ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ของดีทั่วเมืองไทย

    ลำดับตอนที่ #7 : "เกาะยอ"เสน่ห์งามกลางทะเลสาบสงขลา

    • อัปเดตล่าสุด 30 มิ.ย. 49


    "เกาะยอ"เสน่ห์งามกลางทะเลสาบสงขลา
    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 28 มิถุนายน 2549 16:59 น.
    ทิวทัศน์เกาะเยอะและทะเลสาบสงขลาเมื่อมองลงมาจากสถาบันทักษิณฯ
                  แม้ฤดูกาลจะเริ่มเดินทางเข้าสู่วสันตฤดู แต่กระนั้นก็ยังมีกลิ่นไอของแสงแดดอันร้อนแรงแผดจ้ากระจายไปทุกหย่อมหญ้า จึงไม่แปลกที่จะเห็นหลายๆครอบครัวหอบลูกจูงหลาน ไปเดินเล่นแถวๆชายทะเล"ผู้จัดการท่องเที่ยว"ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่อยากออกไปสูดกลิ่นไออันบริสุทธิ์ของท้องทะเล อย่างเช่นคราวนี้ที่เรามาเยือนยัง"เกาะยอ" แห่งถิ่นสะตอ จังหวัดสงขลา ที่ถูกโอบล้อมด้วยทะเลสาบสงขลา
           
           เกาะยอ แม้จะเป็นเกาะขนาดกะทัดรัด แต่ว่าก็เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ที่เอ่อล้น ไม่ว่าจะเป็นวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนชาวเกาะที่มีความน่ารักเป็นกันเอง วิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน การท่องเที่ยวเชิงเกษตร อาหารทะเลสดๆ รวมไปถึงงานหัตถศิลป์อันเลื่องชื่อ อาทิ ผ้าทอเกาะยอ หรือผลิตภัณฑ์จากต้นตาล องค์ประกอบเหล่านี้ล้วนต่างเติมเต็มให้เกาะยอดูมีชีวิตชีวายิ่งนัก
           
           ในอดีตการเดินทางไปเกาะยอต้องใช้การสัญจรทางน้ำเท่านั้น แต่หลังจากที่สร้าง "สะพานติณสูลานนท์"หรือที่ชาวสงขลามักจะเรียกว่า "สะพานป๋า" ขึ้นในปี 2529 ซึ่งเชื่อมทะเลสาบสงขลาฝั่งบ้านน้ำกระจาย ผ่านเกาะยอไปสู่ฝั่งเขาเขียว ก็ทำให้การจะไปไหนมาไหนสะดวกขึ้น โดยเดิมนั้นมีสะพานเพียงแค่เส้นเดียว แต่ปัจจุบันมีสะพานสร้างใหม่เกิดขึ้นมาเป็นสะพานคู่ขนานที่เหมือนกันเปี๊ยบยังกะฝาแฝด เลยกลายเป็นโชคดีของคนบนเกาะไป

    ชาวประมงร่วมแรงร่วมใจจับหม่ำกลางทะเล
                  ระหว่างที่กำลังนั่งรถเพื่อเดินทางสู่เกาะยอบนสะพานป๋า สายตาเราก็เหลือบแลไปเห็นตอไม้ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดเต็มทะเลสาบสงขลาไปหมด เมื่อพินิจพิเคราะห์แล้วจึงกระจ่างใจตัวเองว่า ที่เห็นอยู่ลิบๆนั้นเป็นกระชังเลี้ยงปลา ซึ่งเป็นหนึ่งในวิถีการทำประมงพื้นบ้าน และก็มารู้ที่หลังจากถึงเกาะยอว่ากระชังปลาส่วนใหญ่จะเลี้ยงปลากะพงขาว ที่ถือว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจของที่นี่ และด้วยความที่สงขลาเป็นเมือง 2 ทะเล 3 น้ำ คือมีทั้งทะเลอ่าวไทยและทะเลสาบสงขลา และมีทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย ทำให้ปลาที่นี่มีรสอร่อยและมีชื่อเสียงโด่งดังไม่น้อย
           
           ครั้นพอถึงยังเกาะยอเราแวะไปชมสินค้าโอทอปขึ้นชื่ออย่าง"ผ้าทอเกาะยอ" ก่อนเป็นอันดับแรก ผ้าทอเกาะยอเป็นผ้าทอพื้นเมืองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อีกทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นผ้าทอที่มีขั้นตอนการดูแลรักษาง่ายไม่ยุ่งยาก ส่วนลวดลายก็สวยงาม แถมมีอยู่ด้วยกันหลายสิบลาย เช่น ลายราชวัตถ์ ลายดอกมุข ลายเกล็ดกลิ่น เป็นต้น และด้วยความงดงามอันแสนประณีต"ผู้จัดการท่องเที่ยว"และมิตรสหายเลยต้องควักกระเป๋าสมนาคุณซื้อหามาครอบครองเป็นการใหญ่
           
           เมื่อซื้อผ้าทอกันจนหนำใจแล้ว เราออกเดินทางต่อไปยังจุดหมายที่รอคอยนั่นก็คือ การไปล่องเรือชมทะเลสาบสงขลา ซึ่งโอกาสแบบนี้นานๆจะมีสักครั้ง โดยเราไปลงเรือที่ท่าเรือแพขนานยนต์ ก่อนนั่งเรือประมงพื้นบ้านมุ่งหน้าสู่ทะเลสาบสงขลาท่ามกลางสายลมพัดเอื่อยๆ งานนี้บรรดาสาวๆ ที่นั่งมาด้วยกลัวผิวเสียเลยต้องรีบหาครีมกันแดดมาทากันยกใหญ่
           
           ต้องยอมรับว่าทิวทัศน์ที่นี่งดงามจริงๆ สามารถมองเห็นวิวทั้งฝั่งตัวเมืองสงขลา และฝั่งยอดเขาแดงที่เห็นอยู่ปลายลิบตา วิทยากรประจำเรือให้ความรู้ว่า คือ"เจดีย์พี่น้องยอดเขาแดง"หรือที่ชาวบ้านเท่าไปขนานนามกันว่าเจดีย์องค์ดำซึ่งเจ้าพระยาคลังสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ หรือสมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ทรงสร้างไว้เป็นที่ระลึกเมื่อครั้งปราบกบฏเมืองไทรบุรีในปีพ.ศ.2373
           
           ส่วนเจดีย์องค์ขาวนั้นสร้างโดยพระยาศรีพิพัฒน์สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยหรือสมเด็จพระยามหาพิชัยญาติเป็นผู้สร้างไว้เป็นที่ระลึกเมื่อครั้งปราบกบฏเมืองไทรบุรี ปัตตานี ปีนัง และมลายูได้เช่นกัน

    ขนำชาวประมงกลางทะเลสาบยามต้องแสงอาทิตย์ยามเย็น
                  เรือล่องไปรอบๆ เกาะยอโดยมีวิทยากรคอยอธิบายให้ความรู้ ถึงความเป็นมาและความสำคัญของแต่ละสถานที่อย่างเช่น ป่าโกงกางแถวคลองพะวง วิทยากรก็ให้ความรู้ว่ายังเป็นป่าโกงกางที่มีความสมบูรณ์ที่สุดของเกาะยอ เรือลอยลำเฉียดใกล้กับท่องไม้กลางน้ำ ที่หากมองไกลๆจะเห็นผุดเป็นตอเต็มทะเลสาบไปหมด นั้นเมื่อได้มามองอย่างใกล้ชิดถึงได้รู้ว่าเป็น"โพงพาง" ที่เอาไว้ดักปลาที่ส่วนใหญ่จะเป็นปลากระบอกและปลากะพงขาว
           
           เมื่อเรือแล่นมาจอดนิ่งกลางทะเลสาบสงขลา ก่อนที่วิทยากรจะต้อนให้คนบนเรือ ขึ้นไปกินข้าวเที่ยงบนขนำกลางทะเล ใครที่ไม่รู้ว่าขนำคืออะไร ก็ให้คิดถึงเรือนที่ตั้งอยู่กลางทะเลสาบรอบๆบริเวณเรือน มีกระชังเลี้ยงปลานานาชนิด ที่จับได้จากในทะเลสาบมาเลี้ยงไว้ในกระชัง
           
           โชคเข้าข้างอีกแล้วเมื่อเจ้าของขนำบอกกับเราว่า วันนี้เป็นวันครบรอบ 2 อาทิตย์ ที่จะ"จับหม่ำ"กลางทะเลสาบพอดี โอว...เมื่อฟังตอนแรกเราก็นึกว่าพี่เจ้าของขนำจะไปจับ"หม่ำ จ๊กม๊ก" ตลกแห่งยุค แต่ที่ไหนได้ ไม่ใช่โดยสิ้นเชิง เพราะการจับหม่ำที่นี่มันก็คือวิธีการจับปลาอย่างหนึ่ง โดยชาวประมงจะตัดต้นไม้แล้วไปนำมาปักไว้ในน้ำ บริเวณแหล่งที่มีปลาชุกชุม ก่อนจะปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2 อาทิตย์

    กระต่ายขูดมะพร้าวแบบโบราณที่จัดแสดงในสถาบันทักษิณฯ
                  เมื่อแน่ใจแล้วว่า ปลามาอาศัยอยู่เต็มใต้บริเวณต้นไม้ที่ปักไว้ จึงนำแหมาล้อมดักปลาไว้ แล้วจึงค่อยๆล้อมเข้าไปชิดเรื่อยๆ ระหว่างที่ล้อมก็ต้องคอยเอาต้นไม้ที่ปักไว้ โยนออกไปนอกบริเวณหม่ำที่ล้อมจับด้วย ถ้าไม่ใช่ชาวประมงที่เชี่ยวชาญ ก็ยากที่จะทำวิธีนี้ได้ เพราะต้องอาศัยทักษะความชำนาญและประสบการณ์เป็นพิเศษ
           
           สำหรับปลาที่จับได้ถ้าเป็นลูกปลาที่ยังเล็ก ก็จะนำไปเลี้ยงไว้ในกระชังปลาที่อยู่รอบๆ ขนำ แต่ถ้าเป็นปลาที่โตเต็มที่ ก็จะเตรียมนำไปขายทอดตลาดต่อไป อ้อ..ลืมบอกไปว่าบนขนำปลาจะมีห้องครัว ไว้สำหรับทำอาหารเมนูปลาๆไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มรสเนื้อปลาสดๆอีกด้วย
           
           เรียกได้ว่านอกจากการมาท่องเรือชมทัศนียภาพในทะเลสาบสงขลาแล้ว ก็ยังจะได้พบการจับปลาจริง ๆ และที่สำคัญยังได้กินเนื้อปลาสด ๆ อร่อยกันถ้วยหน้า ทั้งปลากะพงขาวเผาเกลือ แกงส้มปลากระบอก รสชาติแบบต้นตำรับปักษ์ใต้แท้ๆ กินไปรับลมทะเลเย็นๆ ไปแสนเพลิดเพลินใจ
           
           ครั้นพอบ่ายคล้อยเราจึงได้เวลาเดินทางกลับขึ้นบก โดยเราไปเที่ยวต่อยัง"สถาบันทักษิณคดีศึกษา"(ชื่อนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนายกฯแต่อย่างใด) สถาบันแห่งนี้สร้างขึ้นภายใต้การดูแล ของมหาวิทยาลัยทักษิณ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ รูปทรงอาคารจึงเป็นสถาปัตยกรรมแบบภาคใต้เสียเป็นส่วนใหญ่ แบ่งเป็น 4 อาคาร รวมทั้งแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นศาสตราวุธ การละเล่นพื้นเมือง ห้องการแสดงการรักษาพยาบาลแบบพื้นเมืองห้องแสดงกระต่ายขูดมะพร้าวรูปทรงต่างๆที่หาดูได้ยาก เป็นต้น

    วิถีชาวประมงพื้นบ้านที่ผูกพันกับทะเลสาบสงขลาของชาวเกาะยอ
                  กว่า"ผู้จัดการท่องเที่ยว"จะตระเวนเดินดูจนทั่ว แสงตะวันยามเย็นก็คล้อยต่ำ เป็นสัญญาณบ่งบอกเวลาใกล้พลบค่ำ เลยก่อนกลับเลยชักชวนเพื่อนพ้องขึ้นมาดูพระอาทิตย์บนหอคอย ที่เป็นจุดชมวิวภายในสถาบันทักษิณคดีศึกษา ซึ่งสวยงามมากเพราะสามารถมองเห็นทั้งทะเลสาบสงขลา และที่สำคัญยังได้ชมสะพานติณสูลานนท์ในระดับสูงอีกด้วย
           
           สายลมบนหอคอยพัดมากระทบร่าง สายตาก็จ้องมองดูพระอาทิตย์ยามลาลับขอบฟ้า ที่ก่อให้เกิดแสงสีสวยหลากตา อย่างเขาเรียกกันว่าสเปกตรัม กระจัดกระจายเต็มท้องฟ้าไปทั่ว หลายคนที่อาจจะเคยเห็นตะวันตกดิน แต่ที่นี่คุณจะได้เห็นตะวันตกกระทบน้ำงาม ในทะเลสาบสงขลาแทน ความงดงามนี้แม้ยามจากสงขลามา แต่เมื่อครั้นหลับตา"ผู้จัดการท่องเที่ยว" ก็ยังเห็นภาพนั้นอยู่ในห้วงคำนึงเสมออย่างมิรู้ลืม
           
           *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 
           เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา เป็นเกาะที่อยู่ในทะเลสาบสงขลา ห่างจากตัวเมืองประมาณ 20 กม. สามารถเดินทางไปได้ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 407 และเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวง 4083 ทางที่มุ่งหน้าตรงไปยังอำเภอสิงหนคร ก่อนจะข้ามสะพานติณสูลานนท์สู่ตัวเกาะยอ
           สำหรับสนใจล่องเรือประมงพื้นบ้าน ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เทศบาลนครสงขลางานพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวโทร.0-7431-1015 ต่อ115 หรือ ติดต่อกลุ่มเรือประมงพื้นบ้านเพื่อการท่องเที่ยว โทร.0-1094-4848,0-1690-2804,0-5077-6766 หรือสำนักงาน ททท. ภาคใต้ เขต 1 โทร. 0 -7423- 1055, 0 -7423 -8518, 0 -7424- 3747
           

           ที่พัก
           
    ร้านอาหารร้านอาหาร
    ที่พัก

           
    ร้านอาหารร้านอาหาร


    http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9490000074695
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×