ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ของดีทั่วเมืองไทย

    ลำดับตอนที่ #6 : "รถม้า"เสน่ห์เมืองลำปางที่ยังมีลมหายใจ

    • อัปเดตล่าสุด 30 มิ.ย. 49


    "รถม้า"เสน่ห์เมืองลำปางที่ยังมีลมหายใจ
    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 19 มิถุนายน 2549 18:03 น.
    รถม้าหนึ่งในสัญลักษณ์ที่อยู่เคียงคู่เมืองลำปางมาช้านาน
                  หากเอ่ยถึงเอกลักษณ์ของจังหวัดลำปาง "รถม้า"ถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของจังหวัดนี้ที่ผู้คนนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ เพราะเป็นเพียงจังหวัดเดียวในเมืองไทยที่ยังคงใช้รถม้าเป็นพาหนะในการเดินทาง จนถึงกลับมีคำกล่าวเอาไว้ว่า “หากใครมาแอ่วเมืองลำปางแล้ว ไม่ได้นั่งรถม้าถือว่ายังมาไม่ถึงลำปางอย่างสมบูรณ์แบบ
           
           ทั้งนี้รถม้าในลำปางนั้นถือว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนานเกือบร้อยปี ซึ่งหากย้อนกลับไปในอดีต รถม้าเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงสั่งรถม้าเข้ามาเป็นจำนวนมากเพื่อใช้เป็นรถหลวง กระทั้งรถยนต์เริ่มเข้ามามีบทบาท รถม้าจึงได้ถูกกระจายออกจากกรุงเทพฯ และในช่วง พ.ศ.2458 ได้มีการวางรางรถไฟขึ้นมาจนถึงลำปาง รถม้าจึงมีบทบาทสำคัญด้วยการเป็นยานพาหนะรับส่งผู้โดยสารจากสถานีรถไฟจังหวัดลำปางเข้าสู่ตัวเมือง
           
           สำหรับลักษณะของรถม้าลำปางนั้นเป็นรถแบบเปิดประทุน ที่นั่งผู้โดยสารคล้ายคลึงกับที่นั่งของจักรยานสามล้อ แต่มีขนาดใหญ่กว่า อยู่ทางตอนหลังของที่นั่งคนบังคับ ซึ่งมีระดับสูงกว่าเล็กน้อย นั่งได้คันละไม่เกิน 4 คน
           
           รถม้าคันแรกของจังหวัดลำปางเป็นของเจ้าบุญวาทย์ วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง หลังจากนั้นรถม้าจึงเริ่มมีแพร่หลายทั้งในลำปางและตามเมืองหลักต่างๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปความเจริญของเทคโนโลยีการคมนาคมทำให้รถม้าค่อยๆเลือนหายไป เหลือแต่เพียงที่จังหวัดลำปางเท่านั้นที่ยังคงใช้รถม้าเป็นยานพาหนะอยู่ตราบจนปัจจุบัน

    นักท่องเที่ยวยังคงให้ความสนใจใช้บริการรถม้าลำปางอยู่อย่างต่อเนื่อง
                  สายัณห์ ฉัตรแก้ว ชายเจ้าของอาชีพรถม้ารับจ้างวัย 30 กว่าๆ เล่าว่า ตนสืบทอดอาชีพรถม้ามาจากรุ่นพ่อ และเริ่มขับขี่รถม้ามาตั้งแต่เด็กๆ ปัจจุบันตนมีรถม้า 2 คัน ตัวรถตกทอดมาจากพ่อ ส่วนม้าที่ใช้จะเป็นม้ารุ่นกลาง ขนาดสูงประมาณ 1.20 เมตร ราคาประมาณ 2 หมื่นบาทขึ้นไป เหตุที่ไม่เลือกม้าขนาดใหญ่หรือม้าเทศ เพราะม้าขนาดใหญ่ใช้งานได้ไม่คล่อง เวลาเลี้ยว หรือเวลารถติด ม้าตัวใหญ่จะไม่สามารถซอกแซกได้ ม้าเทศก็เปรียบได้กับรถบรรทุก 10 ล้อ ที่เวลาเลี้ยวเวลาขับเข้าที่แคบๆจะไม่สะดวกเท่ารถเล็ก
           
           ส่วนม้าที่เหมาะสมนั้นจะต้องมีอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป สภาพร่างกายแข็งแรง มีอายุใช้งาน 10 ปีหรือมากกว่านั้น แล้วแต่สภาพและการดูแล ซึ่งเมื่อตนซื้อม้ามาแล้วก็ต้องฝึกให้รู้เรื่องก่อน โดยจะใช้เวลาฝึกประมาณ 1 เดือน ขึ้นอยู่กับการบังคับ และสำหรับผู้ประกอบอาชีพรถม้าต้องมีใบอนุญาตและใบขับขี่รถม้าด้วย

    กินหญ้าสดๆเพิ่มกำลังวังชาในการวิ่ง
                  ปัจจุบันสายัณห์เป็นสมาชิกสมาคมรถม้าจังหวัดลำปาง ที่ในสมาคมมีรถม้าประมาณ 70-80 คัน โดยให้บริการรอบเมืองรอบใหญ่ ราคา 200 บาท เส้นทางจะผ่านแม่น้ำวัง ชมบ้านโบราณเก่าๆ สะพานแขวน และสถานที่สำคัญอีกหลายที่ ส่วนรอบเมืองรอบเล็ก ราคา 150 บาท จะใช้เส้นทางเดียวกับรอบใหญ่แต่จะวิ่งในระยะใกล้กว่า ถ้าเป็นรายชั่วโมงจะคิดชั่วโมงละ 300 บาท สามารถแวะชมวัดโบราณต่างๆ หรือแวะซื้อของฝากก็ได้ ตามแต่จะให้ไป ซึ่งราคานี้เป็นราคามาตรฐาน
           
           สายัณห์ เล่าว่า"นักท่องเที่ยวส่วนมากจะมากับทัวร์โดยเฉพาะทัวร์ไต้หวัน โดยจะจองรถม้ากับสมาคม แล้วทางสมาคมจะจัดหารถม้าให้ตามจำนวนที่ต้องการ ช่วงเดือนเมษา ช่วงสิ้นปี หรือตามเทศกาลเช่นตรุษจีน จะมีลูกค้าเยอะ แต่ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝนนักท่องเที่ยวมีน้อย บางวันไม่มีลูกค้าเลยก็มี"
           
           "จะว่าคุ้มก็คุ้ม จะว่าไม่คุ้มก็ไม่คุ้ม มันวัดเป็นวันๆไม่ได้ ม้า 1 ตัวจะกินอาหารวันละ 3 มื้อ มื้อละ 1 ถัง ถ้าช่วงเทศกาลม้าจะได้กินดีหน่อย เช่น พวกข้าวเปลือก รำ อาหาร ถ้าเป็นช่วงหน้าร้อนหญ้าจะหายาก ม้าจะกินข้าวเปลือกและรำ หน้าฝน กินหญ้าและรำ คิดว่าโดยรวมแล้วก็พออยู่ได้" สายัณห์ กล่าว
           
           สำหรับปัจจุบันนี้สายัณห์ บอกว่า รถม้าน่าจะมีจำนวนเท่าเดิม เพราะถึงมีบางคนที่เลิกไป แต่ก็มีคนใหม่ที่เข้ามาทำอาชีพนี้แทน ซึ่งตนคิดว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพอิสระ บางคนเคยประกอบอาชีพกรรมกรมาก่อน พอแก่ตัวลงประกอบอาชีพเดิมไม่ไหว ก็หันมาขับขี่รถม้ารับจ้างแทนก็มี
           
           ส่วนการสืบทอดอาชีพรถม้า สายัณห์แสดงความคิดเห็นว่า สำหรับลูกผมไม่บังคับให้เขาต้องทำอาชีพเดียวกับผม ผมอยากให้เขาได้เรียนสูงๆ มีงานดีๆทำ มีรายได้มากกว่านี้ เพราะอาชีพนี้ไม่ใช่อาชีพที่ร่ำรวย แต่โดยส่วนตัวแล้วผมอยากจะอนุรักษ์รถม้าไว้ให้มีอยู่คู่ลำปางตลอดไป
           
           ด้านอัครินทร์ พิชญกุล นายกสมาคมรถม้าจังหวัดลำปาง เล่าว่า รถม้าในจังหวัดลำปางทั้งหมดมีประมาณ 100 กว่าคัน เป็นสมาชิกของสมาคมประมาณ 70 คัน ในตอนนี้ตนคิดว่าปริมาณรถม้ากับคนใช้บริการมีจำนวนพอดีกัน ถ้ามีรถม้ามากกว่านี้อาจจะทำให้เกิดการแย่งลูกค้า ขาดรายได้กันได้

    ในตัวเมืองลำปางจะเห็นรถม้าจอดอยู่ในหลายๆจุด
                  อาชีพรถม้าไม่ใช่อาชีพที่ร่ำรวย รายได้ก็ไม่แน่นอน คนที่มาประกอบอาชีพนี้ต้องมีใจรักจริงๆเท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็อยู่ไม่ได้ ส่วนลูกค้าส่วนมากจะเป็นพวกกรุ๊ปทัวร์มีทั้งทัวร์ในประเทศเช่นทัวร์จากภาคใต้ ภาคอีสานจะมาแวะที่ลำปางก่อนจะขึ้นเหนือไปเชียงใหม่ ส่วนทัวร์จากต่างประเทศส่วนมากจะเป็นทัวร์จากประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ก็พอมี ทางยุโรปก็มีเช่นประเทศฝรั่งเศส เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์
           
           สำหรับคนขับรมม้า หรือสารถีนั้น นายกสมาคมกล่าวว่า "สารถีเป็นคนจังหวัดลำปาง 100 % ดังนั้น เขาจะมีความผูกพันและรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญต่างๆ สามารถบรรยายได้อย่างคร่าวๆ และทางสมาคมร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้มีการฝึกอบรมผู้ขับขี่รถม้าอยู่อย่างต่อเนื่องทั้งให้ความรู้ด้านสถานที่ท่องเที่ยงและสถานที่สำคัญๆต่างๆ และข้อปฏิบัติและมารยาทขณะปฏิบัติงาน เช่นห้ามดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ต้องแต่งกายสุภาพ ใส่เสื้อแขนยาว ใส่หมวก ห้ามใส่รองเท้าแตะ ต้องรักษากฎจราจร เป็นต้น"
           
           ปัจจุบันทางสมาคมก็ได้พยายามอนุรักษ์และฟื้นฟู เช่นได้จัดรถม้าไปยังโรงเรียนเทศบาลต่างๆ เพื่อให้เด็กๆได้รู้จักและคุ้นเคย ปลูกฝังให้เด็กหวงแหนและรู้จักอนุรักษ์รถม้าซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลำปาง นายกสมาคมฯกล่าว
           
           ด้าน เกศราพรณ์ สีตาบุตร เจ้าของบ้านหน้าโรงแรมลำปางเวียงทอง เล่าว่า รถม้าประมาณ 20 คันจะมาจอดหน้าบ้านตนเป็นประจำทุกวันมาเป็นเวลา 4-5 ปีแล้ว รถม้าที่มาจอดก็สร้างปัญหาให้ตนบ้างเช่นเรื่องของกลิ่นปัสสาวะของม้า ม้าจะถ่ายปัสสาวะที่ละมากๆ และเมื่อถ่ายปัสสาวะแล้วเจ้าของม้าบางคนไม่ล้าง ทำให้ส่งกลิ่นที่รุนแรง สร้างความรำคาญให้ผู้ที่อยู่อาศัยในละแวกนั้น แต่ตนก็แก้ปัญหาด้วยการล้างเอง

    สารถีต้องดูแลม้าอย่างดีเพราะทั้งคนและม้าต่างก็ต้องช่วยกันทำมาหากิน
                  "เคยได้ยินเจ้าของรถม้าคุยกันว่า ช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดีจากที่เคยซื้อข้าวเปลือก อาหารเสริม แคลเซียมบำรุงให้ม้า ตอนนี้ซื้อได้แต่หญ้า เพราะรายได้ลดน้อยลง และข้าวของแพงมากขึ้น บางคนหันไปประกอบอาชีพอย่างอื่นแทนในช่วงฤดูที่การท่องเที่ยวซบเซา แต่เมื่อถึงฤดูท่องเที่ยวก็จะกลับมาทำใหม่ แต่บางคนเลิกอาชีพนี้ไปอย่างถาวรเลยก็มี"
           
           เกศราพรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "รถม้าเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลำปาง อยากจะให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์และรักษาเอาไว้ คนลำปางจะได้มีอาชีพ และถ้าไม่มีรถม้านักท่องเที่ยวอาจจะไม่แวะลำปาง อาจจะเลยไปเชียงใหม่ เชียงรายเลยก็ได้"
           
           สำหรับรถม้าลำปางจะมีให้คนไทยได้สัมผัสเชยชมอีกนานแค่ไหน ถือเป็นเรื่องที่ไม่มีใครตอบได้ แต่ตราบใดที่ยังคงมีคนมองเห็นในคุณค่าของรถม้าลำปาง และมีใจที่จะอนุรักษ์รถม้าไว้ ตราบนั้นลำปางก็ยังมีรถม้าอยู่เคียงคูไปอีกนานเท่านาน
           
           *************************************************
           *************************************************
           
           สำหรับจุดบริการรถม้าในจังหวัดลำปางจะอยู่ที่ศาลากลางหลังเก่า, หน้าตลาดอัศวิน และที่หน้าโรงแรมลำปางเวียงทอง สนนราคารถม้านำเที่ยว รอบใหญ่ 200 บาท/คัน รอบเล็ก 150 บาท/คัน หรือเป็นชั่วโมงชั่วโมงละ 300 บาท/คัน โดย 1 คันนั่งได้สูงสุด 4 คน ทั้งนี้ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดและจองรถม้าล่วงหน้าได้ที่สมาคมรถม้าจังหวัดลำปาง โทร.0-5421-9255
           

    http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9490000079461
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×