซอย 7 สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2485 วัดนี้เป็นแหล่งรวมงานศิลปะทั้งแบบล้านนาและล้านช้างดังจะเห็นได้จากโบสถ์ ซึ่งหลังคาลดหลั่นอย่างศิลปะล้านนา ศิลปวัตถุที่สำคัญมีหลายชิ้น เช่นพระพุทธรูปไม้จำหลัก ลงรักปิดทองปางประทานอภัยแบบล้านช้าง พระพุทธรูปดังกล่าวมีพระเกศาเป็นปุ่มแหลมเล็ก พระกรรณค่อนข้างแหลมและยาว สันนิษฐานว่ามีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 24-25
           
           นอกจากนี้ในวัดยังมีธรรมาสน์แกะสลักไม้ลงรักปิดทองทุกด้านที่พนักหลังมียอดคล้ายปราสาท ด้านหน้าโบสถ์มีภาพจิตรกรรฝาผนังอยู่เต็มหน้าบัน ภาพทั้งหมดเป็นภาพนิทานชาดกชุดพระเจ้าสิบชาติซึ่งวาดขึ้นใหม่แทนของเดิม
           
           วัดท่าแขก เป็นวัดเก่าแก่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ห่างจากอำเภอเชียงคาน 2 กิโลเมตร ก่อนถึงหมู่บ้านน้อยและแก่งคุดคู้ ปัจจุบันเป็นวัดธรรมยุติ ภายในโบสถ์มีพระพุทธรูป 3 องค์สกัดจากหินทรายทั้งก้อน เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ มีอายุประมาณ 300 กว่าปี

    แก่งคุดคู้
                  แก่งคุดคู้ เป็นแก่งหินใหญ่ขวางอยู่กลางลำน้ำโขง ในช่วงโค้งของลำน้ำโขงพอดี ทำให้เกิดกระแสน้ำเชี่ยวไหลผ่านแก่ง ในหน้าน้ำ น้ำจะท่วมจนมองไม่เห็นแก่ง เวลาที่เหมาะจะชมแก่งคุดคู้คือเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเวลาที่น้ำแห้งมองเห็นเกาะแก่งชัดเจนมีโค้งสันทรายริมแม่น้ำ
           
           สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสสายน้ำโขงและธรรมชาติสองฝั่งอย่างใกล้ชิด ท่าเรือบริเวณลานจอดรถมีบริการเช่าเรือยนต์ล่องแม่น้ำโขงโดยใช้เวลาไป-กลับประมาณ 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีร้านขายอาหารเช่นไก่ย่าง ส้มตำ ลาบ โดยเฉพาะพล่า กุ้งเต้น ต้มยำปลาจากลำน้ำโขงเป็นอาหารแนะนำในราคาไม่แพง การเดินทางจากตัวอำเภอเชียงคานนักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถสายรอบเมืองไปแก่งคุดคู้ได้ซึ่งห่างจากตัวอำเภอเชียงคานประมาณ 3 กิโลเมตร

    วัดพระพุทธบาทภูควายเงิน
                  วัดพระพุทธบาทภูควายเงิน อยู่ที่บ้านอุมุง ตำบลบุฮม การเดินทาง ใช้เส้นทางสายเชียงคาน-ปากชม ระยะทาง 5 กิโลเมตร ถึงหมู่บ้านผาแบ่นมีทางแยกเข้าบ้านอุมุง 3 กิโลเมตร จะถึงทางขึ้นเขาเป็นทางลูกรังระยะทาง 1 กิโลเมตร พระพุทธบาทภูควายเงินเป็นรอยพระพุทธบาทยาวประมาณ 120 เซนติเมตร กว้าง 55 เซนติเมตร ประดิษฐานบนหินลับมีด ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อพ.ศ. 2478
           
           รอยพระพุทธบาทภูควายเงิน เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านในแถบนี้มาก สมัยก่อนครั้งที่การเดินทางมานมัสการยังลำบาก เชื่อกันว่าคนที่มีบุญวาสนาเท่านั้นจึงจะเดินทางมากราบไหว้ได้ คนที่วาสนาไม่ถึงจะต้องมีเหตุให้มาไม่ได้ ทั้งที่ตั้งใจไว้อย่างเต็มที่ก็ตาม บางคนก็หลงทาง ทุกปีในวันขึ้น15 ค่ำ เดือน 3 ทางวัดจะจัดงานสมโภชประจำปีถือเป็นงานสำคัญของชาวบ้านในแถบนี้
    เลย
    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 18 มกราคม 2548 15:19 น.
    หน้าที่แล้ว
    1 | 2 | 3 | 4
    หน้าถัดไป
                  อำเภอวังสะพุง
           
           พระพุทธบาทถ้ำผาบิ้ง อยู่บริเวณวัดถ้ำผาบิ้ง บ้านผาบิ้ง ตำบลนาแก ห่างจากอำเภอวังสะพุง 9 กิโลเมตร กรมศิลปากรจดทะเบียนเป็นโบราณสถานพร้อมกับพระธาตุศรีสองรัก เมื่อ พ.ศ. 2498 เมื่อนักท่องเที่ยวเดินเข้าไปในถ้ำจะมองเห็นพระพุทธบาทขนาดใหญ่อยู่บนเพดานถ้ำ ลวดลายและนิ้วพระบาทไม่ปรากฏเด่นชัด ขนาดกว้าง 2 ฟุต ยาว 3 ฟุต การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 201 (อำเภอเมือง-วังสะพุง) แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปอีก 7 กิโลเมตร จะเห็นวัดอยู่ทางขวามือ
           
           พระเจดีย์วัดป่าสัมมานุสรณ์ อยู่บ้านโคกมน ตำบลผาน้อย ห่างจากที่ว่าการอำเภอวังสะพุงไปตามถนนลาดยางสายอำเภอวังสะพุง-อุดรธานี ถึงสี่แยกโรงเรียนบ้านวังไห แยกซ้ายไปตามถนน รพช. อีก 8 กิโลเมตร พระเจดีย์วัดป่าสัมมานุสรณ์ สร้างตามแบบของกรมศิลปากรขนาดฐานองค์พระเจดีย์กว้างยาวด้านละ 25 เมตร สูง 33 เมตร ก่อสร้างด้วยโครงเหล็ก ก่ออิฐถือปูนและเคลือบด้วยกระเบื้องอย่างดี วัดป่าสัมมานุสรณ์นี้เป็นวัดป่าวิปัสสนากัมมัฏฐาน สายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
           
           เสมาหินทรายที่บ้านปากแบ่งและบ้านนาหลัก บ้านปากแบ่งและบ้านนาหลัก ตำบลวังสะพุงอยู่ห่างกัน 4 กิโลเมตร โดยบ้านนาหลัก ตั้งอยู่ทางทิศเหนือและบ้านปากแบ่งอยู่ทางทิศใต้ ทั้งสองแห่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่มานาน ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเลย ใบเสมาบ้านปากแบ่งพบครั้งแรกเมื่อปลายปี พ.ศ. 2508 ลักษณะใบเสมามีลวดลายสลักรูปบัวบนฐานแบบที่มีรูปพระสถูปเจดีย์ประทับอยู่ตรงกลางแผ่นเสมา โดยส่วนบนมีลักษณะรูปกรวยคล้ายกับยอดเจดีย์ที่พบในดินแดนอีสานทั่วไป
           
           ส่วนที่บ้านนาหลัก เป็นเสมาหินปักคู่สองหลัก แบบที่มีคู่สลักนูนขึ้นไปจากยอดเสมา เป็นรูปคล้าย ๆ กับสถูปเท่านั้นโดยไม่มีลวดลายใด ๆ และปี พ.ศ. 2519 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่นได้นำไปเก็บรักษาไว้ 1 หลัก จึงเหลือไว้ในสถานที่เดิมเพียง 1 หลักเท่านั้น
           
           กลุ่มเสมาหินที่พบในภาคอีสานแสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมในภูมิภาคตั้งแต่โบราณ เสมาหินที่พบส่วนมากเป็นศิลปะวัตถุแบบทวาราวดีและลพบุรี
           
           อำเภอภูหลวง
           
           เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ภูหลวงมีความหมายว่าเขาที่สูงใหญ่ หรือหมายถึงภูเขาของพระเจ้าแผ่นดิน เกิดจากการยกตัวของพื้นผิวโลกและดินส่วนที่อ่อนพัดพาลงสู่พื้นที่ส่วนต่ำ ภูหลวงประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2517 มีพื้นที่ประมาณ 550,593 ไร่
           
           สภาพทั่วไปเป็นพื้นที่ราบสูง อากาศเย็นตลอดปี ตั้งอยู่ในบริเวณท้องที่อำเภอวังสะพุง อำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้าย และอำเภอภูหลวง
           
           ฤดูกาลบนภูหลวงมี 3 ฤดูเหมือนพื้นราบแต่ระดับอุณหภูมิต่างกัน
           
           ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 20-24 องศาเซลเซียสจะมีดอกไม้ที่มีสีสันเจิดจ้าสวยงามเช่นเอื้องตาเหิน กล้วยไม้ป่าดอกขาว กุหลาบขาวและกุหลาบแดง
           
           ฤดูฝน อยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม อุณหภูมิใกล้เคียงหรือสูงกว่าหน้าร้อนเล็กน้อยจะมีดอกไม้ป่าดอกเล็กๆสีชมพูอมม่วงขึ้นแซมตามทุ่งหญ้าและเทียนน้อย
           
           ฤดูหนาว อุณหภูมิลดลงมาก เฉลี่ย 0-15 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม บางวันอุณหภูมิลดลงถึง –4 องศาเซลเซียสจะมีก่วมแดงหรือที่รู้จักกันว่าเมเปิ้ล จะเปลี่ยนสีแดง แล้วผลัดใบ ตามพื้นดินจะเห็นต้นกระดุมเงินและรองเท้านารีปีกแมลงปอขึ้นอยู่บนก้อนหินและตามพื้นป่าดิบเขา
           
           ด้านตะวันออกของเทือกภูหลวงมีการค้นพบซากหินรอยเท้าไดโนเสาร์อายุกว่า 120 ล้านปี นอกจากนี้ยังมีป่าหลากชนิด เช่น ป่าผลัดใบหรือป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา แต่ป่าที่โดดเด่นที่สุดบนภูหลวง คือป่าสนสองใบ สนสามใบ และทุ่งหญ้าตามพื้นที่ราบ เนินเขาและลานหิน
           
           เส้นทางศึกษาธรรมชาติภูหลวง เป็นเส้นทางเดินต่อเนื่องกัน โดยเริ่มจากโหล่นมน ซึ่งเป็นบริเวณที่พักนักท่องเที่ยวผ่านป่าดงดิบ ลำห้วยป่าสนสามใบ และดอกไม้สลับทุ่งหญ้าระยะทางประมาณ 2.3 กิโลเมตร ถึงโหล่นสาวแยงคิง จากนั้นไปเป็นเส้นทางเดินไปยังโหล่นหินแอ่วขัน ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ผ่านดงดอกไม้หลายชนิด ต่อไปเป็นทางเดินสู่ลานหินโหล่นแต้ ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะพบกุหลาบขาวและกล้วยไม้ป่าต่าง ๆ
           
           บริเวณผาโหล่นแต้ สามารถชมวิวทิวทัศน์ของภูหอ ภูกระดึง ภูยองภู และภูขวาง นอกจากนี้ ยังมีจุดท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ผากบ ผาชมวิว โหล่นช้างผึ้ง ซุ้มงูเห่า และน้ำตกสายทอง การเดินทางขึ้นภูหลวง นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อได้ที่กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 0 2579 9445 ช่วงที่เหมาะในการเที่ยวชมภูหลวงคือระหว่างเดือนตุลาคม-พฤษภาคม ภูหลวงจะปิดในช่วงฤดูฝน

    น้ำตกขุนทอง อุทยานแห่งชาติภูกระดึง
                  อำเภอภูกระดึง
           
           อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยมมากแห่งหนึ่งของเมืองไทยเพราะมีสภาพธรรมชาติสมบูรณ์ประกอบด้วยระบบนิเวศและภูมิประเทศหลากหลายทั้งทุ่งหญ้า ป่าสนเขา ป่าดิบ น้ำตกและหน้าผาชมทิวทัศน์ ลักษณะเด่นของอุทยานฯแห่งนี้คือเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด เป็นที่ราบขนาดใหญ่คล้าใบบอนหรือรูปหัวใจ มีเนื้อที่ประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร มีความสูง 400-1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
           
           ก่อนเดินทางมาท่องเที่ยวป่าเขาที่ภูกระดึง นักท่องเที่ยวควรสำรวจสุขภาพตัวเองก่อนว่าพร้อมจะเดินและปีนป่ายเขาที่มีระยะทางร่วม 9 กิโลเมตร (ขึ้นเขา 5 กิโลเมตร ทางราบอีกประมาณ 3-4 กิโลเมตร) เพื่อจะขึ้นไปบนที่ราบยอดภูได้หรือไม่ อุทยานฯ ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีฐาน ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2505
           
           จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจบนภูกระดึง
           

           เส้นทางขึ้นภูกระดึง ทางขึ้นค่อนข้างชันแต่จะมีจุดแวะพักที่ “ซำ” หมายถึง บริเวณที่มีแหล่งน้ำใต้ดินผุดขึ้นมาแต่ละจุดมีเครื่องดื่มและอาหารบริการ
           
           ผานกแอ่น เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่งดงามมากแห่งหนึ่ง สามารถมองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างซึ่งเป็นท้องทุ่งและเทือกเขา ริมทางเดินใกล้ผานกแอ่นมีดอกกุหลาบป่าขึ้นเป็นดงใหญ่ ซึ่งบานสะพรั่งในเดือนมีนาคม-เมษายน
           
           ผาหล่มสัก เป็นลานหินกว้าง และมีสนต้นใหญ่อยู่ใกล้กับชะง่อนหินที่ยื่นออกไปจากหน้าผา เป็นสถานที่ชมพระอาทิตย์ตกได้ชัดเจนที่สุด จึงทำให้นักท่องเที่ยว ช่างภาพนิยมไปถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ผาแห่งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของภูกระดึง
           
           นอกจากนี้ยังมี ผาหมากดูก น้ำตกวังกวาง น้ำตกเพ็ญพบใหม่ น้ำตกโผนพบ น้ำตกเพ็ญพบ น้ำตกถ้ำใหญ่ น้ำตกธารสวรรค์ น้ำตกถ้ำสอเหนือ น้ำตกถ้ำสอใต้ สระอโนดาต เป็นต้น
           
           การเดินทาง นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางสายกรุงเทพฯ-เลย แล้วลงที่ผานกเค้า ซึ่งเป็นเขตรอยต่อระหว่างชุมแพ-ภูกระดึง จากจุดนี้จะมีรถสองแถวไปอุทยานแห่งชาติ ภูกระดึงหรือหากนักท่องเที่ยวใช้รถประจำทางเส้นทางกรุงเทพฯ-ชุมแพแล้วลงที่ตลาดชุมแพแล้วต่อรถสายชุมแพ-ผานกเค้า ไปลงที่ผานกเค้า ซึ่งจะมีรถสองแถวไปอุทยานฯ
           
           สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถส่วนตัวจากตัวเมืองเลยใช้เส้นทางหมายเลข 201(เลย-ภูกระดึง) ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเลยประมาณ 75 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2019 อีก 8 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานฯ
           
           บริเวณที่ทำการอุทยานฯ มีด่านเก็บค่าธรรมเนียมผู้ใหญ่คนละ 20 บาท เด็ก 10 บาท และบริการลูกหาบสัมภาระ กิโลกรัมละ 10 บาท นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเต็นท์และบ้านพักได้ที่ที่ทำการอุทยานฯ โทร.0 4287 1333 หรือที่กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 0 2579 7223 ,0 2579 5734 อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จะปิดระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน ทุกปี เพื่อให้สภาพธรรมชาติฟื้นตัวและปรับปรุงสถานที่พักสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว
    เลย
    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 18 มกราคม 2548 15:19 น.
    หน้าที่แล้ว
    1 | 2 | 3 | 4
    หน้าถัดไป
    สวนหินพาลี
                  กิ่งอำเภอหนองหิน
           

           ถ้ำมโหฬาร อยู่ที่บ้านหนองหิน ตำบลหนองหิน อยู่ในบริเวณวัดถ้ำมโหฬาร การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 201 (เลย-ชุมแพ) พอถึงกิโลเมตรที่ 152-153 เลี้ยวซ้ายเข้าไปตามทางลาดยาง ประมาณ 2 กิโลเมตร ภายในถ้ำมีบริเวณกว้างขวาง มีถ้ำเล็กถ้ำน้อยสลับซับซ้อนมากมาย
           
           ถ้ำโพธิสัตว์หรือกุ้ยหลินเมืองเลย ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านปวนพุ ตำบลปวนพุ การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกับสวนหิน ห่างจากปากทางราว 9 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวาเข้าไปตามทางลูกรัง 500 เมตร แล้วเลี้ยวซ้ายอีก 1.4 กิโลเมตร ก็จะถึงถ้ำ
            
           
           ถ้ำแห่งนี้มีถ้ำเล็กถ้ำน้อยเรียงรายอยู่ใต้ยอดเขาทั้งหมด 15 คูหา แต่ละคูหามีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น เขาวงกต ถ้ำลับแล สวรรค์ชั้นต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหินย้อยรูปร่างสวยงามแปลกตาอีกมากมาย การเข้าชมนั้นควรติดต่อกับทางเจ้าหน้าที่ อบต.ก่อน เนื่องจากไม่มีไฟฟ้า และการเดินถ้ำวกวนมาก ใช้เวลาในการเดินชมอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
           
           สวนหินผางามหรือคุนหมิงเมืองไทย อยู่ที่บ้านผางาม หมู่ 10 ตำบลปวนพุ จากกิ่งอำเภอหนองหินเข้าไปประมาณ 18 กิโลเมตร สวนหินผางามเป็นสวนหินที่ประกอบด้วยภูเขาขนาดเล็ก ขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่ว ภูเขาบางลูกสามารถเดินผ่านทะลุได้ สวนหินแห่งนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “คุนหมิงเมืองไทย” นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนำชมสวนหินผางามที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
           
           น้ำตกสวนห้อมหรือน้ำตกสันติธารา อยู่ที่บ้านสวนห้อม การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกับสวนหิน แต่อยู่เลยเข้าไปอีกประมาณ 300 เมตร น้ำตกสวนห้อมเป็นน้ำตกขนาดกลาง มองเห็นได้แต่ไกล ไหลตกลงมาเป็นชั้น ๆ บริเวณน้ำตกร่มรื่นเหมาะสำหรับพักผ่อน
           
           น้ำตกเพียงดิน หรือน้ำตกวิสุทธารา อยู่เลยสวนหินไป 2 กิโลเมตร น้ำตกเพียงดินเป็นน้ำตกขนาดกลาง แต่มีหลายชั้น บางชั้นก็ต้องปีนป่าย บางชั้นก็มีน้ำใสไหลเป็นแอ่ง ลงเล่นน้ำได้ไม่อันตราย บรรยากาศโดยรอบร่มรื่น เหมาะสำหรับพักผ่อน นั่งรับประทานอาหาร

    พระธาตุดินแทน
                  อำเภอภูเรือ
           
           อุทยานแห่งชาติภูเรือ เป็นภูเขาสูงใหญ่ บนยอดเขาเป็นที่ราบกว้างใหญ่ มีต้นสนขึ้นสลับซับซ้อน มีลักษณะแปลกคือมีส่วนหนึ่งเป็นผาชะโงกยื่นออกมาเหมือนหัวเรือสำเภาใหญ่ อุทยานแห่งชาติภูเรือ ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ มีเนื้อที่ประมาณ 75,525 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2522 เดือนที่เหมาะมาเที่ยวคือเดือนตุลาคม ถึงมีนาคม
           
           การเดินทาง จากตัวเมืองเลยใช้ทางหลวงหมายเลข 203 (เลย-ภูเรือ) ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาบริเวณหลักกิโลเมตร 49-50 ตรงที่ว่าการอำเภอภูเรือ เข้าไปเป็นทางลาดยางประมาณ 8 กิโลเมตร รถยนต์สามารถขึ้นได้ และมีทางเดินเท้า 700 เมตร ก็จะถึงยอดภูเรือ
           
           จุดที่น่าสนใจบนอุทยานแห่งชาติภูเรือ
           

           จุดชมทิวทัศน์เดโช เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น ในวันที่อากาศดีนักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นภูต่างๆของเมืองเลยได้
           
           ผาโหล่นน้อย อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามมาก จากจุดนี้จะมองเห็นภูหลวง ภูผาสาด ภูครั่ง และทะเลภูเขาสลับซับซ้อน
           
           ผาซำทอง อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 2.5 กิโลเมตร เป็นหน้าผาสูงชัน และแหล่งน้ำซับที่มีพืชน้ำไลเคนสีเหลืองคล้ายสีทองขึ้นเต็มไปทั่ว จึงเรียกว่า ผาซำทอง
           
           น้ำตกห้วยไผ่ ตั้งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่ไหลลงมาจากหน้าผาสูงชัน มีความสูงประมาณ 30 เมตร น้ำตกแห่งนี้นำไปใช้ทำน้ำประปาในอำเภอภูเรือด้วย
           
           ยอดภูเรือ เป็นจุดที่สูงที่สุดในอุทยานฯ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,355 เมตร บริเวณโดยรอบเป็นลานหินที่มีทุ่งหญ้าขึ้นแซมสลับกับป่าสน มีทั้งสนสองใบที่ขึ้นตามธรรมชาติและสนสามใบที่เป็นสนปลูก จากจุดนี้ในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสนักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นแม่น้ำเหืองและแม่น้ำโขงที่กั้นพรมแดนระหว่างไทย-ลาวได้
           
           นอกจากนี้ยังมีจุดที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่น ถ้ำหินแตก หินค้างหม้อ หินวัวนอน หินพานขันหมาก หินพระศิวะ สวนหินเต่า ซึ่งหินเหล่านี้มีรูปร่างตามชื่อเรียก ตั้งอยู่ท่ามกลางทุ่งหญ้าช่วงปลายฝนต้นหนาวมีดอกไม้เล็กๆขึ้นอยู่ทั่วไปน่าชมมากที่พักบนอุทยานฯ ติดต่อที่กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 0 2579 5734,0 2579 7223
           
           น้ำตกปลาบ่า หรือน้ำตกตาดสาน อยู่ที่หมู่ 1 บ้านปลาบ่า ตำบลปลาบ่า เป็นน้ำตกที่ตกมาจากแผ่นหินขนาดใหญ่ลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่างเหมาะสำหรับเล่นน้ำและนั่งพักผ่อนรับประทานอาหาร บริเวณน้ำตกยังไม่มีร้านอาหาร การเดินทางใช้เส้นทางหมายเลข 203 (ภูเรือ-ด่านซ้าย) บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 57-58 เลี้ยวซ้ายทางเดียวกับสถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ (บ้านกกโพธิ์) เข้าไปตามทางลาดยาง 7 กิโลเมตร ก็จะถึงบ้านปลาบ่า จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปตามทางลาดยางอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงน้ำตก
           
           สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านวิชาการในการศึกษาค้นคว้าทดลองไม้ดอกไม้ผลทั้งของเมืองหนาวและพืชสวนของท้องถิ่นที่เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศและระบบนิเวศ จากนั้นก็ถ่ายทอดเผยแพร่ผลของการศึกษาวิจัยแก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจต่อไป นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าชมไม้ผลและไม้เมืองหนาวควรไปช่วงเดือนกันยายน-เมษายน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0 4289 1398,0 4289 1199
           
           นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรตามเส้นทางภูเรือ-เลยอีกเช่น สวนส้มโชกุนสยามภูเรือ แปลงปลูกและจำหน่ายเห็ดหอม ต้นคริสมาสต์ และไร่องุ่นชาโต้ เดอ เลย อำเภอด่านซ้าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการท่องเที่ยวเกษตรจังหวัดเลย โทร. 0 4281 1543 โทรสาร 0 4281 3345
           
           อำเภอด่านซ้าย
           
           พระธาตุศรีสองรัก ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหมัน ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 1 กิโลเมตร หรือห่างจากตัวจังหวัด 83 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 203 แล้วแยกขวาตรงกิโลเมตรที่ 55 เข้าทางหลวงหมายเลข 2013 อีก 15 กิโลเมตร ถึงอำเภอด่านซ้ายจากนั้นแยกขวาเข้าเส้นทาง 2113 อีก 1 กิโลเมตร
            
           
           พระธาตุศรีสองรักมีรูปทรงลักษณะศิลปกรรมแบบล้านช้าง องค์พระธาตุสูง 19.19 เมตร ฐานกว้างด้านละ 10.89 เมตร ฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ย่อมุมไม้สิบสอง องค์ระฆังทรง “บัวเหลี่ยม” คล้ายพระธาตุพนม พระธาตุหลวง(เวียงจันทน์) พระธาตุศรีโคตรบอง(แขวงคำม่วน) และอีกมากมายแถบลุ่มน้ำโขง พระธาตุศรีสองรักสร้างขึ้นถวายเป็นอุเทสิกเจดีย์ (หมายถึงเจดีย์สร้างขึ้นโดยเจตนาอุทิศให้พระศาสนา โดยไม่กำหนดว่าต้องเก็บรักษาสิ่งใด) สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2103 เสร็จในปีพ.ศ.2105
           
           พระธาตุศรีสองรักสร้างขึ้นเพื่อเป็นสักขีพยานในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างกรุงศรีอยุธยา(สมัยพระมหาจักรพรรดิ)และกรุงศรีสัตนาคนหุต(เวียงจันทน์)สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพระพุทธรูปปางนาคปรกศิลปะธิเบตด้วย
            
           ทุกวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 ชาวด่านซ้ายหรือ “ลูกผึ้งลูกเทียน” จะร่วมกันจัดงานสมโภชพระธาตุศรีสองรักขึ้นโดยจะนำต้นผึ้ง (ประดิษฐ์จากโครงไม้ไผ่เป็นทรงหอปราสาทขนาดกว้างราว 2 ฟุต สูง 2 ฟุตเศษ กรุรอบด้วยลวดลายงานแทงหยวกจากนั้นประดับด้วย “ดอกผึ้ง” ซึ่งทำจากแผ่นเทียนกลมๆบางๆ ตากแดดแล้วจับเป็นกลีบ ตรงกลางติดดอกบานไม่รู้โรย หรือขมิ้นหั่นเล็กๆต่างเกสรดอกไม้สีสดใส ) เทียนเวียนหัว (เทียนแท่งที่ฟั่นยาวพอคาดได้รอบศีรษะ) มาถวายองค์พระธาตุถือเป็นประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี
           
           ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับองค์พระธาตุศรีสองรัก คือ ไม่ควรนำสิ่งของหรือดอกไม้สีแดงขึ้นบูชา ไม่ควรแต่งกายด้วยชุดสีแดงขึ้นไปนมัสการ เพราะองค์พระธาตุสร้างขึ้นเพื่อสัจจะและไมตรี สีแดงเป็นสัญญลักษณ์ของเลือดและความรุนแรง ไม่ควรกางร่ม สวมหมวกและสวมรองเท้าขึ้นไปบนพระธาตุ ไม่ควรนำเด็กต่ำกว่า 3 ปีขึ้นไปนมัสการ (หมายเหตุ : ก่อนท่านจะทำหรือประกอบพิธีใดๆที่เกี่ยวกับองค์พระธาตุขอให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าองค์พระธาตุก่อน )
    เลย
    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 18 มกราคม 2548 15:19 น.
    หน้าที่แล้ว
    1 | 2 | 3 | 4
    น้ำตกธารสวรรค์ อุทยานแห่งชาตินาแห้ว
                  น้ำตกแก่งสองคอน อยู่ที่บ้านหัวนายูง ตำบลด่านซ้าย การเดินทาง ใช้เส้นทางหมายเลข 2013 (ด่านซ้าย-นครไทย) อยู่เลยพระธาตุศรีสองรักไปราว 400 เมตร ทางเข้าอยู่ข้างวัดเนรมิตวิปัสสนา (เข้าทางเดียวกับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กน้ำหมัน) เลี้ยวเข้าไปตามทางลูกรังอีก 3 กิโลเมตร จากนั้นต้องเดินเท้าเข้าไป ลักษณะของน้ำตก เป็นธารน้ำกว้างไหลผ่านก้อนหินใหญ่น้อยมากมายลดหลั่นกันลงมาท่ามกลางต้นไม้ใหญ่เขียวครึ้มทั่วบริเวณ มีน้ำมากในช่วงฤดูฝน
            
           อำเภอนาแห้ว
           
           วัดโพธิ์ชัย อยู่ที่ตำบลนาพึง การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 2113 (ด่านซ้าย-นาแห้ว) วัดนี้สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อประมาณปลายกรุงศรีอยุธยา พระพุทธรูปองค์แสนที่ประดิษฐานอยู่ในกุฏิเจ้าอาวาสนั้น เป็นพระพุทธรูปโบราณคู่บ้านคู่เมืองมาหลายชั่วอายุคน ประทับขัดสมาธิราบ พระพักตร์ยาวรี ยอดพระเมฬีเป็นเปลวเพลิง พระสังฆาฏิเป็นท้องนาค สันนิษฐานว่าเป็นพระเชียงแสน
            
           นอกจากนี้ ภายในวิหารหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า อาราม มีจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติและวรรณกรรมท้องถิ่นที่ผนังด้านทิศเหนือมีจารึกว่าภาพเขียนดังกล่าวเขียนขึ้นเมื่อจุลศักราช 1214 ตรงกับพ.ศ. 2395 ตรงกับช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและที่ด้านนอกพระอุโบสถหลังเดียวกันนี้ยังมีภาพจิตรกรรม ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยหลังคือเมื่อปี พ.ศ. 2459 นับเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุที่มีค่ายิ่งแห่งหนึ่งของจังหวัดเลย
           
           อุทยานแห่งชาตินาแห้ว ประกอบด้วยขุนเขาสลับซับซ้อนทอดตัวเป็นแนวยาวจากเหนือจรดใต้ มีภูสันทรายสภาพป่าไม้ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบแล้งที่มีไม้ผลัดใบผสม ตามพื้นที่สูงเป็นป่าดิบเขาเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างแผ่นดินไทย-ลาว ทางตอนเหนือของอำเภอ อุทยานฯ ได้จัดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทางประมาณ 7.2 กิโลเมตร มีสถานที่น่าสนใจได้แก่ หินสี่ทิศ อยู่บนภูสันทราย ด้านใต้ เป็นหินทรายใหญ่ 4 ก้อน รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตั้งอยู่กลางป่าดิบ เนิน 1408 บนภูสันทราย จุดสูงที่สุดและเป็นจุดใจกลางของอุทยานฯ เนิน 1205 ห่างจากเนิน 1408 ประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สามารถมองเห็นประเทศลาวและยังเป็นจุดกางเต็นท์พักแรมด้วยเช่นกัน

    พระธาตุสัจจะ
                  น้ำตกธารสวรรค์ อยู่หลังโรงเรียนนาแห้ววิทยา ซึ่งห่างจากอำเภอประมาณ 2 กิโลเมตร การเดินทางโดยรถยนต์เข้าถึงบริเวณน้ำตกได้โดยสะดวก น้ำตกแห่งนี้มีความสูงประมาณ 15 เมตร บริเวณน้ำตกมีศาลาสำหรับพักผ่อน ตอนล่างมีก้อนหินน้อยใหญ่เรียงราย มีสาหร่ายและพันธุ์ไม้นานาชนิดขึ้นบริเวณริมฝั่งสองข้างทาง
           
           น้ำตกคริ้ง อยู่ห่างจากอำเภอประมาณ 10 กิโลเมตร อยู่ติดกับถนนสายเหมืองแพร่-ร่มเกล้า บริเวณน้ำตกมีพืชพันธุ์นานาชนิดขึ้นริมฝั่งทำให้ดูมีความอุดมสมบูรณ์ มีก้อนหินเรียงกันเป็นชั้น ๆ ตอนล่างมีอ่างน้ำขนาดใหญ่ มีศาลาพักผ่อนสำหรับผู้มาเยือน
           
           น้ำตกตาดเหือง (น้ำตกไทย-ลาว) อยู่ห่างจากอำเภอประมาณ 25 กิโลเมตร บริเวณบ้านบ่อเหมืองน้อย เป็นน้ำตกที่มีขนาดใหญ่และสูงมาก เกิดจากลำน้ำเหือง บริเวณรอบ ๆ เป็นป่าทึบที่มีความอุดมสมบูรณ์ การเดินทาง ทางรถยนต์จากที่ว่าการอำเภอนาแห้วไปตามถนนสายนาแห้ว-ร่มเกล้า ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร และแยกขวาเข้าไปอีกประมาณ 13 กิโลเมตร เส้นทางตลอดสายเป็นทางลาดยาง จากนั้นเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 200 เมตร ก็จะถึงบริเวณน้ำตก
           
           อำเภอท่าลี่
           
           พระธาตุสัจจะ ตั้งอยู่บริเวณวัดลาดปู่ บ้านท่าลี่ ตำบลท่าลี่ ไปตามทางหลวงหมายเลข 201 แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2115 สายท่าลี่-อาฮี ห่างจากที่ว่าการอำเภอท่าลี่ประมาณ 2 กิโลเมตร องค์ประกอบของพระธาตุสัจจะ ประกอบด้วยดอกบัวบานมีกลีบ 3 ชั้น สูงประมาณ 1 เมตร ตั้งอยู่รอบองค์พระธาตุสัจจะ องค์พระธาตุสูง 33 เมตร มีสัญลักษณ์คล้ายคลึงกับพระธาตุพนม มีเศวตฉัตร 7 ชั้น ประดิษฐานไว้บนยอดสุดของพระธาตุสัจจะ
           
           เทศกาลงานประเพณี
           
           งานดอกฝ้ายบาน มะขามหวานเมืองเลย จัดขึ้น ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดเลย ช่วงเทศกาลตรุษจีน ประมาณวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ ของทุกปี วันแรกของงานจะมีขบวนแห่จากอำเภอต่างๆ ที่ประดับตกแต่งรถด้วยผลิตภัณฑ์จากฝ้าย ซึ่งรถแต่ละคันจะมีเทพีนั่งประดับมาด้วย ส่วนบริเวณจัดงานจะมีการออกร้านของหน่วยงานราชการต่าง ๆ การประกวดนางสาวไทเลยและมหรสพอื่นๆ อีกมากมาย
           งานนมัสการพระธาตุศรีสองรัก จัดขึ้นทุกๆปี ในวันเพ็ญเดือน 5
           
           ภายในงานเริ่มจากพิธีบูชาพระธาตุโดยมีเจ้ากวน นางเทียม แสน นางแต่งและชาวบ้านจัดเครื่องเซ่นประกอบด้วยกระทงใหญ่ 1 กระทงและกระทงน้อย 8 กระทง พิธีจะต้องทำก่อนเพล เมื่อเสร็จพิธีก็ยกกระทงใหญ่ไปลอยน้ำ ส่วนกระทงน้อยยกไปบูชาตามริมวัด เสร็จจากพิธีบูชาพระธาตุจะเป็นพิธีสรงธาตุโดยประชาชนเอาน้ำอบน้ำหอมใส่ขันแล้วเอาดอกไม้จุ่มซัดไปรอบๆองค์พระธาตุ ผู้ชายให้เข้าไปในกำแพงแก้วรอบองค์พระธาตุมีเจ้ากวนเป็นหัวหน้านำสรง ส่วนหญิงนำโดยนางเทียมจะสรงใส่กำแพงแก้วรอบนอกองค์พระธาตุเท่านั้น
           
           งานประเพณีการละเล่นผีตาโขน จัดขึ้นที่อำเภอด่านซ้าย ในวันเสาร์-อาทิตย์ หลังวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี หลังจากงานนมัสการพระธาตุศรีสองรักแล้ว งานประเพณีการละเล่นผีตาโขนเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่มีขึ้นในอำเภอด่านซ้ายและอำเภอนาแห้ว โดยมีการแห่ผีตาโขนในงานบุญหลวง ซึ่งเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของท้องถิ่น การละเล่นผีตาโขนส่วนมากจะเล่นกันเฉพาะผู้ชาย ตั้งแต่เด็กรุ่นๆ ถึงผู้ใหญ่ โดยแบ่งการจัดงานเป็นสองวัน ในวันแรกจะมีพิธีแห่พระอุปคุตจากลำน้ำหมันมาที่วัดโพนชัย วันที่สองมีการแห่เข้าเมือง และผู้เล่นจะนำเครื่องผีตาโขนไปโยนทิ้งแม่น้ำหมัน จากนั้นเวลาค่ำจะมีการเทศก์มหาชาติถึง 13 กัณฑ์
           
           งานแสดงไม้ดอกเมืองหนาว อำเภอภูเรือ จัดขึ้นที่บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอภูเรือ ในช่วงวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ประมาณวันที่ 31 ธันวาคม-3 มกราคม ของทุกปี ภายในงานจะจัดให้มีการออกร้านแสดงไม้เมืองหนาว การประกวดไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว งานราตรีแม่คะนิ้ง ลีลาศโต้ลมหนาว และการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรของชาวอำเภอภูเรือ



    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×