ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ของดีทั่วเมืองไทย

    ลำดับตอนที่ #4 : ปั้นดินให้เป็นเงิน ที่ “บ้านทุ่งหลวง” / ตุ๊กตาดินเผา บุกตลาดโลก

    • อัปเดตล่าสุด 30 มิ.ย. 49


    ปั้นดินให้เป็นเงิน ที่ "บ้านทุ่งหลวง"
    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 24 เมษายน 2549 18:20 น.

    ตุ๊กตาดินเผา ฝีมือชาวบ้านทุ่งหลวง

    คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
    ขอม โพธิ์ดี ประธานกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวง

    ภาชนะลวดลายงดงาม ให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อ

    เต่าดินเผาตัวเล็กน่ารัก

    หม้อขนาดย่อมๆ ใบละไม่กี่บาท

    เตาสุม ก่ออิฐล้อมรอบ ใช้ไม้ไผ่ป่าและฟางเป็นเชื้อเพลิง

    ตั้งสมาธิกับการแกะลวดลายให้สวยงามก่อนนำเข้าเตาเผา

    ชาวบ้านทุ่งหลวงกำลังขึ้นรูปหม้อกรันด้วยวิธีการตี

    ใครอยากลองปั้นภาชนะด้วยฝีมือตัวเอง เชิญได้ที่นี่

    ก่อนกลับอย่าลืมเเวะซื้อหาเครื่องปั้นดินเผากันตามอัธยาศัย

           ถ้าพูดถึงภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทยแล้วละก็ รับรองว่าถ้วยชามสังคโลก สินค้าโอท็อปในสมัยที่สุโขทัยเป็นราชธานีต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะนอกจากความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ก็ยังเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญอย่างหนึ่งในสมัยนั้น แต่รู้หรือไม่ว่า ที่บ้านทุ่งหลวงใน อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย จังหวัดเดียวกันนี้ ก็มีเครื่องปั้นดินเผาที่มีมีความน่าสนใจไม่แพ้กัน
           
           แม้ว่าเครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวงจะไม่มีชื่อเสียงโด่งดังเท่ากับถ้วยชามสังคโลก แต่มีบันทึกในจดหมายเหตุของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เมื่อคราวที่ท่านเดินทางมาสำรวจมณฑลพิษณุโลกใน พ.ศ.2444 ว่า "...วันที่ 18 เวลาตื่นตอนเช้า พระยาสุโขทัยเอาหม้อกรันมาให้ 3 ใบ เป็นหม้อที่ตั้งใจทำอย่างประณีตภาษาบ้านนอก เขาทำที่บ้านทุ่งหลวงอยู่ใต้เมืองสุโขทัยฝั่งตะวันตก หม้อใหญ่กระพุงเกือบสองศอกเขาก็ทำ..."
           
           นั่นแสดงให้เห็นว่า การทำเครื่องปั้นดินเผาของชาวบ้านทุ่งหลวงในจังหวัดสุโขทัยนั้น มีความเป็นมายาวนานกว่าศตวรรษแล้ว และหม้อกรันที่ว่านั้นก็คือหม้อน้ำสมัยโบราณซึ่งมีรูปแบบเฉพาะของชาวทุ่งหลวง ซึ่งมีส่วนผสมของทรายมากกว่าปกติเพื่อช่วยในการคายน้ำ ดังนั้นน้ำในหม้อกรันบ้านทุ่งหลวงจึงมีความเย็นมากกว่าหม้อทั่วไปๆ และหม้อกรันนี้ยังใช้ในงานพิธีมงคลต่างๆ เช่น งานแต่งงาน โดยเชื่อว่าจะกันความชั่วร้ายและสิ่งไม่ดีออกไป
           
           การทำเครื่องปั้นดินเผาของบ้านทุ่งหลวงในตอนนี้ไม่ได้ทำกันแค่เป็นงานอดิเรกเท่านั้น แต่ที่นี่เขาทำกันเป็นเรื่องเป็นราว จนมีการตั้ง "กลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวง" ขึ้นมา จนถึงในตอนนี้กลุ่มฯ ก็มีอายุได้ 11 ปี พอดี
           
           ขอม โพธิ์ดี ประธานกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวง เล่าถึงความเป็นมาของการก่อตั้งกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวงในปี พ.ศ.2537 ว่า เมื่อก่อนนี้การทำเครื่องปั้นดินเผาของชาวบ้านทุ่งหลวงเป็นเพียงอาชีพเสริมหลังจากการทำนาเท่านั้น การทำเครื่องปั้นดินเผาในช่วงนั้นเป็นการทำไว้เพื่อแลกเปลี่ยนของกินของใช้อื่นๆ กับหมู่บ้านใกล้เคียง
           
           "หลังจากที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนการผลิตเครื่องปั้นดินเผา ทั้งยังช่วยเรื่องการหาตลาด ประกอบกับมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดเวลาในการทำนา ชาวบ้านจึงมีเวลาในการผลิตเครื่องปั้นดินเผาได้มากขึ้น" ลุงขอมกล่าว ดังนั้นในปัจจุบันนี้ การปั้นเครื่องปั้นดินเผาจึงกลายเป็นอาชีพหลักที่ทำรายได้ให้แก่ชาวบ้านทุ่งหลวง จนได้รับการประกาศให้เป็น "หมู่บ้านอุตสาหกรรมดีเด่น" ในปี พ.ศ.2539
           
           ปัจจุบันชาวทุ่งหลวงกว่า 200 ครัวเรือนก็ยังคงผลิตเครื่องปั้นดินเผาเพื่อเป็นอาชีพ โดยจะนำดินเหนียวที่ขุดจากที่นารอบหมู่บ้านมาแช่น้ำไว้ 1 วันกับ 1 คืน จากนั้นจึงนำดินมานวด โดยในอดีตจะใช้วิธีย่ำด้วยเท้า แต่ปัจจุบันนี้มีเครื่องนวดดินมาช่วยทุ่นแรง เสร็จแล้วจึงนำดินที่นวดเรียบร้อยแล้วมาปั้น โดยวิธีปั้นจะมี 4 วิธีด้วยกัน คือการตี การขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน การหล่อน้ำดิน และการปั้นด้วยมือ
           
           สำหรับวิธีปั้นโดยการตี ในขั้นแรกจะขึ้นรูปตรงส่วนคอของภาชนะด้วยแป้นหมุนก่อน จากนั้นจึงใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่าหินทุบกับไม้ตีทำตรงส่วนตัวของภาชนะให้เข้ารูป ส่วนวิธีการหล่อน้ำดินจะมีความพิเศษตรงดินที่ใช้ คือในน้ำหนักดิน 100% จะมีดินขาวจากลำปางเป็นส่วนประกอบ 20-30% นำมาใส่โอ่งกวนให้ละเอียด และใช้ตะแกรงกรองอีกชั้นหนึ่ง และเทใส่บล็อกหล่อเป็นรูปทรงภาชนะ เนื่องจากการหล่อจะต้องอาศัยความยืดหยุ่นของดินมากกว่าปกติ เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้ดินขาวมาผสม นอกจากนั้นดินขาวยังทนต่อความร้อนสูงๆ ได้ดีอีกด้วย
           
           ส่วนการปั้นด้วยมือ จะเป็นการปั้นแบบอิสระ เช่น ปั้นตุ๊กตา แต่การปั้นแบบที่ชาวบ้านทุ่งหลวงนิยมทำก็คือการขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน เพราะจะทำได้เยอะและเร็ว บางคนทำได้ถึงวันละกว่า 100 ลูกทีเดียว
           
           เมื่อเสร็จจากการปั้นแล้ว ต่อจากนั้นจะนำมาฉลุลวดลายให้สวยงาม นอกจากการฉลุลายแล้ว ก็ยังมีการทำลวดลายแบบใช้ลูกกลิ้ง ซึ่งลุงขอมเป็นคนคิดขึ้น เพื่อให้สามารถทำลวดลายได้สะดวก รวดเร็ว และสม่ำเสมอ เมื่อเสร็จแล้วตากไว้ให้แห้ง แล้วก็ไปสู่ขั้นตอนต่อไปคือการเผา
           
           สำหรับเตาเผาในสมัยก่อนจะเป็นเตาสุมแบบเปิดโล่ง แต่ที่ใช้ในปัจจุบันก็ยังคงเป็นเตาสุม แต่มีกำแพงอิฐก่อล้อมรอบ และใช้ไม่ไผ่ป่าและฟางเป็นเชื้อเพลิง รวมทั้งใช้เตาลมผ่านที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมาสร้างให้ บางบ้านที่มีเงินทุนหน่อยก็จะสร้างเตาแมงป่อง ซึ่งเป็นเหมือนอุโมงค์ปิดรอบด้าน ขั้นตอนในเผานี้จะใช้เวลาประมาณ 2 วัน เครื่องปั้นดินเผาจึงออกมาสมบูรณ์
           
           เครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้ จะมีพ่อค้ามารับซื้อไปขายต่อตามที่ต่างๆ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งมาขายที่เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรีด้วย และราคาก็อาจพุ่งขึ้นไปตามระยะทาง แต่หากใครได้มาเลือกชมเลือกซื้อเครื่องปั้นดินเผาที่กลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวงซึ่งเป็นแหล่งผลิตแล้วจะทราบว่าจริงนั้นราคาถูกมากๆ เช่น ตุ๊กตาเต่าดินเผาตัวเล็กๆ ราคาตัวละ 5 บาท หม้อใบขนาดย่อมๆ ราคาเพียง 17 บาท ตะเกียงดินเผาอันละ 20 บาท ส่วนตุ๊กตาดินเผารูปเด็กน้อยอ้วนจ้ำม่ำก็ราคาเพียงแค่ 100 บาท เท่านั้นเอง หากเครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้ไปขายอยู่ในกรุงเทพฯ ราคาอาจจะแพงขึ้น 2-3 เท่าเลยทีเดียว
           
           ลุงขอมพูดถึงธุรกิจในการทำศูนย์เครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวงว่า "ตอนนี้เรียกว่าอยู่ในขั้นพออยู่ได้ ยังไม่ถึงขั้นดี เพราะยังต้องมีการปรับปรุงในเรื่องของการขายให้ดีมากยิ่งขึ้น" แต่ก็มีเรื่องน่าพอใจที่ลูกหลานและเด็กๆ ในหมู่บ้านที่มักจะไปทำงานในกรุงเทพ เมื่อเห็นตัวอย่างในหมู่บ้านว่าสามารถมีรายได้จากการปั้นเครื่องปั้นดินเผาขาย ต่างก็มาเรียนรู้วิชาและสืบต่ออาชีพของรุ่นปู่ย่าตายายต่อไป
           
           ด้วยวิถีชีวิตที่น่าสนใจของชาวบ้านทุ่งหลวง ทำให้ที่นี่ได้รับคัดเลือกจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพื่อพัฒนาให้เป็น "หมู่บ้านอุตสาหกรรมชนบทเพื่อการท่องเที่ยว" โดยได้จัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวภายในหมู่บ้านสำหรับให้นักท่องเที่ยวเดินลงพื้นที่ชมกรรมวิธีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาในแบบต่างๆ ตามแต่ละบ้าน ซึ่งลุงขอมบอกว่าโครงการนี้ก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ดังนั้นถ้าใครอยากจะมาสัมผัสชีวิตช่างปั้นดินที่บ้านทุ่งหลวงแห่งนี้ และได้ลองปั้นถ้วยชามด้วยสองมือของตัวเอง ก็อย่ารอช้า เพราะชาวบ้านทุ่งหลวงเขาบอกว่า "ยินดีต้อนรับ"
           
           * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
           
           บ้านทุ่งหลวง ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 2 ต.ทุ่งหลวง อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย 64160 สนใจสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหมู่บ้านอุตสาหกรรมชนบทเพื่อการท่องเที่ยวได้ที่ โทร.0-5569-3451
           
           การเดินทางสู่บ้านทุ่งหลวง จากอำเภอเมืองสุโขทัย มาตามทางหลวงหมายเลข 101 (สุโขทัย-กำแพงเพชร) ถึงกิโลเมตรที่ 18 แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่หมู่บ้านทุ่งหลวง


    http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9490000054279


    ตุ๊กตาดินเผาไอเดียไร้ขีดจำกัด ฝีมือชาวบ้านหวังบุกตลาดโลก ดูภาพชุดจาก Manager Multimedia
    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 17 พฤษภาคม 2549 10:05 น.
                  ตุ๊กตาดินเผา “ TCM. Design” จากแรงบันดาลใจของคนรุ่นใหม่ ในการหยิบยื่นโอกาสสร้างอาชีพให้แก่เพื่อนร่วมชุมชน ก้าวเป็นธุรกิจงานปั้นแฮนด์เมดเอกลักษณ์โดดเด่นด้วยดีไซน์ไร้ขีดจำกัด ที่กำลังสานฝันก้าวไปสู่ตลาดระดับสากล

    จักริน อุทัยรัตน์
                  จักริน อุทัยรัตน์ หนุ่มวัย 24 ปี เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด เทอราค๊อตต้า มาสเตอร์ ดีไซน์ ผู้ผลิตตุ๊กตาดินเผาในชื่อ “ TCM. Design” เล่าถึงแรงบันดาลใจ ที่มาจับธุรกิจนี้ เกิดจากบ้านเกิด อยู่ในตำบลทุ่งกระโทก อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งดินภายในหมู่บ้านเหมาะสมสำหรับนำไปใช้ปั้นงานดินเผา จึงมีชุมชนต่างๆ เข้ามาซื้อดินไปใช้ผลิต ทำให้เกิดคำถามคาใจว่า ทำไมดินเป็นของหมู่บ้านเรา แต่ต้องขายให้คนที่อื่นผลิต ส่วนคนในหมู่บ้าน กลับว่างงาน เลยเป็นแนวคิด จะนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาสร้างผลงาน เพื่อเป็นอาชีพให้แก่คนในชุมชน
           
           “เมื่อก่อนชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ พอตอนเช้าออกไปเลี้ยงวัว หรือทำนา พอสายๆ ก็จะว่าง ไม่มีอะไรทำ ผมเลยนำมารวมกลุ่มเพื่อผลิตสินค้า แล้วนำมาขายในกรุงเทพ ทำให้เขามีงานทำ บางคนเก่งขึ้นสอนได้แล้ว ชีวิตเขาก็มีคุณค่ามากขึ้น”
           
           ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มีชาวบ้านมารวมกลุ่มทำงานนี้ ประมาณ 20 คน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ กระทั่งผู้สูงอายุ รายได้ของแต่ละคน ขึ้นอยู่กับฝีมือ และความขยัน ทั้งนี้ ด้านการผลิต ถ้าเป็นงานชิ้นเล็ก ต่อเดือนได้กว่าหมื่นชิ้น ส่วนงานชิ้นใหญ่ จะผลิตได้แค่หลักสิบชิ้น เพราะต้องใช้ความละเอียดสูง ต่อชิ้นกินระยะเวลากว่า 2 - 3 สัปดาห์ ส่วนการตลาด จะขนส่งลงมาขายในกรุงเทพฯ โดยมีหน้าร้านอยู่ที่ตลาดนัดสวนจตุจักร

                  ชูจุดเด่นงานปั้นมือชิ้นเดียวในโลก
           
           จักริน เผยว่า จุดเด่นของตุ๊กตาดินเผา TCM. Design คือ เป็นงานปั้นมือ เป็นสินค้าชิ้นเดียวในโลก มีคุณค่าเฉพาะตัว ต่างจากงานดินเผาในตลาด ส่วนใหญ่จะผลิตโดยปั๊มจากแม่พิมพ์ รวมถึงการออกแบบ จะให้อิสระกับช่าง ผลงานที่ออกมาจึงเต็มไปด้วยจินตนาการไร้ขีดจำกัด โดยมีทั้งแบบเป็นรูปสัตว์ เด็ก หรือเกี่ยวกับทางศาสนา ฯลฯ ภาพรวมแล้วให้บรรยากาศที่ดูมีชีวิตชีวา
           
           นอกจากนั้น ยังมีงานปั้นขนาดใหญ่ สูงถึง 3 เมตร ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตเจ้าเดียวในประเทศ รวมถึง ใช้การเผาด้วยเตาถ่าน ผลงานที่ออกมา จึงมีเสน่ห์ต่างไปจากการเผาด้วยเตาแก๊ส เพราะชิ้นงานจะมีลักษณะไม่สมบูรณ์แบบ เช่น มีร่องรอยด่างจากเขม่า หรือมีเศษขี้เถ้า ซึ่งมีนักสะสมกลุ่มหนึ่ง ชอบในเสน่ห์ความเป็นธรรมชาติแท้ ๆ เหล่านี้

                  รับตลาดฝืด วาดฝันสู่ตลาดส่งออก
           
           ธุรกิจนี้ เริ่มมาแล้ว ประมาณ 10 เดือน ใช้เงินลงทุนไปทั้งสิ้นกว่า 700,000 – 800,000 บาท เท่าที่ผ่าน ผลตอบรับด้านตลาดยังไม่ดีมากนัก รายได้ต่อเดือนประมาณ 30,000 บาท ในขณะที่มีรายจ่ายกว่า 50,000 บาท โดยปัญหามาจากสินค้าราคาค่อนข้างสูง เพราะเป็นงานปั้นมือ ราคาเริ่มตั้งแต่ 28 บาท จนถึงสูงสุด28,000 บาท ซึ่งลูกค้าชาวไทยจะไม่ให้ความสำคัญในด้านนี้ เลือกไปซื้อตุ๊กตาดินเผาแบบใช้แม่พิมพ์ปั๊มแทน ซึ่งถูกกว่ากันครึ่งหนึ่ง อีกทั้ง ชิ้นงานสามารถแตกหักได้ การเคลื่อนย้ายจำเป็นต้องระมัดระวัง ทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย

                  สำหรับแนวทางแก้ไขนั้น จักริน ระบุว่า แผนระยะสั้น ต้องพยายามสร้างแบรนด์ให้มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศให้ได้ เพื่อเป็นการเปิดตลาดสู่นานาชาติ และในอนาคตอยากผลักดันให้กลายเป็นสินค้าส่งออกที่มีออเดอร์สม่ำเสมอ
           
           “ชาวต่างชาติ จะให้รู้ถึงคุณค่าของจิตวิญญาณในงานทำมือ ทำให้เขาไม่เกี่ยงด้านราคา ซึ่งผมพยายามเน้นเปิดตัวในงานแสดงสินค้าต่างๆ แต่ที่ผ่านมา ติดปัญหา งานชิ้นใหญ่ ค่าขนส่งจะสูงมาก บางครั้งแพงกว่าตัวสินค้าด้วยซ้ำ เลยมีปรับขนาดลงให้เหมาะสม ขณะนี้ เริ่มมีการติดต่อบ้างแล้ว เช่น ลูกค้าจากญี่ปุ่น และอเมริกา”
           


                  เร่งสร้างความแตกทางเลือกใหม่
           
           หนุ่มเจ้าของกิจการ กล่าวถึงการพัฒนาสินค้า ขณะนี้ ได้ชักชวนเพื่อนฝูงศิลปินในวงการดินเผา มาช่วยออกแบบใหม่ ให้มีความแตกต่าง เป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้ผู้ซื้อ รวมถึงเน้นเป็นชิ้นงานที่ใช้สอยได้ด้วย และเชื่อมั่นว่า ในอนาคตผลตอบรับน่าจะดีขึ้น แม้ว่าเครื่องปั้นดินเผาจะมีคู่แข่งผู้ผลิตอยู่มาก แต่ลักษณะงานจะมีความแตกต่างกัน ถ้าสามารถเน้นในแง่การออกแบบให้โดดเด่นยิ่งขึ้น และรักษาคุณภาพชิ้นงานให้สวยงามประณีตไว้ได้ เชื่อจะแข่งขันในตลาดได้
           
           และแม้ผลตอบรับในปัจจุบัน ในแง่ของรายได้ ยังไม่สูงนัก ทว่า สิ่งที่ทำให้เขาภูมิใจ คือ อย่างน้อย ธุรกิจนี้ ได้เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในท้องถิ่นบ้านเกิดของตัวเอง
           
           * * * * * * *
           
           โทร.0-2870-7955 , 0-9121-3522
           


    ข่าวอื่นๆ ในหมวด
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×